03 พ.ย. 2564 | 10:51 น.
- MV เพลง ‘November Rain’ ของวง Guns N’ Roses เป็นวิดีโอเพลงร็อกชิ้นแรกที่มียอดวิวแตะหลัก 2 พันล้านวิวใน YouTube
- เพลงนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดใน MV ซึ่งหลายคนยังสงสัยว่าความหมายของเรื่องราวใน MV นั้นมาจากไหนกันแน่
เนื้อเพลง ‘November Rain’ ฉายภาพ ‘แอ็กเซิล โรส’ (Axl Rose) ยืนตากฝน สองมือประคองเทียนเปลวสั่นไหว อ้อนวอนขอให้อีกฝ่ายเปิดใจและเชื่อมั่นในรัก หากในวิดีโอโปรโมตของเพลงเดียวกัน ความรักที่ไม่ถูกตอบรับดังกล่าวกลับเล่าผ่านความตายของหญิงผู้สวมชุดเจ้าสาว ท่อน ‘holding a candle’ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการไว้ทุกข์ ครวญคร่ำ
เจ้าสาวของโรส พบพานความตายด้วยสาเหตุใด คำตอบใดที่รออยู่ในบัลลาดรักที่บรรเลงด้วยดนตรีร็อกเพลงนี้ หรือที่จริงแล้วไม่มีถ้อยคำเฉลยมาตั้งแต่ต้น?
ฝนเดือนพฤศจิกาฯ
‘November Rain’ ปรากฏโฉมครั้งแรกเมื่อปี 1991 เป็นแทร็กภายใน ‘Use Your Illusion’ อัลบั้มของ Guns N’ Roses ที่มีสองพาร์ต โดยประกอบอยู่ในพาร์ตแรก หรือ ‘Use Your Illusion I’ และถูกเผยแพร่ในรูปแบบซิงเกิลเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ปีถัดมา
ด้วยการบรรเลงร็อกเคล้าบัลลาด ด้วยเนื้อเพลงเคล้าเปียโนหวาน ด้วยโซโล่กีตาร์ฝีมือนักดนตรีผมยาว ‘สแลช’ (Slash) พาให้ ‘ฝนเดือนพฤศจิกาฯ’ ทะยานขึ้นประดับชาร์ตต่าง ๆ มากมาย แม้ว่ามันจะไม่ได้เดินตามสูตรเพลงดังที่มักมีความยาวไม่มากนัก เนื่องจากเพลงนี้กินเวลานานเกือบ 9 นาที (โดยเวอร์ชันก่อนอีดิตยาวถึง 25 นาที)
‘November Rain’ ถูกจารึกว่าเป็นเพลงที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ติด Top 10 ใน Billboard Chart Hot 100 ส่วนวิดีโอโปรโมตของมันก็ไม่น้อยหน้า ด้วยต้นทุนการผลิตที่มากถึง 1.5 ล้านดอลลาร์
มันถูกบันทึกโดย MTV ว่าเป็นมิวสิกวิดีโอที่ถูกขอมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ควบด้วยถ้วยรางวัลหลายแขนง - หลังแพลตฟอร์ม YouTube ถือกำเนิด และ ‘November Rain’ ถูกอัปโหลดลงที่นั่น มันก็กลายเป็นมิวสิกวิดีโอจากยุค 90s ที่มียอดรับชมสูงที่สุด และเป็นเพลงแรกจากยุค pre-YouTube ที่มียอดรับชมเกินหนึ่งพันล้านครั้งอีกด้วย
กุหลาบหน้าเปียโน
ในทัศนะของหลายคนรวมทั้งผู้เขียน ‘November Rain’ คือบทเพลงบัลลาดร็อกที่งดงามที่สุดเพลงหนึ่ง มันหวานซึ้งหวานเศร้า เคล้าน้ำตาในดนตรี เนื้อเพลงราวบทกวีนี้เกิดขึ้นจากปลายปากกาหน้าเปียโนของแอ็กเซิล โรส นักร้องนำผู้มีภาพลักษณ์ระห่ำประจำวงกุหลาบประดับปืน
