ป่าน - อนิวรรต อัครสุทธิกร: Wood You Mind ช่างแกะไม้ไทยผู้เดินตามหัวใจไปอเมริกา สลักออกมาเป็น ‘ไอ้ต้าว’ มูลค่าหลักแสน
“ป่านไม่อยากเรียกตัวเองว่าเป็นศิลปิน ป่านอยากเรียกว่าเป็นการทำธุรกิจเกี่ยวกับศิลปะมากกว่า”
ป่าน - อนิวรรต อัครสุทธิกร วัย 33 ปี ช่างแกะไม้ชาวไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของเพจ ‘Wood You Mind’ พูดถึงคำเรียกสำหรับตัวเองในปัจจุบัน
ผลงานแกะสลักไม้ในชื่อ Wood You Mind เปิดตัวด้วยความสดใส เบิกบานใจ ย้อนให้หวนนึกถึงความทรงจำในวัยเด็กของผู้คนที่เห็นงาน ตามแนวความคิดแบบ Positive Art ตามที่ป่านตั้งใจ
ถ้ามองหาของขวัญสักชิ้น ของแต่งบ้านสักอัน ไม้แกะสลักชิ้นเล็ก ๆ น่ารัก ๆ ที่ทำให้บ้านของคุณดูสดใส ย้อนวัย ย้อนวันวาน ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ดีไม่หยอก
เมื่อเปิดอินสตาแกรมของ Wood You Mind ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากถึง 93,000 แอคเคานท์ ในระยะเวลาเพียง 2 ปี เราจะเจองานแกะสลักไม้น่ารัก ๆ ที่มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 50 ดอลลาร์สหรัฐ (1,700 บาท) ไปจนถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (33,000 บาท)
และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของนักสะสมทั่วโลก ที่ให้ความสนใจ ถึงขั้นยอมสั่งซื้อโดยไม่สนราคาที่สูง และค่าส่งที่ต้องเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวผลงานตามระยะทางการจัดส่ง
ไม่ว่าจะเป็นตุ๊กตาสีพาสเทล น้องวาฬที่กำลังพ่นน้ำ น้องยีราฟสีเหลืองคอยาว หรือสายรุ้งสีสดใส ที่ใคร ๆ เห็นก็อยากพากันตะโกนเรียกเสียงสองว่า ‘ไอ้ต้าว’ พร้อมกดลงตะกร้าจ่ายเงิน พา ‘น้อน ๆ’ กลับบ้านกันแทบไม่ทัน
ความน่ารัก น่าสนใจของ Wood You Mind และชีวิตที่ดำเนินด้วยศิลปะของป่าน เหตุผลดังกล่าวนี้ ทำให้ The People วิดีโอคอลข้ามน้ำข้ามซีกโลกสัมภาษณ์ป่าน ที่ตอนนี้อยู่ไกลถึงในรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา
เริ่มต้นจากเพื่อนไม่เล่นด้วย
“จำได้ว่าสิ่งที่ทำให้ชอบศิลปะอย่างชัดเจนคือ ตอนประมาณ 9 ขวบ เพราะว่าเพื่อนผู้ชายไม่เล่นด้วย” ป่านเล่าอย่างติดตลกถึงจุดเริ่มต้นของการก้าวขาข้างหนึ่งเข้าสู่วงการศิลปะ
“แต่พอเล่นกับเพื่อนผู้หญิงเราก็จะเล่นได้แค่บางอย่าง ส่วนมากก็เลยได้อยู่คนเดียว มันก็เลยต้องทำให้เราต้องหากิจกรรมเอนเตอร์เทนตัวเอง ก็คือวาดรูปเล่น”
ป่านเล่าว่าในตอนนั้น ป่านรู้สึกมีความสุขอยู่เสมอในระหว่างวาดภาพ ไม่ว่าจะวาดสวยบ้าง เละบ้าง ตามประสาเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ความสุขในตอนนั้นก็ยังไม่ได้มากพอที่จะทำให้ป่านคิดจะทำเป็นอาชีพหลักอย่างในปัจจุบัน
คิดเพียงว่าโตขึ้นคงทำธุรกิจกับที่บ้าน ส่วนศิลปะคงทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น
ป่านบอกว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมในตอนนั้นยังไม่เปิดกว้างให้กับศิลปะมากเท่าปัจจุบัน
“ตอนนั้นมันยังไม่มีอินเทอร์เน็ต แล้วมันจะมีคำพูดว่า ‘ศิลปินไส้แห้ง’ มันก็เลยทำให้เราไม่เข้าใจว่าเราอยู่ตรงไหนของสังคม”
แต่แล้วมุมมองของป่านที่มีต่อศิลปะก็ถึงจุดเปลี่ยน จากเดิมที่มีเพียงขาที่ก้าวเข้ามา กลายเป็นว่าป่านเข้ามายืนอยู่ในวงการศิลปะอย่างเต็มตัว ด้วยแรงบันดาลใจที่มาจากคุณครูสอนศิลปะในโรงเรียน
แรงบันดาลใจคนสำคัญ
ป่านเล่าให้ฟังว่า เมื่อเริ่มเรียนมัธยมฯ ต้น ป่านได้มีโอกาสได้เรียนกับคุณครูศิลปะท่านหนึ่ง ด้วยความที่คุณครูเป็นนักออกแบบมาก่อน ทำให้หลายครั้งป่านได้เรียนออกแบบไปด้วย การเรียนศิลปะที่แตกต่างออกไปจากเดิม ทำให้ป่านเริ่มรู้จักโลกของศิลปะมากขึ้น
“เราเริ่มรู้ว่ามันมีอาชีพนักออกแบบด้วย ไม่ใช่แค่วาดรูป”
จากความสนใจ กลายเป็นชื่นชอบ
เมื่อจบมัธยมฯ ปลาย ป่านจึงตัดสินใจเลือกเรียนต่อในคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เอกออกแบบผลิตภัณฑ์ ด้วยความหวังที่จะจบออกมาเป็นครูศิลปะ เหมือนคุณครูของป่าน
ป่านเล่าว่าจริง ๆ แล้วเขาติดเอกออกแบบภายในของที่อื่นด้วย แต่สุดท้ายก็มาจบลงที่เอกออกแบบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากอยู่ในคณะครุศาสตร์
“แต่จริง ๆ ก็อยากเป็นครู เพราะได้แรงบันดาลใจมาจากครูที่เรียนด้วย” ป่านเสริม
ป่านไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นศิลปิน ขอเพียงแค่ได้อยู่ในสายอาชีพนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนไหนของอุตสาหกรรมนี้ก็ได้
“ถ้าเราเป็นศิลปิน เราได้สร้างผลงาน แต่ถ้าเราเป็นคุณครู แล้วได้เจอเด็กสักคนที่เหมือนป่านในอนาคต เราจะสามารถสร้างคนในวงการนี้ได้เพิ่มขึ้น ก็เลยตั้งใจเลือกเลยว่าจะเป็นคุณครู”
จุดเปลี่ยนจากครู_สู่การเพนต์เสื้อขาย
แต่แล้วป่านก็เจอจุดพลิกผัน
ป่านเล่าว่าพอต้องเริ่มฝึกสอน แล้วต้องเข้าไปเรียนวิชาครูมากขึ้น ทำให้ป่านรู้ว่า การเป็นครูมันไม่ได้สวยงามอย่างที่เราคิด
“มันมีภาระที่อยู่ในระบบที่ต้องทำจริง ๆ และมันเดือดร้อนกับอุดมคติของเรา จนทำให้เราไม่เอาละ ไม่เป็นครูดีกว่า ในช่วงประมาณปี 2 ปี 3 ที่เรียน”
