read
business
18 พ.ย. 2564 | 10:40 น.
‘เจี๊ยบ รสดีเด็ด’ ความทรงจำรสเข้มข้น จากรุ่นแรกสู่รุ่น 3 ในวันอำลาสยามสแควร์
Play
Loading...
ก๋วยเตี๋ยวเนื้อร้อน ๆ กลิ่นหอมฉุย ข้าวหน้าไก่รสสัมผัสนุ่มแต่ไม่เปื่อยจนเกินไป และข้าวราดแกงรสเข้มข้นหลากเมนูของ ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ คือรสชาติที่อยู่คู่สยามสแควร์มากว่า 50 ปี
แม้จะเคยเปลี่ยนชื่อจาก ‘รสดีเด็ด’ มาเป็น ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ พร้อมตกแต่งร้านใหม่ด้วยโทนสีดำ-แดง แต่เสน่ห์ที่ไม่เคยเปลี่ยนไปของสถานที่แห่งนี้ คือบรรยากาศที่มีแอร์ธรรมชาติจนได้อรรถรสระหว่างซดก๋วยเตี๋ยวร้อน ๆ กับราคาที่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์ท่ามกลางย่านแห่งศูนย์การค้า และคุณภาพของวัตถุดิบที่ยังคงหั่นเนื้อด้วยมือ ใช้เครื่องปรุงรสตามสูตรของอาม่าส่งต่อมาจนถึงรุ่นหลาน
ทว่า 30 พฤศจิกายน 2564 นี้ คือวันสุดท้ายที่ ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ จะส่งต่อความอร่อยให้กับผู้คนในสยามสแควร์ซอย 2 เหลือเพียงสาขาที่ ‘ศูนย์การค้าวรรัตน์ ถนนจันทน์ 16’
ชวนมาย้อนความทรงจำถึงวันวานของ ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ สาขาสยามสแควร์ซอย 2 และความผูกพันกับสยามสแควร์ตั้งแต่วันแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 มาจนถึงวันสุดท้ายในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นี้
รุ่น 1
ความทรงจำของอาม่า ‘กัญญา แซ่เตียว’ ผู้ก่อตั้ง ‘รสดีเด็ด’
“เขาบอกว่า ร้านนี้ดุ โห! มันทำไม่ทันน่ะ ก็เสียงดังโวยวายใช่ไหม แหม! มันก็ลูกค้าเยอะ เสียงดังหน่อยไม่ได้เหรอ อะไรประเภทนี้ แต่เขาก็ยังรักเราอยู่ ลูกค้าทุกคน”
อาม่า (กัญญา แซ่เตียว) เริ่มเล่าย้อนถึงความทรงจำเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้วอย่างออกรส
“คือพ่อเจี๊ยบเขาเป็นคนกินเนื้อ เขาไปกินที่วัดดงมูลเหล็กแล้วมาคิดสูตร แล้วก็ไปเปิดที่สะพานควาย ตอนนั้นขายชามละ 3 บาท แล้วก็มาเจอตรงนี้ สยามสแควร์ โอ๊ย! ตอนนั้นไม่มีอะไรเลย มีแต่ตึกอย่างเดียวสมัยเซาท์อีสต์เป็นผู้ก่อสร้าง แล้วก็เนี่ย โรงหนังสกาลา ลิโด้ สยาม คืออยู่คู่กันมากับรสดีเด็ด แล้วทำกันมาทุกวัน 365 วัน ไม่มีวันหยุด
