ปี 2550 นับเป็นปีที่คึกคักไม่ใช่น้อยสำหรับภาพยนตร์ไทยในแง่ของความหลากหลาย นอกจากจุดกำเนิดของหนังเอพิครักชาติเรื่องยิ่งใหญ่อย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ และ ๒ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) หรือต้นกำเนิดจดหมายเหตุแห่งยุคสมัยที่กลายร่างเป็นหนังคัลต์จวบจนปัจจุบันอย่าง ‘หอแต๋วแตก’ (พชร์ อานนท์) หรือสารคดีแนวเรียลิตี้อย่าง ‘Final Score 365 วัน - ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์’ (โสรยา นาคะสุวรรณ) แม้จะเป็นปีแห่งความหลากหลายของแนวหนังที่ท้าทายผู้สร้างให้นำเสนอในความแตกต่าง แต่ที่ทางของหนังวัยรุ่นในปีนั้นกลับน้อยลงไปมาก เมื่อเทียบกับปีก่อน ๆ
จนกระทั่งช่วงเวลาปลายปีที่ลมหนาวเริ่มมาเยือนประเทศไทย พร้อมต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ที่ประดับประดาด้วยไฟหลากสีตามห้างสรรพสินค้าและสถานที่สำคัญ ๆ มากมาย หนังวัยรุ่นเรื่องหนึ่งได้สร้างภาพความทรงจำอันหลากหลายให้กับคนดู ทั้งในด้านบวก ตกใจ ไปถึงด้านเศร้า หนังเรื่องนั้นก็คือ ‘รักแห่งสยาม’ นั่นเอง
จากผู้กำกับเลือดสาด ประกาศทำหนังรักวัยรุ่น
ก่อนหน้านี้ชื่อของ มะเดี่ยว - ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เป็นที่รู้จักในฐานะผู้กำกับที่อายุน้อยที่ผ่านทั้งงานหนังสั้นและหนังยาวที่ได้รับการกล่าวขวัญตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย จนในที่สุด มะเดี่ยวได้รับโอกาสในการทำหนังในระบบสตูดิโอเป็นเรื่องแรกจากโครงการ ‘ยักษ์เล็ก’ ที่ผลักดันนักทำหนังในทุนจำกัด ประเดิมด้วย ‘คน ผี ปีศาจ’ (2547) หนังสยองขวัญทุนต่ำที่ฉายแววการทำงานแบบจำกัดจำเขี่ยแต่ทรงประสิทธิภาพ ก่อนจะสานต่อด้วยหนังทริลเลอร์ที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนเรื่อง ‘13 เกมสยอง’ (2549) ที่ทำให้ภาพจำของมะเดี่ยวคือคนทำหนังรุ่นใหม่ที่พิสมัยในหนังเลือดสาด
หากแต่ความจริงแล้ว มะเดี่ยวมีบทหนังในดวงใจเรื่องหนึ่งที่อยู่ในใจเขามาเนิ่นนาน โดยเขาใช้ประสบการณ์ร่วมตั้งแต่ในตอนที่เขาเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้ฉากหลังเป็นสยามสแควร์ที่อยู่ใกล้ ๆ ในการรองรับเรื่องราว และกลั่นกรองประสบการณ์ในวัยเยาว์มาเล่าเรื่อง หากแต่หนังที่จุดขายแสนธรรมดานี้ ยังไม่มีโอกาสได้ทำเสียที
กระทั่ง ‘13 เกมสยอง’ ได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ผลงานเรื่องที่ 3 ที่อยู่ในใจเขามาเนิ่นนานกว่า 4 ปี ก็ได้ทำเสียที ในชื่อหนังที่เรียบง่ายแต่ความหมายลึกซึ้ง
นั่นก็คือ ‘รักแห่งสยาม’
โต้งและมิว ความรัก และการเรียนรู้
รักแห่งสยาม ในยามที่ปรากฏเพียงหน้าหนังไม่ว่าจะเป็นใบปิดหรือตัวอย่างนั้น ถูกวางเป็นเพียงหนังรักวัยรุ่นใส ๆ ที่ใช้โลเคชันของสยามสแควร์ ตั้งแต่โรงหนังสกาลา ไปจนถึงสยามดิสคัฟเวอรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขายภาพของหนุ่มสาววัยรุ่นหน้าใส และคลอเคล้าไปด้วยเพลงประกอบภาพยนตร์ ‘กันและกัน’ ที่ขับร้องโดย คิว วงฟลัวร์ โดยไม่ได้ลงลึกไปถึงเนื้อหาอะไร กล่าวง่าย ๆ ว่าหน้าหนังรักแห่งสยามถูกวางบรรจุหีบห่อด้วยสีสันสดใสในฐานะหนังรักวัยรุ่นภาพสวยเพลงเพราะเรื่องหนึ่งเท่านั้น
