read
thought
28 ต.ค. 2564 | 16:15 น.
ร่างทรง: หนังผีแนวสารคดีสุดโหดที่ชวนตั้งคำถามกับ ‘ความเชื่อ’ เมื่อทุกศรัทธากำลังถูกท้าทาย
Play
Loading...
/ *** บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ (2021) และมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับความเชื่อส่วนบุคคล ความรุนแรง และการสูญเสีย *** /
“สาธุสายอมือใส่เกล้า
ไหว้ย่าเจ้ายกใส่เกษา”
“ขันสมมาธูปเทียน
ทัง
คู่
พวกเฮาหมดหมู่ไหว้ย่าบาหยัน”
ลึกเข้าไปในหุบเขาทะมึนที่รายล้อมด้วยสายหมอกลอยต่ำ เสียงสวดของชาวบ้านในชุดผ้าขาวม้าพาดไหล่ดังขึ้นผ่านแมกไม้ เหล่าหญิงชายหอบเครื่องสักการะพร้อมความศรัทธาขึ้นมาบูชา ‘เจ้าย่าบาหยัน’
เจ้าย่าบาหยัน คือผีบรรพบุรุษที่ชาวอีสานนับถือในฐานะผีผู้ให้คุณและปกป้องหมู่บ้าน โดยการสื่อสารระหว่างย่าบาหยันและชาวบ้านจะเกิดผ่านสื่อกลางอย่าง ‘ร่างทรง’ ที่สืบทอดอยู่ในสายเลือดของตระกูลยะสันเทียะ ซึ่งเรื่องราวในภาพยนตร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นรายล้อมร่างทรงคนล่าสุดที่ชื่อว่า ‘ป้านิ่ม’
‘The Medium - ร่างทรง’ (2021) กำกับโดย ‘โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล’ เขียนบทร่วมกับ ‘เต๋อ - ฉันทวิชช์ ธนะเสวี’ และ ‘เยเมนส์ - ศิววุฒิ เสวตานนท์’ โดยมี ‘นาฮงจิน’ ผู้กำกับชาว
เกาหลีใต้ เจ้าของผลงานสยองขวัญ ‘The Chaser’ (2008), ‘The Yellow Sea’ (2010) และ ‘The Wailing’ (2016) มารับหน้าที่โปรดิวเซอร์
จากการเปิดตัวที่เรียกกระแสตอบรับความสยองแบบสุดโต่งในประเทศเกาหลีใต้ ในที่สุดภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ก็ได้ฤกษ์เข้าทรงในโรงของประเทศไทย ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นหนังผีที่แตกต่างจากแนวทางกำกับเดิมของบรรจงเป็นอย่างมาก ด้วยความเป็น ‘สารคดีเทียม’ (Mockumentary) ที่ดำเนินเรื่องด้วยการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง และตามถ่ายทุกเหตุการณ์แบบประชิดตัว ทำให้หลายคนคงจะรู้สึกไม่คุ้นเคยเมื่อเทียบกับผลงานในอดีตของบรรจงอย่าง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ (2004) ‘แฝด’ (2007) ‘สี่แพร่ง’ (2008) ‘ห้าแพร่ง’ (2009) และ ‘พี่มากพระโขนง’ (2013)
แต่ด้วยลักษณะความเป็นสารคดีเทียมที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ (สำหรับบางคน) ทำให้คนดูที่หวังจะเข้าไปดื่มด่ำกับความกลัวแบบจัดหนักจัดเต็ม ผีโผล่จนสะดุ้งโหยง อาจจะต้องผิดหวังกันสักหน่อย เพราะบรรยากาศตลอดทั้งเรื่องนั้นเต็มไปด้วย ‘ความอึดอัด’ และการต้องตั้งใจฟังบทสนทนาจากการสัมภาษณ์ครอบครัวร่างทรงตลอดเวลา แต่ในอีกแง่หนึ่ง นั่นคือความดีงามของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทำให้คนดูรู้สึกราวกับได้ลงพื้นที่ไปถ่ายทำด้วยกัน เราได้เห็นจุดเริ่มต้นของปัญหา ได้เห็นตัวละครเติบโตและดับไป พร้อมการตั้งคำถามถึง ‘ความเชื่อ’ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญของเรื่อง
มนุษย์ ร่างทรงของความจริงและความเชื่อ
ก่อนจะพูดถึงการสั่นคลอนของความเชื่อที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ เรามาพูดถึงการผสมผสานของความจริงและความเชื่อในภาพยนตร์เรื่องนี้กันก่อน
เปิดเรื่องมาด้วยการสัมภาษณ์ ‘ป้านิ่ม’ (รับบทโดย เอี้ยง - สวนีย์ อุทุมมา) ทีมงานถ่ายทำได้ถามเธอเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี และครอบครัวร่างทรงของเธอ แต่คำถามสำคัญอยู่ที่การจี้ว่า “ป้านิ่มสามารถรักษาได้ทุกโรคจริงหรือไม่” ซึ่งนั่นคงจะเป็นคำถามที่ใครหลายคนสงสัยมาโดยตลอด ส่วนคำตอบของป้านิ่มนั้น...
