คนจะนะ: ประวัติศาสตร์บาดแผลของคนปกป้องบ้านเกิดจากรัฐ

คนจะนะ:  ประวัติศาสตร์บาดแผลของคนปกป้องบ้านเกิดจากรัฐ
‘คนจะนะ’ บนเส้นทางการต่อสู้เช่นเดียวกับชาวปากมูล ชาวแก่งเสือเต้น ชาวเชียงของ และผู้คนอีกหลายพื้นที่ของประเทศที่ลุกขึ้นมาปกป้องบ้านเกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ ต้องเข้ากรุงมานอนกลางดินกินกลางทรายเพื่อประท้วงเรียกร้องให้รัฐฟังเสียงของท้องถิ่น แต่ ‘คนจะนะ’ ในสองทศวรรษในการส่งเสียง กลับเกิดบาดแผลทางใจและกายในประวัติศาสตร์ปกป้องบ้านเกิดเมืองนอนจากรัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า การสลายการชุมนุมของเครือข่าย ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ ที่เกิดขึ้นเมื่อค่ำคืนวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา นับเป็นอีกครั้งที่เลือดเนื้อเชื้อไขชาว อ.จะนะ จ.สงขลา ต้องเผชิญกับการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างที่เรียกกันว่า ‘ลุแก่อำนาจ’ แม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และเพียงแค่มาชุมนุมทวงถามเหตุผลที่รัฐบาลไม่รักษาคำพูดในการชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวบ้านจากอำเภอจะนะเจอเหตุการณ์เช่นนี้ ชาวบ้านจากไม่กี่ตำบลของจะนะ เช่น นาทับ สะกอม ตลิ่งชัน จากอำเภอจะนะ ซึ่งถือว่าเป็นเพียงพื้นที่เล็ก ๆ ของประเทศ แต่เคยผ่านสมรภูมิปกป้องบ้านเกิดอย่างเข้มข้นจากการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของรัฐมาอย่างโชกโชน ทว่าในอีกมุม นี่เป็นชะตากรรมที่ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่าอันน่าเจ็บปวด   โครงการต่อต้านท่อก๊าชไทย-มาเลเซีย นี่เป็นโครงการที่เป็นการหาทางออกเป็นรูปธรรมจากการพิพาทระหว่างสองชาติตั้งแต่อดีตระหว่างไทยกับมาเลเซีย เรียกว่าปัญหาซ้อนทับของไหล่ทวีปด้านอ่าวไทยของสองประเทศ ที่ด้านหนึ่งอยู่ประชิดเขตแดนไทยที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ขณะที่อีกด้านอยู่ประชิดรัฐกลันตันของมาเลเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ 7,250 ตารางกิโลเมตรแห่งนี้ ราว ๆ ปี 2522 ทั้งสองประเทศมองเห็นทางออกที่จะหาประโยชน์ร่วมกันจากพื้นที่พิพาท จึงลงนามบันทึกความเข้าใจตกลงจัดตั้งองค์กรร่วมดูแลการสำรวจและแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand-Development-Area - JDA) ต่อมาปี 2533 รัฐบาลทั้งสองประเทศลงนาม MOU จัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียที่เรียกว่า MTJA (Malaysia-Thailand Joint Authority) จากนั้นแต่ละชาติก็ให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของตนเองทั้ง ปตท. ของไทย และปิโตรนาสของมาเลเซีย เข้ามาดูแลการซื้อก๊าชธรรมชาติ และร่วมทุนก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าช จนพัฒนาเป็นการร่วมทุนในโครงการท่อส่งก๊าชธรรมชาติไทย-มาเลเซีย (Trans-Thailand-Malaysia-pipeline -TTM) การหาประโยชน์จากพื้นที่พิพาทระหว่างประเทศไม่มีใครคิดว่าจะเป็นมหากาพย์การต่อต้านเพื่อปกป้องชุมชนที่กินเวลายาวนานหลายปี กระบวนการเริ่มต้นคือการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) และเลือกเส้นทางวางท่อก๊าชส่วนบนบก ที่ชาวบ้านเริ่มรับรู้ข่าวว่ารัฐจะเลือกเส้นทางขึ้นบกที่อำเภอจะนะ ซึ่งห้วงเวลานั้น ปัญหาผลกระทบตัวอย่างจากโครงการวางแนวท่อก๊าชไทย-พม่าก็เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มชาวบ้านแล้ว แต่ฝ่ายรัฐและ ปตท. ขณะนั้นปิดปากเงียบ จึงเริ่มมีการแสดงการต่อต้านด้วยการติดป้ายผ้าคัดค้านโครงการในหลายพื้นที่ของสงขลา ความไม่ตรงไปตรงมาของรัฐในการขับเคลื่อนโครงการ และไม่ได้ลงมาพูดคุยกับชาวบ้านผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่ใช้ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารกล่อมให้คนเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต โดยไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลเส้นทางวางท่อก๊าชบนบก ซึ่งท้ายที่สุดก็ประกาศเลือกพื้นที่อำเภอจะนะ อย่างที่ชาวบ้านคาดการณ์ ทำให้เกิดการเรียกร้องให้ทำประชาพิจารณ์ และรุมล้อมรถของนายชวน หลีกภัย ขณะเดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงเบื้องต้นสัญญาซื้อขายก๊าซ JDA กับ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่อาคารอเนกประสงค์ ณ สวน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อ.เมือง จ.สงขลา สมัชชานักศึกษาภาคใต้ได้ออกมาประท้วงเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์โครงการนี้ก่อน ต้นปี 2543 ปตท. และปิโตรนาส ได้จดทะเบียนร่วมลงทุนในโครงการนี้ที่โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ ใช้ชื่อบริษัทที่ดำเนินการร่วมกันว่า ‘บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด’ แต่ท้ายที่สุด รัฐใช้อำนาจผ่านตัวแทนคือ ปตท. ขณะนั้นได้จัดตั้งคนนอกพื้นที่เข้าไปเป็นกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ผ่านการประชาพิจารณ์ ทำให้การทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 ใช้เวลาเพียง 29 นาทีก็ผ่านมติเรียบร้อย ทำให้เกิดการตะลุมบอนระหว่างกลุ่มต่อต้านและกลุ่มสนับสนุนจนบาดเจ็บกันหลายราย ทำให้กรรมการประชาพิจารณ์ที่เป็นตัวแทนของรัฐหลายส่วนมีมติให้ทำประชาพิจารณ์ใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งรุนแรงกว่าครั้งแรก เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมคัดค้าน จนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก กลายเป็นคดีความฟ้องร้องตามมามากมาย มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก็พบว่าส่งผลกระทบต่อชุมชนในหลากหลายมิติ ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ วิถีชีวิตของชาวบ้าน แม้แต่กับเสียงขันของนกเขาชวาที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจท้องถิ่น ทำให้เดือนตุลาคม 2542 ขณะขบวนรถของนายชวนและคณะที่เดินทางไปเป็นประธานร่วมกับ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่าง ‘ปตท.’ กับ ‘ปิโตรนาส’ ที่เมืองอลอร์ สตาร์ของมาเลเซีย มีชาวบ้าน นักศึกษา นักวิชาการ เอ็นจีโอ และองค์กรต่าง ๆ กว่า 500 คนเข้าแถวถือป้ายต่อต้านโครงการ และกรูเข้าล้อมขบวนรถเพื่อยื่นหนังสือคัดค้าน ต้นปี 2544 หลังพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคได้ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงเริ่มต้นรัฐบาลใหม่ สถานการณ์ในพื้นที่จะนะค่อนข้างสงบ กลุ่มผู้คัดค้านได้มีการจัดตั้งศูนย์คัดค้านโครงการ ‘ลานหอยเสียบ’ บ้านโคกสัก ต.ตลิ่งชัน อ.จะนะ และเดือนกรกฎาคม 2544 มีการก่อตั้ง ‘มหาวิทยาลัยลานหอยเสียบ’ ขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้แก่สมาชิกในชุมชน ตอนแรกชาวบ้านประเมินสถานการณ์ว่ารัฐบาลใหม่จะยอมถอย จนวันที่ 4 มกราคม 2545 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณเดินทางลงพื้นที่ศูนย์คัดค้านโครงการ ณ ลานหอยเสียบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านและรับปากว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้ภายใน 3 เดือน แต่ในที่สุดวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ออกแถลงการณ์เดินหน้าโครงการต่อไป โดยมีการเปลี่ยนแนววางท่อก๊าซออกไปจากเส้นทางเดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร ทำให้กลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านต่างออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน รวมถึงล่ารายชื่อยื่นเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง มีผู้ร่วมลงชื่อจากทั่วประเทศหลายพันคน 21-22 ธันวาคม 2545 มีกำหนดการจัดประชุม ครม. สัญจรภาคใต้ ที่โรงแรมเจบี หาดใหญ่ วันที่ 20 ธันวาคม ทางเครือข่ายคัดค้านต้องการให้นายกรัฐมตรีและ ครม. เห็นว่ามีชาวบ้านจำนวนมากไม่ต้องการโครงการ จึงให้มีการรวมตัวกันเดินทางไปยื่นหนังสือกับนายกฯ อย่างสันติ โดยจะไม่มีการประท้วงหรือก่อเหตุวุ่นวาย และไม่มีการพกพาอาวุธหรือก่อเหตุรุนแรงใด ๆ โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้นัดรวมตัวเดินทางไปรอการมาของนายกฯ ที่หน้าโรงแรมเจบี หาดใหญ่ แต่ช่วงค่ำด้เกิดเหตุการณ์เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มชาวบ้าน นักศึกษา และนักพัฒนาเอกชนขึ้น โดยเหตุการณ์สงบลงในเวลา 21.30 น. มีการจับกุมผู้คัดค้านไปรวม 12 คน ต่อมาถูกออกหมายจับและดำเนินคดีเพิ่มอีก 20 คน รวมถูกดำเนินคดีอาญาทั้งสิ้น 32 ราย และมีรถยนต์ถูกยึดไว้รวม 7 คัน เดือนมิถุนายน 2546 โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซ ไทย-มาเลเซียก็เดินหน้าต่อในพื้นที่จนสำเร็จ และติดตามมาด้วยการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าจะนะ ใช้พลังงานจากก๊าซ 2 โรง ท่ามกลางน้ำตาและความเจ็บปวดของชาวบ้าน แม้ท้ายที่สุดการต่อสู้คดีสลายการชุมนุมที่ฝ่ายตำรวจยื่นฟ้องผู้ชุมนุมคัดค้าน ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด ผู้ชุมนุมคัดค้านโครงการ 30 คนได้ร่วมกันฟ้องต่อ ‘ศาลปกครองสงขลา’ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รับผิดต่อความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเป็นเงินคนละ 20,000 บาท ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาให้ สตช. ชำระเงินแก่ชาวบ้านรายละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในคดีตำรวจสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการ ซึ่งทาง สตช. ได้อุทธรณ์คดี จนสุดท้ายเรื่องถึงศาลปกครองสูงสุด มีการพิพากษาคดีว่าการชุมนุมของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการพัฒนาดังกล่าวเป็นการชุมนุมโดยสงบ และการที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพชุมนุมโดยสงบต่อไปได้ ดังนั้น สตช. จึงต้องรับผิดชอบ โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีรวมกัน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และจากคำตัดสินที่สุดของ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ นี้เองทำให้ผู้ชุมนุมยื่นฟ้องคดีอาญาต่อ พล.ต.อ.สันต์กับพวกรวม 38 คน ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ แม้ว่าท้ายที่สุดเมื่อ 3 ธันวาคม 2562 ศาลฎีกาพิพากษายืนยกฟ้อง พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ และพวกทั้งหมดในคดีที่ชาวบ้านและเอ็นจีโอร่วมกันฟ้องเป็นเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย แต่จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด จึงเป็นการยืนยันว่าการลุกออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดของประชาชนตัวเล็ก ๆ คือสิทธิอันชอบธรรม   โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ “เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา เพียงการพัฒนาไม่มีเสียงของประชาชน” นี่คือคำยืนยันของ ‘ไครียะห์ ระหมันยะ’ ลูกสาวชาวประมงจากบ้านสวนกง ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา เมื่อปี 2563 เธอมีอายุเพียง 17 ปี เริ่มต้นนั่งประท้วงที่ศาลากลางจังหวัดสงขลาเพื่อให้รัฐยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ก่อนได้สมญานามว่า ‘ลูกสาวแห่งทะเล’ และเดินทางสู่ทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพมหานคร เป็นระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร เพื่อยื่นจดหมายถึง ‘ปู่ประยุทธ์’ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ความหวังสุดท้ายของเธอและชาวจะนะในการเรียกร้องให้ยกเลิกมติ ครม. ให้เมืองจะนะเป็นเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยพื้นที่ 3 ตำบล นาทับ ตลิ่งชัน สะกอม รวมพื้นที่ทั้งหมด 16,753 ไร่ เพื่อทวงคืนพื้นที่สีเขียวให้กับชาวบ้าน ปรากฏการณ์ของไครียะห์ทำให้สังคมไทยหันกลับมาเพ่งความสนใจกับโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และเธอถือเป็นคนจะนะเจเนอเรชันใหม่ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องภายใต้ความขมขื่นที่บ้านเกิดของเธอตกเป็นเป้าหมายของรัฐอีกครั้ง โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ มีที่มาจาก ‘โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ ของรัฐบาล คสช. เมื่อปี 2559 ที่ต้องการเปลี่ยน 3 พื้นที่ ได้แก่ อ.เบตง จ.ยะลา, อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษ ด้วยการตั้งเป้าว่าจะขยายรายได้ให้กับผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ แต่แล้วเมื่อปี 2562 ครม. ก็อนุมัติให้ อ.จะนะ จ.สงขลา กลายมาเป็นพื้นที่แห่งที่ 4 ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ ด้วยการนำของกิจการเอกชน 2 บริษัท ได้แก่ TPIPP และ IRPC และได้อนุมัติงบลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยที่ไม่ได้พูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน การเป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจทำให้โครงการลงทุนได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตามกฎหมายหลาย ๆ ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนขนาดใหญ่ พื้นที่จะนะ 3 ตำบลจะถูกเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่มีท่าเรือน้ำลึก เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้า เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเตล็ด รวมถึงเขตอุตสาหกรรมหนักและเบาต่าง ๆ โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้พบว่ามีการปั่นราคาที่ดิน ทำธุรกิจกว้านซื้อที่ดินอย่างกว้างขวางเพื่อปล่อยขายให้กับทางบริษัทผู้รับผิดชอบนิคมอุตสาหกรรม โดยชาวบ้านรู้ว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายของนักการเมืองที่มีตำแหน่งอยู่ในรัฐบาล แถมการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการจ้างงานแสนตำแหน่งที่ขัดแย้งกับวิถีชีวิตคนพื้นที่โดยใช้บทเรียนจากโครงการโรงแยกก๊าชก็พบว่าไม่มีทางเป็นไปได้จริง     ปลายปี 2563 ชาวจะนะในชื่อ ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ เคยขึ้นมาปักหลักชุมนุมประท้วงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่กรุงเทพฯ แล้วครั้งหนึ่ง โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐยุติโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมืองและการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ในทันที เพื่อหยุดมรดกอันอัปยศอันไม่ชอบธรรมที่ส่งต่อมาจากระบอบ คสช. และให้รัฐบาลจัดให้มีการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA อย่างรอบคอบ เพื่อสร้างชุดข้อมูลทางวิชาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจต่อแนวทางและโครงการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคใต้ต่อไป กระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม 2563 มีตัวแทนของรัฐบาล คือ พ.