read
interview
30 ต.ค. 2564 | 12:38 น.
โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล: 17 ปี บนเส้นทางหนังสายสยอง จาก ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ สู่ ‘ร่างทรง’
Play
Loading...
เมื่อพูดถึงชื่อผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชาวไทย หนึ่งในชื่อที่ใครหลายคนเอ่ยถึงย่อมมี ‘โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกูล’ เป็นหนึ่งในนั้น เขาคือผู้กำกับอายุน้อยร้อยล้านที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ (2547) ทำรายได้ในประเทศไทยไปถึง 107.1 ล้านบาท และโด่งดังไปทั่วโลก การันตีโดยการถูกซื้อลิขสิทธิ์จาก 30 ประเทศ
แต่ก่อนที่ชายหนุ่มวัย 25 ปี จะได้ขึ้นแท่นเป็นผู้กำกับร่วมกับ ‘โอ๋ - ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ’ ในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว โต้งเป็นเพียงเด็กชายธรรมดาที่ชอบดูหนังกลางแปลงเท่านั้น แต่หลังจากที่เขาค้นพบคุณค่าและความลึกซึ้งของภาพยนตร์ เส้นทางแห่งการผสานจินตนาการเข้ากับศิลปะการถ่ายทอดจึงได้เริ่มต้นขึ้น และต่อยอดมาสู่ภาพยนตร์น้ำดีอีกหลายเรื่องตลอดระยะเวลา 17 ปี จวบจนถึงเวลาที่ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง ‘ร่างทรง’ ได้ฤกษ์ประทับในโรงหนังทั่วไทยในปี 2564 นี้
The People ชวนบรรจงย้อนความทรงจำบนเส้นทางสายกำกับของเขาตั้งแต่ก่อนเริ่มงานในวงการภาพยนตร์ จนถึงวันแรกที่ ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ ออกฉาย ตามมาด้วยหนังผีในความทรงจำอีกมากมายทั้ง ‘แฝด’ (2550) ‘สี่แพร่ง’ (2551) ‘ห้าแพร่ง’ (2552) และ ‘พี่มากพระโขนง’ (2556) การคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์ โดยเฉพาะวงการหนังผีของบรรจงทำให้เขาเติบโตอย่างไร อะไรคือทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่เขามองเห็นในวงการนี้ และเบื้องหลังที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับการกำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ จะเป็นอย่างไรบ้าง ติดตามได้ในบทความชิ้นนี้
เด็กชายที่ชอบดูหนังกลางแปลง
ในสมัยที่หนังกลางแปลงยังออกฉายตามเทศกาลงานวัด บรรจงคือหนึ่งในเด็กที่มักจะไปจับจองพื้นที่นั่งชมภาพยนตร์อยู่เสมอ เขาหลงรักการดูหนังตั้งแต่เด็ก ก่อนจะเริ่มมองเห็นคุณค่าและความหมายที่ถูกซ่อนอยู่ในภาพยนตร์มากขึ้น ทำให้บรรจงตัดสินใจเดินทางตามสิ่งที่ชอบเข้าสู่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาภาพยนตร์และภาพนิ่ง