แม้มันจะถูกปล่อยออกมาในช่วงต้นของยุค 90s หากท่วงทำนองแรกในเพลงนี้ก็ริเริ่มก่อนหน้านั้นนานเกือบสิบปี ก่อนที่วง Guns N’ Roses จะเกิดขึ้นมาจากการควบรวมของสองแบนด์อย่าง ‘L.A. Guns’ และ ‘Hollywood Rose’
“ตอนที่เราเตรียมอีพีสำหรับวง L.A Guns (แอ็กเซิล โรส) เขาเล่น ‘November Rain’ หน้าเปียโน แล้วพูดว่า ‘วันหนึ่งเพลงนี้จะต้องยอดเยี่ยมโคตร ๆ’ ผมบอกว่า ‘ตอนนี้มันก็เยี่ยมแล้ว มันแค่ยังไม่เสร็จ’ หลังจากนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ในโรงแรมหรือที่อื่น ถ้ามีเปียโนเขาจะนั่งตรงนั้นและเล่นมัน ผมถาม ‘แกจะเขียนมันเสร็จเมื่อไหร่’ และเขาก็ตอบว่า ‘ไม่รู้ว่ะ ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงกับมันด้วยซ้ำ อาจต้องรออารมณ์ละมั้ง’”
คำพูดของ เทรซี กันส์ สมาชิกวง L.A. Guns และผู้ร่วมก่อตั้ง Guns N’ Roses ทำให้เราได้รู้จุดเริ่มต้นของเพลงนี้ ขณะที่โรสได้บันทึกเสียง ‘November Rain - Piano Version’ หรือเพลงฝนเดือนพฤศจิกาฯ ที่ประดับดนตรีด้วยเปียโนเปลือยเปล่าในปี 1986 และได้บันทึกเสียง ‘November Rain - Acoustic Version’ ที่เล่นผ่านกีตาร์ใน Sound City Session เช่นเดียวกัน
สุดท้ายโรสก็ตัดสินใจให้มันอยู่คู่กับเปียโน และบรรจุในอัลบั้ม ‘Use Your Illusion I’ ในช่วงเวลาร้าวระแหงของคณะปืนและกุหลาบ
บัลลาดร็อกแห่งความขัดแย้ง
ปี 1990 ในช่วงที่ GNR เตรียมการอัลบั้มนี้ การร้างราของอดีตมือกลองอย่าง ‘สตีเวน แอดเลอร์’ (Steven Adler) ทำให้ ‘แมตต์ โซรัม’ (Matt Sorum) ต้องตบเท้าเข้ามาแทนที่ ขณะที่แอ็กเซิล โรสเล่าว่าสมาชิกคนอื่นภายในวงทั้งสแลช และดัฟฟ์ แม็กคาแกน (Duff McKagan) ต่างไม่เห็นด้วยไปจนถึงต่อต้านการที่วงร็อกสายดุอย่าง GNR จะมีเพลงบัลลาด แต่เขากับโซรัมกลับเข้ากันได้ดี บทสนทนาของพวกเขากำหนดทิศทางให้เสียงกลอง และเติมเต็มท่วงทำนองให้ ‘November Rain’
กระนั้น โซรัม ก็ได้ข้อสรุปว่า การสร้างผลงานที่บรรจุซาวนด์ออร์เคสตรา กับวงอย่าง GNR นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
“พวกเขาเป็นวงร็อกแบบโคตรร็อก” เขาเล่า “เป็นประเภท ‘ลุยกันเลย !’ ไม่ก็ ‘พวกกูมาแล้วเว้ย มาเล่นให้ดังกระหึ่มโลก’ ส่วนผมโตมากับออร์เคสตราและดนตรีคลาสสิก พอผมพูดสักอย่างขึ้นมาก็แทบจะกลายเป็นคนบ้าสำหรับพวกเขา