“ก็ถ้าเป็นมะเร็งแล้วมาหาป้านะ… ตายทุกคน” (หัวเราะ)
คำตอบของป้านิ่มอาจจะทำให้ใครหลายคนผิดหวัง แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้ใครหลายคนคิดว่า ‘มันก็ต้องเป็นอย่างนั้นแหละ’ ป้านิ่มบอกว่า เธอรักษาได้เฉพาะโรคที่เกิดจากสิ่งที่มองไม่เห็นทำมา ไม่ว่าจะผีไร่ผีนา หรือการทำของ ส่วนโรคปกติ เธอแนะนำให้ไปหาหมอ
ภายใต้คำตอบธรรมดาของป้านิ่ม เธอกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนความเป็นมนุษย์ได้อย่างดี เพราะมนุษย์คือร่างทรงที่หลอมรวม ‘ความเชื่อ’ และ ‘ความจริง’ เข้าด้วยกัน
ความเชื่อเป็นสิ่งที่ลึกล้ำและบางครั้งก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ แต่ความเชื่อกลับนำมาซึ่งความศรัทธาและความหวังจนเกิดพลังในการกระทำหลายสิ่งอย่าง มนุษย์ทุกคนมีสิ่งที่ตนเองเชื่อถือ เช่นเดียวกับป้านิ่มที่เชื่อในการมีอยู่ของย่าบาหยัน เช่นเดียวกับศาสนิกชนที่เชื่อในศาสดาของตน หรือเช่นเดียวกับเจ้าบ้านที่เชื่อว่าเจ้าที่จะช่วยปกปักรักษาบ้าน
ป้านิ่มถือเป็นตัวแทนคนในสังคมที่เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่งว่าสิ่งเหนือธรรมชาตินั้นมีอยู่จริง ครึ่งหนึ่งของป้านิ่มเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่อีกครึ่งหนึ่งของเธอเชื่อในความจริง เธอรู้ว่าเมื่อป่วยด้วยโรคร้าย คนที่จะรักษาได้คือผู้เชี่ยวชาญอย่างหมอ
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นทัศนคติของผู้คนที่ทำให้สังคมไทยกลายเป็น ‘เตาหลอมวัฒนธรรม’ อันใหญ่ (ขอเรียกตามที่เคยได้ยินใครต่อใครเปรียบเปรย) โดยเตาหลอมวัฒนธรรมนี้จะเลือกเพียงสิ่งที่ตนเองพึงพอใจขึ้นมานับถือ เช่น พุทธศาสนิกชนที่ฉลองวันคริสต์มาสและวันวาเลนไทน์ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้นำพามนุษย์มาสู่จุดเดียวกันคือ ‘การเชื่อเพื่อความสบายใจ’
แต่ในภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ความเชื่อดั้งเดิมกลับถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรง เมื่อผลลัพธ์ของสิ่งที่เชื่อมาโดยตลอดไม่ได้ให้ในสิ่งที่หวังอีกต่อไป จึงเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วผู้คนจะยังเชื่อสิ่งนั้นเหมือนเดิมหรือเปล่า?
