“เราไม่มีแพลนบี” สุนทรพจน์ว่าด้วย ‘โลกร้อน’ ของ บารัค โอบามา จากทำเนียบขาวถึงปารีส ในปี 2015
“‘เราเป็นรุ่นแรกที่รู้สึกถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถทำอะไรกับมันได้’ เรามีบ้านหลังเดียว เรามีโลกใบเดียว เราไม่มีแพลนบี”
สุนทรพจน์ของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (ในขณะนั้น) ที่ทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2015 และที่งาน COP21 เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2015 ต่างมี ‘สาร’ ที่ต้องการสื่อเหมือนกัน นั่นคือการพูดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลมาจากภาวะ ‘โลกร้อน’
ในวันที่ 3 สิงหาคม 2015 ที่ทำเนียบขาว เขากล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและผลกระทบของมันที่มีต่อโลกใบนี้ กล่าวชื่นชมเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ช่วยกันทำงานอย่างหนักเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และเน้นย้ำถึงเรื่องความสำคัญของการท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ หรือการนำทหารกลับมาจากอิรักและอัฟกานิสถาน แต่เป็นเรื่องของภาวะโลกร้อนที่กำลังจะกลายเป็นหายนะต่อมนุษยชาติในอนาคตอันใกล้
“มันง่ายมากที่จะพูดถากถางและบอกว่าสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าความสามารถของมนุษย์ที่จะแก้ไขได้ ผมเชื่ออย่างหมดใจเลยว่านั่นเป็นเรื่องที่ไม่จริง เราสามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ แต่เราต้องเริ่มทำแล้ว มันเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่และทำให้รู้ว่าเราทุกคนล้วนอยู่ในนี้ด้วยกันทั้งหมด
“เมื่อเดือนก่อน เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1972 ที่ NASA ได้ปล่อยภาพถ่าย ‘blue marble’ (ลูกแก้วสีน้ำเงิน) ที่เป็นภาพของโลกใบนี้จากนอกอวกาศ มันมีหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไปมากตลอดหลายทศวรรษระหว่างภาพแรกและภาพที่สอง ขอบชายแดนประเทศขยับ คนหลายรุ่นผ่านมาและผ่านไป จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว แต่อย่างหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลยคือโลกของเรายังคงสวยงามเหมือนเดิม มันยังเป็นสีน้ำเงิน มันทั้งกว้างใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็บอบบาง เหมือนความมหัศจรรย์ทุกอย่างในจักรวาลแห่งนี้
“เจ้าลูกแก้วสีน้ำเงินนี้เป็นของเราทุกคน เป็นของเด็ก ๆ ทุกคนที่อยู่ที่นี่ มีคนอีก 7 พันล้านคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน ไม่ว่าจะพูดภาษาอะไร ทุกคนสามารถมองภาพนี้แล้วบอกว่า ‘นี่คือบ้านของฉัน’ และ ‘เราเป็นรุ่นแรกที่รู้สึกถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถทำอะไรกับมันได้’ เรามีบ้านหลังเดียว เรามีโลกใบเดียว เราไม่มีแพลนบี”
ต่อมาโอบามาได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน COP21 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2021 เป็นการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 21
การประชุมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของประเทศสหรัฐอเมริกาและการตระหนักรู้ว่าพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมให้สำหรับเด็ก ๆ ในยุคต่อไป
