read
thought
26 ต.ค. 2564 | 18:22 น.
Dune: เมื่อโลกก้าวถอยหลัง การเมืองบนเนินทรายส่งเสริมระบบชนชั้น และกลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกข่มเหง
Play
Loading...
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Dune (2021) /
ดวงอาทิตย์ฉายแสงแผดเผาทุกสิ่งอย่างท่ามกลางผืนทรายสีทองกว้างขวางสุดลูกหูลูกตา นั่นคือฉากหลังอันยิ่งใหญ่ที่จะได้เห็นกันในภาพยนตร์ไซไฟฟอร์มยักษ์เรื่อง ‘Dune’ (2021) ที่ได้ผู้กำกับมือทองอย่าง ‘เดอนี วีลเนิฟว์’ (Denis Villeneuve) เจ้าของผลงาน ‘Arrival’ (2016) และ ‘Blade Runner 2049’ (2017) มาพาชาวโลกไปรู้จักกับการเมืองแห่งเนินทรายบนดาวที่มีชื่อว่า ‘อาร์ราคิส’ (Arrakis) หรือ ดูน (Dune)
Dune เป็นหนังสือนวนิยายไซไฟเขียนโดย ‘แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต’ (Frank Herbert) นักเขียน นักข่าว ช่างภาพ และที่ปรึกษาด้านนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน โดย Dune ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1965 หลังถูกปฏิเสธจากสำนักพิมพ์กว่า 20 แห่ง จนถึงปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้มียอดขายกว่า 20 ล้านเล่มทั่วโลกแล้ว
อย่างที่เกริ่นไปตอนต้นว่า เฮอร์เบิร์ตเป็นชายผู้มากความสามารถ และมีความสนใจในศาสตร์หลายแขนงทั้งนิเวศวิทยา สังคมวิทยา การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งสถานการณ์โลกในยุคนั้น ทำให้เขารวมเอาความสนใจทั้งหมดมาไว้ในนวนิยายขึ้นหิ้งอย่าง Dune ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจให้กับนวนิยายและภาพยนตร์ไซไฟชื่อดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Star Wars’ (1977) ‘Star Trek’ (1966) หรือ ‘The Chronicles of Riddick’ (2004) จน Dune เองได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในวรรณกรรมแนววิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดในโลกเช่นเดียวกับ ‘The Lord of the Rings’ ของ ‘เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน’ (J. R. R. Tolkien)
[caption id="attachment_38011" align="aligncenter" width="1157"]
แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต
[/caption]
เนื้อหาของ Dune (ฉบับย่อ) ว่าด้วยเรื่องของมนุษยชาติที่ถูกเหล่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ปกครอง ก่อนมนุษย์จะประกาศสงครามที่เรียกว่า ‘บัตเลเรียน จิฮาด’ (Butlerian Jihad) จนสามารถเอาชนะปัญญาประดิษฐ์ได้ และตกลงกันว่าจะทำลายเทคโนโลยีที่ถูกสร้างขึ้นมาให้ทัดเทียมสติปัญญาของมนุษย์ให้หมดสิ้น นั่นจึงเป็นสาเหตุให้อนาคตของมวลมนุษยชาติหวนกลับคืนสู่ระบอบการปกครองแบบจักรวรรดิที่มีจักรพรรดิเป็นประมุขสูงสุด และมีตระกูลขุนนาง องค์กรศาสนา รวมถึงพ่อค้า-นายทุน เป็นกลุ่มอภิสิทธิ์ชนเสาหลักของการปกครองจักรวาล
