read
culture
09 ธ.ค. 2564 | 15:59 น.
ก้องกาน - กันตภณ เมธีกุล: ศิลปินผู้เปลี่ยน ‘รู’ ให้กลายเป็น ‘ประตูสู่โลกที่ต้องการ’
Play
Loading...
คงจะเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้วสำหรับภาพวาดที่มี ‘วงรีสีดำ’ เป็นจุดเด่น และมีบุคคลหรือสิ่งของโผล่ทะลุออกจากวงรีสีดำราวกับกำลังก้าวข้าม ‘มิติเวลา’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามแนวคิดที่อยากให้ ‘รู’ กลายเป็น ‘ประตู’ สำหรับก้าวข้ามความจำเจ หรือความทุกข์-เศร้าซ้ำซากของ
‘ก้องกาน - กันตภณ เมธีกุล’
ศิลปินชาวไทยผู้สร้างสรรค์งานสาย ‘ป็อปอาร์ต’ (Pop art) ให้ดังไกลระดับโลก
ล่าสุดก้องกานกำลังจัดแสดงผลงานในนิทรรศการเดี่ยวของตนเองที่มีชื่อว่า ‘Introspection’ (การใคร่ครวญคิด) ที่ ‘Tang Contemporary Art Bangkok’ ซึ่งจัดมาตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน และจะปิดนิทรรศการในวันที่ 12 ธันวาคม 2021
ภายในนิทรรศการยังคงคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายและคอนเซปต์อันเข้มแข็งของก้องกานเกี่ยวกับ ‘Teleportation’ หรือ ‘การวาร์ปทะลุมิติ’ แต่เพิ่มเติมคือความเข้มข้นของความหมายที่ก้องกานได้ออกสำรวจโลกแห่งความคิดของตนเองและสร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานภาพวาดและประติมากรรม เพื่อให้ผู้ชมได้ร่วมสำรวจโลกแห่งความคิดของศิลปิน และสำรวจตัวตนในใจของตัวเองไปพร้อมกัน
The People ชวนก้องกานแชร์เรื่องราวหลังเดินทางกลับมาจาก ‘การสำรวจจิตใจ’ ซึ่งเขาได้ย้อนเล่าตั้งแต่ความทรงจำในวัยเด็ก การออกจากงาน จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต และการพัฒนาผลงาน รวมถึงการเดินหน้าของ ‘หลุมดำ’ ที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ‘ดูดกลืน’ อย่างที่ใครคิด หากแต่เป็น ‘ประตู’ ที่บอกเล่าถึงสิ่งที่หัวใจต้องการ รวมไปถึงเสียงเรียกร้องของสังคม
สารตั้งต้นของชายผู้เดินเข้าใกล้หลุมดำ
“ผมชอบวาดรูปอย่างไม่รู้สาเหตุ ตั้งแต่เด็กมาก ๆ 3-4 ขวบก็วาดรูปแล้ว พอโตขึ้นก็ยิ่งชัดเจนว่าชอบด้านนี้จริง ๆ”
ก้องกานเล่าว่า เขาเป็นคนที่ชอบดูการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น โดราเอมอน โปเกมอน ดิจิมอน หรือแม่มดน้อยโดเรมี ซึ่งในสมัยนั้น เด็กหลายคนเติบโตขึ้นมาพร้อมกับช่อง 9 การ์ตูน และเสียงของนักพากย์ในตำนานอย่าง ‘น้าต๋อยเซมเบ้’
สำหรับเด็กที่ชอบวาดรูป การดูการ์ตูนแอนิเมชันญี่ปุ่นย่อมส่งผลต่อลายเส้นของพวกเขา เช่นเดียวกับก้องกานที่เคยวาดโปเกมอนเยอะเป็นพิเศษ และเมื่อถามถึงศิลปินที่เป็นไอดอลของเขา ชื่อที่ก้องกานเอ่ยขึ้นก็คือ
ยาโยย คุซามะ (Yayoi Kusama)