/ **** ต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง **** /
ชวนตั้งคำถามกับความเชื่อ
การตั้งคำถามกับความเชื่อคงจะเป็นสิ่งที่ทีมผู้สร้างอยากให้เกิดขึ้นหลังรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งการสัมภาษณ์ป้านิ่มในตอนท้ายของเรื่องคือประเด็นสำคัญที่ชวนหาคำตอบ หรืออย่างน้อยก็ชวนให้ผู้ชมย้อนถามถึงความเชื่อของตนเอง
“อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลยก็ได้”
“เอาเข้าจริง ๆ ป้าไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำ ไม่เคยแน่ใจอะไรเลยด้วยซ้ำว่าย่ามาเข้าป้าจริง ๆ หรือเปล่า”
หลังครอบครัวยะสันเทียะเผชิญหน้ากับความชั่วร้ายขั้นสุดจากสิ่งที่มองไม่เห็น ป้านิ่ม ร่างทรงของผีฝ่ายดีอย่างย่าบาหยันต้องต่อสู้กับผีร้ายที่เป็นสัมภเวสีผีบ้าจากทุกสารทิศ แรกเริ่มเดิมทีเธอและครอบครัวต่างคิดว่าจะสามารถช่วยหลานสาวอย่าง ‘มิ้ง’ (รับบทโดย ญดา - นริลญา กุลมงคลเพชร) ที่ถูกวิญญาณเข้าสิงได้ แต่เมื่อความพยายามดูจะไม่เป็นผล ความเชื่อของป้านิ่มกลับอ่อนกำลังลงอย่างแรง
เธอไม่แน่ใจอีกต่อไปเมื่อสิ่งที่เคยเชื่อถือมาตลอดไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างที่คิด ป้านิ่มเคยรักษาผู้คนมากมายให้หายจากอาการผีเข้า ถูกวิญญาณตามติด หรือถูกทำของ แต่วันนี้เธอกลับช่วยคนในครอบครัวไม่ได้ แถมยังถูกพี่สาวอย่าง ‘น้อย’ คาดคั้นถามอีกว่า
“มึงเคยเห็นจริงหรอ? แม่ย่าบาหยันน่ะ ถ้าไม่เคยเห็น แล้วรู้ได้ยังไงว่ามีจริง?”
“กูรู้สึกได้” ป้านิ่มพยายามดึงศรัทธาในตัวแม่ย่าบาหยันกลับมาเพื่อตอบคำถามของพี่สาว ขณะเดียวกันพี่สาวเองก็เริ่มตั้งคำถามถึงการเปลี่ยนศาสนาของตนเองเช่นกัน
เนื่องจากการสืบทอดร่างทรงแม่ย่าบาหยันจะเกิดขึ้นภายในสายเลือดของคนในครอบครัวที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น หลังจากยายเสีย องค์แม่ย่าจึงถูกส่งมาที่น้าสาว และเมื่อน้าสาวเสีย องค์แม่ย่าจึงถูกส่งมาที่น้อย แต่น้อยไม่ยอมรับและปฏิเสธการรับขันธ์แม่ย่า เธอหันหลังให้กับความเชื่อที่สังคมแวดล้อมยึดถือ ซึ่งเหตุผลของน้อยนั้นมีหลายอย่าง หนึ่งในนั้นอาจเป็นเพราะเธอไม่ชอบ แต่ในทางกลับกันนั่นคือสิ่งที่สะท้อนว่า เพราะเธอเชื่อว่ามันมีจริง เธอจึงพยายามหลีกหนีการเป็นร่างทรง โดยการนำเสื้อของตนเองไปให้น้องสาวอย่างนิ่มใส่ และนำยันต์ไปไว้ในรองเท้าให้นิ่มเหยียบ จนในที่สุดเมื่อนิ่มรับขันธ์แม่ย่าเรียบร้อย น้อยจึงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์แทน
การเปลี่ยนศาสนาอาจเป็นหนทางในการทำเหมือนว่า ความเชื่อที่ผ่านมานั้นไม่มีจริง หรืออย่างน้อยก็พยายามจะไม่ให้มีจริงในจิตใจของตน
