จาก ‘Telenor’ บริษัทโทรคมนาคมสัญชาตินอร์เวย์ สู่ dtac ประเทศไทย

‘dtac’ หนึ่งในบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์รายใหญ่ของประเทศไทย โดยในปี 2020 มีคนลงทะเบียนใช้งาน dtac กว่า 18.856 ล้านคน มีพนักงานบริษัทราว 3,152 คน และรายได้รวมกว่า 23.704 พันล้านบาท
แม้ dtac จะก่อตั้งและจดทะเบียนในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 1989 แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปี บริษัทสัญชาตินอร์เวย์อย่าง ‘Telenor’ ได้เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในปี 2001 และกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ dtac รวมทั้งเป็นที่มาของโลโก้ใบพัดสีฟ้าที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน
ย้อนไปในปี 1855 ก่อนการคิดค้นโทรศัพท์เครื่องแรกของโลก Telenor ก่อตั้งขึ้นในนาม ‘Norwegian Telegraph Administration’ (NTA) ซึ่งนับเป็นบริษัทโทรเลขแห่งแรกของประเทศนอร์เวย์ โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองฟอร์เนบู ก่อนจะเริ่มเปิดตัวระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Televerket
แม้ว่า Televerket จะกลายเป็นเจ้าใหญ่ยักษ์ในด้านโทรคมนาคมของนอร์เวย์ในเวลาต่อมา ทว่าตลาดในประเทศนั้นมีขนาดเล็ก แต่พวกเขายังต้องการให้บริษัทเติบโตไปไกลกว่าในประเทศ Televerket จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Telenor’ ในปี 1995 แล้วขยายกิจการต่อไปโดยตั้งเป้าไปที่ตลาดโทรศัพท์มือถือ
และในช่วงต้นทศวรรษ 2000 Telenor ได้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มโทรคมนาคมรายใหญ่ของยุโรปที่มีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์มากที่สุด แถมยังไปไกลมากกว่าประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่างการถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ของ Pannon GSM ในประเทศฮังการี (ซึ่ง Pannon GSM เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศนี้) หรือการถือหุ้น 56.5 เปอร์เซ็นต์ของ Kyivstar GSM ในประเทศยูเครน การถือหุ้น 29% ใน VimpelCom ในประเทศรัสเซีย รวมทั้งการถือหุ้น 40.3 เปอร์เซ็นต์ใน dtac ประเทศไทย ก่อนจะเพิ่มเป็น 45.87 เปอร์เซ็นต์อย่างในปัจจุบัน
Telenor จึงเป็นทั้งบริษัทด้านโทรคมนาคมที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ของนอร์เวย์มาอย่างยาวนาน และเป็นบริษัทที่ผ่านความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวตั้งแต่ยุคโทรเลข มาจนถึงยุคที่ผู้คนใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในโทรศัพท์มือถือ ซึ่ง Telenore ยังคงเติบโตอย่างมั่นคงในประเทศแถบสแกนดิเนเวียและอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย
ล่าสุดหลายคนอาจได้ยินข่าวคราวว่าจะเกิดการควบรวมกิจการระหว่าง dtac ประเทศไทย และทรู คอร์ปอเรชั่น (True Corporation) ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าสองบริษัทยักษ์ใหญ่จะมีความเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด
Photo Illustration by Mateusz Slodkowski/SOPA Images/LightRocket via Getty Images
ที่มา:
https://www.telenor.com/about-us/our-history/norwegian-history/
https://www.forbes.com/companies/telenor/?sh=306436ba2f68
https://www.telenor.com/about-us/telenor-at-a-glance/
https://www.referenceforbusiness.com/history2/61/Telenor-ASA.html
https://www.telenor.com/about-us/global-presence/thailand/
https://www.dtac.co.th/about/history.html
https://www.set.or.th/set/companyholder.do?symbol=dtac