หม่า ฮั่วเถิง : หัวเรือใหญ่ผู้พา ‘Tencent’ ก้าวสู่บริษัทไอทีอันดับหนึ่งแห่งประเทศจีน
หากในโทรศัพท์มือถือของคุณมีแอปพลิเคชันเกมมิ่งอย่าง ROV (Arena of Valor), PUBG Mobile, LOL WildRift หรือแอปพลิเคชันพูดคุยบนโลกโซเชียลฯ เช่น WeChat หรือแอปฯ ฟังเพลงออนไลน์อย่าง JOOX นั่นแสดงว่าคุณเป็นหนึ่งในผู้บริโภคนับล้านคนของ ‘Tencent’ บริษัทไอทียักษ์ใหญ่จากประเทศจีน
แต่เชื่อหรือไม่ว่ากว่า Tencent จะสามารถก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทไอทีมูลค่ามหาศาลอันดับหนึ่งของจีนยิ่งกว่า Alibaba Group ของอภิมหาเศรษฐี แจ็ค หม่า พวกเขาใช้เวลาล้มลุกคลุกคลานอยู่ไม่น้อย โดยมีชายผู้เป็นหัวเรือใหญ่ชักนำไปจนถึงผลสำเร็จดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งชายคนนั้นมีชื่อว่า ‘โพนี่ หม่า’ หรือชื่อเดิมคือ ‘หม่า ฮั่วเถิง’ (Ma Huateng)
ฉายแววอัจฉริยะไอที
เท้าความกลับไปในปี 1989 หม่า ฮั่วเถิง คือเด็กหนุ่มชาวจีนจากมณฑลกวางตุ้ง เมืองซัวเถา เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นแรงงาน หลังทราบข่าวว่าพ่อของเขา คือ หม่า เฉินชู ได้รับโอกาสงานใหม่เป็นผู้จัดการท่าเรือเมืองเซินเจิ้น เด็กหนุ่มคนนี้จึงต้องเก็บกระเป๋าตามพ่อไปใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยที่คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเซินเจิ้น
ชีวิต 5 ปีในรั้วมหาวิทยาลัยของหม่า ฮั่วเถิง หากดูจากบุคลิกภายนอกของเขาอาจดูเป็นเพียงหนุ่มเนิร์ด ขยันเรียน ธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ทว่าความจริงแล้วเขากลับเป็นเด็กจอมขบถที่คอยสร้างความปวดหัวให้กับทางคณะอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะวีรกรรมที่เจ้าตัวแฮ็กระบบฮาร์ดไดรฟ์คอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย จนบรรดาเจ้าหน้าที่แอดมินต้องมาคอยตามแก้ไข แต่ก็ไม่สามารถทำได้เพราะถูกสับเปลี่ยนพาสเวิร์ด และช่วงเวลานั้นเองที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้ดีว่าเด็กหนุ่มคนนี้มีมันสมองทางด้านไอทีที่ไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน
ต่อมาในปี 1993 หลังเรียนจบ หม่า ฮั่วเถิง เลือกใช้ชีวิตเด็กจบใหม่ ด้วยการทำงานเป็นผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านโทรคมนาคม ให้กับบริษัท China Motion Telecom Development ตามด้วยการเป็นผู้พัฒนาระบบบริการอินเทอร์เน็ตกับบริษัท Shenzhen Runxun Communications ในปีต่อมา และนั่นเองทำให้เขามีความคิดริเริ่มอยากมีธุรกิจเครือข่ายสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเอง
ก้าวแรกกับ Tencent
