The Beatles: Get Back หลักฐานแห่งการประสานรอยร้าว ที่นำไปสู่จุดแตกหักของวงสี่เต่าทอง
**เปิดเผยเนื้อหาของสารคดี
มีตำนานมากมายเกี่ยวกับอัลบั้มเจ้าปัญหา Let It Be (1970) ในฐานะอัลบั้มชุดสุดท้ายของ The Beatles ที่ออกปล่อยวางจำหน่าย ที่ถือว่าเป็นอัลบั้มที่ “ไม่สมบูรณ์” ของวง เนื่องจากปัญหาภายในของสมาชิกในวง, ความคาดหวัง หรือแม้กระทั่งอีโก้ส่วนตัว จนนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งลุกลามใหญ่โต จนมีข่าวลือต่างๆนานามาตลอด 50 ปี ตั้งแต่การตัดสินใจเดินออกจากห้องอัดอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยของตัว จอร์จ แฮร์ริสัน หรือการวางมวยระหว่าง พอล แม็กคาร์ตนีย์ และ จอห์น เลนนอน รวมไปถึงความบาดหมางจนสุดท้ายก็กลายเป็นแก้วร้าวที่ยากเกินประสาน และนำพาไปสู่การสิ้นสุดของตำนานอันยิ่งใหญ่ก่อนจะจากจากลาและทำอัลบั้มชุดสุดท้ายอย่างเป็นทางการร่วมกันในชื่อ Abbey Road (1969) ในเวลาต่อมา
ย่อหน้าข้างต้นคือข้อมูลที่เรามักได้ยินได้อ่านเสมอจากพยานรู้เห็นที่เล่ากันแบบปากต่อปากจากทีมงานผู้เกี่ยวข้อง และจากหนังสารคดี Let It Be (1970) ที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งภายในวง จนสุดท้ายต่างก็แยกย้ายทางใครทางมัน โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ของสมาชิกภายในวง แม้กระทั่งสองในสี่ของวง ครึ่งหนึ่งได้อำลาโลกใบนี้ ส่วนอีกครึ่งยังมีชีวิตอยู่ ต่างก็ไม่เคยปริปากพูดถึงเหตุการณ์ในห้องอัดนี้สักเท่าไหร่ คนทั่วไปโดยเฉพาะแฟน ๆ ต่างจึงอนุมานว่า เรื่องราวที่เล่าขานถึงเบื้องหลังอัลบั้มนี้น่าจะมีมูลความจริง
ในที่สุด 50 กว่าปีผ่านไป ก็มีหลักฐานเชิงประจักษ์ด้วยภาพปรากฎให้เห็นว่าเพื่อชำระล้างสิ่งที่ค้างคาใจแฟนเพลงกว่า 5 ทศทววรษถึงเรื่องราวของอัลบั้มนี้ จากฟุตเตจเป็นฟิล์มความยาวกว่า 57 ชั่วโมง รวมไปถึงคลิปเสียงความยาว 150 ชั่วโมง ที่ถูกล็อคอย่างแน่นหนาในเซฟส่วนตัวของ Apple Reccords ก็นำมาสู่การเปิดเผยครั้งสำคัญผ่านหนังสารคดีจำนวน 3 ตอน ที่มีความยาวรวมกันถึง 468 นาที โดยผู้กำกับ ปีเตอร์ แจ็กสัน และพบว่าเรื่องราวท่ามกลางตำนานปรัมปราที่เราเคยได้ยิน มีทั้งเรื่องจริง และเรื่องไม่จริงรวมอยู่ในนั้น
จุดเริ่มต้นของการถ่ายทำมหากาพย์แห่งอัลบั้ม