“ตอนเด็ก ๆ ก็คิดแค่ว่า ถ้าได้มาเกี่ยวข้องเป็นคนเขียนบท หรือทำงานในกองก็คงดีแล้ว ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นผู้กำกับด้วยซ้ำ แล้วพอเรียนจบก็ได้มาทำโฆษณาก่อน เป็นผู้ช่วยผู้กำกับ โอกาสก็เลยมา เราได้ทำหนังสั้น จนมีคนชวนทำหนังใหญ่”
หลังเรียนจบ บรรจงได้เริ่มทำงานในตำแหน่งครีเอทีฟรายการโทรทัศน์ แต่เขากลับค้นพบว่าที่แห่งนี้เต็มไปด้วยความน่าเบื่อ เพราะ ‘คนกอง’ แบบเขากลับไม่ได้ ‘ออกกอง’ อย่างที่เคย จนกระทั่งโอกาสใหม่มาถึง บรรจงได้เริ่มงานในบริษัท ฟีโนมีนา (โปรดักชันเฮาส์) และเปลี่ยนสายงานไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานกองอย่างละเอียดจาก ‘ต่อ - ธนญชัย ศรศรีวิชัย’ และได้รับโอกาสในการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกคู่กับภาคภูมิ จนผลงานเรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’ ได้กลายเป็นใบเบิกทางสู่วงการหนังสยองขวัญให้บรรจงเรื่อยมา
เส้นทางสายสยองของชายผู้ไม่กลัวผี
“ถามว่าสนใจเรื่องลี้ลับมาตั้งแต่แรกไหม ก็ไม่เชิงครับ แค่ชอบดูหนังผีมากกว่า แต่ตอนทำหนังเรื่องแรก เขาให้คิดพล็อตแนวอะไรก็ได้ที่เป็นบทที่ดี แล้วบังเอิญว่าเรื่องที่แข็งแรงที่สุดที่เราคิดได้ตอนนั้นคือเรื่องชัตเตอร์ฯ ซึ่งเป็นหนังสยองขวัญพอดี หลังจากนั้นชีวิตก็เลยมาทางนี้ตลอด เกือบตลอด”
สำหรับบรรจง เสน่ห์ของหนังผีอยู่ที่ความน่ากลัวที่กลับกลายเป็นความบันเทิง ถึงแม้ในชีวิตที่ผ่านมาของเขาจะไม่เคยพบเห็นสิ่งลี้ลับด้วยตาตัวเอง แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่การรับชมหนังผีในโรงภาพยนตร์จะมีความสนุกน้อยลง
“ผมเองแปลกที่ชีวิตปกติไม่กลัวผีเลย แต่ตอนดูหนังผีกลัวนะครับ เราดูแล้วเรื่องนี้โคตรกลัวเลย กลัวจนจะร้องไห้ก็มี ผมรู้สึกว่าการดูหนังผีในโรง ถ้าหนังเรื่องนั้นมันเวิร์ก มันน่ากลัวมาก มันจะสนุกมาก แล้วการดูเป็นหมู่คณะจะยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่ หนังพวกนี้มันไม่ใช่หนังดราม่าที่ทุกคนค่อนข้างนิ่งเวลาดู ถ้าหนังผีมันจะได้ยินเสียงของความกลัว การถอนหายใจพร้อมกัน หรือเสียงหัวเราะกลบเกลื่อน มันจะมีทุกรอบถ้าหนังเรื่องนั้นน่ากลัวจริง จะมีเสียงหัวเราะตลอด”
บรรจงเล่าว่า เขามีภาพยนตร์สยองขวัญที่ชื่นชอบมากมาย แต่หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘Hereditary’ (2018) ภาพยนตร์สยองขวัญ-ดราม่า สัญชาติอเมริกันของผู้กำกับ‘อารี แอสเตอร์’ (Ari Aster)
