หยางเสี่ยวหมิง: ความสำเร็จ ‘ซิโนฟาร์ม’ กับหมอผู้ลองวัคซีนด้วยตัวเองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ

หยางเสี่ยวหมิง: ความสำเร็จ ‘ซิโนฟาร์ม’ กับหมอผู้ลองวัคซีนด้วยตัวเองเพื่อทดสอบประสิทธิภาพ
แม้จีนจะได้รับฉายาโรงงานผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกมายาวนานหลายสิบปี แต่มีสินค้า Made in China ชนิดหนึ่งที่แทบไม่เคยส่งออกไปขายในต่างประเทศ จนกระทั่งเกิดโรคระบาดโควิด - 19 นั่นคือเวชภัณฑ์ยาที่เรียกว่าวัคซีน Global Times สื่อของทางการจีนรายงานว่า ก่อนโควิด - 19 แพร่ระบาด บริษัทวัคซีนของจีนส่วนใหญ่แทบไม่มีใครเน้นผลิตเพื่อส่งออก เพราะแค่ตลาดภายในประเทศตัวเองซึ่งมีประชากรมากกว่า 1,400 ล้านคนก็ใหญ่เพียงพอแล้ว ข้อมูลจากบริษัทวิเคราะห์หลักทรัพย์แห่งหนึ่งของจีนในเดือนมีนาคม 2020 ยังระบุว่า ตลาดวัคซีนทั่วโลกมีบริษัทยักษ์ใหญ่ 4 เจ้าของตะวันตกครองส่วนแบ่งไว้รวมกันราว 90 เปอร์เซ็นต์ โดยขาใหญ่ทั้งสี่ประกอบด้วย ไฟเซอร์, เมอร์ค, จีเอสเค และซาโนฟี ด้วยเหตุนี้ บริษัทวัคซีนสัญชาติจีนจึงไม่มีใครสนใจกระโจนเข้าไปแข่งด้วย อย่างไรก็ตาม การอุบัติของโควิด - 19 ซึ่งมีต้นตอจากเมืองอู่ฮั่น ของจีน บีบให้ผู้ผลิตวัคซีนแดนมังกรต้องเร่งผลิตวัคซีนส่งออก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะต้องการแสดงความรับผิดชอบในฐานะชาติต้นตอโรคระบาด ขณะเดียวกันก็พลิกวิกฤตเป็นโอกาส ใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูต และเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าเวชภัณฑ์ Made in China ไปพร้อมกัน วัคซีนโควิด - 19 ของจีนที่ใช้เป็นเรือธงบุกตลาดโลกหลัก ๆ มี 2 ยี่ห้อ คือ ซิโนฟาร์ม (Sinopham) และซิโนแวค (Sinovac) แต่ที่จะเน้นในบทความนี้ คือ เรื่องราวของซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนโควิด - 19 ตัวแรกของจีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และมีแพทย์มากประสบการณ์จากโลกตะวันตกที่ชื่อ หยางเสี่ยวหมิง เป็นทั้งผู้อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จ จากอเมริกาสู่นักพัฒนาวัคซีนจีน หยางเสี่ยวหมิง (Yang Xiaoming) หรือหมอหยาง คือ หัวหน้าคณะนักวิจัยและประธานบริษัทไชนา เนชันแนล ไบโอเทค กรุ๊ป (CNBG) ธุรกิจในเครือของซิโนฟาร์ม (Sinopharm) ซึ่งมีรัฐบาลจีนเป็นนายทุนใหญ่เจ้าของบริษัท จากข้อมูลของ Financial Times สื่อของอังกฤษระบุว่า CNBG เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นศูนย์รวมอำนาจบริหารจัดการสถาบันวิจัยต่าง ๆ ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศให้ทำงานในทิศทางเดียวกัน โดยเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยุคนั้นหวังใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาวัคซีนส่งขายในตลาดโลกตามนโยบายเปิดประเทศ ปี 2013 ความฝันในการบุกตลาดโลกของ CNBG และซิโนฟาร์มเริ่มเค้าลางความสำเร็จเมื่อ WHO ให้การรับรองวัคซีนตัวแรกของบริษัทซึ่งใช้ป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางจนกระทั่งหมอหยางเข้ามารับตำแหน่งประธานบริษัทในปี 2015 และเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ปลายปี 2019 หมอหยางเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันวิทยา ประวัติส่วนตัวของเขาไม่ค่อยมีเผยแพร่ในสื่อตะวันตก แต่ Financial Times รายงานว่า หยางเสี่ยวหมิงมีประสบการณ์เคยทำงานให้กับสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกามาเป็นเวลา 5 ปีในปลายทศวรรษ 1990s หลังได้ทั้งวิชาการแพทย์และการบริหารองค์กรขนาดใหญ่มาจากโลกตะวันตก หมอหยางกลับไปรับตำแหน่งผู้นำโครงการระดับชาติของจีนเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคท้องร่วงเฉียบพลัน และไวรัสซาร์ส ที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หลังเข้ารับตำแหน่งประธาน