และเมื่อคนกลุ่มหนึ่งขึ้นมามีอำนาจเหนือกลุ่มคนอื่น ๆ พวกเขาย่อมมองหาเครื่องมือในการสร้างเสริมและคงไว้ซึ่งอำนาจของตนเอง ซึ่งในเรื่องนี้ สสารที่ชื่อว่า ‘สไปซ์’ (Spice) ถือเป็นสารเสพติดและสสารที่มูลค่าสูงที่สุดในจักรวาล เนื่องด้วยคุณประโยชน์ที่ใช้เพื่อสุขภาพ และเพื่อค้นหาเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุดในการเดินทางระหว่างดวงดาว
เมื่อสสารที่มีค่าไม่ต่างจาก ‘น้ำมัน’ หรือ ‘ทองคำ’ ในยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติมีแหล่งกำเนิดเพียงแห่งเดียวในจักรวาล ผู้มีอำนาจจึงพากันแย่งขุมทรัพย์นี้บนดาวที่มีชื่อว่าอาร์ราคิส และนั่นนำไปสู่การทำร้ายชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนอย่าง ‘เฟรเมน’ (Fremen) จนพวกเขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบซ่อน และต้องต่อสู้เพื่อดิ้นรนเอาชีวิตรอดจากผู้มีอำนาจที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง
วังวนแห่งการแก่งแย่งอำนาจในฐานะผู้ครอบครองทรัพยากร
แฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนมาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงบนโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวการแย่งขุมทรัพย์สีดำอย่าง ‘น้ำมัน’ ในโลกตะวันออกกลาง
การแย่งชิงน้ำมันเริ่มต้นขึ้นราวปี 1908 อังกฤษค้นพบน้ำมันในเปอร์เซีย หรือก็คือประเทศอิหร่านในปัจจุบัน หลังจากนั้นมหาอำนาจของโลกก็เริ่มยุทธวิธีช่วงชิงน้ำมันจากประเทศในตะวันออกกลาง นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงและการแทรกแซงมากมายที่ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่รับชมภาพยนตร์เรื่อง Dune ไม่ใช่เพียงน้ำมันเท่านั้นที่เป็นทรัพยากรอันล้ำค่าที่ใคร ๆ ต่างก็นึกถึง เพราะแท้จริงแล้ว โลกของเราเต็มไปด้วยการแก่งแย่งทรัพยากรกันมาอย่างเนิ่นนาน เช่นเดียวกับยุคตื่นทอง (Gold Rush) ที่เริ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกาปี 1848 การค้นพบเพชร (Diamond Rush) ราวปี 1869 และการตัดไม้เพื่อประโยชน์ทางการค้า ซึ่งมีการพูดถึงอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกช่วงปี 1950s หรือแม้กระทั่งน้ำ เครื่องเทศ หรือปลาในทะเล ก็ล้วนเป็นทรัพยากรที่มนุษย์แย่งชิงกันทั้งสิ้น ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นการทำเพื่อเงินและผลประโยชน์ของพ่อค้า-นายทุน รวมถึงผู้มีอำนาจ
ในภาพยนตร์เรื่อง Dune ฉากหลังทั้งหมดล้วนเกี่ยวข้องกับอวกาศ การเดินทางข้ามดวงดาวไม่อาจทำได้ด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัยเหมือนใน Star Wars เพราะมนุษย์เกรงกลัวปัญญาประดิษฐ์จนทำลายหมดสิ้นไปแล้ว ดังนั้นสไปซ์จึงกลายเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ผู้ที่มีสไปซ์ในครอบครองจะได้ทั้งความมั่งคั่งและอำนาจในการควบคุมผู้คน ซึ่งตระกูลฮาร์คอนเนน (Harkonnen) คือผู้ที่เข้ายึดครองอาร์ราคิส และปกครองเฟรเมนด้วยความโหดร้าย เพื่อส่งออกสไปซ์มากว่า 80 ปี
