เผิง ไซว่: ดราม่ารักสามเส้าอดีตนักเทนนิสสาวมือ 1 ของโลกเขย่าแดนมังกร
“ฉันทราบดีว่าคนใหญ่คนโตอย่างคุณ รองนายกฯ จาง เกาลี่ คุณเคยบอกว่าไม่กลัวอะไร แต่ถึงแม้จะมีฉันเพียงลำพังเป็นดั่งไข่กระแทกก้อนหิน หรือแมงเม่าบินเข้ากองไฟเพื่อเผาไหม้ทำลายตัวเอง ฉันก็จะพูดความจริงเรื่องคุณ”
เผิง ไซว่ (Peng Shuai) นักเทนนิสชื่อดังวัย 35 ปี ระบายความอัดอั้นตันใจในเว่ยป๋อ (Weibo) โซเชียลมีเดียของจีนที่มีหน้าตาคล้าย Twitter ก่อนที่โลกออนไลน์จะลุกเป็นไฟ และทำให้โพสต์ดังกล่าวอันตรธานหายไปพร้อมกับตัวเธอภายในเวลาไม่กี่นาที
แม้ต่อมาสื่อของทางการจีนจะพยายามพิสูจน์ว่า เธอยังคงมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยด้วยการปล่อยคลิปวิดีโอภาพเธอเดินทางไปรับประทานอาหารและร่วมพิธีเปิดการแข่งขันเทนนิสสมัครเล่นท้องถิ่น พร้อมให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ซึ่งมักถูกวิจารณ์เรื่องการทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชนมาเป็นตัวกลางช่วยรับรองสวัสดิภาพของเธอ แต่เรื่องนี้ดูเหมือนจะไม่จบลงง่าย ๆ เพราะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นการจัดฉาก และคดีของเธอจะได้รับการดูแลอย่างโปร่งใสภายใต้กระบวนการสอบสวนที่ยุติธรรมหรือไม่
เผิงมีดีกรีเป็นถึงอดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลกประเภทหญิงคู่ และเป็นนักเทนนิสจีนคนแรกและคนเดียวที่เคยครองมือ 1 โลกนับถึงนาทีที่เกิดเรื่อง จนครั้งหนึ่งสื่อของทางการจีนยกให้เธอเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งวงการเทนนิส’ ส่วนคู่กรณีก็ไม่ใช่คนธรรมดา เพราะเคยมีตำแหน่งเป็นถึงรองนายกรัฐมนตรี และ 1 ใน 7 สมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมืองผู้ทรงอำนาจแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน
ประวัติคร่าว ๆ ของ จาง เกาลี่ (Zhang Gaoli) เขาจบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และเริ่มรับตำแหน่งใหญ่ด้วยการเป็นผู้ว่าการมณฑลซานตง จากนั้นจึงย้ายไปรับตำแหน่งเลขาธิการพรรคเมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นเมืองท่าริมทะเลโป๋ไห่ และเป็นเมืองใหญ่ที่มีสถานะเทียบเท่ามณฑล
ปี 2013 - 2018 จางได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีของจีน พร้อมควบตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมการประจำกรมการเมือง ซึ่งมีประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นหัวหน้าคณะมาตั้งแต่ยุคนั้น
รักสามเส้าและการบังคับขืนใจ
เผิงระบุในโพสต์อื้อฉาวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2021 เพื่อระบายความในใจว่า เธอกับอดีตรองนายกฯ จาง ซึ่งมีอายุแก่กว่าถึง 40 ปี เคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกันมาตั้งแต่สมัยที่เธอยังเป็นนักเทนนิสดาวรุ่ง และจางเป็นเลขาธิการพรรคประจำเมืองเทียนจิน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของเธอ ระหว่างปี 2007 - 2012
อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เป็นไปอย่างลับ ๆ จนกระทั่งจางไปเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯ ที่กรุงปักกิ่ง ทั้งสองจึงไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย เนื่องจากจางเกรงว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะถูกเปิดโปงเพราะเขามีผู้หญิงอื่นเป็นภรรยาแล้ว
โพสต์ตัดพ้อแสดงความน้อยใจในรักสามเส้าระหว่างเผิงและจางกลายเป็นประเด็นร้อน เนื่องจากเผิงระบุว่า เธอและจางกลับมาติดต่อกันอีกครั้งหลังจากฝ่ายชายเกษียณจากอำนาจในปี 2018 โดยจางและภรรยาเป็นฝ่ายเชิญเธอไปร่วมเล่นเทนนิสที่บ้าน ก่อนที่ฝ่ายชายจะ ‘บังคับ’ ขืนใจให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย
“ฉันไม่เคยยินยอมพร้อมใจในบ่ายวันนั้น และฉันก็ร้องไห้ตลอดเวลา”
เผิงบอกเล่าความรู้สึกพร้อมกับบรรยายว่า การออกมากล่าวหาผู้ทรงอิทธิพลทางการเมืองของจีนครั้งนี้ทำให้เธอรู้สึกไร้อำนาจ ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า เธอไม่เคยเก็บหลักฐานไว้พิสูจน์ความจริงในสิ่งที่เล่ามา เพราะหลงเชื่อในความรักที่จางมีให้ และฝ่ายชายก็ระวังตัวตลอดเวลา ดังนั้น หากต้องการหลักฐานเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้ เธอคงไม่มีให้
ยิ่งเซ็นเซอร์ยิ่งถูกกดดัน
หลังจากข้อมูลรักสามเส้าและการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างเผิงกับจางถูกเปิดโปงออกมาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง โพสต์นี้ก็ปลิวหายไป แม้ยังมีคนแคปข้อความเอาไว้ทันและส่งต่อกันออนไลน์ แต่ทางการจีนพยายามกลบข่าวด้วยการเซ็นเซอร์คำค้นหาที่มีชื่อของนักเทนนิสสาว หรือแม้แต่คำว่า ‘เทนนิส’ ก็กลายเป็นคำต้องห้ามในโลกออนไลน์ของจีนไปทันที
นอกจากนี้ จีนยังพยายามปิดข่าวอื้อฉาวนี้ด้วยการไม่รายงานข่าวของเผิงในสื่อทั้งหมดที่เป็นของรัฐ แม้บุคคลที่ตกเป็นข่าวจะเป็นคนมีชื่อเสียงและเป็นถึงนักการเมืองระดับสูงของประเทศ ส่วนโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็เลี่ยงตอบคำถามสื่อต่างชาติด้วยการอ้างว่า “ยังไม่ได้รับรายงานประเด็นที่หยิบยกขึ้นมาถาม”
อย่างไรก็ตาม ยิ่งพยายามปิดข่าวยิ่งทำให้นานาชาติออกมากดดัน โดยในวันที่ 14 พฤศจิกายน หลังจากเผิงออกมาแฉเรื่องอื้อฉาวและหายหน้าไปจากพื้นที่สาธารณะนานเกือบครบ 2 สัปดาห์ สตีฟ ไซม่อน ประธานสมาคมเทนนิสอาชีพหญิง (WTA) ออกมาเรียกร้องให้จีนเร่งสอบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น พร้อมระบุว่า WTA พยายามติดต่อเผิงมาตลอด แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้
3 วันหลังประธาน WTA ออกมากดดัน สื่อของทางการจีนอ้างว่าได้รับอีเมลจากเผิงชี้แจงว่า เรื่องทั้งหมดในโพสต์ที่ปรากฏออกมาไม่เป็นความจริง เธอยังคงปลอดภัยและ ‘ทุกอย่างเป็นปกติดี’ แต่ประธาน WTA ไม่ปักใจเชื่อว่าเป็นอีเมลของเผิงจริง พร้อมแสดงความวิตกเกี่ยวกับสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของเธอ
นอกจาก WTA แล้ว บรรดานักเทนนิสชื่อดังทั่วโลกทั้งที่เป็นตำนานและที่ยังเล่นอยู่ต่างช่วยกันออกมากดดันรัฐบาลจีนด้วยการโพสต์สนับสนุนเผิง ไซว่ พร้อมติดแฮชแท็ก #WhereIsPengShuai เพื่อตามหาตัวเธอ