“เราต้องมี pianissimo ตรงนี้ แล้วก็ mezzo forte ตรงนี้ แล้วพวกเขาก็จะ ‘ห่าอะไรวะ?!?’ pianissimo คือ ‘เบา’ และ mezzo forte คือ ‘ความดังปานกลาง’ และตอนนี้เราต้อง ‘double forte’ สักหน่อย หมายถึงกลับไปเล่นดังเท่าปกติ ผมต้องอธิบายทั้งหมดนี่ให้พวกเขาฟัง และบอกวงว่าเราต้องสร้างการเดินทางในเพลงนี้ให้กับผู้ชม”
การเดินทางกลางเปลวเทียน
แอ็กเซิล โรสอยากทำเพลงที่เล่าเรื่องราวได้อย่าง ‘Stairway to Heaven’ และ ‘Bohemian Rhapsody’ สองเพลงดังจากยุค 70s มาเสมอ ซึ่ง ‘November Rain’ ก็กลายเป็นพื้นที่ให้เขาได้ใช้วาทศิลป์บนหน้ากระดาษ บทเพลงที่เล่าถึงรักกลางสายฝนเพลงนี้เต็มไปด้วยสัญลักษณ์มากมาย และการอุปมาอุปไมยที่ชวนให้ตีความระหว่างถ้อยคำไปต่าง ๆ นานา
เริ่มจาก ‘ฝน’ ที่มีความหมายค่อนข้างสากล เป็นสัญลักษณ์แห่งความเศร้าหมอง ปวดร้าว และวุ่นวายคล้ายสายน้ำที่มาพร้อมพายุ ส่วน ‘เทียน’ ในท่อน ‘holding a candle’ นั้นนอกจากการไว้ทุกข์ ก็มีความหมายถึงการยึดมั่นเอาไว้ซึ่งบางสิ่ง ในที่นี้คงเป็นความรัก
นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ท่อน ‘And we both know hearts can change’ ภายในเพลงนั้นคลับคล้ายกับเนื้อความในบทกวีซอนเน็ต ‘Sonnet 116’ ของเชกสเปียร์ ท่อน ‘Love is not love. Which alters when it alteration finds.’ ที่บอกเล่าถึง ‘การเปลี่ยนแปลง’ ของความรักและหัวใจในทำนองเดียวกัน
เพลงรักทรมานของชายผู้หนาวสั่นกลางฝน ยึดถือเทียนที่ใกล้ดับเอาไว้ และร้องเพลงขอให้อีกฝ่ายเห็นใจ เปิดใจ และผ่านช่วงเวลาแห่งฝนเดือนพฤศจิกาฯ ไปด้วยกัน ฟังดูเป็นเพลงรักไร้บทสรุป หากบทสรุปที่ว่าก็ปรากฏในเอ็มวี ที่ยึดโยงเส้นเรื่องจากเรื่องสั้น ‘Without You’ ของ ‘เดล เจมส์’ (Del James) นักข่าวชาวร็อก เพื่อนของแอ็กเซิลที่ภายหลังกลายเป็นเมเนเจอร์ทัวร์ให้กับวง
คำใบ้ของหญิงสาวในโลงศพ
‘สเตฟานี ซีมัวร์’ (Stephanie Seymour) นางแบบสาวที่คบหากับโรสในช่วงเวลาดังกล่าว และรับบทนางเอกในบทเพลงพบกับความตายในวันที่ฝนกระหน่ำ ฟุตเทจมากมายใน ‘November Rain’ ไม่ได้ระบุไว้ว่าเธอตายเพราะอะไร