80 ปีคือระยะเวลาที่ยาวนาน และยาวนานเกินกว่าผู้มีอำนาจจะยอมปล่อยอำนาจของตนเองทิ้งไปโดยง่าย นั่นจึงนำมาซึ่งสงครามความแค้นที่ปะปนกับสงครามการเมือง เมื่อจักรพรรดิผู้ไร้ทายาทไม่ต้องการให้สองตระกูลใหญ่อย่างฮาร์คอนเนน
(Harkonnen)
และอะเทรดีส (Atreides) เข้ามาทำให้บัลลังก์สั่นคลอน จักรพรรดิจึงใช้ความแค้นของสองตระกูลที่มีอยู่เดิม ส่งอะเทรดีสเข้าไปครองดาวอาร์ราคิสแทน ก่อนจะส่งกองกำลังส่วนพระองค์ไปช่วยฮาร์คอนเนนล้างบางอะเทรดีสอีกที
แต่ความลุ่มหลงในอำนาจและความมั่งคั่งไม่ได้จบลงเพียงเท่านั้น
“ขูดรีดมัน เอามาให้หมด ฆ่าเฟรเมนให้หมด”
ราวกับถึงเวลาของกลียุคที่ดาษดื่นไปด้วยความรุนแรง จนดวงดาวต้องอาบไปด้วยเลือด ผู้ปกครองที่ไร้ความปรานีแห่งฮาร์คอนเนนสั่งทหารให้จัดการแม้กระทั่งชนพื้นเมืองที่อยู่มาก่อน และถึงแม้พวกเขาจะอยู่โดยพยายามพินอบพิเทา ไม่เข้าไปยุ่งกับจักรวรรดิ แต่ด้วยชนชั้นและอำนาจอันน้อยนิด ทำให้พวกเขาไม่อาจเลี่ยงภัยการเมืองที่กระจายอยู่ทุกอณูของอากาศในอาร์ราคิสได้
เนินทรายแห่งชนชั้นและการก้าวถอยหลังของมนุษยชาติ
เรื่องราวของ Dune ถูกเซตขึ้นในช่วง 10191 AG (การนับเวลาใน Dune) หรือราว 23352 A.D. (คริสต์ศักราช) แต่การก้าวไปข้างหน้าของมวลมนุษยชาติไม่ได้หมายถึงการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเสียทีเดียว เพราะสุดท้ายมนุษย์ได้เลือกที่จะเชื่อในสติปัญญาของตนเองมากที่สุด จนนำยุคสมัยเคลื่อนกลับเข้าสู่การปกครองแบบรวมศูนย์ และการส่งเสริมระบบชนชั้นอีกครั้ง
นวนิยายของแฟรงก์ เฮอร์เบิร์ต ราวกับการทำนายชะตากรรมของโลกมนุษย์ว่า สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในตัวมนุษย์เสมอแม้เวลาจะก้าวไปข้างหน้ากว่า 2 หมื่นปี คือความกระหายในอำนาจ และความไม่รู้จักพอ แม้ว่ายุคศตวรรษที่ 21 ประชาชนทั่วโลกต่างเดินขบวนเรียกร้องความเท่าเทียม แต่ในจักรวาลของ Dune ผู้มีอำนาจได้ทำให้การปกครองระบบชนชั้นกลับมาเป็นที่ชอบธรรมอีกครั้ง ทั้งพ่อค้า-นายทุนยังมีสิทธิ์ผูกขาดในการเดินทางข้ามอวกาศแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ ศาสนาเองก็กลับมามีบทบาทในการชักนำมนุษย์เช่นเดิม
ศาสนากับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สามารถก้าวไปควบคู่กัน แต่ในภาพยนตร์เรื่อง Dune เราเห็นถึงความย้อนแย้งอันยิ่งใหญ่ เมื่อกองทัพของฮาร์คอนเนนกำลังจะเดินทางไปบุกตระกูลอะเทรดีสบนดาวอาร์ราคิส พวกเขาจัดพิธีกรรมบางอย่างขึ้นราวกับการเรียกขวัญทหารก่อนการออกศึก โดยนี่ไม่ใช่การทุบหม้อข้าวที่ทำลายเพียงวัตถุ แต่มีการบูชายัญมนุษย์ และนำเลือดคนไปทาบนใบหน้าของเหล่านักรบด้วย