“เรื่องนี้น่ากลัวดี มีบรรยากาศที่แปลกใหม่เฉพาะตัวมาก มันทำให้ผมกลับมาชอบหนังผียุคหลัง ซึ่งก่อนนี้มันจะมีช่วงหนึ่งที่ผมดูแล้วรู้สึกเบื่อ จนมาเจอผู้กำกับคนนี้ชื่ออารี แอสเตอร์ ที่ผมรู้สึกว่าเขาเก่งมาก หลัง ๆ เขาเลยเป็นเหมือนพระเจ้าของหนังผีไปเลย เพราะว่าเขาดังมาก”
สำหรับบรรจง หนังผีไม่ใช่แค่การปล่อยความหลอนขนหัวลุกให้กับคนดู แต่ในแง่หนึ่ง การทำหนังสยองขวัญถือเป็นงานศิลปะ
“ผมคิดว่าการทำหนังสยองขวัญมันเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในแง่ว่า เราทำยังไงให้มันน่ากลัวในวิธีการที่สดใหม่ ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมาบาลานซ์อะไรให้ดูเป็นวิทยาศาสตร์ขนาดนั้น แค่ทำให้มันเมกเซนส์มากกว่า ทำยังไงให้คนดูเชื่อว่า สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นทำให้เขาคล้อยตามได้
“สุดท้ายหนังทุกเรื่องต้องทำให้คนดูเชื่อทั้ง ๆ ที่ความจริงในหนังมันไม่ใช่ความจริง จริง ๆ ด้วยซ้ำ ถ้าหนังทำได้แนบเนียน คนดูจะไม่ติดเลย ด้วย mood and tone วิธีกำกับ จะโม้แค่ไหน ถ้าทำให้คนดูคล้อยตามได้มันก็คือสำเร็จ มันเป็นหน้าที่ของหนังอย่างหนึ่ง”
และภาพยนตร์เรื่องแรกที่บรรจงทำให้คนดูคล้อยตามในความน่ากลัวได้สำเร็จก็คือภาพยนตร์เรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’
หนังผีที่ครองใจคนดูทุกยุคสมัย
“ตอนนั้นไปเจอรูปรูปหนึ่ง เป็นรูปเก่า ๆ เหมือนนายทหารในยูนิฟอร์ม รูปนั้นไม่ได้มีผีอะไรนะครับ แต่เรานึกถึงภาพถ่ายวิญญาณขึ้นมา ซึ่งยุคเราก่อนหน้านี้มันจะมียุคที่ชอบฟอร์เวิร์ดอีเมลกัน แล้วหนึ่งในอีเมลยอดฮิตคือเมลรูปผีนี่แหละ ผมก็รู้สึกว่า คอนเซปต์นี้ดี แข็งแรงมากเลย ภาพถ่ายกดติดวิญญาณ ก็เลยคิดว่าเราน่าจะพัฒนาเรื่องจากคอนเซปต์นี้ดู แล้วก็มีการเช็กดูว่า มันไม่เคยมีหนังผีเรื่องไหนในโลกเลยที่ชูคอนเซปต์นี้ขึ้นมาด้วยซ้ำ ถ้าเราคิดได้ก็น่าจะแข็งแรงและครีเอทีฟมากตอนนั้น”
จากความคิดสุดล้ำของบรรจง เขาได้ทำงานประกบคู่กับภาคภูมิจนผลงานชิ้นแรกออกสู่สายตาประชาชนได้สำเร็จ พร้อมความคาดหวังในภาพยนตร์เรื่องที่ 2 อย่าง ‘แฝด’
“ผมปิ๊งไอเดียมาจากข่าวหนังสือพิมพ์ตอนเห็นแฝด คนตัวติดกันก็เลยคิดได้ว่า ถ้าพัฒนาเป็นหนังสยองขวัญจะเป็นอย่างไร หมายถึงว่า คนตัวติดกันแล้วผ่าตัดแยก แล้วคนหนึ่งตาย เรื่องมันเริ่มจากตรงนั้น”
แต่หลังจากที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ถึงแม้ความสนุกของเรื่องจะเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง และตัวหนังก็ไม่ได้ทำให้ผู้สร้างขาดทุน แต่สำหรับบรรจงที่มีเป้าหมายเป็นตัวเลขหลักร้อยล้าน เขาก็ต้องผิดหวังเมื่อหนังทำรายได้ไป 67.5 ล้านบาท