แต่เมื่อศาสนาที่เปลี่ยนไปไม่ได้ช่วยให้จิตใจของน้อยพบกับความสงบอีกแล้ว ความหวังของเธอจึงกลับมาที่แม่ย่าบาหยันอีกครั้ง แม่ย่ากลายเป็น ‘ความหวัง’ สุดท้าย และเป็น ‘ความเชื่อ’ สุดท้ายที่เธอจะมีโอกาสได้พึ่งพิง เช่นเดียวกับตอนจบของการทำพิธีไล่ผี เราไม่อาจรู้ได้เลยว่า น้อยสัมผัสถึงแม่ย่าได้จริงหรือไม่ แต่ดูเหมือนเธอจะอยากให้แม่ย่ามาช่วยเธอจริง ๆ
สุดท้าย ไม่ว่าจะความเชื่อที่เกิดจากหลักศาสนาหรือสิ่งใดก็ตามที่มนุษย์ยึดถือศรัทธา ในมุมหนึ่ง สิ่งเหล่านั้นคือเครื่องมือในการ ‘ต่อสู้’ กับสิ่งที่เข้ามาทำร้ายชีวิตและจิตใจ แต่อีกมุมหนึ่งกลับเป็นสถานที่ ‘พักพิง’ จิตใจของคนที่ต่อสู้กับความจริงไม่ไหว หรือเหนื่อยเกินกว่าจะต่อสู้กับมันอีกแล้ว
อะไรคือสิ่งที่มั่นคงและเชื่อได้
เป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบตายตัว แต่อย่างน้อยภาพยนตร์ที่อิงกับโลกแห่งความจริงส่วนหนึ่งก็ทำให้คนดูได้เห็นว่า ขณะที่มิ้งกำลังเผชิญหน้ากับสิ่งที่มองไม่เห็น คนกลุ่มหนึ่งที่อยู่เคียงข้างเธอเสมอคือ ‘ครอบครัว’ ป้านิ่ม แม่น้อย ลุงมานิต และป้าสะใภ้ คือคนที่อยู่เคียงข้าง และไม่ทอดทิ้งมิ้ง แม้ความกลัวจะกัดกินพวกเขาเท่าใดก็ตาม
ถึงตอนจบจะไม่ได้แฮปปี้เอนดิ้งด้วยพลังครอบครัวแบบ Fast & Furious แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตระกูลยะสันเทียะคือความจริงที่หลายครอบครัวเคยเผชิญ แม้ในบางครั้ง พวกเขาจะโกรธกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง หรือทิ้งวันคืนอันเลวร้ายให้กันและกันบ้าง แต่สำหรับพวกเขา ประโยคที่ว่า ‘เลือดข้นกว่าน้ำ’ คือความจริงที่พิสูจน์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
ภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ เล่นกับสิ่งที่อยู่ในใจคนดูหลายอย่าง เราไม่ได้ระแวงแค่เรื่องผี แต่เรายังต้องอึดอัดไปกับบรรยากาศ ความเงียบ บทสนทนา สันดานดิบของมนุษย์ และปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งถือเป็นเรื่องใกล้ตัวจนคนดูสามารถเข้าใจความรู้สึกของทุกตัวละครได้ หลังจากนั้นภาพยนตร์จึงเริ่ม ‘เปิดฉากจบ’ และ ‘ปิดฉากจบ’ ด้วยการทิ้งสัจธรรมของชีวิตเอาไว้ให้คนดูพิจารณา
สิ่งหนึ่งที่แน่นอนคือความตาย
เป็นฉากที่ทำให้ใจหายไปเลยทีเดียวเมื่อรู้ว่าร่างทรงอย่างป้านิ่มนอนหมดลมหายใจอยู่บนเตียงก่อนที่อีกไม่กี่วันจะถึงฤกษ์ในการทำพิธีไล่ผี
เศษดอกไม้ ธูป เทียน และพานพุ่มตกกระจายอยู่ทั่วพื้นบ้าน สิ่งของที่เคยศักดิ์สิทธิ์บนหิ้งบูชาไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป พวกมันถูกหนอนจำนวนมากชอนไช กินเศษซาก และกลายเป็นเพียงขยะให้ ‘คนเป็น’ เก็บกวาด
ในยามมีชีวิต ป้านิ่มอาจเป็นร่างทรงของแม่ย่าบาหยันผู้ศักดิ์สิทธิ์และมีผู้คนนับหน้าถือตา แต่ปาฏิหาริย์ที่ป้านิ่มสร้างไว้ไม่ใช่สิ่งที่อาจต้านทาน ‘ความตาย’ ได้ จนถึงปัจจุบันยังไม่มีมนุษย์คนใดพิสูจน์ได้ว่า ความเป็นอมตะมีอยู่จริง แต่ทุกคนพิสูจน์ได้ว่า ความตายมีอยู่จริง และเกิดขึ้นจริงในทุกเสี้ยววินาทีทั่วโลก
