แม้ตอนนี้ชื่อของบริษัท Moderna เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เพราะหากเราพูดถึงวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก Moderna คงเป็นชื่อหนึ่งที่ต้องได้ยินอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาเป็นบริษัทผลิตวัคซีน โควิด-19 ที่ใช้ในมนุษย์เป็นแห่งแรก
ที่น่าตกใจคือทุกอย่างเกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว เพราะหลังจากที่ผู้ว่าการรัฐแมสซาชูเซตส์ประกาศ ให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นภาวะฉุกเฉินได้เพียง 1 สัปดาห์ ต่อมาในวันที่ 10 มีนาคม 2020 พวกเขาเริ่มทดลองทางคลินิกเฟสแรกกับผู้ทดลองทั้ง 45 คน
ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น คือบริษัท Moderna (ที่ตอนนี้มีมูลค่าเกือบ 1.7 แสนล้านเหรียญฯ) มีอายุเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น หากเทียบกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เหมือนกันและมีอายุถึง 171 ปีแล้ว Moderna นั้นถือว่ายังเด็กมาก ๆ เลยทีเดียว
บริษัทสัญชาติอเมริกันนี้ ถูกสร้างขึ้นโดยชายผู้อพยพมาจากต่างประเทศ และผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ (รวมถึง CEO) ก็เป็นผู้อพยพเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นกว่าพวกเขาจะมาถึงจุดนี้ได้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยทุกอย่างเริ่มต้นมาจากแนวคิดแบบสตาร์ทอัพที่กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน
ยิ่งย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปแล้ว เรื่องราวของ Moderna คงไม่ต่างจากแนวคิด ‘American Dream’ ที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ไม่ว่าคุณจะมาจากที่ไหนในโลก ขอให้มีความสามารถและความมุมานะไม่ย่อท้อ คุณจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในประเทศแห่งเสรีภาพอันยิ่งใหญ่แห่งนี้
เด็กชายจากต่างแดน
‘นูบาร์ อะเฟยัน’ (Noubar Afeyan) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบอร์ดของบริษัทเป็นชาวอเมริกันที่อพยพย้ายถิ่นฐานถึงสองครั้งสองคราว พ่อกับแม่ของเขาเป็นชาวอาร์เมเนีย เขาเกิดและเติบโตที่เมืองเบรุต ประเทศเลบานอน จนถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้น อะเฟยันเล่าว่าครอบครัวของเขาต้องคอยหลบหนีอยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยปู่ที่ต้องหนีออกจากตุรกีไปตั้งหลักปักฐานยังบัลแกเรีย ก่อนที่พ่อของเขาจะหนีจากบัลแกเรียเมื่อระบบคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจ เพื่อมาเริ่มต้นใหม่ที่เลบานอนโดยไม่รู้จักใครเลย
ช่วงปี 1975 เมื่ออะเฟยันอายุได้ประมาณ 13 ปี ได้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่เลบานอน ทุกโรงเรียนต้องหยุดสอน พวกเขาต้องวิ่งลงไปห้องใต้ดินเพื่อหลบภัยอยู่เป็นประจำ ตึกที่อยู่แถว ๆ บ้านโดนถล่มยับเยิน จนสุดท้ายพ่อของเขาตัดสินใจยื่นขอวีซ่าอพยพและได้รับการตอบรับให้ย้ายครอบครัวมายังแคนาดา พวกเขาต้องทิ้งธุรกิจทุกอย่างที่มีแล้วมาเริ่มใหม่อีกครั้ง ส่วนตัวอะเฟยันเองก็ต้องปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมและสังคมใหม่ที่แคนาดาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หลังจากเติบโตและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในแคนาดาแล้ว