“เขาเป็นไอดอลและแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของศิลปิน เพราะผมเคยหดหู่ รู้สึกหมดไฟไปช่วงหนึ่ง เคยโดนคนคอมเมนต์แย่ ๆ ช่วงหนึ่ง บางทีการเป็นศิลปินผมต้องเชื่อมั่นในตัวเองแล้วก็ทำงานต่อ ซึ่งยาโยยเขาเป็นคนที่ช่วงแรกโดนปฏิเสธตลอด กว่าเขาจะประสบความสำเร็จ เขาใช้เวลาเป็น 20 ปีเลย”
[caption id="attachment_39703" align="alignnone" width="982"]
ยาโยย คุซามะ (Yayoi Kusama)
[/caption]
ก่อนที่ก้องกานจะเดินอยู่บนเส้นทางศิลปินเช่นเดียวกับไอดอลของเขา ก้องกานได้เริ่มศึกษาความถนัดทางด้านนี้จากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเริ่มทำงานในสายครีเอทีฟโฆษณาหลังเรียนจบ
“ตอนเรียนผมไม่ได้เรียน Fine art แต่เรียน Communication art ก็คือนิเทศศิลป์ เรียนเกี่ยวกับศิลปะและการสื่อสาร ซึ่งตอนนั้นรู้สึกว่าผมชอบการคิดสร้างสรรค์ ชอบดูโฆษณาด้วย ผมรู้สึกสนใจด้านครีเอทีฟก็เลยไปเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์ประมาณ 2 ปี แล้วก็รู้สึกว่าผมอิ่มตัวแล้ว ได้เรียนรู้โลกของการโฆษณา โลกของธุรกิจมามากแล้ว ก็เลยตัดสินใจออก”
และหลังจากนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญก็ได้มาถึง
ศิลปิน
อยู่กระโดด
เข้าไปในหลุมดำ
ก้องกานเล่าว่า การเป็นศิลปินตอบโจทย์ชีวิตของเขามากกว่าการทำงานครีเอทีฟเพื่อลูกค้า เมื่อเวลาแห่งความเปลี่ยนแปลงมาถึง เขาจึงเริ่มต้นลงมือสร้างงานเป็นของตัวเองเพื่อเสนอความเป็นตัวเอง
“ก่อนหน้านั้นผมวาดไปเรื่อย ๆ จะชอบวาดฟิกเกอร์คน สรีระร่างกายคน ในงานเทเลพอร์ตก็มีคน เพราะความรู้สึกของคนมันหลากหลาย บางทีตัวแทนของคนคนนี้อาจเป็นผมก็ได้ แต่ตอนนั้นยังไม่มีไอเดียเรื่องเทเลพอร์ตนะ เพราะผมยังไม่เกิดความดีเพรส (depress) หรือเกิดอะไรที่อยากทำให้ผมวาดประตูมิติขึ้นมา”
ส่วนหลุมดำของก้องกานเกิดขึ้นที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา หลังการหักดิบครั้งใหญ่ที่เขาออกจากงาน และต้องเผชิญหน้ากับการใช้ชีวิตด้วยตัวเองคนเดียว
“สังคมไม่เหมือนกัน ค่าใช้จ่ายเยอะกว่าที่ไทย ผมเคยเป็นคนที่มีเงินเลี้ยงตัวเองได้ แต่ตอนนั้นใช้เงินที่บ้าน ผมก็เครียดว่าใช้เงินที่บ้านไปเยอะ ภาษาก็ไม่ได้ ต้องไปเรียนภาษา หลายอย่างมันสะสม ความตั้งใจที่จะเป็นศิลปิน ผมก็ตัวเล็กมากในตอนนั้น
“ผมเคยหยิบพอร์ตตัวเองเดินตามแกลเลอรี เขาก็ไม่รับ เพราะผมไม่ได้อยู่ในลิสต์เขา ผมเป็นใครก็ไม่รู้ ช่วงหนึ่งผมนอนไม่หลับเลย เครียด ตาค้าง อยู่ดี ๆ ก็เห็นภาพประตูหลุมดำ มันอาจจะเกี่ยวข้องกับภาพจำของโดราเอมอนที่ผมดูตอนเด็ก เหมือนโนบิตะทำอะไรไม่ได้ โดราเอมอนก็เสกประตูวิเศษสีดำขึ้นมา จะมุดไปไหนก็ได้