“เราก็จะดูลูกค้า เขาติมาใช่ไหม เราก็ชิมดู ปรับปรุงเดี๋ยวนั้นเลย เพิ่มโน่นเพิ่มนี่ แล้วทำไมไม่ติดห้องแอร์ - เพราะมันไม่ร้อน กินรสดีเด็ดแล้วต้องเหงื่อตก มันถึงจะอร่อย ...อันนี้ลูกสาวมาเปลี่ยนเป็นเจี๊ยบรสดีเด็ด แต่รสชาติก็ยังเป็นรสดีเด็ดอยู่
“เมื่อก่อนไก่ไม่มีเป็นท่อน ๆ นะ เป็นตัว ๆ มา ฉันแล่เป็นร้อย ๆ ตัว ส่งให้แต่ละสาขา เนื้อหั่นเป็นร้อย ๆ กิโลฯ หั่น ทำทุกอย่าง เหมือนกับว่าไอ้เนี่ยเป็นต้นแบบ กองหนุน ทำส่งให้เขา พ่อเขาจะเปิดกี่สาขา มีเมียกี่คนก็ช่างเขา เราเป็นแม่ทัพอย่างเดียว ไม่ได้หยุดเลย ตื่นมาเนี่ย แทบจะไม่ได้นอน กลางคืนก็ทำ มีลูก 3 คน คนโตเกิดสะพานควาย คนเล็กเกิดที่นี่ 2 คน
“เราไม่บังคับ เรียนก็ให้เรียน แล้วก็ให้จำ ให้ดูว่าแม่เนี่ยเหนื่อยมาขนาดนี้ พ่อเหนื่อยมาขนาดนี้ ให้เขาดู แล้วให้เขาจดให้จำ ก็นี่แหละชีวิต โอ๊ย! ถ้าเป็นหนังนี่ยาวเลย ฉันว่าจะทำหนังสักเรื่อง”
อาม่าเล่าติดตลก แม้ว่าเนื้อหาของเรื่องราวที่เล่าถึงนั้น คือการฝ่าฟันอุปสรรคและความยากลำบากมาอย่างเข้มแข็งเพื่อให้รสดีเด็ดยังดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง
“ก็อยากจะดำรงสูตรอันนี้ แล้วก็ให้ลูกหลานต่อเนื่อง ถ้าเขารัก ก็อยากจะอนุรักษ์ไว้ คือยังไงก็อย่าทิ้งต้นกำเนิด คือมายังไง ถ้ารัก ถ้าชอบก็ทำไป ฉันก็เป็นกองหนุน ถ้ายังมีอายุยังอยู่”
ทายาทรุ่น 2
‘เจี๊ยบ-พัสวี ไกรเดชอุดมไพศาล’ กับการรีแบรนด์สู่ ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’
“เกิดมาก็ก๋วยเตี๋ยวเลย ข้าวหน้าไก่เลย เจี๊ยบเกิดมา 2517 เป็นเด็กสยามรุ่นแรก ที่เรียกว่าเด็กสยามกลุ่มแฟนฉัน ขี่จักรยานกันอยู่ในสยามสแควร์ แต่ตัวที่เป็นร้านของคุณพ่อคุณแม่ก็คือรสดีเด็ด เราเป็นเด็กยุคที่พ่อแม่ทำงานตลอดเวลา แอคทีฟมาก ตื่นลงมาตอนเช้าจะแอบไปไหนก็ไม่ได้ บางทีเราก็อยากได้ค่าขนมเพิ่ม พ่อก็จะสอนบอกว่า ไม่ได้ เธอต้องมาหัดทำ เช็ดช้อน เช็ดจาน พนักงานเสิร์ฟ ค่อย ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วก็พัฒนาไปหั่นของ หั่นผัก จนถึงล้างจาน ล้างส้วม ต้องทำหมดนะ
“แม่บอก คุณต้องทำให้เป็น ถ้าคุณทำไม่เป็น คุณก็จะไม่ใช่เจ้าของร้านรสดีเด็ด เพราะเจ้าของร้านอาหารจริง ๆ ต้องเข้าใจในเนื้อแท้ของอาหาร เข้าใจในเนื้อแท้การบริหารการจัดการ พอเราเติบโตมา ก็เรียนรู้ซึมซับ ตอนนั้นจำได้ว่า ค่าอาหารประมาณสัก 7 - 8 บาท เราอยู่ในสยาม แล้วเราก็เห็นหลายสิ่งหลายอย่าง บางคนเป็นลูกค้าประจำ มองหน้าปุ๊บรู้เลยว่าเขาจะกินอะไร… แล้วเสน่ห์ของที่บ้านเราก็คือความรวดเร็ว อร่อย แล้วก็ราคา อันนี้เลยที่มันมีฝังอยู่ในคำว่ารสดีเด็ดอยู่แล้ว”
