คริสโตและฌานน์-โคล้ด: ศิลปินคู่ผู้ห่อคลุมโลก ใช้ศิลปะการห่อคลุมตั้งแต่คลุมรัฐสภาเยอรมนีจนถึงประตูชัยฝรั่งเศส

คริสโตและฌานน์-โคล้ด: ศิลปินคู่ผู้ห่อคลุมโลก ใช้ศิลปะการห่อคลุมตั้งแต่คลุมรัฐสภาเยอรมนีจนถึงประตูชัยฝรั่งเศส
เคยคิดกันไหมว่าวิธีการธรรมด๊าธรรมดาอย่างการ ‘ห่อ’ หรือ ‘คลุม’ สิ่งของนั้นสามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสวยงามให้คนนับล้านชื่นชมได้?  ในเดือนกันยายนนี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำลังจะมีผลงานของศิลปินคู่หนึ่งซึ่งใช้วิธีการที่ว่า เปิดให้สาธารณชนเข้าชมกันโดยถ้วนหน้า ที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ผลงานศิลปะที่ว่าเป็นของศิลปินคู่ผู้ลาจากโลกนี้ไปแล้วทั้งสองคน  ศิลปินคู่นั้นมีชื่อว่า คริสโตและฌานน์-โคล้ด (Christo and Jeanne-Claude) ศิลปินคู่ผู้ใช้งานศิลปะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวัตถุ สิ่งของ สิ่งก่อสร้าง ทั้งขนาดเล็กและมหึมา ไปจนถึงภูมิทัศน์ และสภาพแวดล้อมบนโลกด้วยวิธีการง่าย ๆ อย่างการ ‘ห่อ’ หรือ ‘คลุม’  นอกจากจะเป็นศิลปินคู่ที่ทำงานร่วมกันแล้ว ทั้งคู่ยังเป็นคู่ชีวิตสามีภรรยากันอีกด้วย คริสโต หรือ คริสโต วลาดิมีรอฟ จาวาเชฟ (Christo Vladimirov Javacheff) และ ฌานน์-โคล้ด หรือ ฌานน์-โคล้ด เดอนา เด กีบง (Jeanne-Claude Denat de Guillebon) นอกจากจะเกิดในวันเดือนปีเดียวกันแล้ว ทั้งคู่ยังเป็นผู้ลี้ภัยเหมือน ๆ กันอีกด้วย คริสโตเป็นผู้ลี้ภัยจากบัลแกเรีย ส่วนฌานน์-โคล้ด เป็นผู้อพยพมาจากโมร็อกโก พวกเขาพบกันในปารีสในปี ค.ศ. 1958 และร่วมกันทำงานศิลปะทั้งหมดด้วยกัน ฌานน์-โคล้ดกล่าวว่าที่เธอกลายเป็นศิลปินก็เพราะความรักที่มีต่อเขา เธอยังบอกอีกว่า ถ้าเขาเป็นหมอฟัน เธอก็คงกลายเป็นหมอฟันไปด้วยเหมือนกัน (หวานจริงอะไรจริง!) ถึงแม้จะมีชื่อเสียงโด่งดังจากการห่อ แต่แรกเริ่มเดิมทีคริสโตไม่ได้ทำงานศิลปะด้วยการห่อแบบนี้มาตั้งแต่ต้น หากแต่วาดภาพเหมือนศิลปินทั่วไป ในช่วงที่คริสโตอพยพไปอยู่ปารีสใหม่ ๆ ในช่วงปี ค.ศ. 1958 เขาหาเลี้ยงตัวเองด้วยการล้างจาน ล้างรถ และวาดภาพเหมือนจริงสไตล์คลาสสิก คริสโตเองก็ได้พบกับฌานน์-โคล้ดเมื่อเขาถูกว่าจ้างให้ไปวาดภาพเหมือนครอบครัวของเธอ หลังจากนั้นพวกเขาทั้งคู่ก็ตกหลุมรักและแต่งงานกัน (ในภายหลังคริสโตก็เอาภาพเหมือนที่เขาวาดฌานน์-โคล้ดตอนนั้นมาห่อด้วยเหมือนกัน) คริสโตและฌานน์-โคล้ดเริ่มต้นทำงานศิลปะด้วยการห่อของพวกเขาในช่วงต้นทศวรรษ 1960 โดยเริ่มแรก พวกเขาห่อของเล็ก ๆ อย่าง หนังสือ นิตยสาร โทรศัพท์ โต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ถังน้ำมัน ไปจนถึงของชิ้นใหญ่ขึ้นอย่างยวดยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และถาวรวัตถุขนาดย่อม ๆ อย่างต้นไม้ อนุสาวรีย์ ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมาอย่างอาคารสำนักงาน หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ สะพาน ไปจนถึง หุบเขา หรือแม้แต่เกาะทั้งเกาะก็ยังมี! ในช่วงแรกพวกเขาทำงานภายใต้ชื่อ ‘คริสโต’ แต่เพียงผู้เดียว โดยมีฌานน์-โคล้ดเป็นผู้สนับสนุนอยู่เงียบ ๆ เบื้องหลัง จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1994 