สุนทรพจน์ของโอบามาในงาน COP21 ได้ขยายความเกี่ยวกับเรื่อง ‘โลกร้อน’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เน้นย้ำถึงความสำคัญของประเด็นนี้ให้กลุ่มผู้นำจากเกือบ 200 ประเทศที่ปารีสและผู้ฟังที่รับฟังจากทั่วโลก และนี่คือสุนทรพจน์ที่เขากล่าวในวันนั้นเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนร่วมมือกันต่อสู้กับศัตรูที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนบนโลกใบนี้ แม้จะยังไม่เห็นผลในช่วงเวลาอันสั้น แต่มันจะมีคุณค่ามหาศาลในอนาคต โลกที่อุดมสมบูรณ์ ปลอดภัย และมั่นคงสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้
นี่คือสุนทรพจน์ดังกล่าว
“เรามาที่ปารีสเพื่อแสดงถึงการตัดสินใจที่แน่วแน่
“เราขอแสดงความเสียใจต่อชาวฝรั่งเศสทุกคนกับเหตุการณ์ก่อการร้ายอันป่าเถื่อนกับเมืองที่สวยงามแห่งนี้ (ผู้เขียน : ก่อนหน้าการจัดงานนี้ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2015 เกิดเหตุการณ์โจมตีกราดยิงท่ามกลางกรุงปารีสและมีผู้เสียชีวิตมากถึง 149 คน) เราขอยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ใช่แค่ต่อสู้กับเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่มีส่วนกับการโจมตีเหล่านี้ แต่เพื่อปกป้องผู้คนของเราและรักษาค่านิยมอันยั่งยืนที่ทำให้เราแข็งแกร่งและเป็นอิสระ เราขอแสดงความนับถือชาวปารีสที่ยังยืนยันจัดงานประชุมอันสำคัญนี้ต่อไป มันเป็นการต่อต้านที่แสดงให้เห็นว่าไม่มีอะไรที่จะมาขัดขวางเราไม่ให้สร้างอนาคตที่เราต้องการสำหรับลูกหลานของเราได้ ไม่มีอะไรที่จะแสดงถึงการตอบโต้ที่ยิ่งใหญ่ ให้คนที่พยายามทำร้ายพวกเราเห็น มากไปกว่าการทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อจะรักษาโลกใบนี้อีกแล้ว
“เกือบ 200 ประเทศมารวมตัวกันที่นี่ในสัปดาห์นี้ มันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในความท้าทายทั้งหมดที่เรากำลังเผชิญภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศสามารถกำหนดโครงร่างของศตวรรษนี้ได้อย่างชัดเจนมากกว่าที่ผ่านมา มันเป็นสิ่งที่ควรให้ความหวังแก่เราว่านี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ นี่คือช่วงเวลาที่เราตัดสินใจว่าเราจะต้องช่วยโลกของเรา มันคือความจริงที่บ่งบอกถึงความเร่งด่วนเกี่ยวกับความท้าทายนี้ และตระหนักว่ามันอยู่ในอำนาจของเรา ที่จะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมัน
“ความเข้าใจของเราเกี่ยวกับวิธีที่มนุษย์มีส่วนทำลายสภาพอากาศนั้นนับวันยิ่งก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น สิบสี่ปีจากสิบห้าปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2000 และปี 2015 กำลังจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดที่เคยมีมา ประเทศชาติใด ไม่ว่าจะใหญ่หรือเล็ก มั่งคั่งหรือจน ไม่มีประเทศใดที่จะรอดจากผลกระทบครั้งนี้
“ฤดูร้อนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงในรัฐอะแลสกาที่อยู่เหนือสุดของประเทศเรา ทะเลได้กลืนกินหมู่บ้าน ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะ พื้นดินที่อยู่ในพื้นที่หนาวเย็นจนกลายเป็นน้ำแข็งเริ่มละลาย และทุ่งทุนดราร้อนระอุ ธารน้ำแข็งกำลังละลายอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในยุคปัจจุบัน และนี่คือภาพตัวอย่างหนึ่งของอนาคตที่เป็นไปได้ เป็นภาพชะตากรรมของลูกหลานเรา หากสภาพอากาศยังคงเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าความพยายามของเราในการแก้ไขปัญหา ประเทศหลายแห่งจะจมน้ำ เมืองมากมายจะถูกทิ้งร้าง ท้องทุ่งที่ไม่สามารถทำการเกษตรให้เติบโตอีกต่อไป ความปั่นป่วนทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ และการอพยพย้ายถิ่นของประชาชนผู้สิ้นหวังที่แสวงหาแหล่งหลบภัยในประเทศที่ไม่ใช่ของพวกเขาเอง