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรขณะนั้นลงไปเจรจา รับปากชาวบ้านเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะชะลอโครงการ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจนได้ข้อสรุปว่าการดำเนินการที่ผ่านมาถือว่าทำผิดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้มีการทำหนังสือถึงศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้ยุติโครงการเป็นการยุติชั่วคราว แต่ชาวบ้านพบว่า หน่วยงานตัวแทนรัฐบาลในพื้นที่ยังเดินหน้าจัดทำกระบวนการแก้ไขผังเมืองเพื่อเปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียวให้กลายเป็นพื้นที่สีม่วง ซึ่งเป็นสำหรับประกอบอุตสาหกรรม และมีการเดินหน้าจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA, EHIA) ทั้ง 4 โครงการ ของบริษัท TPIPP ซึ่งผิดเงื่อนไขข้อตกลงที่ได้มีการลงนามกันไว้ นั่นเป็นที่มาเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ก่อนชาวบ้านเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ ต้องเผชิญเหตุสลายการชุมนุมล่าสุด และกระหน่ำซ้ำด้วยการพูดของคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีว่า “ไม่ได้เป็นคนตกลง ไม่ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สลาย แต่กลัวโรคโควิด-19 ระบาด” และคำพูดของนักการเมืองชาวจะนะที่มีตำแหน่งอยู่ใน ครม. ว่า “พื้นดินจะนะเป็นดินทรายปลูกได้แต่แตงโม” คือคมมีดที่เสียดแทงลงในหัวใจของชาวจะนะ เมื่อไม่มีสัญญาณว่ารัฐจะยุติโครงการนี้ ทำให้พวกเขาปักหลักสู้ต่อแม้จะถูกกดดันด้วยคดีความให้ยุติการชุมนุม คนจะนะกางมุ้งนอนกันบนเกาะกลางถนนหน้าสำนักงานสหประชาชาติ เผชิญกับความน่าอดสูที่รถน้ำของ กทม. ทำทีฉีดน้ำรดน้ำต้นไม้แต่ปล่อยน้ำใส่มุ้งชาวบ้านที่กางเรียงรายหลายสิบหลังโดยไม่ทราบเจตนา ราวกับการกลั่นแกล้งขับไล่ผู้ประท้วงรัฐบาล ลดทอนด้อยค่าเป็นเพียงกลุ่มคนน่ารำคาญ ชะตากรรมของคนจะนะ เป็นตัวอย่างของคนตัวเล็ก ๆ ที่ลืมตามาดูโลกแต่ไม่อาจวาดฝันอนาคตของตนเองในผืนดินบ้านเกิดได้ พวกเขาจึงต้องลุกขึ้นสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า แลกหยดน้ำตาและสายเลือดเพื่อทวงสิทธิ์การกำหนดอนาคตตัวเอง แม้ยังไม่รู้จุดจบ แต่ก็ยังสู้ต่อไป เพื่อใช้บทเรียนนี้เป็นกรณีศึกษาให้คนไทยท้องถิ่นอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ตื่นรู้ถึงทิศทางการพัฒนาประเทศที่ไม่มีเสียงของประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม และอำพรางผลประโยชน์ของกลุ่มทุนและนักการเมืองภายใต้วาทกรรมการพัฒนาที่สวยหรู คนจะนะจึงต้องออกมาต่อสู้อย่างที่กำลังทำ   อ้างอิง: ลำดับเหตุการณ์ ปราบขบวนการค้านท่อก๊าซ ...รัฐผิด ต้องชดใช้ https://prachatai.com/journal/2006/06/8577 อธิบายแบบละเอียด ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ มีที่มาอย่างไร ทำไมประชาชนถึงต้องออกมาประท้วง? https://thematter.co/brief/130811/130811 17 ปี ‘เหตุสลายม็อบท่อก๊าซไทย-มาเลย์’ ปิดทุกคดี-เปิดทางสู้สู่...ชัยชนะประชาชน! https://mgronline.com/south/detail/9620000121498 รายการการพิจารณาศึกษา ของคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อมของวุฒิสภา โครงการท่อส่งก๊าชธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และโรงแยกก๊าชธรรมชาติไทย-มาเลเซีย https://www.senate.go.th/document/Ext2191/2191694_0002.PDF ฉัตรไชย รัตนไชย: รายงานความคิดเห็นของประชาชน โครงการท่อส่งก๊าชธรรมชาติ และโรงแยกก๊าชธรรมชาติไทย-มาเลเซีย: กรณีความคิดเห็นต่อสื่อสิ่งพิมพ์   https://kb.psu.ac.th/psukb/bitstream/2553/4156/38/ap9_1.pdf เหตุสลายการชุมนุมจะนะรักษ์ถิ่น ย้อนดูคำสัญญาที่รัฐให้ไว้ https://www.springnews.co.th/spring-life/818832   เรื่อง: กัณฐ์ นครสุขาลัย ภาพ: Nation Photo