หลังใช้ชีวิตลองผิดลองถูกกับการเป็นพนักงานบริษัท ด้วยความทะเยอทะยานตามแบบฉบับคนอยากประสบความสำเร็จ หม่า ฮั่วเถิง ได้ชักชวนเพื่อนร่วมรุ่นมหาวิทยาลัยอีก 5 รายเพื่อร่วมลงทุนเปิดธุรกิจ SME ที่ชื่อว่า ‘Tencent’ ในปี 1998 โดยมีหน้าที่รับให้บริการวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร เพื่อให้มีเงินเก็บมากพอสำหรับการทำโปรเจกต์ใหม่ อย่างโปรแกรมแช็ตออนไลน์ที่เกิดขึ้นมาก่อน Messenger ซึ่งเด็กยุค 90s หลายคนน่าจะคุ้นหูกันดีในชื่อ QQ หรือ OICQ Chat แช็ตออนไลน์รูปโลโก้เพนกวินสวมผ้าพันคอสีแดงหน้าตาน่ารัก โดยความจริงแล้ว ฮั่วเถิงได้นำต้นแบบโปรแกรมแช็ตนี้มาจาก ICQ โปรแกรมแช็ตรูปแบบ instant messaging ตัวแรกของโลกมาปรับรูปลักษณ์ใหม่
ช่วงเริ่มต้นของ Tencent กับการให้บริการโปรแกรมแช็ตออนไลน์ QQ ดูเหมือนจะไปได้ไม่สวยเท่าไรนัก ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นการจะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อแช็ตกันทั้งวันทั้งคืนดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก ผู้คนจึงใช้เวลาอยู่กับการท่องโลกอินเทอร์เน็ตวันละไม่กี่ชั่วโมง
จากปัญหานี้ ฮั่วเถิงจึงใช้ความแสบของเขาจัดฉากสร้างกระแสให้กับ QQ ด้วยการสวมรอยเป็นหญิงสาวนามว่า ‘โพนี่ เถิง’ คอยปั่นกระแสคอมมูนิตี้ โดยเน้นไปที่การชวนผู้ใช้เพศชายเป็นหลัก ก่อนจะได้รับความนิยมจนมีผู้ใช้งานรวมกว่า 1 ล้านคน ทว่าความนิยมท่ามกลางแผนโมเดลอันไม่ชัดเจน ทำให้ฮั่วเถิงประสบกับวิกฤตด้านการเงิน เมื่อเงินเก็บของ Tencent ถูกนำออกไปใช้เพิ่มเซิร์ฟเวอร์ผู้ใช้งานที่กำลังโตวันโตคืน สวนกระแสกับรายได้
แต่ที่สุดแล้ว ฮั่วเถิงก็สามารถพา Tencent ผ่านวิกฤตการเงินมาได้ หลัง ‘Nasper’ บริษัทธุรกิจมีเดียและเทคโนโลยีเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วม 33.2 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเงินจำนวนราว 32 ล้านดอลลาร์ฯ และเมื่อวิกฤตทุกอย่างคลี่คลายลง นั่นจึงเป็นช่วงเวลาที่ Tencent จะได้กระโดดไปสู่ยุคการครองอันดับหนึ่งแห่งแพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน
สู่ยุคครองใจสายเกมมิ่งและนักแช็ตแบบเต็มตัว
หลังประสบความสำเร็จจากการทำโปรแกรมแช็ตออนไลน์อย่าง QQ ปี 2004 Tencent เบนเข็มมุ่งหน้าสู่การเป็นผู้ถือหุ้นร่วมกับบริษัทพัฒนาเกมชื่อดังหลายราย อาทิ Riot Games ผู้สร้างเกม LOL (League of Legends), Garena ที่มีเกมมือถือยอดฮิตอย่าง ROV, Epic Games ที่มีเกมชูโรงอย่าง Fortnite, PUBG Corporation ผู้สร้างเกมเซอไวเวิลสุดฮิตทั้งบนคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งหากมาคำนวณมูลค่ารวมกันจากทุกบริษัทเกมที่ทาง Tencent ถือหุ้นร่วมอยู่ ย่อมมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหลายพันล้านดอลลาร์ฯ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะทำให้พวกเขาก้าวกระโดดมาได้ไกลถึงเพียงนี้