เขาก็สมัครเข้ามาเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาวิศวกรรมชีวเคมีที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) โดยเขาเป็นนักเรียนกลุ่มแรกที่เรียนจบทางด้านนี้ และความรู้ความเข้าใจในสาขาวิชาดังกล่าวยังนับเป็นเรื่องใหม่ในช่วงเวลานั้น เมื่อจบการศึกษาเขาก็เริ่มสร้างบริษัทของตัวเองชื่อว่า PerSeptive BioSystems ซึ่งเป็นบริษัทสร้างอุปกรณ์สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
เหตุการณ์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาออกมาสร้างธุรกิจของตัวเอง เกิดจากการพบกับชายผู้หนึ่งโดยบังเอิญขณะที่เรียนปริญญาโท ระหว่างงานประชุมเรื่องความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติที่วอชิงตัน ดี.ซี. เขาบังเอิญได้นั่งข้างชายคนหนึ่งที่อายุมากกว่าเขาพอสมควร ชายคนนั้นเล่าเรื่องราวการสร้างบริษัทของตัวเองขึ้นมากับเพื่อนเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ตอนนั้น ‘วิศวกรรมอิเล็กรอนิกส์’ (Electronic Engineering) ยังเป็นเรื่องใหม่ และชายคนนั้นก็เป็นหนึ่งในคนที่จบมาทางด้านนี้ หลังจากที่เรียนจบไม่รู้จะทำอะไร แต่ไม่อยากทำงานบริษัท เขาจึงนำความรู้ที่เรียนมาไปเปิดบริษัทผลิตอุปกรณ์สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้นและประสบความสำเร็จอย่างมาก
ภายหลังเขาจึงได้รู้ว่าชายคนนั้นคือ เดวิด แพ็คการ์ด ( David Packard) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการอย่าง Hewlett-Packard นั่นเอง
ทั้งหมดนี้จึงกลายเป็นแรงบันดาลใจให้อะเฟยันเริ่มต้นทำ PerSeptive BioSystems ทันทีในวัยเพียง 25 ปีเท่านั้น หากวันที่บริษัทเริ่มกิจการในเดือนตุลาคม 1987 กลับเป็นช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นร่วงหนัก ทำให้ช่วงปีแรกของบริษัทไม่ราบรื่นนัก เพราะบริษัทลงทุนเองก็กำลังขาดทุนอย่างหนัก เขาจึงไม่สามารถหาเงินจากนักลงทุนได้ และยิ่งอะเฟยันเป็นผู้อพยพ ก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือน้อยลงไปด้วย ซึ่งอะเฟยันเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Barron’s ว่า
“มันเป็นเรื่องของคนผิวขาววัยกลางคน และผมไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ผมเป็นผู้อพยพ ผมไม่ใช่คนที่พวกเขาต้องการ”
ระหว่างที่เขาพยายามหาเงินมาลงทุนก็ต้องทำงานพาร์ทไทม์ที่ MIT และขอยืมเงินจากพ่อเพื่อจุนเจือชีวิตในแต่ละวัน จนกระทั่งวันหนึ่งเขาไปเจอนักลงทุนที่ยอมให้เงินเขามาลงทุนรวม ๆ กันได้ประมาณ 300,000 เหรียญฯ เพื่อเริ่มต้นทำธุรกิจ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการทำธุรกิจของอะเฟยัน ซึ่งภายใน 10 ปีต่อจากนั้นเขาก็ก่อตั้ง (และร่วมก่อตั้ง) บริษัทอีก 5 แห่งเลยทีเดียว
ในปี 1998 PerSeptive BioSystems ถูกซื้อไปโดยบริษัท The Perkin-Elmer Corporation ที่ผลิตเครื่องมือวิเคราะห์และวินิจฉัยทางการแพทย์ด้วยมูลค่าราว ๆ 360 ล้านเหรียญฯ
อะเฟยันกล่าวว่า “ตลอดช่วงเวลา 10 ปีจนถึงปี 1997 ผมน่าจะทำพลาดมาแล้วทุกอย่างที่มีในหนังสือ” แต่การได้เริ่มทำธุรกิจของตัวเอง เป็นสตาร์ทอัพในยุคที่คำว่าสตาร์ทอัพยังไม่มีคนพูดถึงก็นับเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเรียนรู้ว่า การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้นมีความเสี่ยง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องกล้าลองทำในสิ่งที่ยังไม่มีใครทำด้วย
ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=EtmUgAyTIo8&t=1897s
Parallel Entrepreneurship
อะเฟยันเคยให้สัมภาษณ์กับ Business Insider เกี่ยวกับผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ส่วนใหญ่ว่าพวกเขามักจะทำอย่างหนึ่งเสร็จแล้วไปทำอย่างอื่นต่อ หรือที่เรียกว่า ‘Serial Entrepreneurship’ แต่สำหรับอะเฟยัน เขาไม่อยากทำอย่างนั้น
“ผมไม่อยากทิ้งสิ่งแรกไป เพราะมันเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี”
นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเขาจึงพยายามหาทางออกให้กับปัญหานี้ โดยการพยายามสร้าง ‘Parallel Entrepreneurship’ ขึ้นมาแทน ซึ่งแทนที่จะสร้างบริษัทแล้วก็จบไป เขาจะร่วมสร้างบริษัท แล้วก็ทำงานด้วยกันกับบริษัทเหล่านั้นด้วย นั่นคือเป้าหมายของบริษัท Flagship Pioneering ที่ถือกำเนิดขึ้นในปี 2000 และถึงตอนนี้ก็มีบริษัทที่เกิดขึ้นมาได้เพราะความช่วยเหลือของ Flagship Pioneering กว่าร้อยบริษัท บางส่วนอยู่ในตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว และแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือ Moderna นั่นเอง
สำหรับขั้นตอนในการสร้างบริษัทของ Flagship Pioneering มีอยู่ด้วยกัน 4 ขั้นตอน
Exploration - เกิดขึ้นประมาณ 50 - 100 ครั้งต่อปี เป้าหมายคือเอาข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจมานั่งคุยกัน อันไหนที่น่าสนใจ ก็จะถามคำถาม ‘What if’ ต่อไป แม้ปลายทางส่วนใหญ่มักเป็นไอเดียที่ใช้ไม่ได้ แต่ทีมก็จะมานั่งคุยกันว่าเหตุใดไอเดียนี้ถึงไม่ดี หากมีคนแย้งด้วยเหตุผลต่าง ๆ ก็อาจจะปัดตกไป หรือหากมีไอเดียบางอย่างที่น่าสนใจ ไอเดียเหล่านั้นก็จะถูกเก็บเอาไว้
Protocompany - ขั้นตอนนี้จะได้เงินประมาณ 1-2 ล้านเหรียญฯ เพื่อไปทดลองในห้องแล็บ ใช้เวลาทดลองประมาณ 9 เดือน - 1 ปี ในแต่ละทีมจะมีประมาณ 4 - 5 คน เพื่อทดลองไอเดียเบื้องต้น
NewCo - ขั้นตอนนี้จะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเหมือนบริษัทมากขึ้น ทดลองมากขึ้น และเริ่มจดสิทธิบัตร (Moderna เคยมีชื่อว่า NewCo LS18 Inc.) โดยบริษัทยังอยู่ใต้ Flagship Pioneering ซึ่งเมื่อก่อนอะเฟยันจะเริ่มเอานักลงทุนจากข้างนอกเข้ามา แต่สุดท้ายก็ล้มเลิกวิธีนี้ไป เพราะเมื่อไอเดียประสบความสำเร็จก็จะทำให้ผลกำไรของบริษัทลดลงไปด้วย และถ้าเจอปัญหา นักลงทุนเหล่านี้ก็มักจะถอยทันที โดยขั้นตอนนี้จะมีเงินให้อีก 20 - 30 ล้านเหรียญฯ ทีมงานราว ๆ 50 - 60 คน และทำงานกันประมาณ 2 - 3 ปี
GrowthCo - เป็นขั้นตอนที่บริษัทเริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง และเป็นช่วงที่โลกจะได้รู้จักกับบริษัทเหล่านี้ด้วย
แน่นอนว่า Moderna เองก็ผ่านกระบวนการนี้มาเช่นเดียวกัน แต่ก็มีอีกหลายสิบหลายร้อยไอเดียที่ไม่ผ่านมาถึงจุดนี้ ซึ่งเป็นความท้าทายของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาที่ทุกอย่างคือการทดลองด้วยมุมมองที่เปิดกว้าง
mRNA และ Moderna
อะเฟยันเริ่มสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี mRNA ในปี 2010 โดยตั้งคำถามว่า “เป็นไปได้ไหมถ้าเราใช้เทคโนโลยี mRNA เพื่อทำให้ร่างกายของมนุษย์นั้นสร้างทหารเพื่อมาสู้กับเชื้อโรค?”