CNBG และมีการระบาดของโควิด - 19 หมอหยางกลายเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญของจีนที่สื่อท้องถิ่นและสื่อตะวันตกคุ้นหน้ากันเป็นอย่างดี เพราะเขาคือผู้นำสถาบันหลักในการค้นคว้าวิจัยวัคซีน และเป็นผู้ให้สัมภาษณ์สื่อถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการหาทางป้องกันการระบาดของโควิด - 19 “ผมเป็นคนแรกที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายโควิด - 19 ผมรับวัคซีนมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคมปีนี้ (2020) นับถึงตอนนี้ก็เกิน 8 เดือนแล้ว ข้อมูลหลังฉีด 6 เดือนแสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของวัคซีนยังคงคงที่มาก”  หมอหยางบอกกับสื่อเมื่อปลายปี 2020 หลังตนเองนอกจากจะเป็นหัวหน้านักวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยังเป็นหนูลองยาเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนด้วยตัวเองก่อนที่วัคซีนโควิด - 19 ของซิโนฟาร์มจะได้รับการรับรองความปลอดภัยจากทางการจีนและ WHO เสียด้วยซ้ำ วัคซีนเพื่อการทูตและการพาณิชย์ วัคซีนซิโนฟาร์มได้รับการรับรองจากรัฐบาลจีนให้ใช้หยุดยั้งการระบาดของโควิด - 19 เป็นกรณีฉุกเฉินตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2020 และ WHO อนุมัติให้ใช้ได้ทั่วโลกเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2021 โดยมีประสิทธิภาพป้องกันโรคอยู่ที่ประมาณ 78 - 79 เปอร์เซ็นต์ วัคซีนโควิด - 19 ของซิโนฟาร์มผลิตจากเชื้อตาย ซึ่งเป็นกรรมวิธีโบราณที่ยืนยันความปลอดภัยได้ค่อนข้างดี นอกจากนี้ยังมีวิธีเก็บรักษาไม่ยุ่งยาก ต่างจากวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่อย่าง mRNA ที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิต่ำมาก แต่ข้อเสียของเทคโนโลยีเชื้อตาย คือ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำกว่า โดยเฉพาะเมื่อเชื้อมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการวัคซีนคุณภาพสูงที่ผลิตจากเทคโนโลยีใหม่ที่สูงมาก ประกอบกับกำลังการผลิตที่ไม่เพียงพอและทันการณ์ หลายประเทศจึงหันไปพึ่งพาวัคซีนเชื้อตายจากจีน และเปิดโอกาสให้รัฐบาลจีนใช้วัคซีนเป็นเครื่องมือทางการทูตเพื่อขยายบทบาทนำบนเวทีการเมืองโลก พร้อมโฆษณาสินค้า Made in China ชนิดนี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน หมอหยางเปิดเผยว่า การพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ของซิโนฟาร์ม ได้รับความร่วมมือจากนานาชาติมากถึง 10 ประเทศ ในจำนวนนี้รวมถึงสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โมร็อกโก บาห์เรน และเปรู ส่งอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองเฟส 3 รวมกันมากกว่า 50,000 คน นับเป็นการทดลองครั้งใหญ่สุดเท่าที่ซิโนฟาร์ม และ CNBG เคยทำมา นอกจากนี้ ยูเออี และบาห์เรน ยังเป็นสองชาติที่ประกาศรับรองความปลอดภัยและอนุมัติให้คนทั่วไปใช้วัคซีนซิโนฟาร์มก่อนหน้าชาติเจ้าของวัคซีนอย่างจีนจะประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเสียด้วยซ้ำ สำหรับชาติผู้บุกเบิกริเริ่มรับวัคซีนซิโนฟาร์มก่อนใคร นอกจากจะอยู่ในกลุ่มอาหรับทั้งยูเออี บาห์เรน อียิปต์ และโมร็อกโก ยังมีชาติโซนยุโรปตะวันออกอย่างฮังการี เซอร์เบีย นอร์ทมาซิโดเนีย และมอนเตเนโกร ซึ่งส่วนใหญ่มีรัฐบาลที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับชาติตะวันตกครองอำนาจ การเจาะตลาดโลกของซิโนฟาร์มเป็นการทำงานผสานกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยหมอหยางเล่นบทผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญ คอยออกหน้าชี้แจงตอบคำถามเรื่องการพัฒนาและประสิทธิภาพของวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสาธารณชน ส่วนรัฐบาลตั้งแต่กระทรวงการต่างประเทศไปจนถึงประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ทำหน้าที่ไม่ต่างจากเซลส์แมน เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการขยายตลาดพร้อมเจรจาเรื่องราคาและปริมาณที่จะส่งออกไปยังแต่ละประเทศ ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยพูดไว้ในเดือนพฤษภาคม 2020 ว่า จีนจะทำให้วัคซีนของตนเป็น ‘สินค้าสาธารณะของโลก’ จากนั้นโฆษกรัฐบาลจีนออกมากล่าวเสริมว่า จีนจะขายวัคซีนไปทั่วโลก ‘ในราคาที่สมเหตุสมผลและยุติธรรม’ ก่อนที่กระทรวงการต่างประเทศจะออกมาแถลงในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ว่า ชาติที่จีนจัดหาวัคซีนไปช่วยเหลือมีรวมกัน 53 ประเทศ อุปสรรคที่ต้องผ่านหากต้องการตีตลาดโลก แม้โควิด - 19 จะทำให้จีนสามารถขยายอิทธิพลทางการทูตและขยายตลาดส่งออกวัคซีนของตนเองไปทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว แต่เวชภัณฑ์วัคซีนของจีนยังคงเผชิญปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือไม่ต่างจากสินค้า Made in China อื่น ๆ อีกหลายประเภท นอกจากวัคซีนเชื้อตายจากจีนจะถูกโจมตีเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันโควิด - 19 ที่ด้อยกว่าวัคซีน mRNA ของโลกตะวันตกแล้ว การขึ้นตรงต่อรัฐบาลกรุงปักกิ่งของบริษัทซิโนฟาร์ม ยังทำให้เกิดคำถามเรื่องความโปร่งใสขององค์กร Taiwan News สื่อของไต้หวันรายงานว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธชีวภาพนานาชาติ ตลอดจนรัฐบาลสหรัฐฯ และกองทัพไต้หวันล้วนตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้งานห้องทดลองในเมืองอู่ฮั่น ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยหลักในการพัฒนาวัคซีนโควิด - 19 ของซิโนฟาร์มว่ามีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงหรือไม่ รายงานดังกล่าวอ้างประวัติการใช้ห้องแล็บที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งรัฐบาลจีนเคยประกาศไว้ในทศวรรษ 1990s ให้เป็น 1 ใน 8 ศูนย์วิจัยที่ใช้ทำงานควบคู่กันเพื่อเป้าหมายทั้งทางทหารและพลเรือนภายใต้ ‘โครงการวิจัยและพัฒนาด้านสงครามชีวภาพเพื่อการป้องกันประเทศ’ แม้ข้อสงสัยนี้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของซิโนฟาร์มได้ถูกโยงเข้ากับการเมืองและความมั่นคงของจีนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน หมอหยางระบุว่า อุปสรรคสำคัญอีกอย่างในการขยายตลาดซิโนฟาร์มในต่างแดน คือ กำแพงด้านการสื่อสาร “เราต้องเผชิญความยุ่งยากมากมายเรื่องการสื่อสารและทำความเข้าใจเรื่องนโยบายและวัฒนธรรมท้องถิ่น” ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้ คือ สิ่งที่ผู้นำซิโนฟาร์มอย่างหยางเสี่ยวหมิง เรียนรู้จากความสำเร็จในการพัฒนาและส่งออกวัคซีนโควิด - 19 ที่ผ่านมา ซึ่งหากสามารถหาทางแก้ไขและก้าวข้ามไปได้ ในอนาคตอันใกล้ค่อนข้างแน่นอนว่า เวชภัณฑ์ยาและวัคซีนจากจีนจะเป็นสินค้า Made in China อีกชนิดที่เข้ามาตีตลาดโลก และจะทำให้ดินแดนพญามังกรกลายเป็น ‘โรงงานของโลก’ ที่สามารถผลิตและส่งออกสินค้าแทบทุกชนิดให้กับคนทั่วโลกได้อย่างเต็มตัว ข้อมูลอ้างอิง: https://www.ft.com/content/99c7a9de-fc11-45ab-890b-f6733ccb4186 http://www.xinhuanet.com/english/2021-02/08/c_139730658.htm https://www.nytimes.com/interactive/2020/health/sinopharm-covid-19-vaccine.html https://www.wsj.com/articles/chinas-covid-19-vaccine-diplomacy-boosts-its-influence-in-europe-11613221201 https://www.bbc.com/news/world-asia-china-56967973 https://news.cgtn.com/news/31557a4d77554464776c6d636a4e6e62684a4856/index.html https://www.globaltimes.cn/page/202101/1213083.shtml https://www.taiwannews.com.tw/en/news/4137284 เรื่อง: ภานุวัตร เอื้ออุดมชัยสกุล ภาพ: Getty Images