ในสารคดี The Beatles: Get Back ย่อเรื่องราวของวง The Beatles ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ครอบคลุมตั้งแต่การถือกำเนิดของวงจนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในโลกของดนตรีร็อกแอนด์โรล เด็กหนุ่มทั้ง 4 สร้างปรากฏการณ์สำคัญและเปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์แห่งดนตรีร็อกนับตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก Please Please Me ในปี 1963 จนเกิดกระแส Beatlemania และความดังของเขานั้นก็เปรียบดั่งดาบสองคมที่มีทั้งคนชอบและคนชัง เกิดเหตุโกลาหลในปี 1965 ที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อทั้ง 4 ปฏิเสธการเลี้ยงต้อนรับจากนางอิเมลดา มาร์กอต สตรีหมายเลขหนึ่งจนเกิดความไม่พอใจและจบท้ายด้วยเหตุจราจล
ไปจนถึงคำพูดของจอห์นในปี 1966 ที่พูดว่า “ในตอนนี้พวกเราป็อปปูลาร์กว่าพระเยซู” สร้างความโกรธเคืองให้เหล่าชาวคริสต์โดยเฉพาะกลุ่ม Ku Klux Klan ที่ออกโรงต่อต้านวง The Beatles อย่างหนักหน่วง โดยพาดพิงว่าวงมีส่วนสนับสนุนนโยบายคอมมิวนิสต์ สุดท้ายวงก็ตัดสินใจยุติการทัวร์คอนเสิร์ตเพื่อยุติปัญหาคาราคาซังนี้จนเกิดช่วงเวลาในการได้ทำผลงานคุณภาพอย่าง Revolver (1966), Sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band (1967), Magical Mystery Tour (1967), The Beatles หรือที่เรียกขานว่า "The White Album" (1968) และ Yellow Submarine (1969) ในเวลาต่อมา
ซ้ำร้าย ไบรอัน เอปสไตน์ ผู้จัดการวง ที่เปรียบเสมือน พ่อของ The Beatles ก็เสียชีวิตในปี 1967 ยิ่งทำให้วงสูญเสียเสาหลักไป สุดท้ายพวกเขาก็จัดการดูแลวงกันเองและเปิดบริษัท Apple Corps เพื่อดูแลผลประโยชน์ของพวกเขาเอง รวมไปถึงมีโปรเจกต์มากมายทั้งการเฟ้นหาศิลปินมาร่วมในค่าย ไปจนถึงทำหนังฉายในโรง
ช่วงเวลานั้นเอง ทั้ง 4 ต่างค้นพบตัวตนที่แตกต่างกันไป เกิดการแยกย้ายไปทำงานส่วนตัว อัลบั้มในช่วงหลัง ๆ นั้นเกิดขึ้นจากการแยกกันทำเพลงและมาผสมเสียงกันในภายหลัง
แต่ช่วงสุญญากาศที่วงไม่ได้พบเจอแฟนเพลง ตัวพอลเอง ก็รู้สึกถึงช่วงเวลาที่ห่างหายในการทำคอนเสิร์ตมานานแสนนาน เขาจึงมีโครงการที่จะทำอัลบั้มใหม่ที่ยังไม่ได้ตั้งชื่อ เป็นอัลบั้มอัดสดที่ทั้งสี่ต้องกลับมาบันทึกเสียงร่วมกันอีกครั้ง โดยมีไอเดียที่จะถ่ายเบื้องหลังการทำงานทั้งหมดและไปสิ้นสุดที่คอนเสิร์ตยิ่งใหญ่ในภายหลัง เขาชวน ไมเคิล ลินด์ซีย์-ฮ็อก มาเป็นผู้สังเกตการณ์และกำกับหนังสารคดีที่จะแพร่ภาพบนทีวีเรื่องนี้ โดยเซ็ตสตูดิโอ Twickenham Studio ในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม ปี 1969 เพื่อสร้างปรากฏการณ์ครั้งใหม่ให้วง The Beatles
แต่ปรากฏการณ์ที่คาดหวัง กลับกลายเป็นหลักฐานแห่งการล่มสลายของวงในช่วงเวลาต่อมา
แผลเรื้อรังที่นำไปสู่การบาดหมาง