แต่อย่างแรกที่เราต้องเข้าใจคือวัคซีนประเภท ‘เชื้อตาย’ หรือ ‘เชื้ออ่อนแอ’ ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดนั้นจะฉีดเข้าร่างกายเพื่อกระตุ้นให้สร้างภูมิคุ้มกันหรือทหารขึ้นมา
แต่ร่างกายของมนุษย์เป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะสิ่งที่ร่างกายต้องการ คือรู้ว่าเชื้อโรคที่เข้ามานั้นจะใช้ ‘อาวุธ’ แบบไหน เพื่อให้ร่างกายสามารถสร้างทหารที่ต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพเลยทีเดียว และนั่นคือพื้นฐานแนวคิดของเทคโนโลยี mRNA
สำหรับวัคซีน mRNA จะถูกผลิตขึ้นมาจากสารพันธุกรรมของไวรัส เอาส่วนที่เรียกว่า Spike หรือหนาม (เวลาเราเห็นภาพโคโรนาไวรัสมักจะมีหนามออกมาด้วย) เพราะส่วนนี้เป็นเหมือนตัวยึดเกาะกับเซลล์มนุษย์ เป็นอาวุธของมัน ซึ่งหลังจากที่วัคซีนถูกฉีดเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์มันก็จะกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันขึ้นมา และด้วยความที่ mRNA ถูกสร้างขึ้นมาแบบเฉพาะเจาะจงตามโรคที่อยากจะรักษา ทำให้ทหารที่ป้องกันนั้นถูกสร้างขึ้นมาแบบเฉพาะเจาะจงเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้วัคซีนที่สร้างจากเทคโนโลยี mRNA จึงมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูง
บิล เกตส์ (Bill Gates) เคยเขียนไว้ในหนังสือพิมพ์ Washington Post ว่า “วิธีใหม่ที่ผมตื่นเต้นที่สุดคือวัคซีน RNA ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนไข้หวัดทั่วไปที่มีเชื้อตาย และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะเรียนรู้ที่จะสู้กับมัน ส่วน RNA วัคซีนนั้นหยิบยื่นโค้ดทางพันธุกรรมให้กับร่างกายของคุณให้มันสร้างส่วนที่อันตราย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันเห็นส่วนเหล่านั้นก็จะเรียนรู้วิธีการต่อสู้กับมัน วัคซีน RNA จึงคล้ายกับการทำให้ร่างกายของเราเป็นเครื่องผลิตวัคซีนนั่นเอง” (บิล เกตส์เขียนไว้เป็น RNA แต่ภายหลังต่อมาเราก็รู้จักกันในชื่อ mRNA)
เดอร์ริก รอสซี ซึ่งทำงานด้านชีววิทยาสเต็มเซลล์ที่สแตนฟอร์ดได้อ่านงานวิจัยเกี่ยวกับ mRNA ก่อนจะพบกับ ทิโมธี สปริงเกอร์ และ โรเบิร์ต แลงเกอร์ บุคคลสำคัญทางสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และหลังจากนั้นไม่นานทั้งสามก็มีโอกาสได้ร่วมงานกับ Flagship Pioneering ของอะเฟยัน และก่อตั้ง Moderna ขึ้นมา
ช่วงหลายปีต่อมา Moderna ได้รับเงินทุนจากองค์กรต่าง ๆ อย่าง Merck, AstraZeneca และมูลนิธิ Bill & Melinda Gates สำหรับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ และเข้าตลาดหุ้นในช่วงปี 2018 แต่ตอนนั้นพวกเขายังไม่ได้มีผลิตภัณฑ์อะไรที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท ซึ่งสำหรับอุตสาหกรรมนี้แล้วถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไรนัก
สิ่งที่พวกเขามีแม้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ แต่เป็นองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี mRNA ที่เป็นรากฐานสำคัญสำหรับการผลิตวัคซีนหรือยาด้วยอัตราความเร็วที่ไม่เคยมีที่ไหนทำได้มาก่อน และเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาด พวกเขาก็พร้อมที่จะรับมือได้ทันที
ที่มาภาพ https://www.youtube.com/watch?v=f7ozLF93qmg&t=275s
COVID-19
ช่วงต้นปี 2020 ทั่วโลกเริ่มเห็นข่าวการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีใครทราบในตอนนั้นว่ามันจะร้ายแรงแค่ไหน แต่ที่แน่ ๆ คือยังไม่มีทางป้องกันการระบาดได้ คนที่ติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงที่จะอาการหนักและถึงขั้นเสียชีวิต เศรษฐกิจทุกอย่างเริ่มหยุดชะงัก การเดินทางระหว่างประเทศเริ่มเป็นอัมพาต การระบาดครั้งใหญ่ระดับโลกกำลังจะมาเยือนในไม่ช้า...
สเตฟาน แบนแซล (Stéphane Bancel) - CEO ของ Moderna จึงยกหูโทรศัพท์หาอะเฟยัน ในวันที่ 23 มกราคม 2020 อธิบายสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเขาคิดว่าเทคโนโลยี mRNA น่าจะเข้ามามีบทบาทในการสร้างวัคซีนสำหรับต่อกรกับไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ตอนนี้ได้ เพราะหากไม่ทำตอนนี้ ก็อาจจะสายเกินไป และอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญคือเป็นโอกาสพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาเชื่อและพยายามพัฒนามาตลอดสิบปีนั้นสามารถทำงานได้จริง ๆ ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องการทางแก้ปัญหาแบบเฉพาะเจาะจงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่มีช่วงเวลาไหนที่เทคโนโลยี mRNA จะเหมาะมากกว่าตอนนี้อีกแล้ว
ทั้งคู่จึงตกลงเดินหน้ากับไอเดียการหาวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสที่กำลังระบาดอยู่ในตอนนั้น และมันก็เป็นการตัดสินใจที่สำคัญมาก ๆ หลังจากได้รับรหัสพันธุกรรมของไวรัสโควิด-19 ที่ทางรัฐบาลจีนเผยแพร่
Moderna จึงนับว่าอยู่ในสถานการณ์พร้อมจะเริ่มพัฒนาตัวอย่างของ mRNA เพื่อนำไปสร้างเป็นวัคซีนสำหรับต่อสู้กับโควิด-19 ได้เลยทันที
สองวันต่อมา รูปแบบโมเดลของ mRNA บนคอมพิวเตอร์ก็ถูกสร้างขึ้นสำเร็จ
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2020 มีข่าวโด่งดังไปทั่วโลกว่าตอนนี้มีวัคซีนที่สามารถใช้ในมนุษย์เพื่อต่อกรกับไวรัสโควิด-19 จากบริษัท Moderna ออกมา หลังจากนั้นก็เริ่มมีการทดลองทางคลินิกเฟสแรกเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม
แม้จะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับ Moderna แต่สำหรับอะเฟยัน ข่าวดีของผลการทดลองนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับจิตใจของเขามากนัก เมื่อเทียบกับการบอกลาพ่อตาที่ป่วยเป็นโควิด-19 ด้วยเฟสไทม์แล้วพ่อตาของเขาก็เสียชีวิตในเวลาต่อมา
“มันเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายมาก และมันก็ทำให้เห็นว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นสำคัญมากขนาดไหน”
สิ่งที่ทำให้หลายคนเข้าใจผิดคือเรื่องความรวดเร็วของวัคซีนที่ถูกผลิตออกมา หลายคนเข้าใจว่ามันเป็นความเร่งรีบและคุณภาพต้องไม่ดีอย่างแน่นอน แต่ที่จริงแล้วเทคโนโลยี mRNA ของ Moderna นั้นถูกพัฒนามาเรื่อย ๆ ซึ่ง Stéphane ได้ออกมาพูดในปี 2016 ว่า “ตอนนี้เป็นก้าวสำคัญที่ใกล้จะประสบความสำเร็จจากเทคโนโลยี mRNA ที่ล้ำหน้าในผู้ป่วยโรคต่าง ๆ มากมาย รวมถึงโรคติดเชื้อ มะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ และอื่นๆ”
และก่อนหน้าที่พวกเขาจะเริ่มผลิตวัคซีนสำหรับโควิด-19 นั้น Moderna ได้ผ่านการทดสอบวัคซีนมาแล้วประมาณ 10 ตัว และลงทุนกับเทคโนโลยีนี้ไปแล้วกว่า 2 พันล้านเหรียญฯ เพราะฉะนั้นมันไม่ได้เป็นสิ่งที่จู่ ๆ ก็เกิดขึ้นมา แต่เป็นจังหวะที่ประจวบเหมาะและถือเป็นโชคดีของเราทุกคน เพราะหากโควิด-19 เกิดขึ้นก่อนหน้านี้สัก 5-10 ปี ความเสียหายอาจจะร้ายแรงกว่านี้ก็เป็นได้
แต่ช่วงเวลานั้นมีข่าวมากมายออกมาโจมตีพวกเขาว่าด่วนแถลงจนเกินไป และพยายามสร้างรายได้ หาผลประโยชน์ เพราะเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้น ซึ่งอะเฟยันกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ก็จะมีคนวิจารณ์อยู่ดี เพราะฉะนั้นเราแค่ทำในสิ่งที่เราคิดว่าถูกต้อง แสดงข้อมูลที่เรามีให้คนอื่นดูมากกว่า”
Moderna ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล 4,000 ล้านเหรียญฯ เพื่อแลกกับวัคซีน 200 ล้านโดส พวกเขานำเงินจำนวนนั้นมาสร้างโรงงานผลิตเพิ่มขึ้น เพราะตอนแรกนั้น Moderna ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการผลิตวัคซีนจำนวนมากขนาดนี้
การทดลองทางคลินิกเฟส 3 จบลงในช่วงปลายปี 2020 และวัคซีนของ Moderna มีประสิทธิภาพสูงถึง 94.5% ซึ่งตอนนี้วัคซีน mRNA ของพวกเขาก็ถือว่าได้รับการยอมรับเป็นมาตรฐานทั่วโลกแล้ว
อะเฟยันพูดอยู่บ่อยครั้งว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขามาอยู่จุดนี้ได้เพราะเขาเป็นผู้อพยพ
“สิ่งที่ทำให้คุณหยุดสร้างนวัตกรรมคือการที่คุณอยู่ในคอมฟอร์ตโซน แต่ถ้าคุณเป็นผู้อพยพ คุณจะคุ้นเคยดีอยู่แล้วกับการอยู่นอกคอมฟอร์ตโซนเหล่านั้น”
แต่ที่จริงแล้วนั่นก็ไม่ใช่เพียงเหตุผลเดียวที่ทำให้ Moderna มาถึงจุดนี้ได้ กระบวนการคิดที่เริ่มให้ไว ล้มให้เร็ว และการทดลองแก้ไขปัญหาที่ยังไม่มีใครกล้าหรืออยากลงมือทำ นั่นคือแนวคิดของสตาร์ทอัพที่อะเฟยันได้เรียนรู้มาตั้งแต่การเริ่มต้นทำธุรกิจแรกของตัวเองตั้งแต่วัย 25 ปี ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดของการไม่ย่อท้อและมองไปข้างหน้า แม้ว่าไอเดียบางอย่างอาจจะดูเป็นไปไม่ได้แค่ไหนก็ตาม
มีความเป็นไปได้ว่าต่อไปในอนาคตเทคโนโลยี mRNA จะช่วยทำให้อุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนในอนาคตเปลี่ยนไป สร้างความเปลี่ยนแปลงและทำให้การผลิตวัคซีนต่อต้านโรคอื่น ๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถึงจะไม่มีอะไรมาการันตี แต่ต่อไปเราอาจจะได้เห็นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันได้นานขึ้น หรือแม้แต่การผลิตวัคซีนของไวรัส HIV ก็เป็นได้
อะเฟยันให้สัมภาษณ์กับรายการ How I Built This ว่า
“สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นนั้น บางทีอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่ดูไร้เหตุผล และถ้าสิ่งเดียวที่เรามองหาคือจุดเริ่มต้นที่มีเหตุผล คุณก็อาจจะไม่มีโอกาสเจอการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เลย”
และนั่นคือความเชื่อของอะเฟยัน ชายผู้ร่วมก่อตั้ง Flagship Pioneering ที่ทำให้เทคโนโลยี mRNA ของบริษัทอย่าง Moderna กลายเป็นวัคซีนที่มาช่วยกอบกู้สถานการณ์อันเลวร้ายจากไวรัสที่พรากชีวิตคนไปแล้วกว่า 5 ล้านคนทั่วโลก
แต่สิ่งที่น่าทึ่งยิ่งกว่าคือ ตลอด 20 ปีของ Flagship Pioneering พวกเขาได้สร้างบริษัทมาแล้วกว่าร้อยแห่ง และบริษัท 30 แห่งได้เข้าตลาดหุ้นเรียบร้อยแล้ว โดย Moderna ที่มีมูลค่าประมาณ 1.7 แสนล้านเหรียญฯ ก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในบริษัทเหล่านั้น
ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=EtmUgAyTIo8&t=1897s
Photo illustration by STR/NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง:
https://www.modernatx.com/
https://www.statnews.com/2020/11/10/the-story-of-mrna-how-a-once-dismissed-idea-became-a-leading-technology-in-the-covid-vaccine-race/
https://www.flagshippioneering.com/process
https://www.washingtonpost.com/graphics/2020/health/coronavirus-sars-cov-2-structure/?itid=lk_inline_manual_22&itid=lk_inline_manual_14
https://www.nationalgeographic.com/science/article/moderna-coronavirus-vaccine-how-it-works-cvd
https://en.m.wikipedia.org/wiki/Template:COVID-19_pandemic_data
https://www.npr.org/2021/10/08/1044644976/moderna-and-flagship-pioneering-noubar-afeyan
https://news.crunchbase.com/news/moderna-covid-vaccine-noubar-afeyan/
https://www.businessinsider.com/moderna-designed-coronavirus-vaccine-in-2-days-2020-11
https://ktla.com/news/coronavirus/moderna-chairman-grandson-of-an-armenian-genocide-survivor-speaks-about-vaccine-efforts-and-his-own-journey/
https://www.federalreservehistory.org/essays/stock-market-crash-of-1987