หากเปรียบหนึ่งชีวิตเป็นบทเพลง ชีวิตของ ‘เอริก แคลปตัน’ คงคล้ายบทเพลงบลูส์ ‘Eric Clapton: Life in 12 Bars’ คือสารคดีเล่าชีวิตของมือกีตาร์ที่พาดนตรีบลูส์มาเยือนป็อปคัลเจอร์ตั้งแต่ยุค 60s ซึ่งแต่เดิมดนตรีประเภทนี้เป็นของคนแอฟริกัน-อเมริกันที่ทนทุกข์จากการถูกคนขาวปฏิบัติเยี่ยงทาส และร่ำร้องความเศร้าของตนออกมาเป็นบทเพลง 12 บาร์
แม้ว่ารากของบลูส์จะมาจากความเศร้าเคล้าลำบากของคนดำ แต่ความบลูส์จากฟากฝั่งอเมริกา ก็ได้พัดพาผ่านคลื่นวิทยุมาโอบอุ้มชีวิตของเอริก เด็กชายผิวขาวผู้เติบโตกลางสวนและไร่ในประเทศอังกฤษเอาไว้
บลูส์ยกที่หนึ่ง
หมู่บ้านริปลีย์, เซอร์รีย์ ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยสีเขียวของทุ่งหญ้า ท่ามกลางความสดใสวัยเด็กที่เต็มไปด้วยจินตนาการ เสียงเพลง และรูปวาดการ์ตูนบนกระดาษนั่นเอง ที่ความ ‘บลูส์’ ยกแรกเข้ามาทักทายเอริก เด็กชายวัยกำลังซน
หนูน้อยเอริกเข้าใจว่า ‘โรส’ ผู้เป็นยายคือแม่ของเขา ส่วน ‘แจ็ก’ ผู้เป็นตาก็คือพ่อของเขาอยู่นานปี จนกระทั่งวันที่เด็กน้อยได้รู้ความจริงว่าแม่ที่แท้จริงของตัวเองคือคนที่เขาเรียกว่าพี่สาวมาทั้งชีวิต
‘แพทริเซีย แคลปตัน’ มีความสัมพันธ์ชั่วคืนกับทหารหนุ่มชาวแคนาดา เธอคลอดลูกชายคนแรกในวัย 16 ปี และทิ้งเขาไว้ให้แม่เลี้ยง ส่วนตัวเธอไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในต่างแดน เอริกรับรู้ความจริงเกี่ยวกับที่มาของตัวเองอย่างสับสน และยิ่งสับสนมากขึ้น เมื่อแม่ที่แท้จริงของเขาได้กลับมาเยี่ยมบ้านพร้อมครอบครัวใหม่ ในวันที่เด็กชายอายุได้ 9 ขวบ
“ผมถามแม่ว่า แม่จะเป็นแม่ให้ผมไหม และเธอตอบว่าไม่” คือถ้อยคำปฏิเสธที่เอริกไม่อาจลืมเลือน การไม่ถูกยอมรับเป็นลูกทำให้เด็กชายรู้สึกแปลกแยก ความยุ่งเหยิงในจิตใจเริ่มขมวดเป็นปมใหญ่ขึ้นทุกขณะ
ในช่วงเวลาเหล่านั้น สิ่งเดียวที่ทำให้เขายังหลงเหลือสุขเอาไว้ คือเพลงบลูส์จากวิทยุรายการเด็ก
เอริกตกหลุมรักเพลงบลูส์ตั้งแต่แรกได้ยิน และไม่นานมันก็กลายเป็นความลุ่มหลงหนึ่งเดียว เมื่อเด็กชายได้ครอบครองกีตาร์ เขาฝึกเล่นมันอย่างลืมวันลืมคืน จนวันเวลาผันผ่าน เขาเติบโตเป็นเด็กหนุ่มผู้มีบุคลิกเฉพาะตัว และเข้าเรียนในวิทยาลัยศิลปะคิงสตัน
สำหรับชุมชนอย่างริปลีย์ เอริก แคลปตันเป็นคนประหลาด เพราะเขามักจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่คนชนบทไม่สวมใส่ ไว้ผมยาวแบบนักดนตรี และขลุกอยู่กับกีตาร์คู่ใจมากกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน
รู้ตัวอีกที มาร์คีคลับ ถนนออกซ์ฟอร์ด ก็กลายเป็นร้านประจำที่เอริกมักจะไปฟังดนตรีบลูส์ทุกค่ำพฤหัสฯ สถานที่แห่งนั้นทำให้เขาเริ่มรู้จักหลายคนที่จะกลายมาเป็นเพื่อนร่วมแวดวงดนตรีในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อย่างเช่น มิก แจ็กเกอร์ และ คีธ ริชาร์ดส์ แห่งคณะหินกลิ้งนั่นเอง
นักดนตรีหลากวง
ปี 1963 เอริก แคลปตันเริ่มชีวิตมือกีตาร์ในวัย 17 ปี ด้วยการเป็นสมาชิกวง ‘The Roosters’ ก่อนที่จะบอกลาเพื่อนร่วมวงและโยกย้ายไปเล่นกีตาร์ให้ ‘The Yardbirds’ เอริกโดดเด่นในวงดนตรีที่ยึดขนบบลูส์เป็นหลัก เริ่มมีแฟนเพลงรู้จักและคลั่งไคล้เขา วงดนตรีวงนี้ไปได้ดี และเอริกก็เริ่มได้คุ้นเคยกับ ‘จอร์จ แฮร์ริสัน’ มือกีตาร์คณะเดอะ บีเทิลส์ ก็ในช่วงนี้เอง
และแล้วแนวดนตรีของ The Yardbirds ก็ค่อย ๆ หันเหจากบลูส์เข้าหาป็อปในช่วงหลัง ทำให้ชายหนุ่มคิดได้ว่าหากอยู่ต่อไป เขาจะต้องเสียตัวตนที่ข้นด้วยกลิ่นอายบลูส์ไปในสักวัน
“ผมรู้สึกสิ้นหวังกับวงการเพลง เพราะมองไปทางไหนก็มีแต่คนหวังกอบโกย ผมคงเป็นตัวเกะกะเปล่า ๆ ถ้าพวกเขาอยากเป็นวงที่ประสบความสำเร็จ”
ความท้อแท้ต่อวงการดนตรีทำให้เอริกคิดอยากแขวนกีตาร์อยู่ช่วงสั้น ๆ แต่เขาก็รู้ดีว่าตัวเองรักมันมากเกินจะถอดใจ ในปีเดียวกันนั้นเอง เขาก็ได้เริ่มออกเดินทางกับวงใหม่อีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง
John Mayall & The Bluesbreakers, Blind Faith, Cream และ Derek and the Dominos คือชื่อของวงที่เอริกเคยเป็นส่วนหนึ่ง เสียงกีตาร์ของเขาพาให้ดนตรีบลูส์ - บทเพลงที่เปี่ยมจิตวิญญาณของคนดำกลายเป็นที่รู้จักในอังกฤษ และแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก จนแม้แต่ บี.บี. คิง ยังกล่าวอยู่เสมอว่าการเล่นดนตรีของชายคนนี้ช่วยเหลือพวกเขาเหล่านักดนตรีบลูส์ไว้ไม่น้อยก็มาก
ชีวิตไร้เข็มทิศของคนติดเหล้า
หากพูดถึงเรื่องฝีไม้ลายมือ เอริกเป็นสุดยอดนักดนตรีและกีตาร์ฮีโร่ในสายตาใครหลาย ๆ คน ขณะเดียวกันสิ่งที่โด่งดังมาพร้อม ๆ กับความสามารถของเขาก็คือชีวิตส่วนตัวที่เรียกได้ว่ายุ่งเหยิงอยู่ไม่ใช่เล่น
เริ่มต้นด้วยการเสพยาประสานักดนตรี จนติดเฮโรอีนงอมแงม และหลังเลิกยาชายหนุ่มก็หันหน้าเข้าหาขวดเหล้า เอริกติดเหล้าอย่างหนักจนถึงขั้นเคยเอ่ยปากให้สัมภาษณ์ว่า “ผมอยากตาย ๆ ไปซะ แต่ก็กลัวว่าตายแล้วจะไม่ได้ดื่มเหล้าอีก”
สารคดี ‘Eric Clapton: Life in 12 Bars’ เล่าถึงช่วงเวลาเหล่านั้นสลับกับคืนวันในวัยเด็กและปมปัญหาในครอบครัวที่ผู้เขียนได้เล่าไปช่วงต้น สื่อเป็นนัยว่าการกระทำของเขาในปัจจุบันนั้นเป็นผลมาจากความสับสนอย่างเด็กถูกทิ้งในอดีต