ในสารคดี The Beatles: Get Back ส่วนใหญ่ จะอุดมไปด้วยฉากการซ้อมดนตรีในแบบเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ทุกคนดูจะให้การตอบรับกับโปรเจกต์ของพอลเป็นอย่างดี พวกเขาซ้อมดนตรี เฮฮา หยอกล้อ และเปิดรับความคิดเห็นของกันและกันอย่างไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ
เราพบเห็นสภาวะผู้นำของพอลอยู่เสมอ พบการแตกหน่อออกไอเดียของจอร์จ พบความพยายามในการสร้างบรรยากาศที่ดีในสตูดิโอของจอห์น (ที่มีโยโกะ โอโนะ ตามติดเป็นเงาตามตัว) และการเคารพในความคิดของริงโก้ที่นั่งอยู่หลังกลองตลอดเวลา บรรยากาศของวงนั้นเหมือนจะดีและพิเศษ
แต่ช่วงสุดท้ายในสารคดีตอนแรกที่ครอบคลุมการทำงานตั้งแต่วันแรกถึงวันที่ 7 ของการทำงาน ท่ามกลางบรรยากาศสบาย ๆ ในสตูดิโอที่สาดสีสัน เหลือเชื่อที่เราได้เห็นการอดรนทนไม่ไหวของจอร์จ ที่เริ่มรับความเจ้ากี้เจ้าการของพอลไม่ได้ จนสุดท้ายเขาก็เลือกที่จะเดินออกจากวงไปอย่างดื้อ ๆ จนได้พบว่าปัญหาทั้งหลายภายในวงล้วนแล้วแต่เป็นฝุ่นผงที่ถูกโกยและซ่อนเอาไว้ใต้พรมที่ไม่เคยถูกสะสางนั่นเอง
ความเจ้ากี้เจ้าการของพอล ที่แม้จะปรารถนาดีอยากให้วงกลับมา ยอมลดอัตตาของตนเพื่อให้วงได้ไปต่อ แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่อาจละทิ้งการตัดสินใจเพียงคนเดียวได้เมื่อพบความคิดที่เริ่มขัดแย้งแตกคอของสมาชิกวง, ตัวตนของจอห์นที่เหมือนไม่แยแสต่อปัญหาใด ๆ ซ้ำยังถูกครหาด้วยการมาของโยโกะ แต่เขาก็พยายามที่จะประคับประคองวงให้ไปต่อได้ ด้วยการยอมรับความคิดของคนอื่น ๆ เพื่อให้อัลบั้มได้ไปต่อ, ความทะเยอทะยานที่จะให้วงเดินหน้าไปต่อของจอร์จโดยไม่สนใจคำทัดทานของเพื่อน กระทั่งตัวริงโก้เองที่แม้จะยอมทุกอย่างเพื่อให้อัลบั้มชุดนี้แล้วเสร็จ แต่สาเหตุหลักก็อาจจะมาจากที่เขาอยากให้มันจบไว ๆ เพื่อที่จะได้ไปถ่ายหนัง The Magic Christian (1969) สิ่งใหม่ที่เขาสนใจนอกเหนือจากการเล่นดนตรีมากกว่า
จึงไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยว่า อัลบั้มชุดนี้คือตัวเร่งที่ทำให้วง The Beatles พบจุดสิ้นสุดของวงโดยเร็ววันขึ้น
การคลี่คลายที่นำไปสู่วันแห่งประวัติศาสตร์
ด้วยการดำเนินเรื่องของสารคดี ที่ยาวจนเกินเลยไป อาจจะเป็นที่ขัดใจในฐานะผู้ชมที่มองว่าสารคดีชุดนี้ยาวเหยียดอย่างไม่มีความจำเป็น แต่ก็พบนัยสำคัญที่มันสมควรจะยืดยาว ไม่ว่าจะเป็นปมปัญหาที่ไม่ได้มาเพียงชั่วยาม แต่มันเป็นมะเร็งทางอารมณ์ที่เกาะกินสมาชิกในวงมาอย่างยาวนาน ขณะเดียวกันก็พบว่าในช่วงเวลาอันแสนเปราะบางของวงนั้น ทุกคนต่างก็พยายามที่จะประคับประคองโปรเจกต์ที่พร้อมจะล่มอยู่ตลอดเวลานี้ให้ไปต่อได้ พบความพยายามแก้ปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการย้ายกลับไปบันทึกเสียงยังรังของตนที่อุ่นใจกว่า นั่นก็คือที่ตึกแอปเปิ้ล, การชวน บิลลี่ เพรสตัน มาเล่นดนตรีในตำแหน่งเปียโนไฟฟ้า ไปจนถึงการลองผิดลองถูกในแต่ละบทเพลงก่อนจะกลายเป็นความสมบูรณ์แบบให้ทุกคนได้ฟังกัน