ความผิดหวังทำให้บรรจงเรียนรู้ที่จะวางตัวเลขดังกล่าวลง และมุ่งไปที่ความชอบ ความสนใจ และความอยากทำหนังในสไตล์ของตนเองมากกว่า เขาเดินหน้าต่อไปที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สี่แพร่ง’ และ ‘ห้าแพร่ง’ ด้วยการกำกับหนึ่งในเรื่องสั้นอย่าง ‘คนกลาง’ ในสี่แพร่ง และ ‘คนกอง’ ในห้าแพร่ง จนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามอีกครั้ง
หลังจากนั้น บรรจงได้เปลี่ยนแนวทางการกำกับไปแนวโรแมนติก-คอมเมดี้ในเรื่อง ‘กวน มึน โฮ’ (2553) แนวหนังพีเรียด โรแมนติก-สยองขวัญ-ดราม่าในเรื่อง ‘พี่มากพระโขนง’ (2556) ตามมาด้วยแนวโรแมนติก-ดราม่า ‘แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว’ (2559) และหนังผีแบบสารคดีเทียม (Mockumentary) ใน ‘ร่างทรง’ (2021)
ร่างทรง ผีแนวใหม่ที่หลอนเหมือนเดิม
“ร่างทรงมันไม่ใช่ผีที่เป็นคนตายกลับมาหลอก มันก็เลยแตกต่างกับหนังผีเรื่องก่อน ๆ อย่างสิ้นเชิง มันเป็นนิยามผีแบบใหม่ ซึ่งผมรู้สึกว่าน่าจะยังไม่มีหนังที่พูดถึงมุมผีแบบนี้ ผมก็เลยตื่นเต้นแล้วอยากทำเรื่องนี้มาก ๆ คือปกติที่เคยทำมา หรือหนังที่เคยเห็นมาจะเป็นเรื่องคนตาย มีความแค้น หรือมีปมอะไรบางอย่าง ก็ยังกลับมาหลอกหลอน หรือยังตกค้างอยู่บนโลกใบนี้ แต่อันนี้มันเหมือนไอเดียมันเกิดมาจากที่เราไปเจอความเชื่ออีสานที่เอามาโยงกับเรื่องของเกาหลี”
‘นาฮงจิน’ ผู้กำกับมากฝีมือชาวเกาหลีใต้เจ้าของผลงาน ‘The Wailing’ (2016) เป็นโปรดิวเซอร์ของภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ ได้ส่งบทร่างทรงของทางเกาหลีให้กับบรรจงอ่าน ซึ่งบรรจงได้ขอเวลานาฮงจินในการทำรีเสิร์ชผ่านการเดินทางไปยังหลายภูมิภาคในประเทศไทย เขาและทีมงานได้พบปะ พูดคุย และหาข้อมูลเกี่ยวกับร่างทรงมากกว่า 60 คน กระทั่งทุกอย่างลงตัวที่ภาคอีสาน
“ความเชื่ออีสานที่บอกว่ามีผีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งตามไร่ตามนา ตามสัตว์อะไรก็มีวิญญาณอยู่ในนั้น เราก็เลยมาผูกว่า แล้วสิ่งที่มาเข้ามิ้งมันคืออะไร ก็เลยเป็นไอเดียหนังผีที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในมุมของผม เรารู้สึกว่า animism นี่มันน่าสนใจมาก แล้วมันเข้ากับเรื่องมาก ๆ แล้วก็น่าจะทำให้เป็นมิติใหม่ของหนังสยองขวัญ”