นอกจากศาสนาที่จักรวรรดินับถือ ฝั่งเฟรเมน ชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไกลโพ้นของอาร์ราคิส ยังมีความเชื่อและความศรัทธาเป็นของตนเอง พวกเขาอาศัยอยู่ในทะเลทรายร่วมกับหนอนทะเลทรายยักษ์ที่ถูกเรียกว่า ‘ชาไอฮูลูด’ ซึ่งชาวทะเลทรายนับถือราวกับเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า
ชาวเฟรเมนอาศัยปะปนอยู่กับชาวดาวอาร์ราคิสเป็นปกติ แต่ความจริงคือ พวกเขาเป็นเพียงชนชั้นล่างในพีระมิดแห่งการปกครอง พวกเขาถูกฆ่า ถูกทำร้าย แม้จะอาศัยอยู่มาก่อนอย่างเนิ่นนาน ซึ่งเรื่องราวของชาวเฟรเมนฟังดูแล้วก็คุ้นเคย เพราะไม่ต่างจากชะตากรรมของกลุ่มชาติพันธุ์-ชนพื้นเมืองทั่วโลกที่ต้องถูกเหล่าผู้คลั่งอำนาจบีบบังคับให้อยู่ใต้การปกครอง
เฟรเมน ตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ถูกกดขี่
ฮาร์คอนเนนบุกมายังดาวของเฟรเมน พวกเขาร่ำรวยจากการค้าขายสไปซ์ สินค้าล้ำค่าที่พบบนดาวอาร์ราคิส แต่วันหนึ่งฮาร์คอนเนนก็จากไปด้วยคำสั่งสูงสุดของจักรพรรดิ
“เหตุใดพระจักรพรรดิจึงเลือกเส้นทางนี้? แล้วใครจะถูกส่งมากดขี่พวกเราอีก?” ชานี่ หนึ่งในเฟรเมนตั้งคำถามเมื่อเธอเห็นเพื่อนพ้องถูกฆ่าตายไปต่อหน้าต่อตาบนดาวที่เป็นทั้งบ้านและชีวิตของเธอ
ชะตากรรมของชนเผ่าพื้นเมืองเฟรเมนยังคงอยู่ในเงื้อมมือของใครสักคนที่เบื้องบนส่งลงมา พวกเขาไม่มีชีวิตที่เป็นอิสระดั่งใจ ไม่มีเลือดของราชนิกุลที่ใครต่างก็ให้ความเคารพ และไม่มีอำนาจในการต่อรองทั้งที่มีทรัพยากรสไปซ์ และเทคโนโลยีในการป้องกันตัวจากภัยทะเลทรายอยู่ในมือ
“พวกท่านมาเพื่อสไปซ์ จะเอาก็เอาไป แต่อย่ามายุ่งกับพวกเราก็พอ” ตัวแทนเฟรเมนที่เข้าพบตระกูลอะเทรดิสเอ่ย
เฟรเมนต้องทนอยู่ใต้เงาและการถูกกดขี่ข่มเหง จะดิ้นรนต่อสู้ก็รู้ว่ามีสิ่งที่ต้องสูญเสีย พวกเขาไม่อยากเสียครอบครัวไปอีกแล้ว แต่หากไม่สู้ก็ต้องหลบหนีกบดานใต้แผ่นดินที่ตนเองมาถึงก่อน ทั้งหมดคือภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกา หรือที่ถูกเรียกว่าชาวอินเดียนแดง รวมไปถึงชนเผ่าพื้นเมืองแอมะซอน ชนเผ่าในแอฟริกา ชนเผ่าพื้นเมืองเมารีในนิวซีแลนด์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยงและชาวเล
นอกจักรวาลของ Dune กลุ่มชาติพันธุ์มีพื้นที่เพียงน้อยนิดในการป่าวประกาศความทุกข์ทรมานและความอยุติธรรมที่พวกเขาต้องพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านเกิดของตนเองได้ ยกตัวอย่าง ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่ได้พิสูจน์มาหลายร้อยปีว่า การมีอยู่ของพวกเขาไม่ได้ทำให้ทรัพยากรป่าไม้ลดลง ทั้งภูมิปัญหาของพวกเขายังสามารถสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อมได้จนถึงปัจจุบัน กระทั่งผู้มีอำนาจเข้าแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ จนทำลายวิถีชีวิตของพวกเขาไปตลอดกาล