ที่กระแสเคลื่อนไหวของความเสมอภาคทางเพศเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก พวกเขาก็เปลี่ยนมาใส่เครดิตร่วมกันว่า ‘คริสโตและฌานน์-โคล้ด’ นับย้อนไปถึงผลงานที่พวกเขาเคยร่วมกันทำที่ผ่าน ๆ มาด้วย ที่น่าสนใจก็คือ เวลาเดินทางโดยสารด้วยเครื่องบิน พวกเขาจะไปกันคนละลำ เผื่อในกรณีที่เครื่องบินของใครเกิดอุบัติเหตุตกจนเสียชีวิต อีกคนก็จะได้สานต่องานของกันและกันได้ (เรียกได้ว่ารอบคอบเอามาก ๆ) คริสโตและฌานน์-โคล้ด เป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นครั้งแรกในมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 4 ที่เมืองคาสเซิล เยอรมนี ในปี ค.ศ. 1968 จากผลงาน ‘ห่ออากาศ’ หรือ 5,600 Cubicmeter Package ที่พวกเขาสร้างถุงบรรจุอากาศขนาด 5,600 ลูกบาศก์เมตร โดยเมื่ออากาศถูกบรรจุเต็มถุงจนพองตัวตั้งตรงสูงขึ้นสู่ท้องฟ้าในความสูง 85 เมตร และถูกทิ้งค้างเอาไว้อย่างนั้นเป็นเวลา 10 ชั่วโมง จนกลายเป็นโครงสร้างพองลม (ไม่มีแกนด้านใน) ที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีการทำขึ้นมาในโลก (ถ้านึกภาพไม่ออกลองนึกถึงตุ๊กตาเป่าลมรูปคนโบกมือตามโชว์รูมรถยนต์แต่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า) นี่คือตัวอย่างของงานชิ้นที่น่าสนใจที่พวกเขาพากัน ‘คลุมโลก’ ด้วยงานศิลปะ ผลงานในปี ค.ศ. 1969 อย่าง Wrapped Coast ที่คลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเล ลิตเติ้ลเบย์ ซิดนีย์ ออสเตรเลีย ระยะทางครึ่งกิโลเมตร และหน้าผาสูง 26 เมตร ด้วยผ้าใยสังเคราะห์ขนาด 95,600 ตารางเมตร และเชือกยาว 56 กิโลเมตร จนกลายเป็นผลงานศิลปะกลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการสร้างมาในเวลานั้น ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าภูเขารัชมอร์ (Mount Rushmore) เลยด้วยซ้ำ ผลงานในปี ค.ศ. 1972 อย่าง Valley Curtain เป็นการขึงผ้าไนลอนสีส้มสดใสความยาว 18,600 ตารางเมตร ระหว่างช่องเขาไรเฟิล แกป ในเทือกเขาร็อกกี้ รัฐโคโลราโด โดยใช้เวลา 28 เดือนในการทำ แต่มีอายุอยู่เพียง 28 ชั่วโมง ก็จำเป็นต้องรื้อถอนออก สาเหตุจากลมพายุที่รุนแรง ผลงานในปี ค.ศ. 1983 อย่าง Surrounded Islands พวกเขาใช้ผ้าใยสังเคราะห์สีชมพูสดใสจำนวน 603,850 ตารางเมตร ปูคลุมผืนน้ำทะเลเป็นพรมลอยล้อมรอบเกาะ 11 เกาะ ในอ่าวบิสเคย์ ไมอามี เป็นเวลา 2 อาทิตย์ ผลงานในปี 1985 อย่าง The Pont Neuf Wrapped พวกเขาห่อปงเนิฟ หรือสะพานข้ามแม่น้ำแซน ที่เก่าแก่ที่สุดในปารีส ด้วยผ้าใยสังเคราะห์จนมิดไปทั้งโครงสร้างขอบ ตอม่อสะพาน และเสาไฟ (แต่ยังเหลือถนนตรงกลางเอาไว้ให้รถวิ่งได้นะ) หรือผลงานในช่วงปี 1991 อย่าง The Umbrellas ที่พวกเขาทำงานศิลปะจัดวางรูปร่มขนาดมหึมา (ความสูง 6 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร) ขึ้นพร้อม ๆ กันในสองประเทศ โดยร่มสีเหลืองจำนวน 1,760 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นที่กลางแจ้งในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา และร่มสีฟ้าจำนวน 1,340 คัน ถูกติดตั้งบนพื้นกลางแจ้งในจังหวัดอิบารากิ ประเทศญี่ปุ่น