เส้นทางสู่มือหนึ่งของโลก
เผิง ไซว่ เป็นทั้งนักเทนนิสและวีรสตรีของชาติ เธอเริ่มเล่นเทนนิสตั้งแต่อายุ 8 ขวบ โดยมีลุงเป็นโค้ชคนแรก และเติบโตมาภายใต้ระบบการฝึกซ้อมซึ่งรัฐบาลจีนเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นที่พัก การแพทย์ และการฝึกซ้อม
ในช่วงทศวรรษ 2000s เผิงเป็นนักเทนนิสกลุ่มแรกที่พยายามต่อรองกับทางการจีนเพื่อออกจากระบบอุปถัมภ์ของรัฐจนสำเร็จ ทำให้สามารถจ้างโค้ชต่างชาติมาเป็นผู้ฝึกสอน และได้รับส่วนแบ่งรายได้จากเงินรางวัลและสปอนเซอร์เป็นของตนเองมากขึ้น
เผิงทำผลงานได้ดีที่สุดด้วยการเป็นนักเทนนิสจีนคนแรกและคนเดียวที่เคยครองตำแหน่งมือ 1 ของโลก เธอเคยคว้าแชมป์แกรนด์สแลมประเภทหญิงคู่ได้ 2 สมัยในรายการวิมเบิลดัน 2013 และเฟรนช์ โอเพ่น 2014 ทั้ง 2 รายการเป็นการลงเล่นคู่กับ เซี่ย สูเวย นักเทนนิสจากไต้หวัน
ส่วนประเภทหญิงเดี่ยว เผิงทำผลงานดีที่สุดด้วยการไต่อันดับขึ้นถึงมือ 14 ของโลกในปี 2011 และเคยทะลุถึงรอบรองชนะเลิศรายการแกรนด์สแลมในศึกยูเอส โอเพ่น 2014 นอกจากนี้ยังเคยติดธงชาติจีนลงแข่งขันโอลิมปิกทั้งหมด 3 สมัย รวมถึงใน ‘ปักกิ่ง 2008’ ซึ่งจัดขึ้นที่บ้านเกิด
เผิงห่างหายจากการลงแข่งขันเทนนิสอาชีพของ WTA Tour มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 โดยรายการสุดท้ายที่ลงเล่น คือ กาตาร์ โททาล โอเพ่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020
ขบวนการ MeToo เขย่าแดนมังกร
การเปิดโปงเรื่องราวถูกล่วงละเมิดทางเพศของเผิงไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในจีน เหยื่อการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศในแดนมังกรเคยออกมาแฉและร่วมขบวนการ #MeToo มาแล้วหลายคนตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่เป็นคนในวงการบันเทิงและการศึกษา ซึ่งผลที่ตามมาคือเหยื่อผู้ถูกกระทำที่เป็นสตรีเหล่านี้มักถูกข่มขู่คุกคาม ถูกแบนจากทางการ และฟ้องกลับในข้อหาทำให้ฝ่ายชายคู่กรณีเสื่อมเสียชื่อเสียง
พรรคคอมมิวนิสต์เองดูเหมือนจะรับรู้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคบางคนมีส่วนพัวพันกับคดีอื้อฉาวทางเพศ แต่ก่อนหน้านี้ความผิดมักถูกพบหลังเจ้าหน้าที่เหล่านี้โดนดำเนินคดีคอร์รัปชัน หรือข้อหาอื่นมาก่อน ส่วนจาง เกาลี่นับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนแรกที่ถูกแฉเรื่องนี้เป็นคดีโดด ๆ ต่อสาธารณชน
การออกมาเปิดโปงประสบการณ์ถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศออกสื่อหรือที่เรียกว่า ขบวนการ #MeToo เริ่มครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 2006 แต่กลายเป็นกระแสโด่งดังทั่วโลกในปี 2017 เมื่อฮาร์วีย์ ไวน์สตีน โปรดิวเซอร์ค่ายหนังฮอลลีวูดชื่อดังถูกแฉจนกลายเป็นกระแสดาราออกมาร่วมขบวนการบอกเล่าเรื่องราวเลวร้ายผ่านโลกโซเชียลฯ พร้อมติดแฮชแท็ก #MeToo จนกลายเป็นไวรัล