‘Animism’ หรือ วิญญาณนิยม คือความเชื่อที่ว่ามีวิญญาณอยู่ในทุกสิ่ง ทั้งสิ่งของ ธรรมชาติ และในจักรวาล โดยระหว่างการถ่ายทำ นาฮงจินได้ให้อิสระกับผู้กำกับในการถ่ายทอดสิ่งที่เขาต้องการ เว้นแต่มีเนื้อหาบางส่วนที่คนเกาหลีอาจไม่เข้าใจก็จะเกิดการถกเถียงกันบ้าง
“เขาก็จะคอยเช็กว่าทิศทางไหนที่คนเกาหลีจะงง หรืออะไรที่ไม่เวิร์ก เขาก็จะบอกเราบ้าง แต่เขาไม่ได้ฟอร์สเราเลย หลาย ๆ อย่างในหนังเขาก็ปล่อยให้คลุมเครือ ซึ่งมันเป็นความเชื่อไทยมาก ๆ เขาก็ไม่ได้เคลียร์เท่าคนไทย แต่เขาชอบที่มันเป็นอย่างนั้น”
ระหว่างที่ลงพื้นที่รีเสิร์ช บรรจงเล่าว่า เขาได้พบเจอกับร่างทรงมากกว่า 60 คน โดยในตอนแรก เขาและทีมงานไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเก็บข้อมูลอย่างไรบ้าง
“พอไปปุ๊บเราจะถามชาวบ้านแถวนั้นว่า ย่านนั้นมีร่างทรงอีกไหม เพื่อจะได้เจอวันหนึ่ง 3-4 คน ตอนแรกเราก็นึกไม่ออก มาเราจะต้องทำยังไง แต่ก็รู้สึกว่าไม่ได้อยากจะโกหกใคร เราก็บอกตรง ๆ ว่าเรามาขอหาข้อมูลจะเอามาเขียนบท โดยที่ไม่ต้องถ่ายทำก็ได้ ไม่ต้องบันทึกเสียง ไม่ต้องบันทึกภาพใด ๆ แล้วปรากฏว่าเขาก็ให้หมดเลย ให้ถ่าย แล้วกลายเป็นว่าหลาย ๆ คนก็เข้าทรงให้ดูเยอะมาก ๆ คุยกันอยู่ หือ? นี่เข้าแล้วหรอ เหวอไปเลย (หัวเราะ) แล้วบางคนมีคนนั่งข้าง ๆ ซึ่งตอนแรกนึกว่าเป็นลูกศิษย์ลูกหา ปรากฏว่าเข้าทรงกันหมดเลย เซอร์มาก เอาบุหรี่มาดูด กินเหล้าอะไรกันใหญ่ ปกติเราไม่ได้บอกให้เขาเข้าทุกคน แต่ส่วนใหญ่จะเข้าให้ดู ถ้าเขาเป็นร่างทรงอยู่แล้วส่วนมากเขาจะ willing ที่จะเข้าให้เราดู” (ยิ้ม)
ส่วนกระบวนการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ บรรจงบอกว่ามีกระบวนการที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องก่อน ๆ โดยสิ้นเชิง
“ด้วยความที่เป็นโลกที่เราไม่รู้จักอย่างรุนแรง ไม่มีอะไรเป็นส่วนร่วมกับชีวิตเราเลย เราก็เลยต้องทำการบ้านหนักมาก แล้วก็ด้วยสไตล์การถ่ายทำตั้งแต่เรื่อง
เก่า
มันเลือกการถ่ายทำแบบ mockumentary ก็คือเป็นสารคดีปลอม เป็นเรื่องแต่ง แต่ทำราวกับว่ามันคือเรื่องจริง มันก็เลยมีวิธีคิดในการถ่ายทำ การแตกช็อตต่าง ๆ การกำกับอย่างที่ไม่เคยทำเลย แล้วก็ยากมาก ต้องมีจิตวิทยาหลอกล่อ
“แม้กระทั่งสคริปต์เอง ผมก็จะเขียนเป็นแค่ทรีตเมนต์ด้วยซ้ำ คือไม่ได้เขียนเป็นบทพูดละเอียด เพราะอยากจะให้มันเป็นธรรมชาติที่สุด แล้วก็มีการอิมโพรไวซ์หน้ากองเยอะ จะมีแค่คีย์เวิร์ดว่าซีนนี้เนื้อหาเป็นยังไง แล้วประโยคสำคัญคืออะไร เขาก็ต้องไปหากันหน้างาน บล็อกกิ้งควรจะเป็นยังไงถึงจะเมกเซนส์ ส่วนมากจะไม่ค่อยซ้อม ให้เขาลองคิด ลองทำ ลองเล่นดู แล้วตากล้องต้องไม่รู้ก่อนด้วย เพื่อจะได้ผลลัพธ์เหมือนสิ่งนี้เพิ่งเกิดขึ้นจริง ๆ เป็นครั้งแรก”