หากแต่เมื่อคนดูได้เดินเข้าไปในโรงหนังเพื่อแกะหีบห่อชมหนังเต็มทั้งเรื่อง ภาพความสดใสของวัยรุ่นเดินสยามกลับเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของหนัง เพราะเรื่องราวของ ‘รักแห่งสยาม’ นั้น อัดแน่นไปด้วยความเศร้า, ความผิดหวัง, การเรียนรู้ที่จะเจ็บช้ำ ไปจนถึงการก้าวข้ามผ่านกำแพงอันหนาแน่นของเพศสภาพอย่างเจ็บช้ำและรุนแรง
หนังเล่าความผูกพันของเพื่อนซี้ โต้งและมิว ที่บ้านใกล้กัน ทำให้ทั้งสองต่างเติบโตซึ่งกันและกัน มิว (รับบทโดย วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) ทุ่มเทความรักลงไปในเสียงดนตรี ในขณะที่โต้ง (รับบทโดย มาริโอ้ เมาเร่อ) เป็นสักขีพยานแห่งความบอบช้ำในครอบครัว จากการหายตัวไปอย่างลึกลับของพี่สาว (รับบทโดย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) ทำให้ครอบครัวของโต้งต้องเผชิญความรู้สึกผิด และความเจ็บปวดจนยากเกินจะเยียวยา
ทว่าทั้งสองต่างก็ใช้ชีวิตวัยรุ่นลองผิดลองถูกมากมาย ลองคบหาหญิงสาวตามแต่ฮอร์โมนส์วัยหนุ่มจะเรียกหา แต่ทว่าลึก ๆ แล้ว ทั้งสองต่างโหยหาคำตอบของบางสิ่งบางอย่าง จนนำไปสู่จุดไคลแมกซ์ของหนังที่ทำให้คนทั้งโรงในยุคนั้นต่างต้องช็อก กับซีนโต๊ะม้าหินหน้าบ้านฉากนั้น
ผลลัพธ์ของหนัง ‘รักแห่งสยาม’ ในยุคนั้นลงเอยด้วยความรู้สึกอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งที่ชื่นชอบหนังเรื่องนี้ในฐานะ ภาพของการก้าวพ้นวัย (Coming-of-Age) ที่งดงาม, สมจริง และทะเยอทะยาน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงปัญหาของครอบครัว, การเจาะลึกถึงความเจ็บปวดของวัยที่ต้องเผชิญหน้า ไปจนถึงความสับสนของเพศสภาพในยุคที่การรักชอบในเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องที่พ่อและแม่บางคนยังคงรับไม่ได้
ส่วนคนที่อยู่ฝั่งไม่ชอบนั้นส่วนใหญ่จะผิดหวังที่เหมือนดูหนังไม่ตรงม้วน และยังก้าวข้ามความหลากหลายทางเพศไม่ได้อยู่นั่นเอง แต่แม้จะรักหรืออึ้งกับหนังเรื่องนี้อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า “หนังเรื่องนี้คือหนึ่งในหนังไทยที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่เคยสร้างมาในประเทศไทย” จากการกวาดรางวัลในหลายสถาบันชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงชัยรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม แม้จะไม่ได้เข้ารอบลึก แต่หนังก็ได้เข้าไปในใจของผู้ชมที่ค่อย ๆ สะสมฐานแฟนคลับไปตามปีที่เคลื่อนคล้อย จนทุกวันที่ 22 พฤศจิกายนของทุกปี แฟนหนังแทบจะยกให้เป็นวัน ‘รักแห่งสยามเดย์’ และรำลึกถึงช่วงเวลาของหนังเรื่องนี้ทุก ๆ ปี
รักแห่งสยามในโมงยามที่เปลี่ยนไป
14 ปี อาจเนิ่นนานเป็นนิรันดร์สำหรับใครบางคน แต่กับบางคนนั้น 14 ปี มันอาจจะผ่านผันเพียงชั่วพริบตา หากเปรียบ 14 ปี ในช่วงชีวิตของคนแล้ว เด็กหนุ่มคนนั้นกำลังก้าวข้ามจากเด็กสู่การเป็นวัยรุ่น บางคนอาจจะรู้ตัวแล้วว่าเขานั้นชอบอะไร เหมือนเช่นมิวที่รับรู้ถึงความรักในเสียงดนตรี แต่บางคนอาจจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต อาจจะเลือกทางเดินที่ผิด หรือเลือกใช้ชีวิตอย่างโลดโผนในแบบโต้ง หรืออาจจะรับรู้แล้วว่าเบื้องลึกในจิตใจนั้นกำลังต้องการอะไร
