‘คริสเตียน เฟเบอร์’ ผู้กอบกู้ LEGO ที่เกือบล้มละลายด้วย Bionicle ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ‘อาการป่วย’ ของตัวเอง
เชื่อไหมว่าตัวต่อพลาสติกสุดคลาสสิกอย่าง LEGO เคยมีช่วงเวลาที่เกือบจะไม่ได้ไปต่ออยู่หลายครั้ง หนึ่งในนั้นคือช่วงปี 1990-2000 ที่ยอดขายเลโก้เข้าสู่ภาวะวิกฤต ซึ่งสิ่งที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์ในครั้งนั้นคือเลโก้ ‘ไบโอนิเคิล’ (Bionicle) จากไอเดียของ ‘คริสเตียน เฟเบอร์’ (Christian Faber) ผู้หยิบยกเรื่องราวมาจากอาการป่วยของตนเอง
เฟเบอร์ไม่ได้ทำงานให้กับเลโก้โดยตรง ราวปี 1986 เขาทำงานให้กับบริษัทการตลาดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์กับเลโก้ แต่หลังจากเริ่มงานได้ไม่นาน เฟเบอร์กลับประสบปัญหาด้านการมองเห็นเพราะเนื้องอกในสมองที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หมอจึงต้องให้ยาเพื่อชะลอการเติบโตของเนื้องอกแทน แต่การรับยาดังกล่าวกลับตามมาด้วยผลข้างเคียง ทั้งอาการคลื่นไส้และภาวะขาดน้ำรุนแรง
สิบปีต่อมา แพทย์ได้ลองเปลี่ยนวิธีการรักษาโดยยาตัวใหม่ทำให้เขาไม่ต้องทนทุกข์กับผลข้างเคียงอีกต่อไป เฟเบอร์จึงเริ่มมีเรี่ยวแรงทำมากกว่าการออกแบบโบรชัวร์ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของไอเดีย ‘ไบโอนิเคิล’
เขาต่อยอด ‘โบนเฮดส์’ เลโก้ที่หน้าตาเหมือนหัวกะโหลก ให้กลายเป็นเรื่องราวของไบโอนิเคิล ทั้งแอนิเมชัน วิดีโอเกม และหนังสือ โดยเฟเบอร์เปรียบ ‘ยา’ ที่เขาได้รับจากหมอเหมือนกับ ‘ฮีโร่’ ในไบโอนิเคิลซึ่งก็คือเลโก้โบนเฮดส์ แล้วเปลี่ยนจากฮีโร่บน ‘เกาะ’ เป็นฮีโร่บน ‘ใบหน้า’ ของหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่ต้องสู้กับตัวร้ายอย่าง ‘กองกำลังมาคูตา’ ซึ่งเปรียบเสมือนเซลล์มะเร็งที่กัดกินใบหน้าของหุ่นยนต์ตัวนี้
แม้จะฉีกกรอบความเป็นเลโก้ฉบับดั้งเดิมที่เป็นเพียงตัวต่อพลาสติกธรรมดา แต่เลโก้ไบโอนิเคิลชุดนี้ก็กลายเป็นของสะสมที่ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ของเลโก้ เพราะในปี 2001 ไบโอนิเคิลมียอดขายมากกว่า 160 ล้านดอลลาร์ และได้รับตำแหน่ง ‘ของเล่นที่มีนวัตกรรมยอดเยี่ยมแห่งปี’ จากสมาคมของเล่น ส่วนปี 2003 รายได้จากไบโอนิเคิลคิดเป็น 25% ของรายรับในบริษัท และคิดเป็น 100% ของผลกำไรในบริษัทเลยทีเดียว
และข่าวดียิ่งไปกว่านั้น คือการรักษาแบบใหม่ของหมอ เริ่มทำให้อาการของเฟเบอร์ค่อย ๆ ดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน นั่นทำให้ไบโอนิเคิลกลายเป็นเรื่องราวที่มากกว่าการต่อสู้ของฮีโร่กับตัวร้าย หากเป็นเรื่องราวการต่อสู้ของยาภายในร่างกายของชายคนหนึ่งที่กอบกู้ทั้งชีวิตของตัวเขาเอง และบริษัทที่ผลิตตัวต่อพลาสติกให้มีอายุยืนยาวมากขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้
ที่มา:
สารคดี The Toys That Made Us ตอน LEGO
https://www.popularmechanics.com/culture/gaming/a31152877/lego-bionicle-faber/
ที่มาภาพ:
https://www.instagram.com/fabframes/?hl=en