ก่อนที่เจี๊ยบจะรับช่วงต่อจากคุณแม่ เธอเองก็มีความฝันที่เก็บไว้ในใจ นั่นคือการเป็น ‘นักการเมือง’ แต่เจี๊ยบเลือกที่จะมาช่วยคุณแม่ดูแลร้านรสดีเด็ดก่อนจะกลับไปสานฝันของตัวเองหลังจากส่งไม้ต่อให้กับรุ่นที่สาม ขณะเดียวกัน รสดีเด็ดในยุคสมัยนั้น คือช่วงเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคดิจิทัลอย่างรวดเร็ว เจี๊ยบจึงตัดสินใจรีแบรนด์ ‘รสดีเด็ด’ มาเป็นร้าน ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ ตามชื่อและคาแรกเตอร์ของตัวเธอเอง
“เรามองเห็นแล้วว่ากระแสของสังคม ของคนรุ่นใหม่มันขยับตัวเร็วมาก ทำยังไงให้คนรู้สึกว่า อยากถ่ายรูปแล้วเช็กอินในร้านเรา หรือภาพลักษณ์ของเรามันยังไม่ชัดอยู่หรือเปล่า เราก็ต้องหา identity ของตัวเอง ...เราก็คิดถึงการรีแบรนด์
“จำได้เลยว่าไปไหนมีแต่คำว่าเจี๊ยบรสดีเด็ด งั้นเจี๊ยบก็ตั้งชื่อร้านตัวเอง ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ เพราะว่าเป็นตัวเรา แล้วก็เนื้อแท้ของเราที่ถูกปลูกฝังจากคุณแม่”
ด้วยความที่เจี๊ยบชอบสวมชุดสีดำ ทาเล็บและลิปสติกสีแดงซึ่งเชื่อมโยงกับสีแดงที่เป็นตัวแทนของเมนูเนื้อ โทนสีของร้าน ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ จึงกลายเป็นโทนสีดำ-แดง ส่วนโลโก้จะเป็นรูปไก่และเนื้อตามเมนูยอดฮิตประจำร้าน ซึ่งแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงจนแทบจะพลิกจากคาแรกเตอร์ของรุ่นคุณแม่ครั้งนี้ ทำให้เธอรู้สึกกังวลอยู่ไม่น้อย
“พอวันที่แม่จะมาดู ตื่นเต้นมาก เพราะแม่ไม่รู้ว่าเจี๊ยบทำอะไรไปบ้าง แม่รู้แต่ว่าลูกสาวมุ่งมั่นแน่วแน่ว่าจะเดินทางสายนี้แหละ มาทางด้านอาหารชัดเจนแล้ว แต่แม่ทำให้เจี๊ยบรู้สึกประทับใจมากเลยว่า แม่ไม่ได้รู้สึกแปลก แม่กลับรู้สึกว่านี่คือเจี๊ยบ เจี๊ยบเก่งมาก แม่ขอบคุณ เท่านั้นแหละน้ำตาร่วงเลย แล้ววันนั้นรู้สึกว่าแม่ยอมรับในความเป็นตัวเรา”