แต่ 14 ปีของ ‘รักแห่งสยาม’ นั้น เดินทางมาไกลในฐานะหนังที่กาลเวลาได้พิสูจน์ความยอดเยี่ยมของหนังจนทุกวันนี้สารของหนังยังคงแข็งแกร่งและไม่เลือนหายไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะมุมมองความรักอันหลากหลายจนกลายเป็นการก้าวข้ามเพศทางเลือก ที่ในอดีตมักสร้างผลผลิตซ้ำซากด้วยการมองเพศทางเลือกเป็นเพียงเพศที่ตลกโปกฮา มาเป็นความเข้าใจในปัญชาเชิงโครงสร้าง ผลิตแรงบันดาลใจชั้นดีให้ LGTBQ+ ได้มีฐานที่มั่นอันมั่นคงในสังคมที่เปลี่ยนไป บนเวทีแห่งการเรียกร้องความเท่าเทียมกันทางสังคม
และภาพความโรแมนติกของชายรักชาย ก็กลายเป็นจุดขายอันหอมหวานในโลกของสาววาย (Yaoi) ที่สร้างวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง จนเป็นหนึ่งใน Pop Culture ที่ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้กระทั่งประเทศไทยเอง ก็เปิดรับโลกอันแสนสวยงามของกลุ่มนี้ เปิดโอกาสให้ชายหนุ่มหน้าตาดีได้โลดแล่นบนจอในฐานะพระเอกซีรีส์วายที่มูลค่าทางความนิยมไม่ว่าจะผลตอบรับเป็นเงินทองหรือยอดผู้ติดตามมหาศาล
ไปจนถึงชื่อชั้นของทีมงานและนักแสดง ไล่ตั้งแต่ผู้กำกับ มะเดี่ยว ที่เป็นผู้กำกับแถวหน้าที่สร้างงานคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ผู้รับบทมิวและโต้ง ก็ไปได้ไกลในวงการบันเทิง โดยเฉพาะมาริโอ้ ที่แจ้งเกิดจากหนังเรื่องนี้ และกลายเป็นนักแสดงยอดนิยมจวบจนปัจจุบัน บทเพลง ‘กันและกัน’ เป็นหนึ่งในบทเพลงป็อปคลาสสิกที่ทุกวันนี้ยังคงได้รับการเล่นในหลายวาระ ตั้งแต่ผับบาร์ไปจนถึงรายการวิทยุ
และหนัง ‘รักแห่งสยาม’ นอกจากถูกเล่าในวาระครบรอบแล้ว สถานที่ต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในหนัง ปัจจุบันบางที่ก็ถูกทุบทิ้งและเลือนหายไปแล้วอย่างน่าเสียดาย ที่ชัดเจนที่สุดคือโรงหนังสกาลา โลเคชันสำคัญในหนัง ปัจจุบันเหลือเพียงซากปรักหักพังจากการถูกทุบทิ้ง ‘รักแห่งสยาม’ จึงกลายเป็นหนึ่งในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บันทึกช่วงเวลานั้นไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นสถาปัตยกรรมของโรงสแตนด์อะโลนใจกลางเมือง และวิถีชีวิตของวัยรุ่นในยุคนั้นได้อย่างชัดเจน
จากหนังที่ถูกมองว่าอยู่ในมุมอับด้านจุดขาย ผลักดันจนกลายเป็นขวัญใจคนดู และสร้างฐานแฟนคลับจนกลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลาย ๆ คน เป็นกระบอกเสียงของความหลากหลายทางเพศ เป็นป้ายบอกทางให้วัยรุ่นที่ยังค้นหาตัวตนไม่เจอ และเป็นหนังที่บันทึกภาพความเปลี่ยนผ่านของสังคม ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทุก ๆ ปี เมื่อยามลมหนาวโชยมาพร้อมไฟประดับประดาห้างร้านแถวสยามถูกเปิดขึ้น เรามักจะนึกถึงหนังเรื่องนี้ทุกครั้ง ‘รักแห่งสยาม’ คือบทพิสูจน์ว่าหนังเรื่องนี้ยิ่งงดงามและมีคุณค่าตามเวลาที่เลยผ่านไป