“อนาคตนั้นไม่ใช่เรื่องของการมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง หรือประเทศเปราะบางสามารถหาจุดยืนได้ อนาคตนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ที่นี่และตอนนี้ แต่มันจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราลุกขึ้นมาด้วยกัน ดังที่ผู้ว่าการฯ คนหนึ่งของอเมริกากล่าวว่า ‘เราเป็นรุ่นแรกที่รู้สึกถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถทำอะไรกับมันได้’
“ผมมาที่นี่ในฐานะผู้นำของประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกและผู้ปล่อยก๊าซที่ใหญ่เป็นอันดับสอง เพื่อบอกว่าสหรัฐอเมริกาไม่เพียงรับรู้ถึงบทบาทของเราในการสร้างปัญหานี้เท่านั้น แต่เราพร้อมรับความรับผิดชอบของเราที่จะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้
“ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา เราลงทุนมากมายกับพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนอย่างเต็มที่ เราเพิ่มการใช้พลังงานลมถึง 3 เท่า และพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 20 เท่า ช่วยสร้างพื้นที่บางส่วนในอเมริกาที่ตอนนี้แหล่งพลังงานสะอาดเหล่านี้ก็มีราคาถูกกว่าพลังงานทั่วไปที่สกปรกกว่า เราลงทุนเกี่ยวกับการประหยัดพลังงานในทุกวิถีทางเท่าที่จะจินตนาการได้ ปฏิเสธโครงสร้างพื้นฐานที่จะดึงเชื้อเพลิงฟอสซิลคาร์บอนสูงจากใต้ดิน และผ่านมาตรฐานแห่งชาติชุดแรกที่จำกัดปริมาณมลพิษคาร์บอนที่โรงไฟฟ้าของเราสามารถปล่อยสู่อากาศได้
“ความก้าวหน้าเหล่านี้ที่เราทำ ช่วยผลักดันผลผลิตทางเศรษฐกิจของเราให้สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และขณะเดียวกันก็ลดมลพิษคาร์บอนของเราให้อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบเกือบสองทศวรรษ
“แต่ข่าวดีก็คือนี่ไม่ใช่เทรนด์ของอเมริกาเพียงอย่างเดียว ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นในขณะที่การปล่อยคาร์บอนทั่วโลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงทรงตัว และสิ่งนี้มีความหมายที่สำคัญมาก เพราะเราได้หักล้างข้อโต้แย้งเก่าในการอยู่นิ่งเฉยไม่ทำอะไร เราได้พิสูจน์แล้วว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกันอีกต่อไป สองอย่างนี้สามารถทำงานร่วมกันได้ และนั่นทำให้เรามีความหวัง ศัตรูหนึ่งที่เราจะต่อสู้ในการประชุมครั้งนี้คือแนวคิดถากถางดูถูก แนวคิดที่ว่าเราไม่สามารถทำอะไรเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ความก้าวหน้าเหล่านี้ควรมอบความหวังแก่เราในช่วงสองสัปดาห์นี้ ความหวังที่หยั่งรากลึกในการร่วมมือกัน
“หลังจากล่าช้ามาหลายปี เมื่อต้นเดือนนี้ที่ประเทศดูไบ โลกตกลงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อขจัดมลพิษร้ายแรงที่เรียกว่า HFCs ซึ่งนั่นคือความคืบหน้า ก่อนงานวันนี้ที่ปารีส ประเทศต่าง ๆ มากกว่า 180 ประเทศซึ่งคิดเป็นเกือบ 95 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยมลพิษทั่วโลกได้เสนอเป้าหมายด้านสภาพอากาศของตนเอง นั่นคือความก้าวหน้า ในส่วนของเราเอง ประเทศอเมริกากำลังอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยมลพิษที่ผมตั้งไว้เมื่อ 6 ปีที่แล้วในโคเปนเฮเกน เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ต่ำกว่าระดับปี 2005 ประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2020 และนั่นคือเหตุผลที่เมื่อปีที่แล้ว ผมตั้งเป้าหมายใหม่ให้อเมริกาจะลดการปล่อยมลพิษของเราให้ต่ำกว่าระดับปี 2005 ประมาณ 26 ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 10 ปีนับจากนี้
