read
thought
10 พ.ย. 2564 | 14:43 น.
อิคาริส: ผู้บินเหินฟ้า รบระหว่างรักกับศรัทธา
Play
Loading...
/ บทความชิ้นนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Eternals (2021) /
“อย่าบินต่ำเกินไป ทะเลจะโหมคลื่นกลืนกิน
อย่าบินสูงเกินไป ไฟสวรรค์จะผลาญเผา
จงบินอยู่ระหว่างกลางฟ้ากับน้ำ จงอย่าหลงทางไปกับดวงดาวต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ คันไถ หรือ นายพราน
จงบินไปตามทางที่ข้านำเท่านั้น”
(จาก Metamorphoses ของ Ovid เดดาลัสผู้เป็นบิดา กล่าวกับบุตร
อิคารัส
หลังจากติดปีกให้)
ในภาพยนตร์ ‘Eternals’ (2021) อันเป็นภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของแฟรนไชส์ ‘Marvel Cinematic Universe’ (MCU) ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีพลังพิเศษและมีชีวิตยืนยาวที่เรียกว่า ‘อีเทอร์นอลส์’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยสิ่งมีชีวิตทรงอำนาจแห่งจักรวาล (Celestials) นามว่า ‘อริเชม’ (Arishem) พวกเขาถูกส่งมาที่โลกตั้งแต่ราว 5,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช และมีภารกิจพิทักษ์มนุษย์จาก ‘ดีเวียนต์’ (Deviants) อันเป็นเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่ดุร้ายและไล่ล่ามนุษย์
เนื้อเรื่องของภาพยนตร์ดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูนของ ‘Marvel Comics’ โดยเล่าตัดสลับระหว่างปัจจุบันกับยุคสมัยต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์เพื่ออธิบายปูมหลัง ซึ่งหากท่านได้ชมภาพยนตร์แล้ว จะพบว่าเนื้อเรื่องถูกขับเคลื่อนด้วยความขัดแย้ง
3 เส้า
ระหว่างตัวละครซึ่งได้แก่
อริเชม
,
อีเทอร์นอลส์ฝ่ายที่เข้าข้างมนุษย์
และ
อีเทอร์นอลส์ฝ่ายที่ปฏิบัติตามอริเชม
ซึ่งในอันดับหลังสุดนี้ก็คือ ตัวละคร ‘อิคาริส’ (Ikaris) ผู้ได้รับการยอมรับจากพวกพ้องว่ามีพลังอันแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่ม และเป็นผู้รับบทบาทหลักในการขยายปมขัดแย้งนี้ การกระทำของเขาน่าจะทำให้ผู้ชมตั้งคำถามถึงประเด็นทางจริยธรรมว่า สิ่งที่เขาทำถูกต้องหรือไม่อย่างไร
ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายปมขัดแย้งดังกล่าว โดยมองที่ระดับความสัมพันธ์ของตัวละครกับบริบทของเรื่อง และให้ความสนใจที่ตัวละครอิคาริสเป็นพิเศษ ในฐานะตัวขับเคลื่อนปมหลัก
พระเจ้ากับเทวทูต