รวมไปถึงการคลี่คลายภาพฝันจากสถานที่จัดคอนเสิร์ตอันยิ่งใหญ่และแปลกตา ค่อย ๆคลี่คลายจนกลายเป็นความสามัญธรรมดาเพียงดาดฟ้าของตึกแอปเปิ้ลเท่านั้น แต่ภายใต้ความธรรมดานั้นกลับทำให้การแสดงบนดาดฟ้าเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่จารึกไว้ในโลกใบนี้
สิ่งที่ทดแทนความยาวย้วยของสารคดีนี้ คือการได้เห็นการไล่เรียงรายละเอียดของไทม์ไลน์การทำงานอย่างปราณีต การแก้ไขในสถานการณ์อันแสนวิกฤต รวมถึงเจตนาที่ดีของสมาชิกทั้งสี่ ที่ต่างก็อยากให้งานที่ทำตรงหน้านั้นสำเร็จลุล่วง แม้จะแลกด้วยรอยมลทินและนำไปสู่การล่มสลายของวงก็ตาม แต่มิตรภาพและความผูกพันของวงนั้นยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
สารคดีที่ย้อนกลับไปในช่วงเวลาอันแสนเปราะบาง
เราอาจจะรู้จัก ปีเตอร์ แจ็กสัน ในฐานะผู้กำกับพ่อมดแห่งวงการภาพยนตร์ ที่สามารถเสกมนตร์ด้วยมายาแห่งภาพเทคนิคพิเศษผ่านหนังอย่างไตรภาคของ The Lord of the Rings รวมไปถึงการปลุกชีวิตของเหล่าทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 1 ผ่านหนังสารคดี They Shall Not Grow Old ที่ทำการย้อมสีและใช้เทคนิคอันทันสมัยปรับสปีดของภาพให้ใกล้เคียงกับปัจจุบันที่สุด
แต่ในสารคดี The Beatles: Get Back นอกจากการทำภาพให้คมชัด และการเสริมภาพที่ทดแทนเสียงในตอนที่กล้องไม่ได้ถ่ายไว้ ปีเตอร์ แจ็กสัน กลับไม่ได้ปรุงแต่งอะไรที่เป็นงานถนัดของเขาเลย โดยเขาได้ให้สัมภาษณ์กับ ScreenRant ถึงจุดประสงค์ของสารคดีชุดนี้ว่า ต้องการเสนอภาพความจริงที่ซุกซ่อนในเงื่อนงำของกาลเวลานี้ให้เที่ยงตรงและซื่อสัตย์ที่สุด
“ในฐานะแฟน The Beatles และในช่วงเวลานั้นผมอยู่ในวัยเพียง 9 ขวบ ผมเคยนั่งคิดว่าถ้าผมได้กลับไปในช่วงเวลานั้นผมจะทำอะไร ถ้าเป็นผม ผมคงนั่งอยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของสตูดิโอ และเฝ้าดูการทำงานของวงไปอย่างเงียบ ๆ และปล่อยให้ฟุตเตจที่บันทึกภาพเหล่านั้นทำงานไปในฐานะไทม์แมชชีนอันทรงพลัง เราคงไม่มานั่งเปลี่ยนแปลงมัน และปล่อยให้ทุกอย่างนั้นยังคงเป็นไปตามครรลองของมันเช่นเดิม ซึ่งมันวิเศษมากเมื่อพบว่าเราไม่มีวันรู้เลยว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นต่อจากนั้น