ไม่เพียงโทนสีของร้านที่เปลี่ยนไป เพราะเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านก็ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย โดยเจี๊ยบหยิบยกมาจากการสังเกตลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะที่มีลิ้นชักสำหรับหยิบช้อนส้อมได้สะดวก เก้าอี้ที่ปรับเปลี่ยนจากพลาสติกมาเป็นเก้าอี้ไม้เนื้อแท้ที่แข็งแรงกว่า เพราะเจี๊ยบเคยเห็นลูกค้าลื่นล้มลงจากเก้าอี้พลาสติก ส่วนรสชาติอาหาร เจี๊ยบยังคงให้ความสำคัญกับครัวกลางและสูตรต้นฉบับจากคุณแม่
“ไม่ว่าจะน้ำปลาหรือน้ำส้มที่บ้าน การบดพริก รายละเอียดเยอะมาก การสไลซ์เนื้อ ถ้าคุณหั่นไม่เป็น คุณก็จะไม่รู้ว่ารสดีเด็ดหั่นเนื้อแบบไหน นี่ยังเป็นอนุรักษ์แบบเดิม แล้วเจี๊ยบก็ส่งต่อไปหาลูก
“ลูกชายเนี่ย หลังจากไปเรียนหนังสือกลับมาที่บ้านแล้ว ต้องมาช่วย ต้องมาหัดลวกก๋วยเตี๋ยว ส่งก๋วยเตี๋ยว เจี๊ยบฝึกเขาขนาดที่ว่า เราอาจจะเป็นลูกคนมีเงินแล้ว แต่ว่าลูกจะไปเรียนก็ให้ขึ้นรถเมล์ จนลูกจบปี 4 ลูกถึงจะมีรถได้ แต่ลูกต้องซื้อด้วยเงินของลูกเอง ก็คือการสะสมจากเงินจากที่เขาทำงาน เช่นเดียวกับตัวเจี๊ยบตอนสมัยเจี๊ยบเด็ก ๆ มันเป็นการส่งต่อส่งความรู้สึกให้เขาเข้าใจว่า จะหาเงินจะบริหารจัดการ ถ้าไม่พึ่งลำแข้งตัวเอง มันอยู่ต่อยาก
“แล้วสิ่งที่เจี๊ยบชอบมากที่สุดก็คือการส่งเจเนอเรชันแต่ละบ้านที่เราจะเห็น 4 - 5 เจเนอเรชันมานั่งอยู่โต๊ะเดียวกัน แล้วก็มานั่งถกกันว่า เนี่ย เคยกินตั้งแต่ตึกนี้ มันมีภาพความทรงจำที่เราเล่าได้ไม่มีคำว่าสิ้นสุด เราก็อยากจะส่งท้าย เจี๊ยบเชื่อว่ามันแค่เป็นการไปพักตั้งสติใหม่ก่อน เราอาจจะกลับมา แต่พื้นที่นี้หรือเปล่า เราไม่แน่ใจ แต่เรายังอยู่คู่กับตำนานรสดีเด็ดตลอดไป ภายใต้แบรนด์เจี๊ยบรสดีเด็ดนี่ละค่ะ”
ทายาทรุ่น 3
‘เฟิร์ส-ธีรวิทย์ พุทธฤดีสุข’ ผู้สานต่อด้วยความรักและความหวัง
“ผมก็จะเกิดทันตอนที่มันจะเป็นโบนันซ่า ตอนที่ร้านบูมที่สุด ทุกคนเดินชอปปิง กินข้าว มันเป็นไลฟ์สไตล์แบบสมัยนั้นเลย คนเยอะ เพราะสยามสแควร์เป็นพื้นที่รวมตัวของเด็กวัยรุ่น แล้วก็คนทำงานก็ยังเดินลงมากินข้าวทุกวัน แต่ถ้าพูดถึงสมัยนี้ โห! แตกต่างกันไปเยอะครับ เพราะส่วนแบ่งการตลาดของศูนย์การค้ามันเยอะขึ้น คนก็กระจายไปทั่วสารทิศมากขึ้น
“ถ้าพูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงในยุคสมัยใหม่ เราเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการเข้าถึงกลุ่มตลาดออนไลน์มากขึ้น พอมาถึงยุคผม ก็เริ่มทำมาร์เก็ตติ้ง ทำ IG ขึ้นมา ทำ facebook ขึ้นมา มันก็จะมีความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบของการตลาดมากกว่า
