บนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ ไม่ว่าคุณจะอาศัยอยู่ซีกใดบนโลก เราล้วนอยู่ใต้ฟ้าผืนเดียวกัน เพราะสูงจนคล้ายเกินใฝ่ และกว้างใหญ่จนเหมือนเกินคว้า ทำให้หลายครั้ง ‘ท้องฟ้า’ จึงมีความหมายโดยนัยเกี่ยวพันกับ ‘ความฝัน’ ที่ต้องเอื้อมสุดมือหรือวิ่งสุดแรงจึงจะได้มา
หนึ่งในบทเพลงร้องเล่าถึงท้องฟ้าที่อบอวลกลิ่นฝัน อันผู้เขียนได้ฟังเมื่อไม่นานมานี้ มีชื่อว่า ‘Skylight’ พ้องคล้ายกับชื่อวงของศิลปินผู้สร้างผลงานอย่าง ‘Skylize’ วงบอยแบนด์สัญชาติไทยในขนบ ‘T-Pop’ ฝีมือการร้อยคำร้องเข้ากับทำนองดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ของสมาชิกวงอย่าง ‘ป่า - อรัณย์ธรรม ธิราชเกื้อกูล’ นั้นน่าฟังไม่ใช่น้อย และเมื่อได้พูดคุยกับพวกเขา ได้รู้เรื่องราวว่า ‘ป่า’ เขียนเนื้อเพลงดังกล่าวขึ้นมาจากเรื่องราวของตัวเขาเองและสมาชิกในวง
‘Skylize’ ใช้เวลาเฉลี่ยกว่าคนละสิบปี เพื่อออกเดินทางแสนไกล ผ่านความไม่เข้าใจ เสียงหัวเราะระคนหยัน ผ่านคำลวงจนเหนื่อยล้า ผ่านความจริงที่ยากยอมรับ หลากหลายป้ายบอกทางที่พวกเขาเคยหยุดพักเพราะคิดว่าเป็นที่หมาย ล้วนกลั่นเป็นความผิดหวังและหยดน้ำตา ทว่าพวกเขาก็ยังออกวิ่งต่อจนมาถึง ‘จุดสตาร์ต’ คือการได้เดบิวต์เป็นวงบอยแบนด์
ในที่สุด ‘Skylize’ ก็ตามหาปีกของตัวเองเจอ และพร้อมแล้วสำหรับออกบิน
/ ฉันจะบินให้สูงขึ้นไป บนท้องฟ้าผืนนั้นที่มันกว้างใหญ่ The Skylight /
6 ฟ้า 6 ฝัน
‘Skylize’ คือวงทีป็อปไทยจากค่าย KS GANG ในเครือ Khaosan Entertainment ประกอบไปด้วยลีดเดอร์และลีดแร็ปเปอร์อย่าง ‘บอสบอส - พิธิวัธ รังษีนรบุตร’, ลีดแดนเซอร์และลีดโวคอล อย่าง ‘ป่า - อรัณย์ธรรม ธิราชเกื้อกูล’, โวคอล ‘ปอนด์ - ปิยะวัฒน์ วิจิตรภัทร’, เมนแร็ปเปอร์ ‘หลุยส์ - ณรงค์ฤทธิ์ สุขะเสวต’, เมนโวคอล ‘ป๊อป - ทัตพล แซ่โง้ว’ และเมนแดนซ์พ่วงตำแหน่งน้องเล็กในวงอย่าง ‘ทอย - นรินธร เอื้อวุฒิธรรม’ โดยสมาชิกแต่ละคนถูกวางตำแหน่งเป็นตัวแทนแต่ละสภาพอากาศบนโลก เพื่อให้เข้ากับคอนเซปต์และชื่อวง
ไฟฝันของพวกเขาจุดติดตั้งแต่วัยเยาว์ ‘หลุยส์’, ‘ปอนด์’ และ ‘บอสบอส’ พบความฝันจากการบังเอิญผ่านไปเห็นการร้องและเต้นของวงบอยแบนด์สัญชาติเกาหลี ส่วน ‘ป๊อป’ ก่อนหน้าจะผันมาเดินตามทางฝันที่อยากเป็นศิลปิน เจ้าตัวเคยตั้งเป้าหมายว่าอยากเป็นหมอมาก่อน ขณะที่ ‘ทอย’ น้องเล็กของวงนั้นเรียกได้ว่าเติบโตมากับเวทีแข่งเต้น โดยเจ้าตัวเล่าว่าเขาขึ้นเวทีประกวดเต้นล่ารางวัลมาก่อนที่จะเข้าวงการ cover เสียอีก