เฮอร์เบิร์ตได้สะท้อนให้โลกเห็นว่า ชนพื้นเมืองใน Dune ได้รับแรงผลักดันมาจากเรื่องจริง โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม และยุคที่ตะวันตกต้องการยึดครองน้ำมันของโลกตะวันออกกลาง ในปัจจุบัน ขณะที่เรานั่งชมภาพยนตร์เรื่อง Dune สังคมก็ยังเปิดพื้นที่ให้เหล่าเฟรเมน (ในชีวิตจริง) ไม่มากพอ และรัฐยังจัดการปัญหาของพวกเขาได้ไม่ดีอย่างที่ควร แต่ถึงอย่างนั้น มนุษย์ยุค 2000s ก็สามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้โดยไม่ต้องรอให้ ‘พอล อะเทรดีส’ (รับบทโดยทิโมธี ชาลาเมต์ - Timothée Chalamet) ถือกำเนิดขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในอีกหลายหมื่นปีข้างหน้า
[caption id="attachment_38021" align="aligncenter" width="983"]
พอล อะเทรดีส
[/caption]
ความหวังของชนชั้นล่าง
ในภาพยนตร์ ศาสนาได้กลับมามีบทบาทอย่างลึกซึ้งอีกครั้ง ผ่านองค์กรศาสนาที่ชื่อว่า ‘เบนี เจสเซอริต’ (Bene Gesserit) กลุ่มมนุษย์ผู้หญิง หรือแม่มด ที่พัฒนาตนเองจนมีความสามารถในการใช้ร่างกายเป็นเลิศ ยกตัวอย่างการใช้เสียงควบคุมจิตใจ
เมื่อศาสนาเข้ามามีบทบาทในชีวิต ถึงขั้นเกิดพิธีกรรมที่ขัดกับความเจริญของยุคสมัย จึงเกิดคำถามขึ้นว่า เหตุใดศาสนาจึงกลับมามีบทบาทได้มากถึงเพียงนี้? หากไม่นับเรื่องการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเชื่อ และนำความเชื่อเข้าควบคุมทัศนคติ ความคิด และจิตใจของมนุษย์ เพื่อให้ง่ายต่อการชักนำและปกครอง คำตอบก็คือการย้อนถามว่า เราใช้ศาสนาเพื่ออะไร?
บางคนอาจใช้ศาสนาเพื่อหาความสงบ หรือเพื่อให้จิตใจมีที่พึ่งพิง? เช่นเดียวกับเหล่าเฟรเมนและผู้ตกเป็นเบี้ยล่างของอำนาจ แม้เฟรเมนหลายคนจะไม่เชื่อในคำทำนายที่กล่าวถึง ‘พระเมสสิยาห์’ ผู้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่โลก (ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์และอิสลาม) แต่ในใจพวกเขาก็ยังเรียกร้องหาใครสักคนที่จะมาปลดปล่อยพวกเขาออกจากความทุกข์ทรมานนี้
‘เพราะไม่มีอิสระในตัวเองจึงจำต้องเฝ้ารอคอยใครสักคนมาเปลี่ยนแปลง’
[caption id="attachment_38019" align="aligncenter" width="988"]
หนึ่งในเบนี เจสเซอริต แม่ของพอล อะเทรดิส
[/caption]
พอล อะเทรดีส ผู้มีนิมิตเห็นหลายสิ่งและกลายเป็น ‘ผู้ถูกเลือก’ จึงค่อย ๆ ก้าวเข้าสู่บทบาทที่ใครหลายคนในจักรวาลคาดหวัง เขากำลังจะต้องกลายเป็นผู้นำทั้งที่ความตั้งใจเดิมไม่ใช่เช่นนั้น นี่คือการแบกความหวังด้วยตัวคนเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ส่วนหนึ่งของพอลก็บ่งบอกถึงความเป็นผู้นำที่ดี ไม่ต่างจากบิดาอย่าง ‘เลโท อะเทรดีส’ (รับบทโดย ออสการ์ ไอแซก - Oscar Isaac) ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความยุติธรรม
[caption id="attachment_38020" align="aligncenter" width="993"]
เลโท อะเทรดีส
[/caption]
“เราถอนต้นปาล์มดีไหม จะได้ประหยัดน้ำ”