“สิ่งที่คงอยู่จริง ๆ ของร้านนี้มันจะเป็นเรื่องอาหารครับ วิธีการที่อาม่าเขาสอนมาตลอดก็คือเราต้องชิม เราต้องจำให้ได้ว่ารสชาติที่เราเคยทำมาเสมอเป็นยังไง ซึ่งเมนูที่ดังที่สุดของเราก็จะเป็น ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ แล้วก็ข้าวหน้าไก่ เมนูที่ฮิตจนเราเอามันมาเป็นโลโก้ของร้านได้
“ส่วนสิ่งที่แตกต่างจากที่อื่น คือความหอม ความมัน แล้วก็ไก่ที่ไม่เปื่อยจนเกินไป รสชาติเข้มข้นของตัวซอส ความหอมของกลิ่นเนื้อ ความหอมของกลิ่นน้ำปลาที่เป็นของบ้านเราโดยเฉพาะ แล้วก็สิ่งสุดท้ายที่เราน่าจะแปลกที่สุดคือเนื้อสดที่เรายังหั่นมืออยู่ ไม่ใช้เครื่อง เราจะหั่นเล็กมากเพื่อให้ลวกน้ำซุปแล้วมันยังนิ่มอยู่
“ตัวเราเองเหมือนโดนหล่อหลอมมาด้วยแหละครับ เพราะโตมาก็อยู่กับสิ่งนี้ เพราะมีช่วงหนึ่งผมเคยเป็นไฮเปอร์ สิ่งที่แม่บังคับให้ไปก็คือ เอาไปโยนไว้กับโรงเรียนสอนทำอาหาร ให้ไปเรียนก็ดีขึ้น จนทำให้เราเริ่มรู้สึกชอบ มันสนุกด้วยครับ เวลาเห็นลูกค้า เวลาเราต้องคอยดูว่าลูกค้ากินหมดไหม ลูกค้าเหลืออะไรไว้ ทำให้เราเริ่มเรียนรู้ในการจดจำลูกค้ามากขึ้น ทำให้เรา enjoy ไปได้ในทุก ๆ วัน”
แด่ ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ สาขาสยามสแควร์ในความทรงจำ
“ฉันรักสยามเหมือนบ้านเกิดเมืองนอนของฉัน”
อาม่าสรุปความรู้สึกที่มีต่อสยาม ย่านที่เธอใช้เวลากว่า 5 ทศวรรษเพื่อเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้ามา 365 วันตลอดทั้งปีไม่มีวันหยุด ยกเว้นที่มีเหตุฉุกเฉินจริง ๆ เช่นเดียวกับรุ่น 2 และรุ่น 3
“เนี่ยทุกวันนี้เห็นหน้า เขาก็จะบอก อาม่า อาม่ายังอยู่เหรอ - เออ ยังไม่ตาย เกือบตายหลายรอบแล้ว แต่ยมบาลไม่เอา… คือเราสร้างแต่ก่อนนี้ไม่มีอะไรเลยนะ มีแต่ตึกเฉย ๆ ขี้หมาเต็มหมด โรงหนังสกาลา ลิโด้ สยาม ช่วยกันทำทุกอย่าง แล้วเราเสียใจที่ว่าสกาลาไป เสียใจมาก ๆ อยู่คู่กับเรามาตลอด
“พูดง่ายๆ ว่า ที่สยามเริ่มเปิด อยู่มาทุกวันนี้ เปลี่ยนกรรมการไปไม่รู้กี่คนแล้ว โกยเงินฉันไปเท่าไรแล้ว ขนาดสกาลา สยาม ทุกวันนี้ยังอยู่ไม่ได้เลย แล้วฉันตัวน้อย ๆ จะอยู่ได้ยังไง”
ส่วนเจี๊ยบเองก็โตมากับร้านรสดีเด็ดตั้งแต่จำความได้ และผูกพันกับสถานที่แห่งนี้เช่นเดียวกับอาม่าผู้ริเริ่ม