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นกับเผิง ไซว่ ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเธอเป็นนักกีฬาชื่อดังที่คนทั้งประเทศรู้จักกันดี นอกจากนี้ยังเป็นการโจมตีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดในพรรคคอมมิวนิสต์เท่าที่เคยมีมา ทำให้นานาชาติวิตกว่า เธออาจได้รับอันตราย และความไม่เป็นธรรมจากผู้มีอำนาจทางการเมือง
หัวหอกในการกดดันช่วยเหลือเผิง คือ WTA โดยสตีฟ ไซม่อนขู่จะถอนสิทธิเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเทนนิสทุกรายการที่จีนได้รับไป หากไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยให้กับเผิงและเปิดการสอบสวนเรื่องนี้อย่างโปร่งใส ขณะที่หลายชาติเฝ้าจับตาว่า หากจีนไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ตามหลักสากล การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว ‘ปักกิ่ง 2022’ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะมาถึง อาจมีการบอยคอตเกิดขึ้นจนเป็นเรื่องใหญ่โต
ปล่อยคลิปแก้ข่าวแต่เรื่องยังไม่จบ
แม้วันที่ 20 พฤศจิกายน 2021 หลังเผิงหายตัวไปเกือบ 3 สัปดาห์ ผู้บริหารสื่อของทางการจีนพยายามจะช่วยแก้ข่าวด้วยการโพสต์คลิปวิดีโอซึ่งเผยให้เห็นภาพเผิงนั่งพูดคุยในร้านอาหารกับเพื่อนและโค้ชอย่างผ่อนคลาย ส่วนอีกคลิปเป็นภาพเธอเดินทางไปร่วมพิธีเปิดการแข่งขันเทนนิสสมัครเล่นในบ้านเกิด แต่คลิปที่ออกมายังไม่มีคลิปไหนที่เธอได้พูดเปิดใจถึงเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้น
ถัดมาอีก 1 วัน IOC ออกแถลงการณ์พร้อมปล่อยภาพนิ่งรูปโธมัส บาค ประธาน IOC นั่งคุยกับเผิง ไซว่ ผ่านวิดีโอคอล พร้อมระบุว่า เผิงยังคงปลอดภัยและใช้ชีวิตอยู่ในบ้านพักที่กรุงปักกิ่ง เธอต้องการความเป็นส่วนตัว และยังอยากใช้เวลาอยู่ร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูง
“คลิปวิดีโอล่าสุดยังไม่สามารถบรรเทาหรือคลายความกังวลของ WTA เรื่องสวัสดิภาพและความสามารถในการสื่อสารของเธอโดยปราศจากการเซ็นเซอร์หรือบีบบังคับ
“วิดีโอนี้ไม่สามารถเปลี่ยนข้อเรียกร้องของเราเพื่อให้มีการสอบสวนอย่างเต็มที่ด้วยความยุติธรรมและโปร่งใสโดยปราศจากการเซ็นเซอร์ในข้อกล่าวหาเรื่องการคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้เราเกิดความวิตกกังวลมาตั้งแต่ต้น”
WTA ออกแถลงการณ์ตอบโต้ความพยายามของทางการจีนในการแก้ข่าวเรื่องเผิง ไซว่แบบทันควัน ทำให้เรื่องนี้ดูเหมือนจะยังไม่จบลงง่าย ๆ อย่างเงียบ ๆ แบบที่ทางการจีนมักใช้เป็นวิธีจัดการปัญหาภายในของตนมาตลอด และอาจลุกลามกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อรายได้และชื่อเสียงระดับชาติ หากผู้มีอำนาจแดนมังกรยังคงพยายามแก้ปัญหาเหมือนที่ชอบทำกันมาในอดีต
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.nytimes.com/2021/11/17/world/asia/peng-shuai-zhang-gaoli-china-tennis.html
https://www.wsj.com/articles/peng-shuai-what-to-know-about-the-missing-chinese-tennis-star-11637324061
https://www.bbc.com/sport/tennis/59349888
https://www.nytimes.com/2021/11/20/sports/tennis/peng-shuai-video.html
ภาพ: Getty Images