29 พ.ย. 2564 | 14:25 น.
“I'm Sorry, Wilson!” / ขอโทษนะ วิลสัน! / เสียงอันคุ้นเคยของ ‘ชัค โนแลนด์’ (รับบทโดย ทอม แฮงส์ - Tom Hanks) ดังก้องอยู่บนแพที่เขาแล่นออกจากเกาะร้าง แต่ไม่รู้ว่าเสียงของเขาจะดังพอให้ ‘วิลสัน’ (Wilson) ลูกวอลเลย์บอลเพื่อนรักได้ยินหรือไม่ เพราะบัดนี้วิลสันได้ลอยออกไปไกลขึ้นเรื่อย ๆ ท่ามกลางคลื่นของมหาสมุทรที่ไม่เคยสงบนิ่ง นี่ถือเป็นฉากสุดท้ายที่เราได้เห็นชัคกับวิลสันอยู่ด้วยกันในภาพยนตร์เรื่อง ‘Cast Away’ (2000) ภาพยนตร์ของพนักงานบริษัทขนส่ง FedEx ที่ประสบเหตุเครื่องบินตกจนลอยมาติดที่เกาะร้าง ณ ที่แห่งนั้น เขาได้พบกับลูกวอลเลย์บอลลูกหนึ่ง ก่อนจะเปลี่ยนมันเป็นเพื่อนซี้ตลอดกาล ซึ่งผลพวงจากฉากสุดประทับใจของทั้งสองก็ทำให้ลูกบอลวิลสันกลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลก จนล่าสุดในปี 2021 ลูกบอลวิลสัน (ลูกจริง) ได้ถูกประมูลไปด้วยราคาที่สูงถึง 308,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,127,502 บาท ซึ่งต้องบอกว่า หากได้รู้ที่มาที่ไปและ ‘ความงง’ ของจุดกำเนิดคู่หูทอม แฮงส์แล้ว คงไม่แปลกใจว่าเหตุใดลูกบอลลูกนี้ถึงมีแต่คนรักและมีค่ามหาศาล เมื่อพูดถึงชื่อ ‘วิลสัน’ เชื่อว่าใครหลายคนคงจะนึกถึงลูกบอลสีขาวที่มีรอยฝ่ามือสีแดง (เลือดของชัค) อยู่บนนั้น แต่แท้จริงแล้ว ‘วิลสัน’ เป็นชื่อของบริษัทจำหน่ายอุปกรณ์กีฬาชั้นนำระดับโลกที่มีจำหน่ายตั้งแต่อุปกรณ์กีฬาเบสบอล แบดมินตัน กอล์ฟ ซอคเกอร์ เทนนิส ซอฟต์บอล อเมริกันฟุตบอล และวอลเลย์บอล นอกจากนี้ บริษัทยังมีแบรนด์ย่อยอีกมากมาย เพื่อจัดหาอุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์ป้องกันสำหรับกีฬาบางประเภท แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่า คือบริษัทวิลสันที่มุ่งเน้นไปทางด้านกีฬาอย่างเดียวกลับมีจุดเริ่มต้นมาจากบริษัทบรรจุเนื้อสัตว์มาก่อน จากบริษัทบรรจุเนื้อสู่บริษัทอุปกรณ์กีฬา เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่บริษัท ‘Schwarzschild & Sulzberger’ ที่ตั้งอยู่ในรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทแห่งนี้ดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมบรรจุเนื้อสัตว์ (โดยมากจะดำเนินการตั้งแต่การฆ่า แปรรูป บรรจุ และจำหน่ายเนื้อสัตว์) ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น ‘Sulzberger & Son's’ กระทั่งปี 1913 Sulzberger & Son's เปิดบริษัทใหม่ชื่อว่า ‘Ashland Manufacturing Company’ ขึ้น เพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากโรงฆ่าสัตว์ให้ได้มากที่สุดในการนำส่วนที่เหลือของสัตว์มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้ ในปี 1914 Ashland Manufacturing Company เริ่มต้นผลิตสายไม้เทนนิส สายไวโอลิน และไหมเย็บแผล ก่อนที่ไม่นานหลังจากนั้นจะมีการขยายไปสู่รองเท้าเบสบอลและไม้เทนนิส จนถึงปี 1915 ชายผู้มาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็ปรากฏตัวขึ้น ‘โทมัส อี. วิลสัน’ (Thomas E. Wilson) เกิดในปี 1868 เป็นชาวแคนาดาที่เข้ามาทำธุรกิจในอเมริกา เขาคืออดีตประธานบริษัทบรรจุเนื้อสัตว์ ‘Morris & Company’ ที่ใช้เวลาถึง 25 ปี กว่าจะไต่เต้าจากพนักงานขึ้นมารับตำแหน่งรองประธานในปี 1906 และเป็นประธานเต็มตัวในปี 