‘บอสบอส’ เล่าว่านัยน์ตาของเขาเป็นประกายด้วยความสุขในครั้งแรกที่ได้ดู ‘Super Junior’ ร้องเพลง ‘Full of Happiness’ ผ่านรายการโทรทัศน์
“เขาส่งพลังงานบวกมาให้เรา เราก็เลยรู้สึกว่าวันหนึ่งเราอยากเป็นแบบเขาบ้าง แต่ ณ ช่วงเวลานั้นก็คือในไทยมีช่องทางให้เราได้แสดงความสามารถน้อยมาก ๆ สิ่งที่เราทำได้ ณ ตอนนั้นคือเต้น cover”
ส่วนวัยเด็กของนักร้อง นักเต้น ที่นั่งเก้าอี้นักแต่งเพลงไปด้วยอย่าง ‘ป่า’ ภายในบ้านของเขามักจะระคนเคล้าด้วยเสียงดนตรีอยู่ตลอดเวลา ความรักเสียงเพลงและรักเครื่องดนตรีของคุณพ่อได้ถ่ายทอดมาสู่ป่า และพาให้เด็กหนุ่มรู้สึกว่าเขาอยากเป็นศิลปินในสักวัน
“ผมเคยไปเล่นโฟล์คซองกับเพื่อน ร้องเพลง เล่นดนตรีแบบ outdoor ปกติคนเขาก็จะเดินผ่านไปผ่านมา ฟังบ้างไม่ฟังบ้าง จนวันหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าผมร้องได้อินมาก ๆ มีกลุ่มคนที่เขานั่งอยู่ เขาปรบมือให้หลังจบเพลง มันทำให้เรารู้สึกว่าเราส่งความรู้สึกไปหาเขา มันมีความสุขมาก ๆ ตอนนั้น”
[caption id="attachment_38966" align="aligncenter" width="944"]
บอสบอส พิธิวัธ รังษีนรบุตร[/caption]
[caption id="attachment_38967" align="aligncenter" width="906"]
ป่า (Alan) อรัณย์ธรรม ธิราชเกื้อกูล[/caption]
บาดแผลที่ไม่ได้เกิดจากการเต้น
“เราไม่รู้ภาษาเขาด้วยซ้ำ ไม่รู้ว่าเพลงที่เขาร้องออกมามันแปลว่าอะไร แต่เรารู้สึกว่ามันมีความสุข แล้วก็อยากเป็นได้แบบเขา” ‘หลุยส์’ เล่าถึงความชวนฝันของการมองศิลปินต่างแดนส่งความสุขผ่านการแสดงไปทั่วโลก
เมื่อความฝันถึงอาชีพ ‘ศิลปิน’ ชัดเจนขึ้นตามเวลา แต่ในใจของเหล่าเด็กหนุ่มก็รู้ว่าฝันนี้ไม่ได้ลอยเข้ามาหาง่าย ๆ มีปัจจัยมากมายที่ต้องเตรียมให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ ความขยัน โอกาส และค่าใช้จ่ายมากมายที่เรียงรายอยู่รายทาง ในช่วงเวลาและช่วงวัยนั้น ๆ สิ่งที่ทำให้พวกเขารู้สึก ‘ใกล้’ กับอาชีพศิลปินที่สุดคือการเต้น
สองขาขยับเต้น สองแขนวาดกวาดรอบกาย ท่วงท่าแข็งแกร่งตามจังหวะเพลงหนักแน่น บางครั้งกลับอ่อนช้อยในเพลงที่ทำนองแว่วหวาน - เพราะอยากเป็นได้อย่างศิลปินในดวงใจและเหล่า ‘ไอดอล’ มากมายที่มองเห็นผ่านจอ พวกเขาจึงออกเดินทางบนถนนสาย cover หรือที่ผู้คนคุ้นหูในชื่อ ‘เด็กโคฟ’
‘เด็กโคฟย่อมมีบาดแผล’ ทว่าบาดแผลที่ผู้เขียนพูดถึง จากคำเล่าของ Skylize ไม่ใช่บาดแผลบนร่างกาย หรือความเหนื่อยเข้ากระดูกของการฝึกซ้อมเต้นแทบตลอดเวลา แต่เป็นรอยข่วนเล็ก ๆ ที่สั่งสมจากสายตาและความไม่เข้าใจของผู้คน
“โดน bully โดนเหยียด โดนแซว โดนเรียกไอ้เกาหลี ๆ” หัวหน้าวงอย่าง ‘บอสบอส’ เล่าด้วยน้ำเสียงปกติ ขณะที่สมาชิกวงนั่งพยักหน้าทำนองว่าเจอมาแบบเดียวกันอยู่ข้าง ๆ ก่อนที่พวกเขาจะช่วยกันขยายจากถ้อยคำนั้นว่าในวันวานเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว หากใคร - โดยเฉพาะเด็กผู้ชายคนไหนที่เต้น cover ก็มักจะได้ยินเสียงล้อปนแซวลอยเข้าหูอยู่เสมอ แต่ก็ยังโชคดีสำหรับพวกเขา ที่เสียงสะท้อนเสียดหูเหล่านั้นมักมาจากคนรอบนอก ส่วนคนใกล้ตัวอย่างเพื่อน ๆ ในห้องเรียนแม้จะมีหยอกล้อตามประสาวัยรุ่น แต่ก็ไม่มีใครไปไกลถึงขั้น bully
‘บอสบอส’ รู้จักกับ ‘ป่า’ เมื่อปี 2012 จากการเต้น cover วง Bigbang ขณะที่อีกฟาก ‘ทอย’, ‘ปอนด์’ และ ‘หลุยส์’ ก็รู้จักกันจากวง cover อีกวง ส่วน ‘ป๊อป’ นั้นรู้จักกับสมาชิกคนอื่น ๆ เป็นคนสุดท้าย การพบกับผู้คนวัยใกล้เคียงที่ขยับร่างกายได้ตรงบีตเหมือนกัน ทำให้พวกเขารู้สึกมีเพื่อน
“เราได้เจอเพื่อนที่คิดเหมือนเรา ชอบอะไรเหมือนเรา เราก็รู้สึกแล้วว่าเราไม่ได้เป็นคนเดียวในโลกนี้นะ”
[caption id="attachment_38971" align="aligncenter" width="892"]
หลุยส์ ณรงค์ฤทธิ์ สุขะเสวต[/caption]
[caption id="attachment_38976" align="aligncenter" width="901"]
ปอนด์ ปิยะวัฒน์ วิจิตรภัทร[/caption]
หลักไมล์แห่งความผิดหวัง
แม้จะอุ่นใจที่รู้ว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความชอบในสิ่งเดียวกัน แต่เส้นทางสู่อาชีพศิลปินก็ยังต้องอาศัยการก้าวไปข้างหน้าเพียงลำพัง เริ่มจากก้าวเท้าเข้าออดิชันกับค่ายเพลงเกาหลีหลากค่ายที่เปิดรับสมัครในไทยปีละครั้ง และพบความผิดหวังปีละหลายหน
“เราถูกปฏิเสธกันมาไม่รู้กี่รอบ” บอสบอสเล่า
เพราะระเบียบการฝึกฝนที่ต้องบ่มเพาะนานปีในรั้วค่ายเพลงเกาหลี ทำให้พวกเขากำหนดเกณฑ์อายุในการรับเด็กฝึกหัดหรือ ‘เทรนนี’ เอาไว้
“เอาจริง ๆ ปีแรก ๆ ที่เขาเข้ามาก็เริ่มที่ 1994 - 1995 แล้วนะ ปีต่อ ๆ ไปก็รับเด็กลงเรื่อย ๆ เป็น 1996, 1997… พวกเราหลาย ๆ คนไปกันจนอายุเกิน จนกรรมการบอกว่าหมดโควตาแล้วนะ พวกคุณมาไม่ได้แล้วนะ” บอสบอสเล่าแทนเพื่อนร่วมวงหลายคนที่เกิดราวปี 1995 และ 1996
“ตัดสินใจบินไปเกาหลีเพื่อออดิชัน ไปเกาหลี ไปกลับ ๆ ประมาณ 3 ครั้ง รวมแล้วก็ 9 เดือน ก็คือไป 3 เดือนแรก ออดิชันทุกอาทิตย์ไม่ผ่าน แล้วก็ไปครั้งที่สองอีก 3 เดือนก็ไม่ผ่าน ครั้งที่สามก็ไม่ผ่าน เอาจริง ๆ ทุกครั้งที่กลับมาคือแบบรู้สึกท้อมาก ๆ เพราะว่าด้วยความที่ตอนนั้นเราก็เด็ก แล้วคุณพ่อคุณแม่เขาก็ออกค่าใช้จ่ายให้ พอเรากลับมา เราเห็นหน้าคุณแม่แล้วไม่สำเร็จ มันเหมือนเราทำให้เขาผิดหวัง” คือถ้อยคำที่ป่าเล่าถึงการเดินทางตามฝันของตัวเอง