สำหรับการคัดเลือกนักแสดง บรรจงเลือกผ่านการแคสติ้งและความสามารถของนักแสดง ซึ่งมีการคัดเลือกหลายครั้ง รวมถึงการเวิร์กชอป เพื่อดูเคมี และดูดีกรีการแสดง โดยเขาจะไม่เลือกนักแสดงที่เป็นดาราดัง เนื่องจากภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นสารคดีเทียม หรือก็คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านต่างจังหวัด จึงต้องเน้นความสมจริงมากกว่า
“พออ่านบทปุ๊บเราก็คิดว่าไม่ควรใช้ดาราที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเด็ดขาด ก็คือควรจะเป็นนักแสดงที่ไม่คุ้นหน้าเท่าไร เขาอาจจะเคยเล่นมาแหละ เพราะว่าบทมันยากมาก แต่ว่าต้องไม่ใช่ดารา
“แล้วซีนไหนที่แลดูเหมือนไม่สำคัญมากก็จะบอกว่า เดี๋ยวไปถ่ายเลยดีกว่า แต่บางซีนที่ยากมาก ๆ ก็จะมีการซักซ้อมว่า เช่นควรจะลงมาจากเตียงแล้วสู้กันตรงไหน แต่โดยรวมจะให้พอรู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างธรรมชาติแล้วผมก็จะหยุดเลย เพราะเดี๋ยวมันจะช้ำ”
ภาพยนตร์เรื่อง ‘ร่างทรง’ นับเป็นความร่วมมือระหว่างเกาหลีใต้และไทยที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ซึ่งเรื่องนี้บรรจงได้ขอบคุณและชื่นชมทีมงานทุกฝ่ายที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาอย่างสมบูรณ์ทั้งในแง่การแสดง ฉาก แสง สี เสียง เอฟเฟกต์ เสื้อผ้า อาร์ต รวมไปถึงสถานที่และพิธีกรรมที่บรรจงประทับใจเป็นอย่างมาก เขาจึงเลือกจะหยิบหลายสถานที่มาอยู่ในภาพยนตร์ และใช้พิธีกรรมของภาคอีสานมาสอดแทรกเอาไว้
ผลตอบรับจากผลงานแต่ละเรื่องของบรรจงทำให้ฝีมือในการกำกับและวิธีการมองโลกของเขาก้าวไปข้างหน้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลากว่า 17 ปีแล้วที่เขาคร่ำหวอดในวงการภาพยนตร์
17 ปี ในวงการภาพยนตร์
“ก่อนหน้านั้นเคยคิดว่าหนังผีจะมีทางตัน แต่มาหลัง ๆ รู้ว่าไม่ละ สุดท้ายหนังทุกแนวต้องมีการซ้ำ และมีคนที่สร้างมิติใหม่ ๆ จากการผสมนู่นนี่ มันอาจจะไม่ได้ออริจินัล แต่ว่าสุดท้ายแล้วเขาอาจจะเป็นการผสมอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วเกิดรสชาติที่เฟรชขึ้นมาก็เป็นไปได้”
บรรจงแสดงความเห็นเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ผีไทยที่เขาเคยพบเจอมาให้ฟัง โดยแนวทางของเขาคือการหาวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่มาถ่ายทอดให้ผู้ชมดู ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่บรรจงมองเห็นในวงการตลอด 17 ปีที่ผ่านมา เขาเล่าให้ฟังว่า