พอลเดินชมสวนปาล์มที่มีต้นปาล์มทั้งหมด 20 ต้น คนสวนบอกกับเขาว่า ต้นปาล์ม 1 ต้นใช้น้ำสำหรับคน 5 คน เท่ากับปาล์มทั้งหมดนั้นใช้น้ำสำหรับจำนวน 100 ชีวิต เมื่อพอลได้ยินดังนั้น เขาจึงถามคนสวนว่าควรจะตัดต้นปาล์มทิ้งดีหรือไม่ แต่คนสวนได้บอกกับเขาว่า ต้นปาล์มเหล่านี้คือ ‘ความฝันเก่า’ ซึ่งตีความได้หลากหลาย ทั้งสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือชีวิตดี ๆ ที่ผู้คนเรียกหา
แต่อย่างไรก็ตาม มันเป็นเพียงความฝันเก่า เป็น ‘ของดูต่างหน้า’ หาใช่อนาคต ซึ่งหนทางที่จะมีความฝันได้ คือการที่มนุษย์กลับมามีความหวัง และโลกใบนี้ต้องถูกเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากที่ต้นปาล์มถูกเผาเมื่อเหล่าฮาร์คอนเนนมาเยือน ราวกับเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการบอกว่า กลุ่มผู้มีอำนาจไม่ได้สนใจความฝัน หรือความอยู่รอดของชนชั้นล่าง นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิถีทะเลทรายของพอล อะเทรดีส
หวังว่าการเดินทางของเขาจะนำพาความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับจักรวาล Dune ได้ ส่วนในชีวิตจริงของเราก็ต้องดิ้นรนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นเช่นกัน มิเช่นนั้นอนาคตของ Dune ในอีกหลายหมื่นปีข้างหน้าคงจะปรากฏเร็วขึ้นกว่าที่คิด (หรือแท้จริงแล้วกำลังปรากฏอยู่กันแน่?)
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ:
https://www.imdb.com/title/tt1160419/
https://www.youtube.com/watch?v=8g18jFHCLXk
https://www.historylink.org/File/21248
อ้างอิง:
ภาพยนตร์เรื่อง Dune (2021)
https://www.newyorker.com/books/page-turner/dune-endures
https://www.wired.com/story/dune-geopolitics-cybersecurity/
https://dune.fandom.com/wiki/Universal_Standard_Calendar
https://dune.fandom.com/wiki/10191_AG
https://dune.fandom.com/wiki/Universal_Standard_Calendar#:~:text=Thus%2C%20the%20year%2010%2C191%20AG,chronology%20actually%20uses%20Earth%20years
.
https://www.imdb.com/title/tt1160419/
https://www.slashfilm.com/638538/the-oil-must-flow-how-does-denis-villeneuves-dune-deal-with-the-books-middle-east-inspirations/
https://inkstickmedia.com/what-dune-and-us-foreign-policy-have-in-common/
https://lareviewofbooks.org/article/the-secret-history-of-dune/
https://www.britannica.com/topic/Dune-by-Herbert
https://www.wired.com/2008/05/dayintech-0526/
https://www.theclassroom.com/the-history-of-deforestation-13636286.html
https://www.eh-resources.org/the-role-of-wood-in-world-history/
https://www.thesolomon.co.za/heyday-of-diamond-mining.html
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
The People
Thought
Dune