แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต: เส้นทางทำ บนเส้นทางธรรม

แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต:  เส้นทางทำ บนเส้นทางธรรม
ข่าวร้ายมาเยือนส่งท้ายปี เมื่อเสถียรธรรมสถานแจ้งข่าวการคืนสู่ธรรมชาติของ ‘แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต’ ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน ในวันที่ 7 ธันวาคม 2564 สาเหตุจากโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งตรวจพบตั้งแต่ปี 2560 โดยท่านได้กลับคืนสู่ธรรมชาติ สิริอายุ 68 ปี 1 เดือน 7 วัน นับเป็น 41 พรรษาบนมรรคาแห่งการตื่น ขณะใช้ชีวิตอยู่ทางโลก แม่ชีมีชื่อเดิมว่า ‘ศันสนีย์ ปัญญศิริ’ เป็นสตรีที่โดดเด่นในสังคมในขณะนั้น เคยเป็นนางแบบ นางงาม ผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์ พิธีกรรายการโทรทัศน์ เป็นอดีตรองมิสออด๊าซอันดับหนึ่ง ต่อมาได้พบรักกับ ‘เสถียร เสถียรสุต’ หนุ่มใหญ่รูปหล่อ จบการศึกษาจากประเทศอังกฤษ เจ้าของเพลินจิตอาเขต แหล่งชอปปิงชั้นนำเมื่อ 30 ปีก่อน ผ่านไป 1 ปี จึงรู้ว่าเสถียรมีครอบครัวแล้ว ฝ่ายหญิงจึงไปเรียนต่อที่อังกฤษ ก่อนจะตัดสินใจมาเดินทางเส้นทางธรรม เป็นฝ่ายชายที่บอกว่า ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ อึดอัด ลองไปบวชไหม แม่ชีให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ  Club Friday SHOW เมื่อต้นปี 2561 ว่ารู้สึกว่าเป็นทางเลือกที่ดี คิดว่าจะทำให้มีพื้นฐานการตัดสินใจที่ดี  ได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง กระทั่งท้ายสุดสามารถพิสูจน์ได้ว่า ความรักไม่ต้องครอบครองก็ได้ แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะบวชเป็นเวลานาน ศันสนีย์ ปัญญศิริ บวชเป็นแม่ชีในปี 2523 ขณะอายุ 27 ปี ที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ซึ่งตั้งอยู่ในซอยวัชรพล ถนนรามอินทรา กรุงเทพฯ โดยมีพระครูภาวนาภิธาน (พระครูเส็ง) เป็นพระอุปัชฌาย์และเป็นอาจารย์สอนอภิธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน ผลจากการเรียนรู้ในช่วง 7 ปีแรก ทำให้เข้าใจความหมายของทุกข์ว่า ‘มีไว้ให้เห็น ไม่ได้มีไว้ให้เป็น’ รู้คุณค่าของการอยู่ในสัมมาทิฏฐิ และมรรคมีองค์ 8 ทางแห่งการพ้นทุกข์  ปี 2530 ได้ก่อตั้งสถานปฏิบัติธรรมชื่อ ‘เสถียรธรรมสถาน’ บนถนนวัชรพล มีวัตถุประสงค์ให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ของคนทุกวัย ตั้งแต่เกิดจนวันสุดท้ายของชีวิต ให้อยู่ร่วมกันอย่างศานติ เพื่อสร้างสังคมโลกให้อยู่เย็นเป็นสุข และพ้นทุกข์ร่วมกัน ตลอดเวลาที่มุ่งสู่เส้นทางสายใหม่ ‘เสถียร’ ให้การสนับสนุนเกื้อกูลทั้งเรื่องสถานที่และอื่น ๆ เป็นคู่บุญและโยมอุปัฏฐากของแม่ชีศันสนีย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของเสถียรในวัย 90 ปี ซึ่งเสียชีวิตจากการล้มและกระดูกแตกทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือด แม่ชีได้ดูแลจนลมหายใจสุดท้าย และบอกอีกฝ่ายว่า จำไว้ว่าเราจะพบกันได้ในกุศล รวมทั้งได้สวดให้จนลมหายใจสุดท้ายกระทั่งเสถียรจากไปอย่างสงบ ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม่ชีศันสนีย์ได้เผยแพร่ธรรมะ และสร้างการเรียนรู้และช่วยเหลือผู้คนในสังคม โดยใช้หลักพุทธศาสนานำสังคม ปี 2534 แม่ชีศันสนีย์ได้เริ่มต้นโครงการ ‘บ้านสายสัมพันธ์’ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็กและสตรีที่เคยถูกทารุณกรรมทางเพศและตั้งครรภ์แบบไม่พึงประสงค์ และเป็นโครงการแรกที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม โดยกรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย (ปัจจุบันคือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ได้หารือกับแม่ชีศันสนีย์เพื่อสร้างบ้านพักสำหรับเลี้ยงดูเด็กที่ถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล และเชื่อมโยงพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ไข โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคม กรณีผู้หญิงตั้งครรภ์นอกสมรส ไม่พร้อมเป็นแม่แต่ไม่ต้องการทำแท้ง โดยเสถียรธรรมสถานได้จัดบ้านที่พักพิงให้แม่เลี้ยงเดี่ยว ได้รับการฝึกอานาปานสติ เดินเล่นอย่างมีสติ การทำงานบ้านทั้งในส่วนของตนเองและบริเวณที่ใช้ร่วมกัน สวดมนต์ ฟังธรรม ในวิถีชีวิตประจำวัน โดยที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือผู้หญิงนับหมื่นคน   ระยะเวลา 1-2 ปีในบ้านสายสัมพันธ์ ได้หล่อหลอมให้แม่เลี้ยงเดี่ยวเกิดความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติในทุกย่างก้าวของการใช้ชีวิต เมื่อเด็กในบ้านสายสัมพันธ์เติบโต จึงเริ่มมีกิจกรรมห้องเรียนทุกวันอาทิตย์ที่ธรรมศาลา และจัดโครงการสำหรับครอบครัวชื่อ “จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์” เป็นการส่งเสริมให้คุณพ่อคุณแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องใช้เวลา 9 เดือนของการตั้งครรภ์ เป็นการสร้างทุนแห่ง“อริยทรัพย์” ด้วยหลักคิดที่ว่าลูกในครรภ์มีโอกาสเรียนรู้โลกผ่านฮอร์โมน ที่บ่งบอกอารมณ์ของคุณแม่ในแต่ละขณะจิต เหมือนเชิญเด็กดีมาอยู่ในท้อง รูปแบบคือให้พ่อแม่มาร่วมฟังเสวนารายการวิทยุ ซึ่งจะมีการสอนการปฏิบัติธรรม สอนวิธีคิดที่จะให้สามีและภรรยาอยู่ด้วยกันอย่างเข้าใจ หลังจบรายการวิทยุจะเข้าสู่ช่วง “ภาวนากับบทเพลง” มีการฟังเสียงการหมุนวนของคริสตัลโบวล์ (โถคริสตัล) ให้แม่เดินอย่างมีสติ ลูกในครรภ์ก็จะได้ก้าวอย่างมีสติด้วย โครงการต่อมาคือ “โรงเรียนพ่อแม่...อริยะสร้างได้” เป็นการนำธรรมะมารับใช้สังคม โดยส่งเสริมให้พ่อแม่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็ก มีโอกาสเรียนรู้การจัดการอารมณ์ของตนเอง  โดยใช้ลูกเป็นบทเรียนเพื่อการเติบโตของพ่อแม่ขณะที่ลูกยังอยู่ในครรภ์  รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมแบบเดย์แคมป์สำหรับพ่อแม่และเด็กเล็กด้วย ส่วน “ธรรมยาตรา พระพุทธชยันตีองค์ดำนาลันทา”  มีที่มาจากการการได้พบนักโทษหญิงชื่อ “บัว” ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ขั้นสุดท้ายและทางการญี่ปุ่นส่งตัวกลับมารักษาที่ประเทศบ้านเกิด ในวาระสุดท้ายของบัวมีความเจ็บปวดทุรนทุราย แม่ชีศันสนีย์จึงเยียวยาด้วยการใช้ใจเป็นตัวนำ ให้บัวเอาความพยาบาทออกจากหัวใจ จูงจิตของบัวให้กลับมาอยู่กับลมหายใจในปัจจุบันขณะทำให้เธอจากไปอย่างสงบ หลังจากนั้นแม่ชีศันสนีย์ ได้เดินทางออกไปเยียวยาผู้ป่วย ให้กำลังใจ คนเจ็บ คนจน และผู้ที่สูญเสียจากการจากพราก โดยในวันที่ 3 กรกฎาคม 2559 ซึ่งครบรอบ 4 ปีของโครงการ แม่ชีได้เดินทางธรรมยาตราครบ 76 จังหวัด รวม 464 ครั้ง ตามสถานที่ต่างทั้งโรงพยาบาล สถานศึกษา วัด และศาสนสถาน เป็นต้น และกล่าวถึงการทำงาน เยียวยาตามพุทธกิจว่า ผู้ป่วยทุกคนเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ทำให้รู้ว่าการเยียวยาคือความงามของโลกใบนี้ เป็นความงดงามของคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนที่เข้าไปเยียวยา และกลุ่มคนที่ได้รับการเยียวยา ในความเป็นจริง พลังของการเยียวยาเกิดขึ้นในหัวใจของคนด้วยศรัทธาอย่างแรงกล้าในกันและกันฯลฯ จากการจาริกไปเพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชนที่ทำให้พบเจอความทุกข์ยากมากมาย...จากการทำงานการเยียวยามากว่า 4 ปี เสถียรธรรมสถานจึงพร้อมที่จะสร้างธรรมาศรม ปี 2559 จึงเปิดตัวโครงการ  "ธรรมาศรม" เพื่อการอยู่ร่วมกันแบบเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  เป็นที่อยู่ของผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบในทุกช่วงวัยของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย แม่ชีศันสนีย์กล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นการร้อยเรียงงานทั้งหมดตลอด 30 ปีของเสถียรธรรมสถานเข้าด้วยกัน  โดยส่วนที่เป็นอาคารธรรมาศรมตั้งอยู่บนพื้นที่ 2.5 ไร่ ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นอาศรมของผู้ปฏิบัติธรรมในระยะยาว รองรับชีวิตในทุกช่วงวัย ตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นชุมชนแห่งธรรมแห่งการเกื้อกูล  โดยใช้องค์ความรู้ทางธรรมนิเวศ คือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่สัปปายะในทุกด้านที่เกื้อกูลต่อผู้ปฏิบัติธรรม ร่วมกับองค์ความรู้ทางธรรมชาติบำบัด สร้างวิถีชีวิตใหม่อย่างเข้าใจธรรมะธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเอง กินอาหารที่ปลอดภัยปราศจากการเบียดเบียน การอยู่ท่ามกลางต้นไม้และสรรพชีวิตใหญ่น้อยที่เกื้อกูลต่อการเห็นธรรมะจากธรรมชาติ การนอนในอาคารสถานที่สอดคล้องกับสภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติธรรมทุกวัยทุกสภาพ ไม่ว่าจะเป็นแม่ตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน ผู้ป่วย คนชรา และผู้ต้องการธรรมเยียวยาในระยะสุดท้ายของชีวิต โดยอาคารมีจำนวน 100 ห้อง และถูกออกแบบให้สามารถรองรับผู้ปฏิบัติธรรมแบบระยะยาวที่มาอุทิศชีวิตร่วมกันในการสร้างชุมชนธรรมวิจัย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของชีวิต “แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต” ที่อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม   ที่มา : https://so06.tci-thaijo.org https://www.facebook.com/sdsface/posts/10153790672858099 http://oknation.nationtv.tv/blog/print.php?id=444048 http://www.thaifstt.org/index2/index.php/13-2016-06-25-10-40-16/2016-06-25-10-40-40/2012/132-2016-06-26-10-37-41 https://med.mahidol.ac.th/atrama/sites/default/files/public/pdf/column/%40Rama13_E03.pdf . เรื่อง: สินีพร มฤคพิทักษ์ ภาพ: Nation Photo