ส่วนป๊อปก็เล่าว่า “ป๊อปออดิชันมาตั้งแต่ ม.5 จนถึงตอนนี้ก็น่าจะประมาณ 9-10 ปี ออดิชันแทบจะทุกปี ปีละ 3 - 4 ครั้ง ทั้งเวทีออดิชันของไทยเอง หรือของที่ไหนก็ตาม ป๊อปก็ไปทุกที่เลย ก็คือบอกได้ว่า 10 ปีมานี้ป๊อปไม่เคยออดิชันที่ไหนติดเลย”
“ในปีท้าย ๆ ของการออดิชัน บางค่ายเขาดูสนใจเรานะ แต่พอเห็นปีเกิดคือจบเลย อายุยี่สิบสาม วางแฟ้มเลย”
“สุดท้ายก็กลับมาที่ค่ายเพลงไทย” ปอนด์สรุปส่งท้าย
[caption id="attachment_38979" align="aligncenter" width="930"]
ป๊อป ทัตพล แซ่โง้ว[/caption]
[caption id="attachment_38980" align="aligncenter" width="948"]
ทอย นรินธร เอื้อวุฒิธรรม[/caption]
ปีกหักซ้ำซ้อน
ระหว่างที่สมาชิกหลายคนใน Skylize ตามล่าฝันในต่างแดนอย่างไม่ถอดใจ อุตสาหกรรมดนตรีพาร์ต ‘T-Pop’ ของไทยก็เริ่มมีความเคลื่อนไหว หลายค่ายเพลงเริ่มปลุกปั้นเกิร์ลกรุ๊ป - บอยแบนด์ขึ้นใหม่ ความพยายามเหล่านั้นทำให้เด็กไทยที่ฝันใฝ่อยากเป็นศิลปินมีลู่ทางเพิ่มขึ้น
บอสบอส ป่า ปอนด์ เข้าไปอยู่ใต้ชายคาค่ายเพลงแห่งหนึ่ง แต่ก็ราวกับโชคชะตาเล่นตลกร้าย เพราะสิ่งที่พวกเขาได้จากการทิ้งขวบปีท้าย ๆ ของวัยเยาว์ไว้ที่นั่นคือประสบการณ์ที่เรียกว่า ‘โดนดอง’
เกือบปีครึ่งที่ไม่ได้ปล่อยผลงาน ไม่ได้รับการสนับสนุน และลงท้ายด้วยการ ‘เด้งออก’ จากค่ายนั้นกลายเป็นฝันร้ายของพวกเขา ขณะที่ป๊อปเล่าว่าฝันร้ายของตัวเองคือการถูกค่ายเพลงไทยหว่านล้อมให้จ่ายเงินมากกว่าหนึ่งแสนบาทเพื่อเป็นศิลปิน
ป๊อปยอมจ่าย แต่สิ่งที่ได้มาจริง ๆ นั้นแทบไม่ต่างอะไรจากคอร์สเรียนเต้นที่มีของแถมเป็นมิวสิกวิดีโองบประมาณพอ ๆ กับงานเด็กนักเรียน
“เราเจ็บมาเยอะ แต่รอบนั้นเจ็บสุดเพราะเสียเงินด้วย แต่หลังจากนั้นก็ออดิชันต่อนะ วันนั้นโปรดิวเซอร์หลายที่ก็ตอกหน้าเรามาว่ามองโลกตามความเป็นจริงบ้างเถอะ คุณอายุเยอะแล้ว เป็นศิลปินไปก็อยู่ได้ไม่กี่ปี ไปหางานทำได้แล้ว”
ผู้แพ้ที่ไม่ยอมแพ้
หากไม่ได้เห็นกับตาว่า Skylize นั่งอยู่ตรงหน้า และกลายเป็นศิลปินได้ตามตั้งใจ ก็อาจจะกล่าวได้ว่าประสบการณ์เหล่านั้นเลวร้ายพอที่จะทำให้หลาย ๆ คนถอดใจและไปหางานอื่นทำเข้าแล้วจริง ๆ เมื่อถามชายหนุ่มทั้ง 6 ว่าพวกเขาเคยคิดจะทิ้งฝันไหม บอสบอสเล่ายิ้ม ๆ ว่าเขาเคยลองไปเป็นพนักงานบริษัท “แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ เราต้องกลับมาอยู่ดี”