ประกอบกับในช่วงนั้นธุรกิจของครอบครัวป่านประสบกับปัญหาการเงินอย่างหนัก จึงกลายเป็นภาคบังคับให้ป่านเปลี่ยนสายกะทันหัน จากเดิมเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว ต้องลุกขึ้นจับธุรกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อช่วยหาเลี้ยงครอบครัวอีกทาง
“พอเราเริ่มทำธุรกิจแล้วเป็นรูปเป็นร่าง มันก็เลยทำให้รู้สึกว่า อ้าว! เราจะไปเป็นครูทำไม ในเมื่อทำแบบนี้ก็ได้รายได้”
แต่กว่าที่ธุรกิจจะเป็นรูปเป็นร่าง สามารถทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ก็กินเวลาและพบเจอกับอุปสรรคพอสมควร
“เราเริ่มจากการขอเงินทุนแม่ 2,000 บาท ไปซื้อกางเกงเลกับเสื้อกล้าม จากประตูน้ำมาขาย แล้วก็มาปูพื้นแบกะดินที่ตลาดนัดรัชดาไนท์สมัยก่อน”
ป่านเล่าว่าในสมัยที่เริ่มขายเสื้อใหม่ ๆ นั้นขายไม่ได้เลย
“เพราะเราเป็นคนทำงานศิลปะ เราไม่มีหัวการค้า”
ต่อมาจึงตัดสินใจวาดเสื้อขาย ตามคำแนะนำของรุ่นน้อง แต่ด้วยความที่ฝีมือก็ยังไม่ได้ดีเท่าไรนัก แรก ๆ จึงขายไม่ได้เลย
“จำได้ว่าวันแรกที่ขาย ทั้งร้านมีเสื้ออยู่ 4 ตัว เพราะเราไม่กล้าลงทุนเยอะ กลัวขายไม่ออก และมันก็ขายไม่ได้จริง ๆ เรานั่งทนอยู่อย่างนั้น 2-3 เดือน”
จนกระทั่งความพยายามเริ่มประสบผลสำเร็จ
“ที่ดีใจมาก ๆ คือขายได้ 3 ตัว วันนั้นตื่นเต้นมาก เพราะไม่เคยขายได้มาก่อน แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มได้อย่างสม่ำเสมอ 10 ตัว 20 ตัว บ้าง ซึ่งมูลค่ามันสูงนะ ในสมัยนั้น”
เริ่มต้นใหม่ในอเมริกา เพราะความรักเป็นเหตุ
แล้วจากครูป่าน จากคนขายเสื้อเพนต์ กลายมาเป็นนักแกะสลักไม้ในอเมริกาได้อย่างไร?
การย้ายมาอยู่ที่อเมริกาของป่าน เกิดจากการที่ภรรยาของป่านได้มีโอกาสย้ายมาทำงานที่นี่
ป่านเล่าว่าในตอนแรกเกือบไม่ย้ายไปอยู่ที่อเมริกาแล้ว เพราะในตอนนั้นหลังจากที่เพนต์เสื้อขายอยู่เป็นเวลานาน เขาก็เริ่มตัดสินใจหวนกลับสู่วงการครูอีกครั้ง และเริ่มทำธุรกิจแกะสลักไม้ในไทย
“ตอนนั้นงานของเรามันกำลังจะเติบโต ตอนนั้นเพิ่งเริ่ม ๆ แกะไม้ และเริ่มได้รับผลตอบรับที่ดี แล้วเราก็มีแพลนที่จะขยายธุรกิจนั้นพอสมควร”
แต่แล้วก็มาตัดสินใจได้ในวันที่มาส่งภรรยาขึ้นเครื่องบิน
“เรารู้สึกว่า ช่างแม่งละ ศิลปะเอาไว้ก่อนละกัน ถ้าคีย์เวิร์ดก็น่าจะเป็นเรื่องความรักล้วน ๆ”
ในตอนนั้นป่านเคยคิดถึงขั้นที่จะเลิกทำงานศิลปะไปเลยด้วยซ้ำ ความตั้งใจของป่านในตอนนั้นคือ ทำอาชีพอะไรก็ได้ ให้ไปถูพื้นหรือเสิร์ฟอาหารก็ได้
“แต่พอมาอยู่จริง ๆ 1 เดือน หัวใจและร่างกายของเรามันไม่ได้คิดแบบนั้น มันก็โหยหาที่จะทำ และขวนขวายที่จะแสดงออก แล้วมันก็มุ่งมั่นที่จะทำให้เป็นอาชีพ”