หากยึดเอาตามเนื้อเพลงที่นอกจากกล่าวอ้อนรักแล้วยังระคนปลอบใจ ร้องขอให้เธอ ‘เปิดใจ’ แม้มันจะยาก และยอมให้ใครสักคน ‘ช่วยเหลือ’ หนำซ้ำยังมีประโยคอย่าง “Cause nothin’ lasts forever, even cold November rain” ที่ถอดความได้ว่า “ไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป แม้แต่ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดอย่างฝนเดือนพฤศจิกายนก็ตาม” นั้นก็ชวนให้คิดว่าหญิงสาวในเพลงกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่รอการช่วยเหลือ หากเธอเองหวาดกลัวเกินกว่าจะตอบรับความห่วงใยของผู้อื่น - หลายคนคาดเดาว่าเธอตกอยู่ในห้วงแห่งความเศร้า และลงท้ายด้วยการปลิดชีวิตตัวเอง
แต่ถ้าประกอบกับบริบทที่ว่า สามบทเพลงของ GNR อย่าง ‘Don’t Cry’, ‘November Rain’ และ ‘Estranged’ ถูกร้อยเรียงแบบ trilogy ก็อาจเป็นไปได้ว่าเธอตายเพราะผิดหวังในรัก และฉากแย่งปืนในเอ็มวี ‘Don’t Cry’ ก็ชวนให้บางคนสงสัยว่าที่จริงแล้วเธอฆ่าตัวตายหรือทำปืนลั่น หรือที่แย่ไปกว่านั้น แอ็กเซิล โรส อาจเป็นคนพลั้งมือคร่าชีวิตเธอ
เมื่อมีคนเอ่ยถามสแลชว่าพอจะรู้บ้างไหมว่า ทั้งหมดในเพลงและเอ็มวีหมายความว่าอย่างไร ‘ใครจะไปรู้ได้’ คือคำตอบ พ่อหนุ่มผมฟูเล่าว่าในตอนนั้นเขาไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าการโซโล่กีตาร์ และการแสดงในฉากของตัวเองเท่านั้น
ส่วนการเปลี่ยนเป้าหมายจากเพื่อนในวงไปถามผู้กำกับเอ็มวีเสียเลยก็ดูเหมือนจะไม่ช่วย เมื่อ ‘แอนดี มอราแฮน’ (Andy Morahan) ผู้กำกับ trilogy ชุดนี้สารภาพอย่างจริงใจว่า แม้แต่เขาเองก็ไม่รู้ว่าทุกอย่างที่ออกมาให้ผู้คนได้รับชมนั้นคืออะไรกันแน่
‘November Rain’ อาจไม่ใช่เพลงที่มีคำตอบให้สำหรับทุกคำถาม ฉลาดทิ้งคำใบ้มากกว่าให้ถ้อยเฉลย และเปิดเผยให้ผู้คนตีความมากกว่าเล่าเรื่องราวแบบตรงตามตัวอักษร ผู้เขียนเห็นว่านั่นคือเสน่ห์ของเพลงนี้ที่ทำให้มันตรึงใจคนได้ และกลายเป็นบทเพลงบัลลาดร็อกที่ยอดเยี่ยมที่สุดเพลงหนึ่ง
แม้จะเป็นเพลงหน้าฝนแสนเศร้า แต่หลายประโยคในเนื้อเพลงก็ราวกับสัจธรรมชีวิต โดยเฉพาะท่อน “Cause nothin’ lasts forever, even cold November rain” ที่บอกให้รู้ว่า ไม่ว่าเลวร้ายแค่ไหนหรือดีงามอย่างไร ทุกสิ่งจะไม่ตั้งอยู่ตลอดไป และเลือนหายตามเวลา ก็ดูจะเป็นเนื้อหาที่หยิบไปใช้เตือนใจตัวเองในยามสุขจนล้นหรือผิดหวังจนตรอมใจได้เป็นอย่างดี
หมายเหตุ: กองบรรณาธิการอัปเดตข้อมูลยอดวิว MV ใน YouTube เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2023
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ
ภาพ: แฟ้มภาพวง Guns N’ Roses ชุดดั้งเดิม ไฟล์จาก Getty Images ประกอบกับฉากหลังเป็นภาพจาก MV เพลง November Rain จาก Guns N’ Roses/YouTube
อ้างอิง: