read
social
13 ต.ค. 2564 | 13:13 น.
ผู้ใหญ่วลีรัตน์ ประสงค์เงิน หญิงเหล็กแห่งบางปะหัน ผู้อยากให้ทุกคนทั้งปลอดภัย และอิ่มท้องในช่วงโควิด-19
Play
Loading...
สิ่งที่น่ากลัวไม่แพ้ความอันตรายของเชื้อไวรัสร้ายโควิด-19 ก็คือความหิวโหยที่เกิดขึ้นทั้งจากผลกระทบทางเศรษฐกิจทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องตกงานโดยไม่รู้ตัว หรือหาอาหารได้อย่างยากลำบากเนื่องจากต้องถูกกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
แม้ว่าในการแพร่ระบาดระลอกแรก ๆ จะยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับชาวบ้านหมู่ 1 ตำบลบางนางร้า อำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยความห่วงใยความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของชาวบ้านทำให้ ผู้ใหญ่ซิ้ม-ผู้ใหญ่วลีรัตน์ ประสงค์เงิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ได้เตรียมการตั้งรับกับปัญหารอบด้านที่จะเกิดขึ้นนี้ไว้ล่วงหน้า
ด้วยความที่ผู้ใหญ่ซิ้มเป็นทั้งผู้นำชุมชนที่อยากให้ชาวบ้านมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตามปณิธานมีทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น และเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งเป็นด้านหน้าในการต่อสู้วิกฤต เธอเลยเข้าใจถึงความสำคัญในการป้องกันตัวเอง
พอเริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดเธอจึงได้ไปขอความรู้เพิ่มเติมจากแพทย์เพื่อนำมาเผยแพร่สร้างความเข้าใจให้ลูกบ้านได้รู้จักการดูแลป้องกันตัวเองทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ไปจนถึงการใช้เจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เมื่อการแพร่ระบาดได้เดินทางเข้ามาถึงอำเภอบางปะหัน ที่นี่เลยพร้อมรับมือในทันที
“พอเริ่มมีการระบาด ร.ต.ต.หญิง สายสุนี ยมานันท์ นายอำเภอบางปะหัน ได้เอาถุงยังชีพมาให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนแจกจ่ายในแต่ละหมู่บ้าน เราเองคิดว่าแค่ถุงยังชีพอย่างเดียวอาจจะไม่พอสำหรับกักตัว 14 วัน เลยปรึกษากันว่าจะเป็นโรงทานที่วัดตะเคียน เพื่อทำอาหารแจกจ่ายให้กับชาวบ้านไปด้วย”
ไม่นานโรงทานวัดตะเคียน จากความร่วมมือของพระปลัดยงยุทธ พุทธสาโร เจ้าอาวาสวัดตะเคียน สมาชิกสภาเทศบาลตำบลบางปะหัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน ก็เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยทุกวันจะมีชาวบ้านในชุมชนเข้ามาช่วยกันประกอบอาหารจากวัตถุดิบที่ได้รับการสนับสนุนมาจากประชาชน บางส่วนก็มาจากความช่วยเหลือของภาคเอกชน ไปจนถึงการระดมทุนส่วนตัวจากพรรคพวกของผู้ใหญ่ซิ้มเอง
ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว ผัดกระเพรา ไข่พะโล้ แกงส้ม และอาหารอีกนานาชนิด เป็นเมนูที่ถูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนตามวัตถุดิบที่ได้รับมาในช่วงนั้น โดยพ่อครัวแม่ครัวอาสาสมัครจะเริ่มมารวมตัวกันที่วัดในช่วงแปดโมงเช้า เพื่อทำงานกันคนละไม้คนละมืออย่างแข็งขันตามทักษะของแต่ละคน จนเวลาประมาณ 11.00 น. อาหารร้อน ๆ ปรุงเสร็จใหม่ ๆ กว่า 400 ชุดจากโรงทานวัดตะเคียนก็พร้อมแล้วสำหรับทุกคน
ภาพหนึ่งที่หลายคนเห็นจนเจนตาคือผู้ใหญ่บ้านไรเดอร์ที่ขับรถจักรยานยนต์คันเก่งปรับแต่งตะกร้าพ่วงท้ายห้อยถุงอาหารเต็มอัตรา เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับลูกบ้านที่ต้องกักตัวอยู่ภายในบ้าน รวมไปถึงผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวอยู่บ้าน ซึ่งบางครอบครัวติดเชื้อทั้งบ้านจนไม่สามารถออกไปไหนได้เลย