จากที่เดิมแกะสลักไม้อยู่ที่ไทย เมื่อต้องเริ่มใหม่กับศิลปะในอเมริกา จะให้มาแกะสลักไม้เหมือนเดิมก็เห็นทีว่าจะไม่ได้ เขาจึงเริ่มจากการถักไหมพรมเป็นตุ๊กตา เพราะรู้สึกสามารถทำได้ในห้อง โดยไม่เลอะเทอะ และไม่รบกวนเพื่อนบ้าน
“หลังจากเดือนนั้น เราก็ถักไหมพรมขายเลย ไปเดือนแรกเริ่มรู้ว่ามันมีกระแสดี เพราะมีคนสั่งงานเยอะ และแนวโน้มมันเพิ่มขึ้น เรียกได้ว่าถ้านับเป็นรายได้ก็มี 5 หมื่นบาทขึ้นไปเลยนะต่อเดือน”
แต่พอเริ่มทำไปสักพัก ป่านเริ่มรู้สึกถึงเพดานราคาของไหมพรมที่ไม่สามารถเพิ่มไปมากกว่านี้ได้แล้ว รวมไปถึงอัตราการผลิตที่ไม่สามารถทำได้ในปริมาณมากต่อเดือน เพราะต้องใช้เวลากับมัน ไม่สามารถลัดขั้นตอนได้
“คือมันไม่สามารถมีราคาสูงไปมากกว่านี้แล้ว แต่งานไม้มันสามารถทำได้ ด้วยกำลังการผลิตของเรา ก็เลยกลับมาแกะไม้ดีกว่า”
ในระหว่างนั้นป่านเริ่มมองหาลู่ทางในการเปลี่ยนจากการถักไหมพรมมาเป็นการแกะสลักไม้ดังเดิม ป่านจึงต้องมองหาวิธีการแกะสลักไม้ที่ไม่รบกวนเพื่อนบ้าน
“เครื่องมือไฟฟ้า เครื่องจักรที่มีเสียง การตอกหรือสิ่งที่ทุ่นแรงเยอะ ๆ ใช้ไม่ได้เลย เรากลับมาสู่วิธีการแบบดั้งเดิม ถึงแม้ว่าใช้ร่างกายและแรงเยอะกว่า ก็ต้องทำ”
‘ความมหัศจรรย์ของงานไม้’ อีกอย่างคือแม้จะใหญ่หรือเล็ก ก็ใช้เวลาเท่ากัน เพราะตัวเล็กก็ใช้มีดอันแล็ก ตัวใหญ่ก็ใช้มีดอันใหญ่
“เพราะฉะนั้น ความหมายคือ สมมติตัวเล็กขายได้หนึ่งร้อย ตัวใหญ่อาจจะกลายเป็นพันก็ได้ในเวลาเท่ากัน”
เมื่อมองถึงลู่ทางทางธุรกิจ การแกะสลักไม้จึงตอบโจทย์มากกว่า แถมยังได้รับการตอบรับที่ดีมาอย่างสม่ำเสมอ เพราะลูกค้ามีประเภทใกล้กัน คือเป็นนักสะสม ชอบของกระจุกกระจิก
การย้ายมาแกะสลักไม้จึงไม่ได้กลับมาเริ่มใหม่ที่ศูนย์เหมือนที่คิดไว้
งานสนุก ทำรายได้ไม่ธรรมดา
ป่านบอกว่า สิ่งที่สำคัญในการทำงานไม้ของป่านเลยคือ ความสนุก
“งานไม้มันตอบโจทย์เรา ก็คือเราเอนจอยเหมือนตอนเราเด็ก ๆ เพราะมันไม่ต้องฝืนทำ แล้วเราก็ใช้เวลากับมันอย่างพอดี ไม่ได้หามรุ่งหามค่ำ”
ในการทำงานของป่าน ก็เหมือนพนักงานออฟฟิศทั่วไป ที่เข้างานตอนเช้าและเลิกงานตอนเย็น โดยเฉลี่ยทำงานวันละประมาณ 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 - 4 วันต่อสัปดาห์
“ปกติที่นี่เขาคิดเป็นชั่วโมง ของป่านเป็นชั่วโมงละ 3,000 - 6,000 บาท” ป่านอธิบายถึงลักษณะการทำงานในอเมริกา
โดยเฉลี่ยแล้วเมื่อเอาราคารายชั่วโมง รวมกับความยากง่ายของชิ้นงาน บวกความคิดสร้างสรรค์ และเสริมกับความพึงพอใจของป่านและผู้ซื้อ ก็ทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเดือนสามารถสูงได้ถึง 200,000 - 400,000 บาทต่อเดือนกันเลยทีเดียว