“มันเปลี่ยนเยอะเลย สมัยยุคที่ผมทำชัตเตอร์ฯ มันจะเป็นยุค The Ring ญี่ปุ่นทำให้เกิดทิศทางหนังสยองขวัญไปในทิศทางหนึ่งก็คือ เป็นหนังผีที่แข่งกันครีเอทเรื่องการปรากฏตัว แล้วก็เป็นหนังผีฮายคอนเซปต์ว่าผีโผล่ในอะไร ผีจากทีวี ผีในวิดีโอ ตู้ซ่อนผี หรือผีช่องแอร์ หลากหลายมาก
“มีช่วงหนึ่งที่ผมรู้สึกเบื่อ เพราะว่าหลังทำแฝดไป เราก็รู้สึกว่ามันตีบตัน ทั้งโลกหนังผีก็เริ่มคล้ายกัน เราก็เริ่มเบื่อ แต่พอยุคหลัง ๆ เริ่มมีผู้กำกับหนังสยองขวัญเชิงกึ่ง ๆ อินดี้ที่มาโด่งดังเยอะ เหมือนเรื่อง Hereditary หรือ It Follows หรือกระทั่ง The Wailing ของนาฮงจิน มันก็จะเป็นหนังผียุคใหม่เลย ซึ่งน่าจะเป็นแนวที่เน้นบรรยากาศเฉพาะตัวมาก ๆ แล้วก็สามารถสร้างโลกที่ไม่มีใครซ้ำ มันน่าจะรู้สึกอาร์ตขึ้นนิดหนึ่ง แต่กลายเป็นว่ามันเป็นความน่ากลัวที่คนน่าจะรอคอย เพราะว่ามันไม่มีอะไรแบบนี้มานาน
“หนังผีเป็นศิลปะในตัวมัน หมายถึงว่าวิธีการที่กำกับและสร้างโลกขึ้นมา มันก็เป็นศิลปะในตัวมันอยู่แล้ว ผมเป็นคนที่ชื่นชมศิลปะในการสร้างหนังสยองขวัญ”
สำหรับบรรจง หนังผีมีความสำคัญกับเขามาก เพราะมันคือใบเบิกทางที่ทำให้ชาวโลกรู้จักเขาจากเรื่อง ‘ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ’
“ทุกวันนี้มีคนพูดถึงผมทั่วโลก ในต่างประเทศก็ยังพูดถึงชัตเตอร์ฯ มากที่สุด รองลงมาก็อาจจะเป็นพี่มากฯ มันทำให้เราเป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศเยอะ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสกับคุณนาฮงจินนี่แหละ ก็เลยเกิด ‘ร่างทรง’ แล้วหลัง ‘ร่างทรง’ มันก็คล้าย ๆ กับการเกาะชายผ้าเหลืองของคุณนาฮงจินไปนิดหนึ่งว่า คนก็ยิ่งรู้จักเรามากขึ้นจากหนังเรื่องนี้ ถือว่าเราได้โอกาสที่ดี ก็ย่างก้าวต่อไป สมมติถ้าเราเลือกทำหนังสยองขวัญ ก็จะง่ายขึ้นในตลาดอินเตอร์”
ในอนาคต บรรจงจะยังคงก้าวเดินต่อไปในสายงานที่เขารักมาตั้งแต่ต้น ความชอบในภาพยนตร์หลากหลายแนวทำให้เขาไม่จำกัดการทำงานอยู่เพียงแค่ภาพยนตร์สยองขวัญเท่านั้น แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสนใจและความอยากทำในแต่ละช่วงเวลา เชื่อว่าแฟนหนังของบรรจงจะยังคงรอติดตามผลงานของเขาต่อไปอย่างใจจดใจต่อ รวมถึงรอดูการเติบโตของเขาผ่านผลงานในอนาคตด้วย
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ:
https://www.facebook.com/gdh559
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
ร่างทรง
The Medium
บรรจง ปิสัญธนะกูล