ร่มที่ยืนเด่นท่ามกลางสายลมแสงแดดในพื้นที่กลางแจ้งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในหุบเขาของสองประเทศที่อยู่คนละซีกโลก เป็นพื้นที่ที่เชื้อเชิญเหมือนกับบ้านที่ไร้กำแพงหรือเพิงชั่วคราว ให้สาธารณชนที่ผ่านไปผ่านมาเข้าไปอาศัยพักพิงร่มเงาข้างใน  แต่ผลงานศิลปะที่สร้างชื่อให้พวกเขาเป็นที่รู้จักมากที่สุด ก็คือ Wrapped Reichstag หรือการห่ออาคารไรชส์ทาค (Reichstag) อาคารรัฐสภาเยอรมนี หรือในชื่อเป็นทางการว่า อาคารที่ประชุมใหญ่ไรชส์ทาค (Plenarbereich Reichstagsgebäude) สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญของประเทศเยอรมนี ที่มีอายุนับร้อยปี พวกเขาเริ่มพัฒนาโครงการนี้ขึ้นในช่วงปี 1971 แต่กว่าจะได้รับการอนุมัติให้สร้างจริงก็ปาเข้าไปอีก 24 ปีให้หลัง หลังจากดิ้นรนต่อสู้เป็นเวลายาวนาน ผ่านทศวรรษที่ 70, 80 และ 90 (ตั้งแต่เยอรมันยังแยกประเทศจนกลับมารวมประเทศกันอีกครั้ง) กระบวนการการห่ออาคารไรชส์ทาคก็เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 มิถุนายน 1995 และเสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 1995 โดยตัวอาคารถูกห่อด้วยผ้ากันไฟเนื้อหนาสีเทาเงินที่ทอด้วยเส้นใยพอลิโพรพีลีน เคลือบผิวด้วยอะลูมิเนียม ขนาด 100,000 ตารางเมตร และมัดด้วยเชือกเส้นใยพอลิโพรพีลีนสีฟ้า ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.26 นิ้ว ความยาว 15.6 กิโลเมตร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผ้าที่ห่อก็ไม่ได้ทำความเสียหายหรือแม้แต่สัมผัสกับอาคารเลยแม้แต่น้อย เพราะมีการติดตั้งโครงสร้างเหล็กกล้าจำนวน 220 ตัน ก่อนที่จะห่อลงไป และแน่นอนว่าวัสดุทุกอย่างที่ใช้ในการห่ออาคารนั้นถูกนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด โดยใช้งบประมาณในการห่ออาคารไรชส์ทาคทั้งหมดจำนวน 15.3 ล้านเหรียญสหรัฐ อาคารไรชส์ทาคที่ถูกผ้าสีเทาเงินมลังเมลืองอลังการห่อและมัดเข้ารูปโดยเชือกสีน้ำเงิน สร้างภาพลักษณ์อันหรูหราของเส้นสายรูปทรงและรอยจีบพับของผ้า ขับเน้นลักษณะและสัดส่วนอันโดดเด่นของโครงสร้างอาคาร และเปิดเผยแก่นแท้อันสำคัญยิ่งของอาคารแห่งนี้ออกมา ดึงดูดผู้คนจำนวน 5 ล้านคนให้เข้ามาเยี่ยมชมการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมของภูมิทัศน์เมือง ด้วยการห่อสิ่งก่อสร้างขนาดมหึมา สถาปัตยกรรมอันสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองของเยอรมนีอย่างอลังการตระการตาที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ ถึงแม้ทางเทศบาลเมืองต้องการให้ยืดระยะเวลาการห่อต่อไปอีก แต่ทั้งคู่ก็ไม่ยินยอม และรื้อถอนมันลงมาทันทีเมื่อครบกำหนด ผลงานอันสุดแสนจะท้าทายและใช้ความพยายามอันยาวนานอย่างยิ่งยวดในการสร้างขึ้นมาครั้งนั้น ส่งผลให้ทั้งคู่กลายเป็นศิลปินผู้มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลที่สุดในเยอรมนี รวมถึงในวงการศิลปะโลกจวบจนปัจจุบัน เอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกประการในการทำงานของคริสโตและฌานน์-โคล้ดก็คือทั้งคู่เป็นผู้จัดหางบประมาณในการสร้างผลงานทุกชิ้นด้วยตัวเอง จากการขายเอกสารวิจัยศึกษาเพื่อเตรียมโครงการ ภาพร่าง ภาพสเก็ตช์ลายเส้น ภาพคอลลาจ ภาพพิมพ์ โมเดลย่อส่วน ของที่ระลึก รวมถึงเงินจากการขายผลงานในช่วงก่อนหน้าของเขา