read
culture
16 ต.ค. 2564 | 01:48 น.
‘Batman’ กับความยุติธรรมที่แปรเปลี่ยนตามกาลเวลา
Play
Loading...
ถึงคุณจะเป็นแฟนค่ายมาร์เวลเดนตายแค่ไหน ไม่มีทางที่คุณจะไม่เคยได้ยินชื่อตัวละครค่ายดีซี
คอมิกส์
อย่าง ‘แบทแมน’ ชายผู้สูญเสียพ่อแม่ในวัยเด็กด้วยกระสุนปืนของโจรมุมตึก ด้วยความแค้นเขาจึงผันตัวมาสวมชุดค้างคาว ออกไปปราบเหล่าร้ายเพื่อสร้างความยุติธรรมให้กับสังคมในเมืองสมมติชื่อ ‘ก็อตแธม’ (Gotham)
เรื่องราวของแบทแมนถูกนำเสนอผ่านหนังสือการ์ตูน แอนิเมชัน เกม และภาพยนตร์คนแสดง ซึ่งกินเวลายาวนานกว่า 82 ปีจนปัจจุบัน ทั้งยังถูกเอานำมาทำซ้ำ-ทำใหม่ได้อยู่ตลอด (ปีที่เขียนบทความคือ 2021) แต่ไม่ว่าอย่างไร เสน่ห์ของตัวละครนี้ก็ไม่จางหายง่าย ๆ เพราะ 82 ปีที่เต็มไปด้วยอุปสรรคในการผดุงความยุติธรรมของเขา มันเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา และสะท้อนยุคสมัยเสมอ
1940s กำเนิดที่แท้จริง
“เดิม บ็อบ เคน ออกแบบให้แบทแมนสวมชุดสีดำ-แดง ใส่หน้ากากโดมิโน (ปิดแค่ตา) มีปีกคล้ายเครื่องร่อน แต่คนที่ทำให้หน้าตาแบทแมนเป็นที่จดจำอยู่ทุกวันนี้คือ บิล ฟิงเกอร์ ซึ่งกว่าเขาจะได้เครดิตจากเรื่องนี้ก็กินเวลายาวนาน”
แบทแมน เกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ร่วมกันของ ‘บ็อบ เคน’ (Bob Kane) และ ‘บิล ฟิงเกอร์’ (Bill Finger) โดยเริ่มแรกแบทแมนมีลักษณะเป็นศาลเตี้ยที่โหดเหี้ยม เขาฆ่าคนร้าย หรือทำร้ายคนโดยไม่สนใจว่าจะเป็นหรือตายอย่างไร แนวเรื่องได้อิทธิพลมาจากหนังสือประเภท ‘Pulp magazine’ หรือการ์ตูนเล่มละบาท แต่เมื่อช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทางบรรณาธิการของ ‘DC’ ได้ปรับโทนให้แบทแมนกลายเป็นตัวละครที่ใจดีกับเด็ก มีสำนึกความเป็นพลเมืองดี และมีเนื้อหาที่สดใสมากขึ้น เพื่อลดทอนความหดหู่ของโลกอันโหดร้ายหลังสงคราม และมีตัวละครคู่หูอย่าง ‘โรบิน’ เพิ่มขึ้นมา เป็นตัวแทนของเด็ก ๆ ผู้อ่าน
ถ้าเราสังเกตดูบรรดาเหล่าร้ายที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ เราจะพบว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มมาเฟีย หรือแก๊งโจรขโมยของ เช่น ลอบไปขโมยสินค้าที่ท่าเรือ ปล้นร้านขายของ หรือไม่ก็เป็นฆาตกรต่อเนื่อง ขนาด ‘โจ๊กเกอร์’ ซึ่งปรากฏครั้งแรกยังไล่ฆ่าคนเพื่อขโมยเพชร หรือของมีค่าอื่น ๆ เท่านั้น เนื่องจากอาชญากรรมใหญ่ ๆ ยุคนั้นก็หนีไม่พ้นแก๊งมาเฟียที่มีอิทธิพลตามหัวเมืองต่าง ๆ ของอเมริกา จึงสะท้อนผ่านเนื้อหาในการ์ตูนตามโลกทัศน์ตอนนั้น
1950s มุ่งสู่อวกาศ
เมื่อสงครามโลกหยุดลงได้ไม่กี่ปี โลกเริ่มเข้าสู่การสำรวจอวกาศ และในอีกไม่กี่ปีต่อมา สหภาพโซเวียตได้ส่งดาวเทียมดวงแรกออกนอกโลกสำเร็จ จึงไม่แปลกใจเลยว่าจินตนาการของผู้คนหรือจะอดฝันถึงความลี้ลับของอวกาศอันกว้างใหญ่ได้ ซึ่งมันก็สะท้อนมายังการ์ตูนหลายเรื่องในขณะนั้น แบทแมนเองก็หนีไม่พ้น ทำให้เขาต้องไปเผชิญกับเหล่าร้ายในโลกต่างดาวพิศวงอยู่บ่อย ๆ แทนที่จะต่อยตีกับมาเฟียในเมืองก็อตแธม กลายเป็นต้องเจอทั้งมนุษย์ต่างดาว ทั้งคนจากมิติอื่น สัตว์ประหลาดยักษ์ หลายครั้งตัวแบทแมนต้องหาวิธีกลายร่างเป็นสัตว์ประหลาด เพื่อต่อสู้กับเหล่าร้ายไซไฟทั้งหลายเสียเอง
เรื่องราวแบทแมนในยุค 50s - 60s จึงเต็มไปด้วยสีสัน ความเป็นไปได้ไม่รู้จบกับจินตนาการของคนยุคนั้น และมีความนิยมจนถูกนำเอาไปสร้างเป็นซีรีส์เบาสมองเปิ่น ๆ แบบ pop art ในชื่อ ‘Batman’ (1966) แสดงนำโดย ‘อดัม เวสต์’ (แบทแมน) และ ‘เบิร์ต วอร์ด’ (โรบิน) ได้ผลตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ผลิตไปทั้งหมด 120 ตอน และส่งผลให้ยอดขายหนังสือการ์ตูนพุ่งขึ้นถึง 900,000 เล่ม
1970s กลับมาสู่ก็อตแธม
หลังจากซีรีส์จบลง ยอดขายหนังสือก็ตกลงตาม ทำให้ในปี 1969 ‘เดนนิส โอ’นีล’ (Dennis O’Neil) และ ‘นีล อดัมส์’ (Neal Adams) บรรณาธิการในขณะนั้น ตัดสินใจที่จะย้อนแบทแมนกลับไปสู่รากเดิมอีกครั้ง นั่นคือการเป็นอัศวินรัตติกาล ศาลเตี้ยผู้มืดหม่น
“ผมกลับไปนั่งอ่านเล่มแรก ๆ เพื่อจะดูว่าสิ่งที่เคนและฟิงเกอร์ทำคืออะไร” โอ’นีลกล่าว ทำให้แบทแมนกลับมาจัดการกับปัญหาความเน่าเฟะของเมืองก็อตแธมอีกครั้ง ซึ่งในช่วงเวลานั้นสงครามเย็นกำลังเริ่มร้อนแรงสำหรับอเมริกาพอดี ช่วง 70s ถึงกลาง 80s เนื้อหาหลายตอนของแบทแมนจะมีนัยทางการเมืองแอบแฝงไว้ เช่น ตัวร้ายใหม่ ๆ อย่าง ‘ราส์ อัล กูล’ (Ra’s al Ghul) เป็นผู้ก่อการร้ายจากตะวันออกกลาง หรือ ‘เคจีบีสต์’ (KGBeast) นักฆ่าจากโซเวียต และในตอน ‘A Death In The Family’ โจ๊กเกอร์ได้กลายเป็นทูตประจำ UN ของอิหร่าน ทำให้แบทแมนไม่สามารถทำอะไรเขาได้ เพราะจะสร้างความขัดแย้งต่อนานาชาติ
นอกจากมุมการเมือง แบทแมนยังต้องเริ่มเผชิญกับความขัดแย้งในตัวเอง รวมถึงความรุนแรง และความยากจนในเมืองก็อตแธมอีกด้วย สภาพเมืองเสื่อมถอยลงมากเมื่อเทียบกับปี 40s มีคนไร้บ้าน คนยากจนอดอยาก แม้กระทั่งโรบินคนที่สองก็เคยเป็นเด็กข้างถนน ขโมยล้อรถแบทแมนหวังจะเอาไปขาย เป็นภาพสะท้อนสังคมอเมริกันจากเศรษฐกิจที่ถดถอยในช่วงหลังสงครามเวียดนาม
ช่วงเวลานี้ยังมีแบทแมนอีกหลายเวอร์ชันที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับเส้นเรื่องหลัก ทั้งมินิซีรีส์ ‘The Dark Knight Returns’ (แฟรงค์ มิลเลอร์) หรือ ‘Batman: The Killing Joke’ (อลัน มัวร์) ซึ่งเกือบทุกเรื่องล้วนแล้วแต่จริงจังและมืดหม่นทั้งสิ้น และยังเป็นเวอร์ชันที่มีอิทธิพลกับแบทแมนในยุคหลัง ๆ แต่เรื่องที่ทำให้แบทแมนกลับมาเป็นที่จดจำในวงกว้างอีกครั้งไม่ใช่หนังสือการ์ตูน แต่เป็นภาพยนตร์โดย ‘ทิม เบอร์ตัน’ (Tim Burton)
Batman (1989) นำแสดงโดย ‘ไมเคิล คีตัน’ (Michael Keaton) เป็นหนังที่สร้างปรากฏการณ์ได้ทั้งคำชมและรายได้ถล่มทลายถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยโลกที่มืดหม่น กอทิก และสไตล์ Expressionism แบบเฉพาะตัวของทิม เบอร์ตัน มันได้สร้างภาพจำใหม่แก่แบทแมน แต่ก็เข้ากันดีกับลักษณะนิสัยของแบทแมน ทำให้เขาสามารถสร้างภาคต่อในงบที่มากขึ้นเกือบเท่าตัวใน ‘Batman Returns’ (1992) ซึ่งเป็นโลกใบเดิมที่มืดหม่น และโหดร้ายรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้มีคำวิจารณ์ถึงเนื้อหาที่รุนแรงเกินไปสำหรับเรท PG-13 ถึงแม้หนังจะได้รับคำชม และรายได้ไปค่อนข้างดี แต่ไม่ดีเท่าภาคแรก มีผลทำให้ทางค่ายหนัง ‘Warner Bros.’ ที่ถือลิขสิทธิ์ของ DC อยู่นั้นคิดว่าปัญหาเรื่องรายได้อยู่ที่ความมืดหม่นของหนัง เพราะมันไม่ใช่แค่ความนิยมอย่างเดียว แต่เป็นยอดขายของเล่นที่จะลดลงไปด้วย หากหนังแบทแมนทำให้เด็กไม่กล้าดู เห็นได้จากร้านแมคโดนัลด์ตัดสินใจยกเลิกของเล่นในแฮปปี้มีลจากหนังในเวลานั้น
ในขณะที่หนังสือการ์ตูนยังคงความดาร์กไว้ตามเดิม ในช่วงปี 1990s เป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของ ‘Bane’ คู่ปรับคนสำคัญคนหนึ่งของแบทแมน เขามาจากอเมริกาใต้พร้อมด้วยพลังแกร่งเกินคนด้วยยาเสพติด โดยช่วงแรกก่อนที่ทั้งคู่จะห้ำหั่นกันนั้น แบทแมนได้ลองใช้ยาโด๊ปที่เรียกว่า ‘venom’ ทำให้เขามีพละกำลังเกินคน ออกปราบเหล่าร้ายได้ไม่รู้เหน็ดเหนื่อย จนกระทั่งยิ่งใช้ก็ยิ่งติด กว่าจะรู้ตัวก็ต้องขังตัวเองหักดิบเลิกยา ในขณะที่ Bane นั้นต้องพกยาต่อสายฉีดมันเข้าเส้นตลอดเวลา จึงเป็นตัวร้ายตัวแรก ๆ ที่ใช้สารเสพติดอย่างชัดเจน
ปี 1995 ภาคต่อของ Batman Returns มาในชื่อ ‘Batman Forever’ คราวนี้ค่ายหนังเปลี่ยนผู้กำกับเป็น ‘โจเอล ชูมาเกอร์’ (Joel Schumacher) และแสดงนำโดย ‘วัล คิลเมอร์’ (Val Kilmer) โดยหวังว่าเนื้อเรื่องจะมีสีสันและเป็นมิตรกับเด็กมากขึ้น เมื่อหนังออกมา ได้รับคำวิจารณ์ทั้งบวกและลบ แต่ทำรายได้มากขึ้นถึง 336 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางค่ายคงคิดว่ามาถูกทางแล้ว จึงไฟเขียวให้สร้างภาคต่อในปี 1997 ‘Batman and Robin’ กำกับโดยโจเอล ชูมาเกอร์ เช่นเดิม และนำแสดงโดย ‘จอร์จ คลูนีย์’ (George Clooney) ซึ่งภาคนี้ได้เพิ่มสีสันและความสนุกสนานมากขึ้นอีก จนแทบจะคล้ายกับซีรีส์ในปี 1966 กระทั่ง Bane คู่ปรับคนสำคัญที่สามารถวางแผนล้มแบทแมนจนเลิกทำงานไปพักใหญ่ได้ ในหนังกลายเป็นแค่นักกล้ามสมองน้อย เป็นมือไม้ให้ตัวร้ายอีกตัวเท่านั้น ปรากฏว่าหนังทำเงินไปได้เพียง 238 ดอลลาร์สหรัฐ และพบกับคำวิจารณ์ในแง่ลบอย่างรุนแรง ถึงขั้นเรียกว่า ‘หนังที่ยอดแย่ตลอดกาล’ จนมาถึงทุกวันนี้
หลังจากนั้นมา แบทแมนก็ไม่ขึ้นโรงหนังอีกเลย
2000 ทบทวนตัวเอง
ในปี 2000 เป็นต้นมา เรื่องราวของแบทแมนไม่ได้อยู่ที่การสืบคดีตามท้องถนนเมืองก็อตแธมมากนัก แต่ให้ความสนใจกับตัวละครแบทแมนและเรื่องส่วนตัวมากขึ้น ตัวร้ายทั้งหลายก็เริ่มวนเวียนกับการเป็นคนรู้จักในอดีตของแบทแมน เป็นเพื่อนเก่าบ้างอย่าง ‘Hush’ หรือการฟื้นคืนชีพของ ‘เจสัน ทอดด์’ (โรบินคนที่ 2 ผู้มาจากข้างถนน) หลังจากโดนโจ๊กเกอร์ฆ่าตายไปในปี
70s (1970)
กระทั่งมีลูกแท้ ๆ ที่ติดมากับคู่นอนเก่า (ซึ่งเป็นตัวร้าย) อย่าง ‘เดเมียน’ ที่สุดท้ายกลายมาเป็นโรบินคนที่ 4 เรียกได้ว่าเนื้อหาในช่วงนี้เป็นการกลับไปหาแง่มุมใหม่ ๆ กับประวัติศาสตร์ของแบทแมน ทำให้ตัวละครแบทแมนได้มีพัฒนาการที่น่าสนใจยิ่งขึ้น รวมไปถึงตัวละครสมทบทั้งหลายก็มีความโดดเด่นมากขึ้น
ผงาด
แล้วเราก็มาถึงยุคที่คนรุ่นนี้เริ่มจะคุ้นเคย นั่นคือไตรภาคของ ‘คริสโตเฟอร์ โนแลน’ (Christopher Nolan) นำแสดงโดย ‘คริสเตียน เบล’ (Christian Bale) ในช่วงปี 2005 - 2012 เป็นการรีบูตใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับจักรวาลหนังเดิม และนี่คือไตรภาคที่ทำให้คนจดจำภาพแบทแมนในมุมมองร่วมสมัยมากขึ้น ทั้งการไม่ฆ่าคน