หลุยส์เป็นสมาชิกที่ผ่านการออดิชันมาน้อยที่สุด และปฏิเสธค่ายเพลงที่ชักชวนไปร่วมงานมากที่สุด เจ้าตัวเล่าว่าเป็นเพราะเขาไม่มั่นใจในตัวเองว่าเก่งพอประเด็นแรก ส่วนประเด็นที่สองคือเขาให้ความสำคัญกับคำว่า ‘ทีม’ หลุยส์อยากร่วมงานกับเพื่อนที่เข้ากันได้ และรู้ใจกันมากพอ Skylize คือผู้คนประเภทนั้นที่หลุยส์เลือก
ส่วนทอย น้องเล็กของวง ที่อาจจะผ่านประสบการณ์โหดหินในการออดิชันมาน้อยกว่าพี่ ๆ แต่เด็กหนุ่มที่เกิดปี 1999 ก็เป็นนักเต้นเจนเวทีที่เดินสายประกวดและคว้ารางวัลมานักต่อนัก
“เราทุกคนคือผู้แพ้ แต่เราเป็นผู้แพ้ที่ไม่ยอมแพ้” คือคำที่ป๊อปใช้นิยามตัวตนของวง ‘Skylize’ บอยแบนด์ที่ไม่ลังเลที่จะเปิดเผยว่าพวกเขาเคยล้มมากี่ครั้ง และจนถึงวันนี้ วันที่พวกเขาได้เซ็นสัญญากับค่าย KS GANG และปล่อยเพลง ‘Skylight’ ออกมาเป็นซิงเกิลชิมลาง หรือ prologue แล้ว พวกเขาทุกคนก็ขีดเส้นใต้สีแดงตัวโต ๆ ว่าพวกตนนั้นยังอยู่แสนไกลจากความสำเร็จ
การเดินทางท่องท้องฟ้าของพวกเขาเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น เพราะวงบอยแบนด์น้องใหม่วงนี้มีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่ารออยู่ข้างหน้า
“อยากไปเวที MAMA ฮ่องกงไม่ไกลครับ ถ้า MAMA ได้แล้วก็ไป GRAMMY เลย”
Skylize อยากพา T-Pop ทะยานสู่ระดับโลก นั่นคือความฝันสูงสุดที่วาดภาพร่างเอาไว้ และแม้ไม่อาจคาดเดาได้ว่า ทั้ง 6 จะหอบฝันนั้นเดินทางไกลไปถึงจุดหมายหรือไม่ แต่การร่วมสนทนากับพวกเขาราวหนึ่งชั่วโมงก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะส่งแรงใจ และหวังให้บอยแบนด์วงนี้มีลมใต้ปีกมากพอที่จะ ‘ออกบิน’ ได้สูงเท่าใจปรารถนา
แม้พวกเขาจะนิยามตนเองว่าเป็น ‘ผู้แพ้’ แต่เราขอเรียกเขาว่า ‘ผู้กล้า’ เพราะคนที่ซื่อตรงกับความฝันและพยายามเพื่อมันอย่างสุดหัวใจนั้นเหมาะสมกับคำนี้มากกว่าสิ่งใด และหนึ่งคำอวยพรที่ผู้เขียนมีให้กับเหล่านักเดินทางบนท้องฟ้าแห่งฝัน คงไม่ใช่อื่นใดนอกเหนือไปจาก
“ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และขอให้ความฝันชัดในหัวใจตลอดไป”
ป.ล. แม้ผู้เขียนจะไม่ได้ใส่มุกที่พวกเขาขยันชงขยันเล่นลงในชิ้นงาน แต่การสัมภาษณ์ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า Skylize เป็นวงตลก
ป.ล. 2 ช่วงท้ายของบทสนทนา ป๊อปได้ประกาศว่าถ้ามิวสิกวิดีโอเพลงแรก (ที่ไม่ใช่ prologue) ปล่อยออกมาแล้วมียอดรับชมถึง 5 ล้าน เขาจะสักสัญลักษณ์ประจำวง
สัมภาษณ์: จิรภิญญา สมเทพ
ภาพ: จุลดิศ อ่อนละมุน