1913 หลังจากที่ ‘เอ็ดวิน มอร์ริส’ (Edwin Morris) ผู้ก่อตั้งบริษัทเสียชีวิต [caption id="attachment_39433" align="aligncenter" width="556"] Thomas E. Wilson[/caption] เส้นทางชีวิตของวิลสันเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี 1915 ที่เขาได้รับการแต่งตั้งจากประธานธนาคารให้เข้าดูแลกิจการของบริษัทที่กำลังประสบภาวะล้มเหลวทางการบริหารอย่าง Sulzberger & Son's ซึ่งหลังจากที่วิลสันเข้ารับตำแหน่ง เขาได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Thomas E. Wilson Company’ และทำการซื้อโรงงานถักนิตติ้ง ‘Hetzinger Knitting Mills’ เพื่อผลิตชุดกีฬาและทำบริษัทกระเป๋าแคดดี้ (caddy bag) ที่ผลิตลูกกอล์ฟไปพร้อมกัน ก่อนจะขยายสู่การผลิตลูกบาสเกตบอลและลูกฟุตบอลในเวลาต่อมา วิลสันเป็นนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เขามองเห็นช่องทางและความเป็นไปได้ในการจำหน่ายอุปกรณ์กีฬา ทำให้ในปี 1916 เขาจึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ‘Wilson & Co.’ และแยกตัวออกจากบริษัทบรรจุเนื้ออย่างเป็นทางการ หลังจากนั้นยังมีการเปลี่ยนชื่อบริษัทต่อจนถึงชื่อสุดท้ายคือ ‘Wilson Sporting Goods Company’ ในปี 1931 อุปกรณ์กีฬาจากวิลสันโด่งดังและมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันในวงการกีฬามาเรื่อย ๆ ทั้งลูกอเมริกันฟุตบอล ‘Wilson Duke’ ที่ถูกใช้ใน ‘National Football League’ ลูกบาสเกตบอลที่วิลสันเป็นผู้จัดหาให้ในการแข่งขัน ‘NBA’ และชุดนักกีฬาของทีมในเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) รวมถึงทีมโอลิมปิกฤดูร้อนของสหรัฐอเมริกา จนถึงวันนี้ วิลสันยังคงเติบโตต่อไปในวงการกีฬา ซึ่งต้องยกความดีความชอบให้กับผู้ที่มีวิสัยทัศน์อย่างโทมัส อี. วิลสัน แถมชื่อของวิลสันยังโด่งดังขึ้นไปอีกหลังจากภาพยนตร์เรื่อง Cast Away ออกฉายในปี 2000 และทอม แฮงส์ ในบท ชัค โนแลนด์ ได้ร้องตะโกนว่า “I'm Sorry, Wilson!” ปานจะขาดใจ จากปรากฏการณ์ดังกล่าว บริษัทวิลสันจึงได้ผลิตลูกวอลเลย์บอลที่มีลายฝ่ามือคล้ายในภาพยนตร์ออกมาในชื่อ ‘Cast Away Volleyball’ ซึ่งปัจจุบันยังมีขายอยู่ในราคา 19 ดอลลาร์ (ราว 640 บาท) ส่วนเส้นทางการรับบทเป็นนักแสดงสมทบของวิลสันเริ่มมาจากโทรศัพท์สายหนึ่งที่โทรเข้ามาในบริษัทเมื่อปี 1998 [caption id="attachment_39434" align="alignnone" width="993"] ‘Schwarzschild & Sulzberger’ ภาพจาก https://kchistory.org/islandora/object/kchistory%253A108925[/caption] ความงงของวิลสันในการสร้างวิลสัน บริษัทวิลสันให้ความร่วมมือในการบริจาคหรือมอบอุปกรณ์กีฬาให้กับองค์กร ชุมชน งานระดมทุน ลีกกีฬาเยาวชน และนักกีฬาอาชีพมากว่าศตวรรษ กระทั่งวันหนึ่งในปี 1998 มีสายโทรเข้าจากผู้ผลิตภาพยนตร์รายใหญ่ระดับโลก ‘20th Century Fox’ เพื่อให้วิลสันจัดหาลูกบอลในการถ่ายทำให้ ‘มอลลี่ วอลเลซ’ (Molly Wallace) ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรในขณะนั้นเล่าว่า ทางฝั่งผู้ผลิตภาพยนตร์ไม่ได้ให้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า พวกเขาจะนำลูกบอลไปทำอะไรหรือถ่ายทำอย่างไร แต่พวกเขายืนยันว่า ลูกบอลของวิลสันจะไม่ถูกใช้เป็นอาวุธหรืออะไรก็ตามที่สร้างความเสียหายต่อแบรนด์อย่างแน่นอน