จักรวาลวิทยา (cosmology) ของจักรวาลมาร์เวลนั้นเป็นหัวข้อที่ซับซ้อน เนื่องจากจักรวาลประกอบด้วยพหุภพและเส้นเวลาจำนวนมาก ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงจักรวาลวิทยาเท่าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับภาพยนตร์ Eternals
จักรวาลมาร์เวลนั้นมีผู้สร้าง (creator) อยู่หลายระดับ ซึ่งในภาพยนตร์ หากจะเทียบตัวละคร อริเชม (Arishem) ว่ามีลักษณะแบบ ‘พระเจ้า’ สำหรับจักรวาลปัจจุบันก็ไม่ผิดนัก ดังที่ในฉากเปิดเรื่อง คำบรรยายเริ่มต้นด้วย “In the beginning” ซึ่งเป็นประโยคที่น่าจะสื่อถึงบทปฐมกาลในพระคัมภีร์ไบเบิล
เมื่อมีผู้สร้างก็ต้องมีผู้ถูกสร้าง ซึ่งในภาพยนตร์ สิ่งที่ถูกสร้างมีอย่างน้อย 2 ระดับ ได้แก่
(1) ระดับควบคุมดูแล ได้แก่ อีเทอร์นอลส์ (ซึ่งมีลักษณะเป็นเหมือน เทวทูต หรือ Angels) และ ดีเวียนต์ (ถูกสร้างมาให้จัดการกับผู้ล่าประเภท Apex Predator ของห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้สิ่งมีชีวิตทรงปัญญาสามารถพัฒนาได้) ที่กลายพันธุ์ไปจนเกินควบคุม
(2) ระดับผู้อยู่อาศัย ได้แก่ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก โดยมีมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาที่สุด
อีเทอร์นอลส์นั้นในแง่หนึ่งก็มีตำแหน่งคล้าย ๆ เทวทูตของกลุ่มศาสนาอับราฮัม คือกระทำตามบัญชาของพระเจ้า อาจมีการปรากฏตัวเพื่อนำทางมนุษย์บ้าง (แต่มิได้มีลักษณะเป็นผู้นำสารของพระเจ้า) ส่วนในแง่มุมหนึ่ง พวกเขามีลักษณะเหมือนเทพเจ้า ตามคติแบบกรีกโบราณ กล่าวคือมีพลังเหนือธรรมชาติ มีอารมณ์แบบมนุษย์ (คือ รัก โลภ โกรธ หลง) และก็เข้ามามีบทบาทในประวัติศาสตร์ (แม้ว่าอริเชมจะมิให้พวกเขาแทรกแซงกิจการใด ๆ ของมนุษย์) อาทิ การที่ ฟาสโตส ชี้นำวิทยาการหลายประการให้กับมนุษย์ หรืออย่างการที่ เอแจ็ก ไปรบในสงครามกรุงทรอย และเรื่องราวของพวกเขาก็ถูกเล่าขานต่อกันมาในฐานะตำนานเทพปกรณัมต่าง ๆ
อิคาริสกับเทพปกรณัม
ความเกี่ยวพันกับเทพปกรณัมนั้นน่าจะเป็นความจงใจชัดเจนของผู้เขียนเรื่อง ที่ประกอบเรื่องขึ้นมาว่า ตัวละครเหล่านี้แหละคือตัวจริงของบรรดาเทพเจ้าที่เรารู้จักผ่านตำนาน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉบับหนังสือการ์ตูนที่พยายามอธิบายว่า อีเทอร์นอลส์เหล่านี้เองที่เป็นตัวจริงเบื้องหลังเทพหลาย ๆ องค์ในอารยธรรมต่าง ๆ)
