อิวาน พาฟลอฟ : เบื้องหลังการทดลองที่มีสุนัข อาหาร กระดิ่ง และคำอธิบายเหตุผลที่คนชอบวันศุกร์
แม้บางคนอาจไม่คุ้นชื่อของ ‘อิวาน พาฟลอฟ’ (Ivan Pavlov) แต่เชื่อว่าอย่างน้อยก็น่าจะคุ้นหูกับการทดลองสั่นกระดิ่งก่อนให้อาหารสุนัข จนเจ้าสุนัขตัวนั้นน้ำลายไหลทุกทีที่ได้ยินเสียงกระดิ่ง
เรื่องราวข้างต้น ใช่เพียงการฝึกสุนัขให้รู้เวลาอาหาร หากเป็นการทดลองอันเลื่องชื่อทางจิตวิทยาที่ยืนยันทฤษฎี ‘การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก’ (classical conditioning) แถมทฤษฎีนี้ยังใช้อธิบายเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของความรู้สึกสุขใจในวันศุกร์ ความกลัวฝังใจกับอะไรบางอย่าง แม้กระทั่งการคิดถึงใครบางคน เมื่อกลับไปยังสถานที่เก่า ๆ
แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่มาของการทดลองนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และผู้อยู่เบื้องหลังอย่าง ‘อิวาน พาฟลอฟ’ ก็ไม่ได้เป็นนักจิตวิทยาแต่อย่างใด หากเป็นนักสรีรวิทยาชาวรัสเซียที่เคยได้รับรางวัลโนเบล เมื่อปี 1904
ศาสนา วิทยาศาสตร์ และรางวัลโนเบล
ชีวิตของ ‘อิวาน พาฟลอฟ’ เริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1849 ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งในประเทศรัสเซีย บิดาของเขาคือบาทหลวงประจำหมู่บ้าน แน่นอนว่าพาฟลอฟเติบโตมาท่ามกลางความศรัทธาต่อศาสนาอย่างแรงกล้า และศึกษาเรื่องเทววิทยา (theology) อย่างมุ่งมั่น ไม่ต่างไปจากบิดาของเขา
แต่แล้ววันหนึ่ง ขณะที่พาฟลอฟไล่สายตาอ่านหนังสือ On the Origin of the Species ของชาร์ลส์ ดาร์วิน ความสนใจด้านศาสนาได้ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนไปเป็นวิทยาศาสตร์อย่างช้า ๆ
กระทั่งปี 1870 เขาเริ่มศึกษาด้านสรีรวิทยารวมทั้งวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (natural sciences) อย่างจริงจัง โดยเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg University) ก่อนจะกลายเป็นศาสตราจารย์ในด้านนี้ และคว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยา (Physiology) ในปี 1904 จากผลงานการศึกษาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร ซึ่งการศึกษาด้านสรีรวิทยานี้ ได้พาเขาเดินทางมาสู่การทดลองทางจิตวิทยาด้วย ‘ความบังเอิญ’
จุดเริ่มต้นการทดลองของพาฟลอฟ
ในช่วงทศวรรษ 1890 ขณะที่พาฟลอฟกำลังค้นคว้าเรื่องการตอบสนองของสุนัข เมื่อได้รับอาหารชนิดต่าง ๆ โดยวัดปริมาณน้ำลายด้วยการสอดหลอดทดลองเล็กจิ๋วเข้าไปในแก้มของสุนัข แต่ระหว่างการทดลอง พาฟลอฟสังเกตว่าเพียงแค่เจ้าสุนัขได้เห็นจานเปล่า ๆ หรือมีเสียงฝีเท้าของผู้ช่วยพาฟลอฟ เจ้าสุนัขก็น้ำลายไหลออกมา โดยที่ยังไม่ได้ลิ้มรสอาหารเลยด้วยซ้ำ
พาฟลอฟจึงเก็บความสงสัยนี้มาต่อยอดด้วยการทดสอบว่า สิ่งเร้าใดจะทำให้เจ้าสุนัขน้ำลายไหลได้บ้าง โดยใช้อุปกรณ์หลากหลายชนิด (บางคนอาจจะได้ยินมาว่าพาฟลอฟใช้วิธี ‘สั่นกระดิ่ง’ ขณะที่ข้อมูลหลายแหล่งกลับบอกว่าพาฟลอฟไม่เคยใช้กระดิ่งในการทดลองแต่อย่างใด หากใช้เครื่องมือกำกับจังหวะอย่างเมโทรนอม (metronome) หรือเครื่องมืออื่น ๆ ที่แม่นยำกว่ากระดิ่ง) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ทำให้เขาค้นพบว่า เจ้าสุนัขจะน้ำลายไหลเพราะสิ่งเร้าสองประเภทด้วยกัน
อย่างแรกคือ ‘สิ่งเร้าแบบไม่มีเงื่อนไข’ (Unconditioned Stimulus หรือ US) เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสิ่งเร้าที่ไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ และเกิดการตอบสนองขึ้นตามธรรมชาติ (Unconditioned Response หรือ UR) ซึ่งในกรณีนี้คือ ‘อาหาร’ ที่ทำให้สุนัขทุกตัว ‘น้ำลายไหล’ โดยธรรมชาติ
อย่างที่สองคือ ‘สิ่งเร้าแบบมีเงื่อนไข’ (Conditioned Stimulus หรือ CS) หมายถึงสิ่งเร้าที่ผ่านการเรียนรู้มาก่อน และไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ‘เสียงของเมโทรนอม’ ที่ทำให้สุนัขน้ำลายไหลเพราะ ‘เรียนรู้’ มาว่าเสียงนั้นจะมาพร้อมกับอาหาร
และนั่นคือจุดเริ่มต้นการค้นพบทฤษฎี ‘การวางเงื่อนไขแบบคลาสสิก’ (classical conditioning) โดยคอนเซปต์คร่าว ๆ ของทฤษฎีนี้ คือการนำสิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Neutral Stimulus) เช่น สิ่งที่ไม่ได้ทำให้เจ้าสุนัขน้ำลายไหล อย่างเสียงเมโทรนอมมา ‘จับคู่’ กับสิ่งเร้าที่ทำให้สุนัขน้ำลายไหลได้ (unconditioned stimulus) อย่าง ‘อาหารสุนัข’ และทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งเจ้าสุนัขเริ่มเรียนรู้และจดจำ หลังจากนั้น แม้จะมีเพียงเสียงเมโทรนอมโดยไม่ต้องมีอาหาร เจ้าสุนัขก็สามารถน้ำลายไหลได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อพาฟลอฟ ‘เลิกจับคู่’ เสียงเมโทรนอมนั้นกับอาหาร นานวันเข้าเจ้าสุนัขก็จะเรียนรู้ว่า เสียงเมโทรนอมไม่ได้พาความอร่อยมาเสิร์ฟตรงหน้าอีกต่อไป อาการน้ำลายไหลเวลาได้ยินเสียงก็จะค่อย ๆ หยุดไปได้เช่นกัน ซึ่งช่วงเวลานี้เรียกว่าช่วง ‘extinction’
แต่ระหว่างช่วง extinction ก็มีโอกาสที่ ‘บางครั้ง’ เจ้าสุนัขจะ ‘เผลอ’ กลับมาน้ำลายไหลเมื่อได้ยินเสียงเดิมโดยไม่มีอาหาร ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเรียกว่า ‘Spontaneous Recovery’
หากย้อนมาในชีวิตประจำวัน ทฤษฎีและการทดลองของพาฟลอฟ อาจจะแทรกซึมอยู่ในบางแง่มุมของชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ‘วันศุกร์’ ที่ถูกผูกโยงกับ ‘ความสุข’ ในช่วงใกล้วันหยุด หรือความกลัวฝังใจในวัยเด็ก เช่น การเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ ทำให้ไม่กล้าขับรถ รู้สึกกลัวเมื่อต้องขึ้นรถยนต์ เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งการคิดถึงใครบางคน เมื่อกลับไปยังร้านประจำที่เคยไปด้วยกันบ่อย ๆ แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเรากลับไปยังร้านเดิมซ้ำ ๆ โดยที่ไม่มีใครคนนั้นไปด้วยกัน เราก็จะค่อย ๆ เรียนรู้และเข้าสู่ช่วง extinction นั่นคือการไปร้านเดิมโดยไม่คิดถึงคนคนเดิมอีกต่อไป
ทฤษฎีนี้จึงมักจะถูกนำมาปรับใช้กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ รวมถึงการรักษาสุขภาพจิตเกี่ยวกับความกลัว การตื่นตระหนก การวิตกกังวลในบางเรื่อง หรือในแง่การโฆษณาก็อาจนำมาปรับใช้กับพรีเซนเตอร์สินค้าชนิดต่าง ๆ เช่น การเห็นดาราคนหนึ่งเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า A ในยูทูบบ่อย ๆ หลังจากนั้นเมื่อเห็นดาราคนเดิมโดยไม่ได้อยู่ในโฆษณา เราก็ยังนึกถึงสินค้า A ขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน
ความรู้สึกแท้จริงหรือถูกผูกโยง