บางช่วงในพื้นที่แห่งนี้มีผู้ติดเชื้อรวมถึงผู้ที่ต้องกักตัวราว 239 คน หรือประมาณ 50 หลังคาเรือน เลยทีเดียว
“จริง ๆ อาหารที่ทางเทศบาลเขาจัดให้ก็มี แต่เราคิดเผื่อลูกบ้านบางคนอาจไม่พอกิน อยากให้เขาได้กินอิ่มท้อง ถ้าได้กินอาหารอร่อย ๆ ทำเสร็จร้อน ๆ เขาน่าจะมีความสุขมากขึ้น เราเองช่วยตรงนี้ได้ก็เลยมาช่วย สถานการณ์แบบนี้ ไม่ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการอย่างเดียวเราทุกคนต้องช่วยกันเท่าที่จะทำได้”
นอกจากผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวแบบ home isolation และลูกบ้านกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัวอยู่ภายในบ้านแล้ว อาหารจากโรงทานนี้ยังถูกนำไปแจกจ่ายให้กลุ่มเปราะบาง ทั้งผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ไปจนถึงคนไข้ติดเตียงอีกด้วย
“มีคนถามว่าทำไมผู้ใหญ่บ้านอย่างเราต้องไปแจกเองทั้งที่มีคนคอยช่วยเหลืออยู่เยอะแยะ เราคิดว่าในฐานะเราเป็นผู้นำ ถ้าอะไรที่ทำให้ประชาชนที่เขาเลือกเรามาได้ เราก็ต้องตอบแทนเขาบ้าง การที่เราลงพื้นที่ด้วยตัวเองยังจะช่วยให้ได้เห็นปัญหาชัดเจนกว่า ทำให้แก้ไขได้ทันเวลา ไม่เฉพาะแค่ช่วงโควิดเท่านั้นแต่เราต้องลงพื้นที่อยู่ตลอดเวลา”
การที่ผู้ใหญ่ซิ้มเป็นส่วนสำคัญในการดูแลพี่น้องชาวบางปะหัน และมือประสานหลายอย่างตั้งแต่ขั้นเตรียมการรับมือ การจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงการลงมือขับขี่รถจักรยานยนต์นำอาหารไปส่งยังหน้าบ้านของลูกบ้านด้วยตัวเอง ทำให้หลายคนตั้งฉายาให้เธอว่า ‘หญิงเหล็กแห่งบางปะหัน’
“ชาวบ้านที่ได้รับอาหารเขาก็ขอบคุณให้ศีลให้พร แสดงว่าเขายังต้องการเรา เรายังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาลำบากน้อยลง เราก็ได้ให้เบอร์โทรไว้ด้วยเผื่อว่าเขาอยากได้อย่างอื่นนอกจากข้าวกล่องที่เอาไปให้”
สำหรับผู้ใหญ่ซิ้มแล้วเสียงตอบรับที่ดีจากชาวบ้านทั้งคำขอบคุณ คำอวยพรให้ศีลให้พร อาจยังไม่น่าประทับใจเท่ากับการที่ผู้ที่เคยได้รับความช่วยเหลือเหล่านั้น ภายหลังที่พ้นระยะการกักตัว 14 วัน ก็มาร่วมด้วยช่วยกันทั้งการบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง และอาหารสด หรือลงมือลงแรงเป็นอาสาสมัครในการช่วยเหลือคนอื่น ๆ ที่ยังคงเดือดร้อนต่อไป
ผู้ใหญ่วลีรัตน์ได้เปิดใจว่าตอนนี้ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการที่ชาวบ้านในชุมชนมีความรักสามัคคีคอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และคอยเฝ้าระวังดูแลป้องกันตัวเองไม่ให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้ผู้ใหญ่ซิ้ม หญิงเหล็กแห่งบางปะหัน รู้สึกดีเพราะว่าการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับชาวบ้านตามหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านซึ่งรับอาสาเข้ามาดูแล ได้ประสบความสำเร็จไปอีกหนึ่งเรื่องแล้ว
“เราทุ่มเทกับเรื่องนี้เต็มที่ตั้งแต่การแพร่ระบาดระลอกแรก ทำแบบนี้ทุกวันจนแทบไม่มีวันหยุด ถามว่าเหนื่อยไหมก็มีเหนื่อยกายบ้าง แต่ใจเราไม่เคยหน่าย พอได้พักเดี๋ยวก็หาย โทรศัพท์เราก็ไม่เคยปิดพร้อมให้คนโทรมาตลอดเวลา เรารู้สึกดีที่ได้ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับชาวบ้าน แต่รู้สึกดียิ่งกว่าที่เห็นคนในชุมชนมีความสามัคคีช่วยเหลือกัน เราอยากให้ทุกคนช่วยกันป้องกันตัวเอง ดูแลกันและกัน ทำตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ แล้วพวกเราจะปลอดภัยไปด้วยกัน”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
PartnerContent
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
กระทรวงมหาดไทย
นักปกครองท้องที่
ด่านหน้าสู้โควิด19