ตัวละครในเรื่อง Eternals อ้างอิงชื่อ ความสามารถ และบุคลิก (ที่บางครั้งก็น่าจะจงใจตรงกันข้ามกับที่มา) มาจากเทพปกรณัม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรีกและเมโสโปเตเมีย) อาทิ Sirse (หรือ เทพี Circe ในตำนานกรีกที่มันถูกกล่าวถึงในฐานะแม่มด ส่วนในภาพยนตร์นั้น ตัวละคร ‘เดน’ เคยถามเซอร์ซีว่าเธอเป็นแม่มดหรือ?), Phastos (หรือ เทพ Hephaestus ในตำนานกรีกผู้เป็นเทพแห่งสรรพช่าง ในภาพยนตร์นั้น ฟาสโตสมีพลังแบบนักประดิษฐ์) Makkari (หรือ เทพ Mercury ในตำนานโรมัน เทียบเคียงกับ Hermes ของกรีก ขึ้นชื่อเรื่องความว่องไว ในภาพยนตร์นั้น มัคคารีสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว), Thena (หรือ Athena เทพีแห่งปัญญาและการรบของกรีก ส่วนในภาพยนตร์นั้น ธีน่าถูกแซวว่าเน้นใช้กำลัง), Ajak (หรือ Ajax ในตำนานกรีก นักรบผู้ห้าวหาญที่สู้ในสงครามกรุงทรอย), Gilgamesh (ชื่อเดียวกับตัวละครในตำนานเมโสโปเตเมีย มีพลังแข็งแกร่ง), Tiamut (หรือ Tiamat ในตำนานเมโสโปเตเมีย เป็นเทพีรุ่นแรกสุดที่ให้กำเนิดเทพรุ่นต่อ ๆ มา มีลูกชื่อ Kingu ที่อาจจะเป็นที่มาของชื่อตัวละคร Kingo และในตำนานนั้นร่างของ Tiamat ถูกนำมาสร้างเป็นโลก ส่วนในภาพยนตร์ Tiamat เป็น Celestial ที่จะถือกำเนิดขึ้นมาจากโลก)
สำหรับตัวละคร Ikaris นั้นชัดเจนว่ามีที่มาจาก Icarus ในตำนานกรีก เป็นที่รู้จักกันในฐานะเด็กชายผู้ติดปีกบินไปใกล้ดวงอาทิตย์จนตกลงมาตาย (ในภาพยนตร์บอกว่าตัวละคร Sprite เป็นผู้สร้างเรื่องเล่านี้) แต่ที่มาที่ไปของความเกี่ยวพันระหว่างอิคาริสกับตำนา
นอิคารัสดู
จะชัดเจนที่สุดหากดูจากภูมิหลังในฉบับหนังสือการ์ตูน
ในตำนานกรีก เรื่องเล่าเกี่ยวกั
บอิคารัสนั้นจ
ริง ๆ แล้วเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ในเส้นเรื่องการผจญภัยของ ธีซีอัส (Theseus) ที่เดินทางไปยังเกาะครีต (Crete) เพื่อปราบมิโนทอร์ (Minotaur - มีลักษณะเป็นครึ่งคนครึ่งวัว) ซึ่งตัวมิโนทอร์นี้อยู่ภายในเขาวงกตที่สถาปนิกอัจฉริยะนาม เดดาลัส (Daedalus) เป็นผู้สร้างขึ้น (ผู้เขียนขอย่อเรื่องราวที่ซับซ้อนมาก ๆ ออกไปเพื่อเล่าเฉพาะเหตุการณ์สำคัญ) หลังจากปราบมิโนทอร์สำเร็จ กษัตริย์ไมนอส (Minos) ผู้ครองเกาะครีตก็ทรงกริ้ว กล่าวโทษว่าเดดาลัสช่วยเหลือธีซีอัสที่เป็นฝ่ายศัตรู จึงได้ขังเดดาลัสและลูกชายนาม อิคารัส ไว้ในเขาวงกต ซึ่งทางหนีเดียวมีแต่ทางบนฟ้าเท่านั้น เดดาลัสจึงได้ประดิษฐ์ปีกขึ้นมาสำหรับทั้งเขาและลูกชาย โดยใช้ขี้ผึ้งเป็นกาว และได้เตือนลูกชายว่าอย่าบินต่ำเกินไป หากโดนน้ำทะเลจะทำให้ปีกหนักจนร่วง อย่าบินสูงเกินไป เพราะแสงอาทิตย์จะเผาไหม้ อย่าดูกลุ่มดาวจนหลงทาง ให้บินระหว่างกลางฟ้ากับน้ำ บินไปตามทางที่พ่อนำเท่านั้น แต่จนแล้วจนรอด เมื่อทะยานสู่ฟ้า เด็กหนุ่มปรารถนาฟ้ากว้างจนหลุดจากทางที่พ่อได้ย้ำเตือน บินสูงใกล้ดวงอาทิตย์ จนขี้ผึ้งละลายและร่วงลงไปในทะเล (ทะเลตรงที่เขาร่วงได้ชื่อว่า ทะเลอิคาเรียน)
ส่วนในฉบับหนังสือการ์ตูน เล่าว่าในสมัยกรีกโบราณ ตัวละครอิคาริส (เดิมใช้ชื่ออื่น) ได้ต่อสู้กับดีเวียนต์จำนวนมาก รวมถึงดีเวียนต์ที่มีลักษณะคล้ายตัวมิโนทอร์ (อาจเป็นการอ้างอิงถึงตำนานธีซีอัส) เขาแต่งงานกับหญิงสาวมนุษย์และมีบุตรนามว่า อิคาริส ซึ่งเขาได้ประดิษฐ์ปีกจักรกลไว้ให้บุตรคู่หนึ่ง ในเวลาต่อมาเขาออกเดินทางไปปราบดีเวียนต์อยู่เป็นระยะเวลานาน บุตรชายจึงอยากออกเดินทางตามหาบิดา และได้ใช้ปีกประดิษฐ์คู่นี้เป็นอุปกรณ์บินออกเดินทาง ทว่าโชคไม่ดีบวกกับไร้ประสบการณ์การบิน เขาจึงบินสูงจนหลุดออกไปนอกชั้นบรรยากาศและเสียชีวิต บิดาจึงได้เปลี่ยนชื่อตัวเองเป็นชื่อของลูกชายเพื่อเป็นการรำลึกถึงบุตร
แม้จะเป็นฉากเล็ก ๆ แต่การบินสูงจนตกลงมาข
องอิคารัสในเทพ
ปกรณัม (ซึ่งอาจหมายรวมถึงตัวละครกรีกที่มีชะตากรรมคล้ายกันได้แก่ Bellerophon ที่อยากขี่เพกาซัสขึ้นไปถึงสวรรค์ หรือ Phaeton ที่ดื้อดึงขึ้นไปขี่รถม้าสุริยเทพจนถูกเผา) นั้นมักถูกตีความว่าเป็นเรื่องของความทะเยอทะยาน อยากขึ้นสูง บ้างก็บอกว่าเป็นความโหยหาอิสรเสรี (ฟ้ากว้าง) แต่พลาดท่าเสียที หรือบ้างก็บอกว่าเป็นการเติบโตของเด็กที่จะออกไปสู่โลกภายนอก แต่เป็นก้าวย่างที่ผิดพลาดระหว่างทาง การตีความเหล่านี้ถูกแสดงอย่างเข้มข้นที่สุดในการอธิบาย ‘ปมอิคารัส’ (Icarus Complex) ของนักจิตวิทยา ‘Henry A. Murray’ ซึ่งมีลักษณะหลายอย่าง ตั้งแต่ภาวะหลงตัวเอง เรียกร้องความสนใจ การอยากทะยานขึ้นสูงทั้งในเชิงกายภาพ (เช่นเด็กพยายามยืนตัวตรง) และเชิงสังคม และอื่น ๆ (ดูบทความปี 1969 โดย Michael A. Sperber ชื่อ Camus’s Fall: The Icarus Complex)
หน้าที่ ความรัก ความศรัทธา
เค้าของความทะเยอทะยานหรือความดื้อรั้นต่อบิดา (ผู้ให้ชีวิต) ของตนนั้นดูจะไม่ได้ปรากฏอยู่ในตัวอิคาริสฉบับภาพยนตร์เลย อันที่จริงเขามีบุคลิกตรงกันข้ามด้วยซ้ำ กล่าวคือ ยึดมั่นในกฎเกณฑ์และคำสั่ง เชื่อมั่นในเจ้านาย จงรักภักดี มีความเป็นทหารที่ดี คือ ภารกิจมีความสำคัญอันดับแรก
ในภาพยนตร์นั้น บทบาทของอิคาริสคือหันมาเป็นศัตรูกับอีเทอร์นอลส์ด้วยกันเอง เนื่องด้วยค้นพบว่าเหล่าอีเทอร์นอลส์ต้องการที่จะขัดขวางแผนการของอริเชมในการสร้าง Celestial ขึ้นมาจากโลก (ซึ่งส่งผลให้โลกแตก) หากมองจากฝั่งผู้ชมที่เป็นมนุษย์และเข้าข้างอีเทอร์นอลส์ในฐานะฮีโร่ผู้ปกป้องโลก อิคาริสก็คือผู้ร้ายที่จะทำลายโลก ทว่าหากมองในอีกแง่หนึ่ง อิคาริสก็คือนักรบแห่งพระเจ้าผู้จงรักภักดีต่อพระเจ้าของตน เชื่อมั่นในแผนการของพระผู้เป็นเจ้า (ทั้งในความหมายแบบคริสต์ว่าพระเจ้าได้ทรงเตรียมบางอย่างไว้ให้เรา และทั้งในความหมายของ ‘The Grand Design’ อันหมายถึงเป้าประสงค์ใด ๆ เบื้องหลังการดำเนินกิจการแห่งจักรวาล)
หากมองจากมุมมองพระเจ้าซึ่งทำหน้าที่รักษาวัฏจักรแห่งการเกิดดับ ซึ่งน่าจะเป็น ‘สิ่งสูงสุด’ ในระบบจักรวาล โลกและมนุษย์จึงเป็นเพียงสิ่งเล็ก ๆ ที่เป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ เท่านั้น การสร้างมนุษย์ขึ้นมาให้ ‘อาศัยอยู่ในโลก’ เพื่อสร้างประโยชน์แก่สิ่งที่พระเจ้าสร้าง (ในที่นี้คือฟาร์มพลังงานสำหรับกำเนิด Tiamut) นั้นมิใช่เรื่องใหม่ ดังเช่นข้อความในพระคัมภีร์ที่สามารถถูกตีความได้ว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์โดยมีจุดประสงค์ให้มาดูแลสวนของพระองค์ “
พระยาห์เวห์พระเจ้าจึงทรงให้มนุษย์นั้นอาศัยอยู่ในสวนเอเดน ให้ทำและดูแลสวน” [ปฐมกาล 2:15] และการเกิดดับของสรรพสิ่งในจักรวาลจากมุมมองของพระเจ้าก็อาจจะเป็นเพียงเวลาวาบเดียวที่ไม่สำคัญนัก อาทิ
เวลาประมาณ 4 พันล้านปีมนุษย์นั้นเท่ากับเวลาแค่วันเดียวของพระพรหม มนุษย์และโลกจึงเป็นสิ่งเล็กน้อยยิ่งกว่าน้อยเมื่อเทียบกับสิ่งยิ่งใหญ่กว่าคือวัฏจักรของจักรวาล
ส่วนของความขัดแย้งในเรื่องนั้นเป็นปมระหว่างความรักในพระเจ้า (ที่พ่วงความกับความเชื่อ ความศรัทธา) ที่ปะทะกับความรักทางโลกย์ (รักแบบคนรัก หรือรักอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พระเจ้า) ความรักทางโลกย์ในที่นี้จึงเสนอตัวเองในฐานะบาปหรือสิ่งชั่วร้ายที่ทำให้ความรักและศรัทธาในพระเจ้าสั่นคลอนไป เช่นเหล่าอีเทอร์นอลส์ที่รักมนุษย์ จึงเบือนหน้าออกจากแผนการของพระเจ้า (ในที่นี้คือ อริเชม) ส่วนอิคาริสนั้นตัดสินใจขัดขวางเหล่าอีเทอร์นอลส์ด้วยความรักในพระผู้เป็นเจ้าและเชื่อมั่นศรัทธาในแผนการที่พระองค์ทรงเตรียมไว้ อิคาริสจึงมีสถานะเป็นนักรบผู้ปกป้องแผนการของพระเจ้า (ซึ่งมันจะต้องเป็น ‘ความดี’ แน่ ๆ เพราะสิ่งใด ๆ ของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าในความหมายของนักปรัชญาอย่าง Aquinas หรือ Anselms นั้นย่อม ‘ดี’ ไปหมด) ส่วนอีเทอร์นอลส์นั้นมาใช้ชีวิตอยู่กับมนุษย์ ถ้ามองฝั่งมนุษย์พวกเขาต้องดีแน่ ๆ เพราะช่วยปกป้องมนุษย์ แต่ถ้ามองจากมุมผู้ดูแลสภาวะธรรมชาติของจักรวาล อีเทอร์นอลส์กำลังจะรบกวนระบบนั้น และอาจนำไปสู่ความหายนะ สิ่งที่อีเทอร์นอลส์ทำ (ทั้ง ๆ ที่รู้ความเสี่ยง) จึงเป็นการ ‘หลงทาง’