“ผมก็คิดว่า ถ้าตอนนั้นไม่มีทางออกในชีวิต ผมขอให้งานศิลปะของผมได้มีทางออกไปโลดแล่นเถอะ ผมอยากให้คนเห็น อยากมีอิสรภาพให้กับตัวเองสักที”
หลังจากนั้น ก้องกานก็ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองในหลายด้าน เขาเริ่มทำสตรีทอาร์ต ปีนตึกวาดภาพ และทำสติกเกอร์บอมบ์ (sticker bomb - การสร้างผลงานจากการปะติดปะต่อจนเกิดลวดลาย) จนเริ่มมีคนรู้จัก และก่อกำเนิดเป็น ‘หลุมดำ’ อันโด่งดังในที่สุด
จากรูสู่ประตูมิติเพื่อตัวเองและสังคม
“คนที่มีความสุขเสมอมันไม่มีอยู่จริง คนมักจะมากับความทุกข์ หลุมดำของผมมันคือการที่ผมไปอยู่ในความหวัง หรือโลกในอุดมคติของผม ซึ่งมันสอดคล้องกับทุกคนและสังคม บางอย่างมันมีเรื่องความเท่าเทียมและอิสรภาพ ทั้งเรื่องเพศสภาพ LGBTQ+ ธุรกิจ เศรษฐกิจ ผมเลยรู้สึกว่าเทเลพอร์ตมันสื่อได้หลายแบบ”
เมื่อศิลปะกับการตีความเป็นของคู่กัน บางคนมองวงรีสีดำของก้องกานเป็นรู ขณะที่บางคนมองมันเป็นหลุมดำและเทเลพอร์ต แต่เมื่อถามเจ้าของผลงานว่าสังคมไทยมีหลุมดำอยู่หรือไม่? ก้องกานให้คำตอบว่า แท้จริงแล้วหลุมดำของเขาคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ประตู’ และประตูที่เขาต้องการให้กับประเทศไทยคือ ประตูที่นำไปสู่ความเท่าเทียม เพราะสังคมไทยขณะนี้เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ และผลประโยชน์ที่กระจุกตัวอยู่ในคนเพียงบางกลุ่ม หาใช่ประชาชนทั่วไป
ส่วนสาเหตุที่ใช้สีดำ ก้องกานได้ให้คำตอบว่า “สีดำมันเป็นสีที่มืด ดังนั้นคนที่เข้าไป เขาจะเข้าไปในที่ที่ไม่เหมือนกัน ผมทิ้งพื้นที่ให้เขาคิดว่า เขากำลังไปที่ไหนนะ สมมติ ถ้าผมวาดทุ่งหญ้า บางคนอาจจะอยากไป แต่บางคนไม่ชอบ พอเป็นสีดำ มันเลยเป็นสีที่แฟร์กับทุกคน มันเป็นสีที่คนสามารถเติมแต่งจินตนาการต่อได้เองว่าเขาจะไปที่ไหน”
ก้องกานเล่าต่อว่า เขาเคยพบกับผู้ชมที่มาดูงานศิลปะของเขาแล้วร้องไห้ ซึ่งน้ำตาของบางคนไหลออกมาด้วยความโศกเศร้า ขณะที่บางคนคือการร้องไห้ด้วยความตื้นตัน
“ผมไม่ได้เป็นซึมเศร้า งานของผมมาจากความหดหู่ ดังนั้นคนที่เขาเป็นแบบผมมาก่อน เขาจะเข้าใจในสิ่งที่ผมสื่อสาร ผมพูดถึงสภาพจิตใจ ผมพูดเพื่อการหลุดพ้น ซึ่งมันไปตรงใจเขาพอดี เขาเลยอิน เขามีกำลังใจต่อในการหาประตูนั้น เพราะคนที่เป็นซึมเศร้าหลายคนคิดว่าชีวิตของเขาไม่มีทางออกแล้ว”
เมื่อถามต่อว่า หากวันหนึ่งก้องกานไม่เหลือความหดหู่อีกต่อไป เขาจะยังสร้างผลงานออกมาได้หรือไม่? ก้องกานก็ตอบว่า เขาอาจจะทำงานยาก เพราะเขาทำงานโดยใช้ปัญหาในชีวิต ปัญหาของสังคม ความหดหู่ และความไม่เข้าใจของตนเอง หากช่วงไหนที่เขามีความสุข เขาจะไม่หยิบพู่กันขึ้นมา
“มันอาจจะไม่หมดไป ผมจะมีปัญหาในชีวิตตลอดเวลา ผมรู้สึกว่ามันยากมากที่คนคนหนึ่งจะมีความสุขตลอดไป