นอกจากการทดลองของพาฟลอฟ ยังมีนักจิตวิทยาที่ชื่อว่า จอห์น บี. วัตสัน (John B. Watson) ที่ทดลองเรื่องนี้กับมนุษย์เช่นกัน โดยวัตสันทดลองกับหนูน้อยอายุ 9 เดือนที่ร้องไห้ทุกครั้งเมื่อได้ยินเสียงเคาะของแท่งเหล็ก วัตสันจึงนำความกลัวเสียงเคาะของเด็กน้อย มาจับคู่กับเจ้าหนูสีขาวที่เด็กคนนี้ไม่กลัวมาก่อน ทำให้เด็กน้อยจดจำว่า ‘เจ้าหนูสีขาว’ จะมาพร้อม ‘เสียงดังน่ากลัว’ จนกลายเป็นว่าเด็กน้อยกลัวสัตว์ชนิดนี้หรือสิ่งของที่มีลักษณะใกล้เคียงกันตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าการทดลองของวัตสันตามมาด้วยการถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องจริยธรรมอยู่ไม่น้อย แต่สองการทดลองข้างต้นก็ช่วยยืนยันว่าพฤติกรรมมนุษย์ไม่ได้เกิดจากร่างกายและจิตใจของตนเองเท่านั้น แต่สภาพแวดล้อมหรือปัจจัยภายนอก ก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์เช่นเดียวกัน
แม้ว่าการค้นพบของพาฟลอฟจะเป็นการทดลองที่มีอิทธิพลในแวดวงจิตวิทยา และเป็นแรงบันดาลใจให้หลายงานวิจัยที่ต่อยอดมาจากผลงานของเขา แต่ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิกก็ยังคงมีข้อจำกัดและข้อถกเถียงในแง่ที่ว่า พฤติกรรมของมนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ทฤษฎีนี้มาอธิบายได้ทั้งหมด อีกทั้งมุมมองดังกล่าวยังเป็นแบบนิยัตินิยม (determinism) ซึ่งจำกัดเจตจำนงเสรี (free will) ของมนุษย์ กล่าวคือ เป็นการมองว่ามนุษย์ถูกกำหนดและควบคุมด้วยสิ่งเร้าจากภายนอก โดยไม่สามารถ ‘เลือก’ ได้ เช่นเดียวกับสุนัขที่ต้องน้ำลายไหลอย่างเลี่ยงไม่ได้ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเมโทรนอม
แต่อย่างน้อย เรื่องราวของพาฟลอฟก็พาเราไปสำรวจและพินิจชีวิตในแต่ละวันให้ชัดขึ้นว่า เรากำลัง ‘สร้างเงื่อนไข’ ให้กับตัวเอง ด้วยการผูกโยงความสุข ความกลัว หรือความรู้สึกอื่น ๆ ไว้กับสิ่งของ เหตุการณ์ หรืออะไรบางอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอยู่หรือไม่
Photo by
Universal History Archive/Universal Images Group via Getty Images
Deschiens - [1] [2], Public Domain, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=19270345
ที่มา:
https://www.simplypsychology.org/classical-conditioning.html
https://www.verywellmind.com/pavlovs-dogs-2794989
https://www.verywellmind.com/ivan-pavlov-biography-1849-1936-2795548
https://www.britannica.com/biography/Ivan-Pavlov
https://examples.yourdictionary.com/key-difference-between-classical-and-operant-conditioning.html
https://www.nobelprize.org/prizes/medicine/1904/summary/
https://www.simplypsychology.org/pavlov.html
https://www.hopkinsmedicine.org/news/publications/hopkins_medicine_magazine/hopkins_reader/springsummer-2015/the-genuine-pavlov
https://courses.lumenlearning.com/boundless-psychology/chapter/classical-conditioning/
https://www.psychestudy.com/behavioral/learning-memory/classical-conditioning/theory
https://www.healthline.com/health/classical-conditioning#vs-operant-conditioning
https://courses.lumenlearning.com/suny-hccc-ss-151-1/chapter/classical-conditioning/