นอกจากเรื่องของอุตสาหกรรมเกมแล้ว ฮั่วเถิงยังปรับเปลี่ยนกลยุทธ์แพลตฟอร์มโปรแกรมแช็ตเสียใหม่ จากฐานเดิมที่มีผู้ใช้ QQ อยู่ในแพลตฟอร์มคอมพิวเตอร์ ท่ามกลางกระแสสมาร์ทโฟนซึ่งกำลังมาแรงในช่วงปี 2010 เป็นต้นมา ขณะเดียวกันกระแสความเป็นคอมมิวนิสต์ของประเทศจีนยังคงเข้มข้น แอปพลิเคชันโซเชียลฯ อย่างเฟซบุ๊กและเมสเซนเจอร์ ถูกสั่งแบนโดยรัฐบาลจีน ฮั่วเถิงจึงใช้โอกาสดังกล่าวให้พนักงานบริษัทแข่งขันประกวดแอปพลิเคชันที่สามารถแช็ตพูดคุยกันได้บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน โดยผู้ชนะได้คิดค้นแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า ‘Weixin’ ก่อนจะปรับเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ‘WeChat’ ในภายหลัง และโด่งดังเป็นพลุแตกในประเทศจีน เพราะภายหลังแอปฯ ดังกล่าวถูกพัฒนาฟังก์ชันเข้ากับการจับจ่ายใช้สอยธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่มากสำหรับประเทศจีน ณ เวลานั้น เพราะเป็นช่วงที่สมาร์ทโฟนเพิ่งจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างจริงจังได้ไม่นาน
แน่นอนว่า Tencent ไม่ได้หยุดแค่ในวงการโซเชียลมีเดียบนออนไลน์หรือเกมมิ่งเท่านั้น เพราะในปี 2015 เขาได้เปิดตัวแอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลงออนไลน์อย่าง ‘JOOX’ ซึ่งเข้ามากอบโกยผลกำไรจากนักร้อง นักดนตรีในแถบทวีปเอเชีย ตามด้วยการเข้าครอบครองหุ้นของ ‘JD.com’ ถึง 21.25 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเป้าหมายสำคัญคือการครองตลาด E-commerce ในจีน ร่วมกับ Alibaba ของ แจ็ค หม่า มากกว่านั้นยังรวมไปถึงการเป็นเจ้าของแอปพลิเคชันขนส่งอย่าง Didi Chuxing และด้วยความที่ Tencent แทบจะเข้าไปครอบครองทุกกิจการบนโลกออนไลน์ นั่นทำให้แอปพลิเคชันคู่แข่งอย่าง Uber ไม่สามารถเข้ามามีส่วนแบ่งฐานลูกค้าได้เลยแม้แต่น้อย
ที่เล่ามานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจที่ หม่า ฮั่วเถิง ใช้กลยุทธ์มองการณ์ไกลกวาดต้อนซื้อกิจการออนไลน์ของจีน จนเรียกได้ว่าเป็นการผูกขาดส่วนแบ่งทางการตลาดเบ็ดเสร็จทั้งหมด ซึ่งบทพิสูจน์ที่ชี้ว่าเขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จบนแผ่นดินจีนได้ก็คือ ผลจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index เมื่อปี 2020 ท่ามกลางโควิด-19 ที่ระบาดร้ายแรงในจีน ทว่าเขากลับกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของประเทศจีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่หม่า ฮั่วเถิงมองมุมต่างจากคนอื่น มองหาสิ่งที่ยังขาดหายไปตรงหน้า และพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีกว่าเดิมอยู่เสมอ
เรื่อง: กิตตินันท์ วัฒนธิติกุล
อ้างอิง:
https://www.forbes.com/profile/ma-huateng/?sh=602584ae5437
https://www.britannica.com/biography/Ma-Huateng
https://www.bbc.com/news/technology-53696743
https://www.companieshistory.com/tencent-holdings/
https://www.pcgamer.com/every-game-company-that-tencent-has-invested-in/
ภาพ: Getty Images / VCG