แต่อิคาริสนั้นสุดท้ายก็เป็นเช่นอีเทอร์นอลส์อื่น ๆ เป็นตัวอย่างสิ่งผลิตของพระเจ้าที่ไขว้เขวออกจากทางเดินซึ่งพระองค์ทรงวางไว้ (หากเรามองว่าแผนการของอริเชมคืออีเทอร์นอลส์ต้องอยู่ในลู่ทาง) ที่สุดท้ายแล้วก็พ่ายแพ้ให้แก่ความรักทางโลกย์ ก็คือความรักที่มีให้ เซอร์ซี ซึ่งทำให้ความมาดมั่นที่จะตั้งใจรักษาภารกิจของอริเชมต้องถูกขัดขวางจากใจตัวเอง
เช่นนั้นเอง ไม่ใช่เรื่องแปลกหากอิคาริสจะพบว่าตนเองได้ ‘ร่วงหล่น’ (fall) เป็นคนบาปเสียแล้ว เขากลายไปเป็นเช่นเดียวกับอีเทอร์นอลส์ที่ไป ‘หลง’ รักมนุษย์ (หรืออย่างสไปรท์ ที่ตามเขามาเพราะรักเขา)
อาจเป็นเพราะอยู่ในท่ามกลางความรู้สึกผิดบาปที่เกิดขึ้นและพบว่าตัวเองหมดสิ้นแล้วซึ่งความหมายของตัวตน แล้วเพราะไม่สามารถปฏิบัติตามภารกิจอันเป็นสารัตถะ (essence) แห่งการดำรงอยู่ (existence) ของตนได้ เขาจึงตัดสินใจบินสูงขึ้นไปหาดวงอาทิตย์
อิคาริสก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีลักษณะตรงข้ามกับต้นแบบในเทพปกรณัม (เช่นเดียวกับธีน่าและเซอร์ซี) คือในขณะที่เด็กหนุ่
มอิคารัสติด
ปีกบินสูงขึ้นไปเกินคำเตือนของบิดา เปี่ยมล้นความมั่นใจในตัวเอง ทะเยอทะยาน โหยหาอิสระ ความจริง และฟ้ากว้าง จนเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์และตกลงมา ในทางกลับกัน สำหรับอิคาริสผู้เชื่อฟังคำสั่งผู้มอบชีวิต ไม่สนใจอิสรภาพ หมดสิ้นแล้วซึ่งตัวตน ความมั่นใจ แม้กระทั่งความหมายของตัวเอง
เขาได้ร่วงหล่นแล้ว เขาจึงบินสูงขึ้นไปสู่ดวงอาทิตย์
สูงขึ้นไป
โดยที่ไม่ตกลงมา
เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์
ภาพ:
https://marvelcinematicuniverse.fandom.com/wiki/Ikaris
https://www.marvel.com/characters/ikaris
https://en.wikipedia.org/wiki/Icarus#/media/File:Gowy-icaro-prado.jpg
อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม
Mythology ของ Edith Hamilton
The Library of Greek Mythology ของ Apollodorus
Metamorphoses (Book VIII) ของ Ovid
Marvel Myths and Legends ของ James Hill
บทความ Camus’s Fall: The Icarus Complex ของ Michael A. Sperber
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Marvel
The People
Thought
Eternals
Ikaris