ต่อต้านการใช้ปืน มีลักษณะผู้ผดุงความยุติธรรมมากกว่าจะเป็นศาลเตี้ยที่ใช้ความรุนแรง และสภาพบ้านเมืองในหนังก็แทบไม่มีความแฟนตาซี ทำให้ผู้คนจินตนาการได้ว่าหากมี ‘ฮีโร่’ มนุษย์ค้างคาวร่อนโหนตึกอยู่จริงก็ควรจะสมจริงแบบนี้ ทำให้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดอันดับที่สองในสหรัฐฯ ในขณะนั้น และยังได้รับคำวิจารณ์ไปในทางที่ดีมาก
ความนิยมในตัวแบทแมนจึงขยายไปในวงกว้างอีกครั้ง มีสินค้าและแอนิเมชันเกิดขึ้นมากมาย ค่ายหนังและ DC ก็ไม่รอช้าที่จะผลิตเนื้อหาที่เกี่ยวกับแบทแมนในสื่ออื่น ๆ มากยิ่งขึ้น
กระทั่งการ์ตูนเองก็ได้รับอิทธิพลจากภาพยนตร์ ในอีเวนต์ New52 หรือการรีบูตครั้งใหญ่ของจักรวาลคอมิกส์ DC ในปี 2011 ก็ปรับเปลี่ยนให้แบทแมนสวมใส่ชุดเกราะแทนที่จะเป็นเสื้อรัดรูปตามแบบต้นฉบับเดิม
รุ่งอรุณแห่งความยุติธรรม
ในช่วงปี 2010s เทรนด์ของหนังซูเปอร์ฮีโร่ได้แผ่กระจายไปทั่วโลก แบทแมนซึ่งเคยเป็นเจ้าตลาดจึงไม่รอช้าที่จะกระโดดมาร่วมด้วยกับการปะทะกันครั้งแรกบนภาพยนตร์กับซูเปอร์แมน ฮีโร่ขั้วตรงข้าม เพื่อสร้างเป็นจักรวาลขยายของ DC เพื่อปะทะกับยักษ์ที่เพิ่งตื่นอย่างมาร์เวลในขณะนั้น ใน ‘Batman v Superman: Dawn of Justice’ (2016) กำกับโดย ‘แซ็ก สไนเดอร์’ (Zack Snyder) นำแสดงโดย ‘เบน แอฟเฟล็ก’ (Ben Affleck)
คราวนี้ด้วยความที่แซ็กเป็นแฟนหนังสือ The Dark Knight Returns (แฟรงค์ มิลเลอร์) เขาจึงออกแบบแบทแมนให้กลับมามีบุคลิกแบบศาลเตี้ยใช้ความรุนแรงอีกครั้ง ด้วยความที่แบทแมนฉบับนี้ไม่สนใจว่าผู้ร้ายจะเป็นหรือตาย บางครั้งใช้ปืนด้วยซ้ำไป ทำให้แฟน ๆ หลายคนไม่พอใจในภาพลักษณ์นี้ ประกอบกับหนังเองก็มีความซับซ้อนและสไตล์ที่เคร่งขรึม ผิดกับเทรนด์ของหนังซูเปอร์ฮีโร่ในขณะนั้น ทำให้ได้รับคำวิจารณ์ที่ไม่สู้ดีมากนัก แต่ก็มีแฟน ๆ อีกกลุ่มที่ชื่นชอบถึงขั้นเดนตาย ทำให้คำถามเรื่องแบทแมนจริง ๆ แล้วควรจะเป็นแบบไหนปรากฏอยู่ตามโลกโซเซียลฯ มาตลอดหลายปีต่อมา
คำถามต่อแบทแมน
ปี 2022 นี้กำลังจะมีแบทแมนเวอร์ชันใหม่มาให้เราตีความอีกครั้ง ‘The Batman’ โดย ‘แมตต์ รีฟส์’ (Matt Reeves) แสดงโดย ‘โรเบิร์ต แพตตินสัน’ (Robert Pattinson) โดยเป็นฉบับแยกเฉพาะตัวไม่เกี่ยวกับจักรวาลหลัก จะยังคงความมืดหม่นต่อไป เพิ่มการสืบสวนสอบสวนตามฉบับหนังฟิล์มนัวร์มากยิ่งขึ้น โดยช่วงเวลาของเนื้อเรื่องคือปีที่สองในการทำงานของแบทแมน