นอกจากนี้ทาง Fox ยังบอกอีกว่า มันอาจจะฟังดูแปลกสักหน่อย แต่นักแสดงสมทบของภาพยนตร์จะมีไม่เยอะ โดยนักแสดงหลักคือทอม แฮงส์ “พวกเขาบอกฉันว่าเป็นทอม แฮงค์ ฉันก็คิดแล้วว่านั่นคือสิ่งที่จะทำให้ข้อตกลงของเราสำเร็จอย่างแน่นอน ก็ภาพยนตร์ของทอม แฮงส์นั้นดีเสมอ” วอลเลซนำเรื่องไปปรึกษากับ ‘ไมค์ คูน’ (Mike Kuehne) และ ‘อลัน เดเวนพอร์ต’ (Alan Davenport) ผู้จัดการธุรกิจวอลเลย์บอลและฟุตบอล ซึ่งคำขอของ Fox นั้นคลุมเครือเป็นอย่างมาก เพราะทางวิลสันไม่ทราบรายละเอียดอะไรเลย แต่ด้วยความมั่นใจในเครดิตของทอม แฮงส์ ทำให้บริษัทตัดสินใจรับงานนี้ ซึ่งแรกเริ่มนั้นพวกเขาได้ส่งเป็น ‘ลูกฟุตบอล’ ไปให้ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน Fox ก็กลับมาพร้อมบอกว่า ลูกฟุตบอลนั้นใช้งานไม่ได้ วอลเลซจึงส่ง ‘ลูกวอลเลย์บอล’ ให้พวกเขาแทน อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้บริษัทวิลสัน ‘เป็นงง’ คือปกติลูกบอลของพวกเขาจะมีโลโก้บริษัทติดอยู่ทั้งสองฝั่งของผลิตภัณฑ์ แต่ในครั้งนี้ Fox ได้ขอให้พวกเขาติดโลโก้เพียงฝั่งเดียว ส่วนอีกด้านให้เว้นว่างเอาไว้ “เราไม่รู้ว่าทำไมพวกเขาต้องการสิ่งนั้น แต่เราก็ทำตามที่พวกเขาขอ เราผลิตลูกวอลเลย์บอลที่มีโลโก้ข้างเดียวจำนวน 60 ลูก และส่งให้ Fox” เดเวนพอร์ตเล่า “เอาล่ะ นั่นคือตอนที่เราเริ่มสงสัยจริง ๆ แล้วว่า ทำไมพวกเขาถึงต้องการลูกบอลด้านเดียว พวกเขาสามารถทำอะไรกับมันได้?'” วอลเลซกล่าว กระทั่งหลายเดือนผ่านไป Fox จัดการส่ง NDA หรือสัญญาที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลมาให้กับวอลเลซพร้อมภาพตัวอย่างการจัดวางผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือภาพทอม แฮงส์ถือลูกวอลเลย์บอลอยู่บนชายหาด แน่นอนว่าผู้จัดการทั้งสามคนได้แต่เกาหัวอย่างงุนงง โดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นคือจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ที่วิลสันกำลังจะได้รับ [caption id="attachment_39429" align="aligncenter" width="991"] ภาพจาก wilson.com[/caption] จนถึงเวลาที่ภาพยนตร์ Cast Away ออกฉาย มีสื่อมากมายโทรเข้ามาที่บริษัทวิลสัน ซึ่งวอลเลซรับโทรศัพท์เหล่านั้นโดยที่ไม่รู้อะไรเลย เนื่องจาก Fox ไม่เคยบอกอะไรพวกเขา เธอตัดสินใจยกหูโทรศัพท์หา Fox แต่ทางนั้นกลับไม่ยอมอธิบายอะไร นอกจากเชิญพวกเขาไปชมภาพยนตร์เอง ทั้งสามคนรับรู้ว่านี่คือปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ พวกเขาเดินออกจากโรงภาพยนตร์ด้วยความคิดที่ว่า ‘จะต้องทำอะไรสักอย่าง!’ แต่ด้วยเหตุที่ Fox ไม่มีการแจ้งรายละเอียดล่วงหน้า แถมยังลังเลในการให้วิลสันผลิตลูกบอลจำลอง ทีมงานของวิลสันจึงบินไปยังลอสแอนเจลิส เพื่อคุยกับผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ จนในที่สุด วิลสันจำลองก็ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายได้หลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉายไปหลายเดือน แต่ความโชคดีคือ กระแสของหนังพุ่งขึ้นอย่างไม่หยุดทำให้พวกเขาสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง วิลสันกลับบ้านและเป็นดาราดังจนถึงวันนี้ ในปี 2000 เรื่องราวที่น่าประทับใจของวิลสัน (ลูกบอล) ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะหลังจากที่ทอม แฮงส์ ช่วยวิลสันเอาไว้ไม่ได้ ทาง Fox ก็ตัดสินใจเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์พร้อมยามชายฝั่งเพื่อช่วยวิลสันกลับมา พร้อมบินพาวิลสันไปส่งยัง Wilson Sporting Goods บ้านของมัน ทีมงานวิลสันและ Fox Studio จับมือกันเพื่อประสานงานขบวนพาเหรดพาวิลสันกลับบ้าน โดยมีวงโยธวาทิตแบบจัดเต็มมาเล่นให้ นอกจากนี้วิลสันยังได้นั่งสบายบนหมอนสีแดงที่ด้านหลังของรถเปิดประทุนอีกด้วย [caption id="attachment_39436" align="alignnone" width="990"] เดเวนพอร์ต (กลาง) และวอลเลซ (ขวา) ภาพจาก wilson.com[/caption] แม้เวลาจะผ่านไปนาน 2 ทศวรรษ แต่วิลสันก็ยังถูกพูดถึงอยู่เสมอ โดยในปี 2020 ทอม แฮงส์ และภรรยา ‘ลิต้า วิลสัน’ (Rita Wilson) พบว่าพวกเขาติดโรคโควิด-19 จึงมีข่าวปลอมถูกเผยแพร่ในขณะนั้นว่า แพทย์จากโรงพยาบาล ‘Australia's Gold Coast’ ได้ส่งลูกบอลวิลสันที่มีรอยฝ่ามือสีแดงพร้อมรอยยิ้มบนหน้าไปให้ทอม แฮงส์ เพื่ออยู่เป็นเพื่อนกับเขาดังเช่นที่เคยเป็นในภาพยนตร์เรื่อง Cast Away โดยมีรูปของทอม แฮงส์ถือลูกบอลวิลสันปรากฏอยู่บนอินเตอร์เน็ตด้วย อย่างไรก็ตาม ข่าวนั้นได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นข่าวปลอม โดยภาพดังกล่าวถูกถ่ายตั้งแต่ปี 2015 ในเกมแข่งขันฮอกกี้ ซึ่งแฮงค์ได้รับลูกบอลขณะที่เขาอยู่ในสนามกีฬา ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ปี 2021 ที่ผ่านมา ลูกบอลวิลสันจากภาพยนตร์ Cast Away ก็ได้เป็นข่าวอีกครั้ง หลังจากถูกประมูลไปในราคามากถึง 308,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 10,127,502 บาท (1 ดอลลาร์ = 32.88 บาท) โดยเป็นการจัดงานประมูลของ ‘Prop Store’ หนึ่งในผู้ขายอุปกรณ์ประกอบฉากภาพยนตร์และเครื่องแต่งกายชั้นนำระดับโลก ถึงแม้วิลสันที่ถูกนำออกประมูลจะมีสีที่หม่นหมองและมีรอยเปรอะเปื้อนเต็มลูกบอล แต่ด้วยความทรงจำที่ฝังแน่นของผู้คนทั่วโลก รวมไปถึงความรักที่ทุกคนมีให้กับนักแสดงสมทบที่คู่ควรกับตำแหน่ง MVP ลูกนี้ในภาพยนตร์ Cast Away จึงไม่แปลกใจเลยว่าเหตุใดลูกบอลจำลองของวิลสันจึงยังคงขายได้จนถึงปัจจุบัน และวิลสันตัวจริงก็มีมูลค่ามหาศาล ทั้งยังเป็นที่รักตลอดกาล “We love you, Wilson” ทอม แฮงส์ไม่ได้กล่าวไว้ในภาพยนตร์ เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: Cast Away (2000) https://kchistory.org/islandora/object/kchistory%253A108925 อ้างอิง https://www.buzzfeednews.com/article/davidmack/tom-hanks-wilson-coronavirus-quarantine-fake-photo-cast-away https://www.bbc.com/news/world-us-canada-59242756 https://avp.com/news/history-of-the-wilson-ball/ https://www.wilson.com/en-us/blog/volleyball/behind-scenes/true-story-wilson-volleyball https://www.wilson.com/en-us/product/cast-away-volleyball-wv40041#colors=72427&size=57647 https://www.zippia.com/wilson-sporting-goods-careers-44677/history/ https://hypebeast.com/2021/11/tom-hanks-cast-away-wilson-volleyball-prop-store-auction-results https://www.lib.uchicago.edu/collex/exhibits/meatpacking-midwest-thomas-e-wilson-family-collection/family/thomas-e-wilson/