อย่างงานภาพพิมพ์ต่าง ๆ โดยไม่ยอมรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชนในรูปแบบใดก็ตามเลยแม้แต่น้อย และทั้งคู่ก็ไม่อนุญาตให้มีการแสวงหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ใด ๆ ก็ตามจากผลงานของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง ถึงแม้ผลงานของคริสโตและฌานน์-โคล้ดส่วนใหญ่จะมีความยิ่งใหญ่อลังการด้วยขนาดอันมหึมา และกระบวนการทำงานที่ต้องอาศัยการร่วมมือจากคนเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องเกี่ยวพันกับรัฐบาลและนักการเมืองต่าง ๆ แต่พวกเขาก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า ทุกโครงการศิลปะของพวกเขา ไม่มีความหมายอะไรมากไปกว่าความสวยงาม รวมถึงผลกระทบทางสุนทรียะแบบฉับพลันต่อสายตาของผู้พบเห็น พวกเขาเพียงต้องการที่จะสร้างความงามและความเพลิดเพลินให้กับผู้ชม รวมถึงสร้างหนทางใหม่ ๆ ในการมองภูมิทัศน์เดิม ๆ ที่เคยคุ้นตา ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์อันยิ่งใหญ่อลังการ ผลงานทุกชิ้นของเขากลับมีอายุแสนสั้น และถึงแม้ผลงานของพวกเขาแทบทุกชิ้นจะมีขนาดมหึมารวมถึงต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลในการสร้าง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะที่คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึง สัมผัส และชื่นชมได้อย่างอิสรเสรีและชมได้ฟรี ๆ โดยไม่ต้องเสียสตางค์ หลังจากการทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานเป็นเวลาเกือบ 50 ปี ในที่สุด ฌานน์-โคล้ด ก็เสียชีวิตในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.  2009 ด้วยวัย 74  ปี ทั้งคู่ทำงานร่วมกันจนวาระสุดท้ายในชีวิตของเธอ หลังจากที่ ฌานน์-โคล้ด เสียชีวิต คริสโตก็สานต่อโครงการศิลปะที่เขาออกแบบร่วมกับเธอต่อไป ไม่ว่าจะเป็นผลงาน The Floating Piers (ค.ศ. 2016) ที่ทำขึ้น ณ ทะเลสาบ Iseo ในแคว้นลอมบาร์เดีย อิตาลี โดยเขาใช้ผ้าสีเหลืองสดคลุมทะเลสาบจนกลายเป็นเส้นทางระยะทาง 3 กิโลเมตร ให้คนเดินบนผิวน้ำ เพื่อให้ผู้คนได้เดินชมทิวทัศน์อันสวยงามจากทางเดินบนผิวทะเลสาบ โดยมีผู้เข้าชมงานนี้จำนวนถึง 1.2 ล้านคน  หรือผลงาน Mastaba (ค.ศ. 2018) ประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยถังน้ำก่อขึ้นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมคางหมูจำนวน 7,506 ถัง ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก แมสตาบา สุสานกษัตริย์อียิปต์โบราณ ต้นกำเนิดของพีระมิด โดยชิ้นแรกจัดแสดงที่ทะเลสาบเซอร์เพนไทน์ในลอนดอน ขณะที่อีกชิ้นที่จะประกอบด้วยถังน้ำมัน 410,000 ถังนั้นวางแผนจะติดตั้งบนพื้นที่ในเมือง อัล การ์เบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับมาที่โครงการศิลปะที่เรากล่าวถึงไปข้างต้น ซึ่งเป็นโครงการสุดท้ายที่คริสโต (และฌานน์-โคล้ด) วางแผนจะทำร่วมกันอย่าง L’Arc de Triomphe, Wrapped หรือโครงการห่อ Arc de triomphe de l’Etoil หรือประตูชัยฝรั่งเศส อนุสรณ์สถานที่สำคัญในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่กลางจัตุรัสชาร์ล เดอ โกล ซึ่งเดิมทีวางแผนจะทำในเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2020 แต่น่าเสียดายที่คริสโตในวัย 84 ปี กลับอำลาจากโลกนี้ไปในวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ. 