เขายังมีความรุนแรงและโกรธแค้นอยู่ โดยเขาจะต้องเผชิญหน้ากับ ‘The Riddler’ หรือ มนุษย์เจ้าปัญหา ที่ดูจากตัวอย่างแล้วน่าจะตั้งคำถามกับการมีอยู่ของแบทแมนกับการแก้ปัญหาในเมืองก็อตแธม ซึ่งแน่นอนมันสะท้อนเรื่องราวในโลกยุคใหม่ของเราพอดิบพอดี น่าสนใจว่าจะออกมาเป็นรูปแบบไหน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราในยุคนี้มันเปลี่ยนไปจากยุคก่อนมาก ตัวละครสมมติอย่างแบทแมนก็เปลี่ยนแปลงตาม และสะท้อนโลกทัศน์กับสิ่งต่าง ๆ ในยุคสมัย เขาเคยเป็นทั้งผู้พิทักษ์ความยุติธรรมเป็นมิตรกับเด็ก จนไปถึงศาลเตี้ยผู้โหดร้ายข่มขวัญเหล่าฆาตกร และภัยร้ายอย่างอาชญากรรมก็ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบอยู่ตลอด ตั้งแต่แก๊งมาเฟีย ฆาตกรต่อเนื่อง เจ้าหน้ารัฐนักการเมืองคอร์รัปชัน คนค้ายา ไปจนถึงผู้ก่อการร้ายระดับชาติ อีกทั้งวิธีการแก้ปัญหาก็ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้เราไม่สามารถมีวิธีแบบตายตัว ในบางยุคสมัย ความรุนแรงอาจจะเป็นหนทางที่ผู้คนเลือกใช้ต่อสู้ แต่ในบางยุคการปกป้องชีวิตทุกคนเป็นหนทางที่ดีกว่า ซึ่งประวัติศาสตร์ของแบทแมนได้สะท้อนวิธีแก้ปัญหาเหล่านั้นแบบปัจเจกชน ให้เราได้เข้าใจบริบทสังคมตอนนั้นมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้แบทแมนจะแปรเปลี่ยนการมองความยุติธรรมในยุคนั้น ๆ แต่สิ่งหนึ่งที่แบทแมนสะท้อนมาตลอดคือความล้มเหลวของระบบยุติธรรม ระบบที่ไม่เคยแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ทำให้คนคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงจัดการมัน ถึงแม้วิธีการของเขาจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย และถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ แต่แก่นของการที่คนคนหนึ่งทนไม่ได้กับความไม่ยุติธรรม และลุกขึ้นสู้ก็ยังคงอยู่กับตัวละครแบทแมนตลอดไป
เรื่อง: ยิ่งศิวัช ยมลยง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
พลรพี เหรียญชัยวานิช (แซม โอเดนย่า) : มิตรภาพ ความฝัน ความทรงจำยุค 90
29 ต.ค. 2567
128
แซม โอเดนย่า : มิตรภาพ ความฝัน ความทรงจำยุค 90 | Inspiring Story
26 ต.ค. 2567
10
Platinum Fruits ปักธงผลไม้พรีเมียมจากไทยในใจผู้บริโภคทั่วโลก
14 ส.ค. 2567
29
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
The People
Batman