เมื่อความตายไม่เคยปรานีใคร จุดจบของชีวิตจะต้องมาถึงสักวัน เพียงแต่จะมาเร็วหรือมาช้า มาพร้อมความเจ็บปวดหรือความสงบ นั่นคือสิ่งที่บางคนเลือกได้ และบางคนไม่อาจเลือก เช่นเดียวกับความตายของผู้ชายในครอบครัวยะสันเทียะ
‘วิโรจน์’ สามีของน้อยเป็นมะเร็งเสียชีวิต ‘ปู่’ ถูกคนงานรุมปาหินใส่จนตาย ‘พ่อ’ ทำโรงงานเจ๊งจึงเผาโรงงานเอาประกัน แต่เมื่อโดนจับได้ก็กินยาฆ่าตัวตาย ส่วน ‘แม็ค’ ลูกชายคนโตของวิโรจน์ประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำตายเมื่อหลายปีก่อน (ซึ่งแท้จริงแล้ว แม็คฆ่าตัวตาย)
หากใช้เรื่องเวรกรรมเข้ามาจับ ต้นตระกูลของวิโรจน์เป็นเพชฌฆาตที่บั่นคอคนมามากมาย นั่นจึงเป็นกรรมหนักและคำสาปแช่งที่ครอบครัวต้องรับต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน หรือหากใครสังเกตช่วงที่ทำพิธีกรรม ภาพระหว่างที่มิ้งกำลังจัดการกับแม่ของตัวเองจะถูกตัดไปที่หุ่นฟางตัวหนึ่ง ซึ่งเขียนคำว่า ‘ยะสันเทียะ’ เอาไว้ พร้อมตะปูและของแหลมมากมายที่ปักอยู่บนตัวหุ่นฟาง ความหายนะของครอบครัวและความตายของคนในตระกูลอาจเกิดจากคำสาปแช่งก็เป็นได้
แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่ป้านิ่มเล่า การถูกคนงานรุมปาหินใส่ย่อมต้องมีสาเหตุ เช่นเดียวกับการทำโรงงานเจ๊งที่ต้องมีเหตุผลรองรับ นั่นอาจเป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งอุปนิสัยของบุคคลเหล่านั้นเอง เพียงแต่บางครั้งเรามองข้ามความจริง และผลักเหตุผลไปหาสิ่งที่มองไม่เห็นเช่นเรื่องของเวรกรรมมากกว่า เพราะสิ่งเหล่านั้นมักจะเถียงไม่ได้
จากภาพยนตร์ที่ทุกคนรอคอย สู่การตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อที่กระจายอยู่ในทุกสังคมทั่วโลก ‘ร่างทรง’ ถือเป็นหนังผีแนวสารคดีเทียมที่ไม่ได้มีดีแค่บรรยากาศความอึดอัด และเนื้อเรื่องที่พาเราไปค้นหาสิ่งลี้ลับที่ไม่เคยรับรู้ แต่ยังทำให้เราได้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างความเชื่อและความจริงได้อย่างแยบยล ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะนำมาสู่การย้อนพิจารณาถึงความเชื่อที่เรานับถืออยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า หากวันหนึ่งสิ่งที่เราเชื่อมาตลอด ไม่ได้ให้ในสิ่งที่เราคาดหวังอีกต่อไป เราจะยังเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านั้นอยู่หรือเปล่า? แล้วหากเราไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ เราอยากจะเชื่อในอะไรต่อไป?
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ:
https://www.facebook.com/gdh559
อ้างอิง:
ภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง (2021)
https://www.facebook.com/gdh559
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
The People
gdh
Thought
ร่างทรง
The Medium