“บางชิ้นทำไม่ถึงชั่วโมง แต่ได้ราคาเท่า 3 ชั่วโมงก็มี หรือบางทีลูกค้าก็ขอจ่ายมากกว่าราคาจริง มูลค่าของงานไม้มันสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่เราใช้เวลากับมันน้อยลงด้วยซ้ำ มันก็ยิ่งตอบโจทย์ไปใหญ่ว่า ความสัมพันธ์ของรายได้มันช่วยให้เวลามันเพิ่มขึ้น หมายถึงเราก็จะมีความสุขในเวลามากขึ้น"
ป่านเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘คุณค่าในเวลา’ ที่สามารถเพิ่มลดได้แม้ใช้เวลาเท่ากันในการสร้างสรรค์ผลงาน
ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 1 ปี 4 เดือน ยอดการสั่งซื้อและสั่งทำก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับการมีอินฟลูเอนเซอร์สายศิลปะหลายคนเอาผลงานของป่านไปแชร์ต่อ ก็ทำให้ Wood You Mind กลายเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จนต้องปิดรับออร์เดอร์ไปหลายรอบ
ถึงแม้ว่าตัว Wood You Mind จะประสบความสำเร็จมากในแง่ของธุรกิจ เพราะมีทั้งลูกค้าประจำ ขาจร และคนที่คอยติดตามอยู่ตลอด
มีกำไรสุทธิระดับ 1,000% ถ้าเทียบกับต้นทุน
แต่เมื่อมองในแง่ของเป้าหมายของชีวิต ป่านบอกกับเราว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เท่านั้น ยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ
WoodYouMind ไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็น Community
นอกจากความตั้งใจที่จะพา Wood You Mind ไปได้ไกลเท่าที่ทำได้ และทำให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางให้มากที่สุดของป่านแล้ว
ในอนาคตป่านยังมองหาลู่ทางที่จะสามารถขยับขยายออกไป เพื่อตอบสนองความต้องการเดิมในการเป็นครูของป่าน
“อนาคตเราตั้งใจให้ Wood You Mind เป็น Community เป็นสถานที่ที่สามารถทำให้คนเรียนรู้ ไม่ว่าจะมาเป็นคนแกะไม้เหมือนเรา หรือทำอาชีพศิลปะของตัวเองที่สามารถส่งต่อเรื่องของแนวคิดความสุขให้คนอื่นได้”
ถึงแม้ว่าป่านจะออกมาทำธุรกิจศิลปะอย่างเต็มตัว แต่ลึก ๆ แล้วป่านก็ยังคงไม่ละทิ้งความตั้งใจเดิมที่จะเป็นครู เพราะป่านเชื่อว่า
“ถ้าเราเป็นศิลปิน เราได้สร้างผลงาน แต่ถ้าเราเป็นคุณครู แล้วได้เจอเด็กสักคนที่เหมือนป่านในอนาคต เราจะสามารถสร้างคนในวงการนี้ได้เพิ่มขึ้น”
ส่วนใครก็ตามที่ผ่านมาเห็นบทความนี้ แล้วเกิดความสนใจในงานไม้แกะสลัก Wood You Mind ของป่าน ก็สามารถเข้าไปดูได้ที่ Etsy (https://www.etsy.com/shop/yarnsterday) หรือติดตามข่าวสารการเปิดรับออร์เดอร์สั่งทำได้ในอินสตาแกรม (https://www.instagram.com/wood.youmind/) และเฟซบุ๊ก (https://www.facebook.com/Wood-you-mind-115888979797180)