ประสบการณ์ขมขื่นในวัยเด็กไม่เพียงแต่ส่งผลกับนิสัยนักเสพของเขา แต่ยังมีเอี่ยวในเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ ของชายคนนี้ โดยเฉพาะประเด็นโด่งดังอย่างศึกแย่งเมียของสองเพื่อนซี้มือกีตาร์ ที่เอริกไปตกหลุมรัก ‘แพตตี บอยด์’ ภรรยาสาวของจอร์จ แฮร์ริสัน จนถึงกับแต่งเพลง ‘Layla’ และยกอัลบั้ม ‘Layla And Other Assorted Love Songs’ ให้ แต่สุดท้ายชีวิตรักระหว่างเขาและอดีตเมียเพื่อนก็พังไม่เป็นท่า เพราะนิสัยส่วนตัวของเอริกที่แพตตีเล่าว่าเขาคุ้มดีคุ้มร้าย ไม่เคยเปิดใจ และตกอยู่ใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์โดยสมบูรณ์
ระหว่างความมึนเมาทำหน้าที่ เอริกทำผิดพลาดหลายครั้งต่อหลายคน อย่างที่เจ้าตัวในยามสร่างเมาเล่าว่า “ผมกลายเป็นพวกเหยียดผิวคลั่งชาติ และผมไม่อาจให้อภัยตัวเองได้ด้วยซ้ำ”
สวรรค์ไร้น้ำตา
เอริกยังครองตำแหน่งสามีแพตตีอยู่ ในวันที่เขาเริ่มความสัมพันธ์กับ ‘ลอรี เดล ซานโต’ หญิงสาวชาวอิตาลี และหอบข้าวหอบของไปใช้ชีวิตกับเธอที่นั่น แม้มันจะเป็นการตกหลุมรักหัวปักหัวปำเพียงชั่วครู่ยาม แต่การได้พบกับลอรีก็เปลี่ยนชีวิตที่เละเทะขั้นสุดของเอริกไป เมื่อเธอบอกกับเขาว่าเธอกำลังท้องลูกชาย
“คอเนอร์คือสิ่งเดียวในชีวิตที่ทำให้ผมได้สติ” เอริกพูดถึง ‘คอเนอร์ แคลปตัน’ ลูกชายแก้วตาดวงใจ เขาเปลี่ยนตัวเองเพื่อคอเนอร์ เลิกเหล้า เลิกสำมะเลเทเมา นักดนตรีที่ชีวิตผันผ่านเรื่องร้าย ๆ มาไม่น้อย เริ่มกลับมาเป็นผู้เป็นคนในวันที่เด็กชายผู้เปรียบเสมือนแรงใจหนึ่งเดียวของเขาจากโลกใบนี้ไปกะทันหันด้วยอุบัติเหตุที่ไม่อาจคาดการณ์
คอเนอร์ แคลปตัน วัย 4 ขวบ ร่วงหล่นจากตึกชั้น 53 และเสียชีวิตทันที ขณะที่แคลปตันผู้เป็นพ่ออยู่ระหว่างเดินทางไปรับลูกชายเพื่อใช้เวลาร่วมกันอย่างทุกครั้ง
คนเป็นพ่อใจสลาย “ผมสูญสิ้นศรัทธา”
ทว่าคอเนอร์ได้เปลี่ยนเขาไปแล้วจริง ๆ ท่ามกลางความเงียบสงบของเฮิร์ตวูดเอ็ดจ์ บ้านกลางป่าในเซอร์รีย์ ที่วันวานเอริกเคยใช้เป็นที่หมกตัวเองเพื่อเมาเหล้าและยา จดหมายรักฉบับเล็กจากลูกชายที่เคยส่งมาไว้ราวหนึ่งหรือสองสัปดาห์ ก่อนเด็กน้อยจะไร้ลมหายใจทำให้เขาหยิบกีตาร์ที่อยู่ใกล้ตัวมาประคองไว้บนตัก และเฝ้าครวญกีตาร์ให้ตัวเองฟังอยู่ร่วมปี เพื่อหลีกหนี หลบเร้นจากความเสียใจ
“ผมตั้งใจแล้วว่านับจากนั้นจะอุทิศชีวิตแด่ความทรงจำเรื่องลูกชาย”
/ Would you know my name
If I saw you in heaven?
Would. it be the same
If I saw you in heaven?
I must be strong
And carry on
’Cause I know, I don’t belong
Here in heaven /
เป็นอีกครั้งที่ดนตรีช่วยชีวิตเอริกไว้ ไม่ต่างอะไรกับครั้งที่เขาเป็นเด็กชายวัย 9 ขวบผู้ฟังดนตรีบลูส์จากวิทยุในวันที่ถูกแม่ทิ้ง ‘ลูกจะรู้ชื่อพ่อไหม ถ้าเราได้พบกันบนสวรรค์’ คือคำถามที่ทั้งเปราะบาง ปวดร้าว และคิดถึงสุดหัวใจ ถึงเลือดเนื้อเชื้อไขผู้คงจะรอพบเขาอยู่บนสวรรค์ ทุกความสุขและเศร้าของเอริกถูกกลั่นลงในเพลง ‘Tears in Heaven’ นั้นจับใจผู้คนมากมาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาจะได้รางวัลแกรมมีมาครอบครอง
เพลงบลูส์บาร์สุดท้าย
มากไปกว่าการเล่าเรื่องราวชีวิตของคนหนึ่งคน ‘Eric Clapton: Life in 12 Bars’ คือสารคดีที่อุทิศพื้นที่หลายต่อหลายเฟรมให้กับเหล่านักดนตรีบลูส์ มัดดี วอเตอร์ส, ชัค เบอร์รี, จิมมี รีด และอื่น ๆ โดยเฉพาะ บี.บี. คิง ครูและเพื่อนร่วมถนนสายบลูส์ผู้จากไปในปี 2015 ที่ปรากฏชื่อและฟุตเทจทั้งช่วงเริ่มและจบของภาพยนตร์
ปี 2014 บี.บี. คิง อายุ 81 ปีในวันที่เขาหยิบกีตาร์ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตของเอริก แคลปตัน และอวยพรเพื่อนต่างวัยที่คบหากันมายาวนานต่อหน้าคนดูว่า
“May I live forever but may you live forever and a day. ’Cause I hate to be here when you pass away. And when they lay me out to rest, may the last voices I hear be yours. Saying while we was alive, we were friends.”
(ขอให้ฉันอยู่ค้ำฟ้า แต่ขอให้นายอยู่นานกว่า เพราะฉันเกลียดที่ต้องอยู่บนโลกนี้โดยไม่มีนาย และเมื่อฉันตาย ขอให้เสียงของนายคือสิ่งสุดท้ายที่ฉันได้ยิน เสียงของนายที่กำลังพูดว่าครั้งหนึ่ง เราเคยเป็นเพื่อนกัน)
ชีวิตฉบับบลูส์ของ บี.บี. คิง เดินทางมาถึงหน้าสุดท้ายแล้ว แต่เสียงเพลงของเขายังเคล้าคลออยู่เพียงแค่ปลายนิ้วกดปุ่มเพลย์ ขณะที่เอริกไม่อาจทราบว่า ‘forever and a day’ ของเขานั้นเนิ่นนานเพียงใด สารคดีนี้จึงเป็นสมุดบันทึกเล่มไม่เล็กไม่ใหญ่ ที่ขีดเขียนเรื่องราวเอาไว้ ว่าครั้งหนึ่งเคยมีเด็กชาย ผู้คลายเศร้า เติบโต และยังชีวิตอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากกีตาร์ และดนตรีบลูส์ 12 บาร์