2020 ก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มต้นขึ้น แต่ในที่สุด ในปี ค.ศ. 2021 โครงการ L’Arc de Triomphe, Wrapped ของพวกเขาก็กำลังจะถูกสานต่อให้เสร็จสมบูรณ์โดยทีมงานของทั้งคู่ ตามเจตนารมณ์ของศิลปินคู่ผู้ล่วงลับ ที่ตั้งปณิธานว่าผลงานศิลปะของพวกเขาจะดำเนินต่อไปแม้พวกเขาจะเสียชีวิตไปแล้ว โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากศูนย์อนุเสาวรีย์แห่งชาติ (Centre des Monuments Nationaux หรือ CMN) สถาบันของรัฐบาลที่ทำหน้าที่ดูแลประตูชัยฝรั่งเศส และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู (Center Pompidou)  โดยประตูชัยจะถูกห่อด้วยผ้าใยสังเคราะห์พอลิโพรพีลีนรีไซเคิล สีเงินอมฟ้า ขนาด 25,000 ตารางเมตร และรัดด้วยเชือกใยสังเคราะห์สีแดง ความยาว 3,000 เมตร และมีระยะเวลาให้เข้าชม 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 18 กันยายน - 3 ตุลาคม ค.ศ. 2021  ผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากครั้งที่คริสโตอพยพมาถึงปารีสใหม่ ๆ เขาเช่าห้องเล็ก ๆ อยู่ใกล้กับประตูชัย และหลงใหลในสิ่งก่อสร้างที่ว่านี้มานับตั้งแต่นั้น ในปี ค.ศ. 1962 เขาทำผลงานภาพตัดต่อด้วยรูปถ่าย (Photomontage) รูปประตูชัยที่ถูกห่อจากมุมมองบนถนนฟ็อช (Avenue Foch) และภาพปะติด (Collage) ต้องรอจวบจน 60 ปีให้หลังกระทั่งเขาลาจากโลกนี้ไปแล้ว โครงการนี้จึงถูกทำให้เป็นจริงขึ้นมาในที่สุด และแน่นอนว่าโครงการ L’Arc de Triomphe, Wrapped ครั้งนี้ใช้ทุนสนับสนุนการสร้างทั้งหมดจากมูลนิธิ Estate of Christo V. Javacheff ที่มีรายได้จากการขายแบบร่างศึกษาโครงการ ภาพวาดลายเส้น ผลงานคอลลาจ และงานภาพพิมพ์หิน รวมถึงโมเดลย่อขนาดของโครงการศิลปะที่พวกเขาเคยทำขึ้นมาโดยไม่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนอื่นใดเลยแม้แต่น้อย ศิลปินคู่อย่างคริสโตและฌานน์-โคล้ด ใช้กระบวนการทำงานศิลปะของพวกเขาแสดงให้เราเห็นว่า วิธีการอันเรียบง่ายอย่างการ ‘ห่อ’ หรือ ‘คลุม’ (ที่บางครั้งบางคนเอาไปใช้ทำสิ่งเลวร้ายไร้มนุษยธรรม) ก็สามารถเปลี่ยนสิ่งธรรมดาสามัญให้กลายเป็นสิ่งที่สวยงามเปี่ยมความหมายและยิ่งใหญ่ได้ด้วยความคิดสร้างสรรค์นั่นเอง   เรื่อง: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ภาพ: Getty Images, christojeanneclaude.net   ข้อมูล: หนังสือ Inside Art, Outside Art ข้างนอก ข้างใน อะไร (แม่ง) ก็ศิลปะ โดย ภานุ บุญพิพัฒนาพงศ์, สำนักพิมพ์แซลมอน http://christojeanneclaude.net/projects/wrapped-reichstag https://en.wikipedia.org/wiki/Christo_and_Jeanne-Claude  https://en.wikipedia.org/wiki/Reichstag_building https://www.theguardian.com/artanddesign/2017/feb/07/how-we-made-the-wrapped-reichstag-berlin-christo-and-jeanne-claude-interview  https://www.nytimes.com/1995/06/23/arts/christo-s-wrapped-reichstag-symbol-for-the-new-germany.html https://www.dw.com/en/how-christos-wrapped-reichstag-changed-berlins-image/a-18877643