แต่จากหัวใจหลักของสารคดีชิ้นนี้ คุณจะได้เห็นว่า พวกเขาสามารถเอาชนะสิ่งกีดขวางและอุปสรรคต่าง ๆ นานาได้ด้วยความแข็งแกร่งของความรักและมิตรภาพที่พวกเขามีให้กัน”
นอกจากนั้น ด้วยความซื่อสัตย์ที่ไร้ซึ่งการปรุงแต่งใดของสารคดีชุดนี้ ก็ทำให้เราได้เห็นด้านความเป็นมนุษย์ เจ็บได้เสียใจเป็นของวงผ่านอิริยาบถต่าง ๆ หลังจากที่ทั้ง 4 ได้วางอัตตาของแต่ละคนออกไป เราจึงได้เห็นแง่มุมความน่ารักที่น้อยคนนักจะได้เห็นจากวง ๆ นี้
จาก Let It Beสู่ Abbey Road 2 อัลบั้มแห่งการคลี่คลายและปิดฉากอย่างงดงาม
เรียงจากผลงานที่ปรากฏสู่สาธารณชน อัลบั้ม Abbey Road (1969) จะออกก่อน Let It Be (1970) หากเรียงจากไทม์ไลน์ของการทำงาน อัลบั้ม Let It Be จะออกก่อน Abbey Road ซึ่ง Let It Be นั้นคือบาดแผลที่วงไม่อยากแม้จะทำมันต่อ กล่าวคือเมื่อพบปัญหาสารพัดในการทำงาน ทุกคนต่างหยุดทำอัลบั้มนี้โดยให้การแสดงสดบนดาดฟ้าคือการบันทึกเสียงครั้งสุดท้ายก่อนแยกย้ายไปขบคิดถึงอนาคตของวง
พวกเขาตัดสินใจกลับมาทำงานกันอีกครั้งในอัลบั้ม Abbey Road อัลบั้มสั่งลาอย่างเป็นทางการของวง ภายใต้เงื่อนไขการทำงานที่ทุกคนต้องทำงานอย่างสบายใจ แม้ผลลัพธ์ของอัลบั้มนี้จะเป็นอัลบั้มที่ยอดเยี่ยมและทรงคุณค่า แต่ก็เหมือนเป็นจดหมายบอกลาอย่างเป็นทางการของวงเมื่อทุกคนต่างก็ค้นพบแล้วว่าไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จำต้องทำงานด้วยกันเมื่อต่างคนต่างก็ค้นพบเส้นทางของตัวเองที่จะเดินไปข้างหน้า
ในความตั้งใจของพอล ตอนทำอัลบั้มที่ยังไม่ตั้งชื่อนั้น เขาคิดในใจว่ามันจะชื่อ Get Back ด้วยเพลงที่เขาแต่ง ด้วยนัยแฝงที่ต้องการรวมเพื่อนกลับมา แต่สุดท้ายเมื่อไม่อาจจะทำให้ทุกอย่างกลับมาเป็นอย่างเดิมได้ การปล่อยทุกอย่างไปตามวิถีแห่งโชคชะตาก็คงไม่ต่างกับชื่ออัลบั้มที่เขาตั้งไว้ในครั้งสุดท้ายว่า Let It Be ที่นักวิจารณ์ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นอัลบั้มที่ไม่สมบูรณ์ มีรอยตำหนิมากมาย และเป็นเพียงอัลบั้มชุดสุดท้ายที่หวังกอบโกยจากแฟนเพลง
แม้ทั้ง 4 จะจากกัน และธรรมชาติกับพระเจ้าไม่อาจจะย้อนคืนวันให้พวกเขากลับคืนมาได้ แต่สารคดีชุดนี้ก็ทรงคุณค่าพอที่จะรื้อฟื้นคืนความทรงจำอันล้ำค่าให้คนที่รัก The Beatles ได้เฝ้ามองช่วงเวลาที่งดงามนี้ได้อีกครั้ง และมันคือการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับอัลบั้มชุดสุดท้ายชุดนี้อย่างเป็นทางการว่า ในความไม่สมบูรณ์ของอัลบั้ม Let It Be ได้ซ่อนความจริงใจ ความทะเยอทะยาน และความพยายามจะประสานรอยร้าวของวงให้ฟื้นคืนมา...แม้มันจะไม่สำเร็จก็ตาม
ข้อมูล: https://screenrant.com/beatles-get-back-peter-jackson-interview/