“ผมทำงานจากความเศร้า ความไม่เข้าใจ ความที่หลุดพ้นไม่ได้ คือผมไม่ได้บอกว่า ผมหลุดพ้นได้เลยมาวาดรูป ผมเดินไปกับงาน งานผมปลอบประโลมผม เป็นตัวเสนอความคิดของผมมากกว่า สุดท้ายผมก็ยังวนเวียนอยู่ในโลกที่ประตูนี้เข้าไปแล้วออกไม่ได้ ออกไปเจอสิ่งใหม่บ้าง สิ่งเดิมบ้าง วนอยู่แบบนี้”
แม้ รู หลุมดำ เทเลพอร์ต หรือประตู ของก้องกานจะไม่อาจนำไปสู่โลกใบใหม่ที่จับต้องได้โดยฉับพลัน แต่ศิลปะของเขาก็ได้กลายเป็นทั้งสถานที่พักผ่อน พึ่งพิง เยียวยา แลกเปลี่ยน โอบอุ้ม ระบาย และเรียนรู้ตัวตนของผู้คนที่ผ่านมาและผ่านไปในนิทรรศการ หรือแม้กระทั่งคนที่ติดตามเขาอยู่ในโลกออนไลน์
“ศิลปะของผมคือการสื่อสาร
“ผมรู้สึกว่าศิลปินต้องมีสิ่งที่อยากบอก สิ่งที่เขาอยากพูด แล้วนำเสนอออกมาโดยที่ไม่ได้พูดตรง ๆ แต่รู้สึกได้ มันคือการสื่อสารระหว่างคนดูกับคนวาด คนทำงานกับคนรับรู้”
เมื่อถามถึงประตูของวงการศิลปะไทยในมุมมองของก้องกาน เขาได้ให้คำตอบว่า
“ประตูคือทางออก เพราะฉะนั้นน่าจะเป็นคำว่า เปิดกว้าง บางทีศิลปินด้วยกันเองหรือนักวิจารณ์มีความใจแคบ ในเชิงว่าไม่โอเคกับงานสไตล์นี้ หรือมีการทำลายเครดิตกัน ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้พาวงการไปไหน มันแค่สนองความต้องการของตนเอง หรือบางทีมันก็แคบจนเราไม่เปิดรับอะไรที่มันแปลกใหม่ หรือที่ในเชิงสากลมองว่ามันน่าสนใจ”
เขาอธิบายต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการศิลปะไทย อะไรหลายอย่างก็เริ่มดีขึ้น มีผู้คนสนใจเสพงานต่างชาติมากขึ้น ทำให้เกิดการเปิดกว้าง ซึ่งจะช่วยทำให้คนในวงการได้มองเห็นความแปลกใหม่ร่วมกันมากกว่าเดิม
สุดท้าย ก้องกานอยากให้เกิดการเปิดประตูแห่งการสนับสนุนและความเป็นมิตรในวงการศิลปะไทย เพื่อให้เกิดความหลากหลายและความน่าสนใจ ส่วนตัวเขาจะยังคงพัฒนาแนวคิดและผลงานของตนเองต่อไป โดยหวังว่าสักวันจะมีโอกาสได้เห็นศิลปินที่มาพร้อมงานสดใหม่ได้กระโดดผ่านประตูแห่งความซ้ำซากมาโลดแล่นในวงการศิลปะอย่างเสรีมากยิ่งขึ้น
หากใครที่สนใจแนวคิดและอยากลองสำรวจจิตใจของก้องกาน รวมไปถึงสำรวจจิตใจของตัวเอง งาน ‘Introspection’ ที่เป็นหนึ่งในผลงานจาก ‘Souleport Project’ (Soul + Teleportation) ยังคงจัดให้ชมที่ Tang Contemporary Art Bangkok จนถึงวันที่ 12 ธันวาคม 2021 นี้
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพและข้อมูล: ก้องกาน - กันตภณ เมธีกุล
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3733
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
7075
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
1021
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
ก้องกาน
Gongkan