“ดังนั้น หน้าที่ของเราที่ปารีสคือเปลี่ยนความสำเร็จเหล่านี้ให้เป็นกรอบการทำงานที่ยั่งยืนสำหรับความก้าวหน้าของมนุษย์ ไม่ใช่การแก้ปัญหาชั่วคราว แต่เป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่มอบความมั่นใจให้ทั้งคนทั้งโลกเกี่ยวกับอนาคตที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณต่ำ
“ที่ปารีสวันนี้ เรามาทำข้อตกลงอันทะเยอทะยาน ที่ซึ่งความก้าวหน้าปูทางสำหรับเป้าหมายที่อัปเดตเป็นประจำ เป้าหมายที่ไม่ได้กำหนดไว้สำหรับเราแต่ละคน แต่โดยเราแต่ละคน โดยคำนึงถึงความแตกต่างที่แต่ละประเทศกำลังเผชิญด้วย
“ที่ปารีสวันนี้ เรามาตกลงกันถึงระบบโปร่งใสที่เข้มแข็ง ซึ่งทำให้มั่นใจว่าทุกคนปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ และเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศที่ยังไม่มีความสามารถในการไปถึงเป้าหมายของตนอย่างเต็มที่ จะได้รับการสนับสนุนที่พวกเขาต้องการ
“ที่ปารีสวันนี้ เรามายืนยันความมุ่งมั่นของเราว่าจะมีทรัพยากรสำหรับประเทศที่เต็มใจทำส่วนของตนเพื่อหลบเลี่ยงการพัฒนาที่สกปรก ผมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ง่าย จะใช้ความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและทุนในการขับเคลื่อนให้ต้นทุนพลังงานสะอาดถูกลงต่อไป และนั่นคือเหตุผลที่ในบ่ายวันนี้ ผมจะร่วมกับพวกคุณหลายคนเพื่อประกาศความพยายามร่วมกันครั้งประวัติศาสตร์ในการเร่งสร้างนวัตกรรมพลังงานสะอาดของภาครัฐและเอกชนในระดับโลก
“ที่ปารีสวันนี้ เรามาตรวจสอบให้แน่ใจด้วยว่าทรัพยากรเหล่านี้ไปถึงยังประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือในการเตรียมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป เราทราบดีว่าหลายประเทศมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพียงเล็กน้อย แต่จะเป็นประเทศแรก ๆ ที่สัมผัสถึงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด สำหรับบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ซึ่งผมจะมีโอกาสได้พบกับผู้นำในวันพรุ่งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของพวกเขาเลยทีเดียว และนั่นเป็นเหตุผลที่ในวันนี้ อเมริการ่วมกับประเทศอื่น ๆ ยืนยันความมุ่งมั่นที่เข้มแข็งและต่อเนื่องของเราต่อกองทุนประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries Fund) และพรุ่งนี้ เราจะลงนามสนับสนุนโครงการใหม่ๆ ในการประกันความเสี่ยงเพื่อช่วยให้ประชากรกลุ่มเปราะบางกลับมาแข็งแรงขึ้นใหม่หลังภัยพิบัติจากสภาพอากาศ
“และสุดท้ายที่ปารีสวันนี้ เรามาแสดงให้ธุรกิจและนักลงทุนเห็นว่าเศรษฐกิจโลกกำลังอยู่บนเส้นทางที่มั่นคงสู่อนาคตที่คาร์บอนต่ำ หากเราวางกฎเกณฑ์และสิ่งจูงใจที่เหมาะสม เราจะปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ของนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร และผู้ประกอบการที่ดีที่สุดของเราในการปรับใช้เทคโนโลยีพลังงานสะอาด งานใหม่และโอกาสใหม่ ๆ ที่พวกเขาสร้างขึ้นทั่วโลก มีเงินหลายแสนล้านดอลลาร์พร้อมที่จะถูกนำไปใช้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก หากพวกเขาได้รับสัญญาณว่าเราเอาจริงกันแล้วในครั้งนี้ มาส่งสัญญาณนั้นกันเถอะ