“พูดแล้วน้ำตาร่วง คือเจี๊ยบเกิดตึกนี้ ตอนนั้นนอนที่นี่ด้วย มันก็จะมีเรื่องหลาย ๆ เรื่องที่เรา…อยู่มาด้วยอารมณ์ อยู่มาด้วยจิตวิญญาณ แล้วเราก็คิดว่า เราจะได้อยู่สยามตลอดด้วย มันก็จุก ๆ เหมือนกันว่า เอ้ย! เป็นบ้านที่เราเกิด แล้วเราก็ต้องมาส่งท้ายกับตึกเราด้วย มันเลยยิ่งทำให้รู้สึกว่าไม่แฟร์ แต่เราก็ยอมรับเพราะมันเป็นกลไกของการทำธุรกิจ เราก็แค่ไปก่อน เดี๋ยวเราก็กลับมาได้”
แม้จะได้ยินชื่อและเห็นร้าน ‘รสดีเด็ด’ อยู่ในหลายพื้นที่ทั้งในและนอกกรุงเทพฯ (เพราะ ‘รสดีเด็ด’ เป็นชื่อที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้) แต่รสชาติแบบ ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ ที่ส่งต่อกันมากว่า 50 ปีนั้น มีเพียงสาขาที่สยามสแควร์ ซึ่งกำลังจะปิดอย่างถาวรในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 นี้ ส่วนสาขาเปิดใหม่จะอยู่ที่ศูนย์การค้าวรรัตน์ ถนนจันทน์ 16 ซึ่งสาเหตุที่เจี๊ยบตัดสินใจไม่ขายกิจการให้เจ้าใหญ่ ๆ หรือเปิดแฟรนไชส์เพิ่มเติม เพราะต้องการคงต้นฉบับของรสชาติจากรุ่นสู่รุ่น
“เราต้องการให้มันมีการส่งต่อ ไม้ต่อไม้ ไปถึงรุ่นที่ 3 หรือรุ่นที่ 4 รุ่นที่ 5 ขอให้มันเป็นการส่งต่อที่เป็นเนื้อแท้ของคุณกัญญา แซ่เตียว กับคุณพ่อ นายเล็ก แซ่ลี้ สองท่านนี้”
จากความมุ่งมั่นของอาม่าและความตั้งใจของคุณแม่ ทำให้เฟิร์ส ทายาทรุ่น 3 ได้ค่อย ๆ ซึมซับเนื้อแท้ของความเป็น ‘เจี๊ยบรสดีเด็ด’ มาตั้งแต่วัยเด็ก และยังคงประทับอยู่ในใจมาจนถึงทุกวันนี้
“สิ่งที่ประทับใจที่สุดในการอยู่กับรสดีเด็ดมา ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ก็ร่วม 26 ปีแล้ว เพื่อนตั้งแต่เด็กจนโต เขาถามว่ากินร้านตัวเองไม่เบื่อเหรอ นี่ก็ตอบคำตอบเดียวเลยว่า หาอะไรที่มาทดแทนมันไม่ได้ เรา enjoy ในการกินน่ะ เราสามารถกินก๋วยเตี๋ยวของเราเองได้ทั้งอาทิตย์ กินข้าวของเราได้ทุกอาทิตย์ ทำให้เราเริ่มอยู่กับมันแล้วก็รักตัวมันเองไป สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่งานที่เราต้องทำ แต่เป็นงานที่เรารักที่จะทำ”
เฟิร์สกล่าวทิ้งท้ายกับเราด้วยรอยยิ้ม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3733
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
7075
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
1021
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Business
The People
รสดีเด็ด
เจี๊ยบรสดีเด็ด