“นั่นคือสิ่งที่เราต้องการในสองสัปดาห์ข้างหน้านี้ ไม่ใช่แค่ข้อตกลงที่จะลดการปล่อยมลภาวะที่เราสร้างขึ้น แต่เป็นข้อตกลงที่ช่วยให้เรายกชูผู้คนจากความยากจนโดยไม่ลงโทษคนรุ่นต่อไปให้อยู่ในโลกที่เกินซ่อมแซม ที่ปารีสวันนี้ เราสามารถแสดงให้โลกเห็นถึงความเป็นไปได้เมื่อเรามารวมตัวกัน สามัคคีด้วยความพยายามร่วมกันและด้วยจุดประสงค์ร่วมกัน
“และไม่ต้องสงสัยเลยว่าคนรุ่นต่อไปกำลังเฝ้าดูสิ่งที่เราทำอยู่ เมื่อสัปดาห์ก่อนผมอยู่ที่มาเลเซีย ผมมีโอกาสพูดกับเด็กรุ่นใหม่ในงานประชุม และคำถามแรกที่ผมถูกถามมาจากหญิงสาวชาวอินโดนีเซีย มันไม่เกี่ยวกับการก่อการร้าย มันไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ มันไม่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน มันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เธอถามว่าผมมีความหวังเกี่ยวกับสิ่งที่เราสามารถทำได้ที่นี่ในปารีสวันนี้หรือไม่ และมีอะไรที่เด็ก ๆ รุ่นใหม่อย่างพวกเขาจะช่วยได้บ้าง
“ผมอยากให้การกระทำของเราแสดงให้เธอเห็นว่าเรากำลังฟังเธออยู่ ต้องการให้การกระทำของเรายิ่งใหญ่เพียงพอที่จะดึงความสามารถของเราทุกคน ทั้งชายและหญิง ทั้งร่ำรวยและยากจน เพื่อแสดงให้เด็กรุ่นใหม่ที่เต็มไปด้วยความหลงใหลและอุดมคติว่าเราใส่ใจกับอนาคตของพวกเขา
“เพราะผมเชื่อในคำกล่าวของ ดร.มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ว่า สิ่งที่สายเกินไปนั้นมีอยู่จริง และเมื่อพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วงเวลานั้นก็ใกล้เข้ามาแล้ว แต่ถ้าเราลงมือที่นี่ ถ้าเราทำตอนนี้ หากเราวางผลประโยชน์ระยะสั้นของเราไว้เบื้องหลังอากาศที่คนรุ่นต่อไปจะหายใจ อาหารที่พวกเขาจะกิน น้ำที่พวกเขาจะดื่ม ความหวังและความฝันที่ค้ำจุนชีวิตของพวกเขา มันก็จะไม่สายเกินไปสำหรับพวกเขา
“และเพื่อนผู้นำทุกคน การยอมรับความท้าทายนี้จะไม่ตอบแทนเราด้วยช่วงเวลาแห่งชัยชนะที่ชัดเจนหรือรวดเร็ว ความก้าวหน้าของเราจะถูกวัดต่างกัน มันจะถูกวัดจากความทุกข์ที่ไม่เกิดขึ้น และดาวเคราะห์โลกที่ถูกรักษาเอาไว้ และนั่นคือสิ่งที่ทำให้เรื่องนี้ยากเสมอ รุ่นของเราอาจไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นของสิ่งที่เราทำที่นี่ แต่การรู้ว่าคนรุ่นต่อไปจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้เพราะสิ่งที่เราทำที่นี่ มันไม่มีรางวัลอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่านี้อีกแล้วไม่ใช่หรือ การส่งต่อให้ลูก ๆ และหลาน ๆ ของเรา เมื่อพวกเขามองย้อนกลับมาและเห็นว่าเราทำอะไรที่นี่ในปารีส พวกเขาจะภาคภูมิใจในสิ่งที่พวกเราร่วมกันทำ
“นั่นเป็นจุดประสงค์ของการมาปารีสครั้งนี้ โลกที่คู่ควรกับลูกหลานของเรา โลกที่ไม่ได้ถูกตีตราด้วยความขัดแย้ง แต่เกิดจากความร่วมมือ ไม่ใช่ด้วยความทุกข์ทรมานของมนุษย์ แต่โดยความก้าวหน้าของมนุษย์ โลกที่ปลอดภัยกว่า รุ่งเรืองกว่า มั่นคงกว่า และเป็นอิสระมากกว่าที่เราได้รับมา
“ไปเริ่มทำงานกันเถอะครับ ขอบคุณมากครับ”
ที่มา:
https://obamawhitehouse.archives.gov/the-press-office/2015/11/30/remarks-president-obama-first-session-cop21?fbclid=IwAR137igpii5Z25Jk56xU-1p7UIns45O_bDoj4jK6UWTNDh8lCaIbBkwvRpA
https://obamawhitehouse.archives.gov/the-press-office/2015/08/03/remarks-president-announcing-clean-power-plan
ภาพ: https://youtu.be/r4lTx56WBv0