13 ธ.ค. 2564 | 16:25 น.
ภาพ: https://www.facebook.com/MissUniverse/posts/487048159453274
คำตอบของฮาร์นาซที่มัดใจกรรมการ ใครที่ได้ติดตามการประกวดมาตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งเดือนจะพบว่าฮาร์นาซเป็นผู้เข้าประกวดที่มีใบหน้าสวยโดดเด่น และสเต็ปการเดินแบบเป๊ะปังจนเป็นที่จับตามอง แต่นั่นไม่ใช่ปัจจัยประการเดียวที่ส่งผลให้เธอคว้ามงกุฎในการประกวดครั้งนี้ เพราะทักษะรวมทั้งเนื้อหาการตอบคำถามของเธอก็ทรงพลังและไม่เป็นสองรองใคร เธอให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อนว่า “หัวใจของฉันแตกสลายเมื่อต้องมองเห็นปัญหามากมายที่เกิดขึ้นกับธรรมชาติของเรา ทั้งหมดนั้นเกิดจากพฤติกรรมของพวกเราทุกคนที่ไม่คำนึงถึงความรับผิดชอบ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำให้มาก และพูดให้น้อย เพราะแต่ละการกระทำของเรานั้นอาจจะทำลายล้างและช่วยเหลือธรรมชาติให้รอดพ้นได้เลยทีเดียว การป้องกันและปกป้องย่อมดีกว่าสำนึกผิดและแก้ไขแน่ ๆ เราทุกคนมาร่วมมือกันเถอะค่ะ” และคำแนะนำของเธอต่อเด็กสาวในรอบ 3 คนสุดท้าย “ฉันคิดว่าความกดดันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวัยรุ่นในปัจจุบันคือการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง การตระหนักรู้ถึงความโดดเด่นของตัวเองทำให้คุณเป็นคนงดงาม หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และสนใจใฝ่รู้ในเรื่องสำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก นั่นคือสิ่งสำคัญที่พวกคุณต้องเข้าใจ รวมถึงเปิดเผยตัวตนและพูดเพื่อตัวเอง คุณคือผู้นำชีวิตของตัวคุณ คุณคือกระบอกเสียงของตัวคุณ และเพราะฉันเชื่อมั่นในตัวเอง ฉันจึงมายืนตรงนี้ได้” ถือว่าเป็นนางงามอีกคนที่คว้าชัยชนะไปอย่างไม่ค้านสายตา เพราะสิ่งที่เธอพูดบนเวทีไม่ได้ฝืนหรือต่างไปจากสิ่งที่เธอยึดถือหรือปฏิบัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม และนี่คืออีกครั้งหนึ่งที่ตอกย้ำว่าคุณค่าความงามต้องมาพร้อมกับความเชื่อในหลักสากลโลกและความศรัทธาต่อความเป็นมนุษย์ ประเด็นดราม่าเกี่ยวกับ #RealSizeBeauty ของแอนชิลี ถือเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันมากในบ้านเราถึงแคมเปญ #RealSizeBeauty ที่ตัวแทนสาวไทย ‘แอนชิลี สก็อต-เคมมิส’ นำไปใช้สื่อสารกับชาวโลกเพื่อบ่งบอกถึงตัวตนและจุดมุ่งหมายของเธอในการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งนี้ ในช่วงแรกของการประกวด แคมเปญ #RealSizeBeauty ได้รับความสนใจอย่างล้นหลามจากแฟน ๆ นางงามและสื่อทั่วโลกที่ให้ความสนใจกับการประกวดมิสยูนิเวิร์ส ซึ่งนั่นทำให้แอนชิลีมีพื้นที่ในสื่อค่อนข้างมาก และโพลจากหลาย ๆ แหล่งยกให้เธอเป็นหนึ่งในตัวเต็งที่อาจคว้ามงกุฎในการประกวดครั้งนี้ แฟนนางงามเริ่มมีกำลังใจมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากแอนชิลีเป็นคนหนึ่งที่ถูกกองประกวดและสปอนเซอร์เรียกไปทำกิจกรรมบ่อยมาก ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าหากนางงามคนไหนได้รับความสนใจมากขนาดนี้ ก็มักจะมีโอกาสเข้ารอบลึก แต่จนถึงคืนวันประกวดรอบพรีลิมมินารี่ (preliminary) ซึ่งถือเป็นรอบที่สำคัญรองจากวันประกวดจริง แอนชิลีเลือกที่จะใส่ชุดราตรีรัดรูปสีทองเลื่อมแวววาว เป็นชุดที่เปิดเผยเนื้อหนังมังสาและเรือนร่างอย่างเต็มที่ ฉีกกฎเกณฑ์และทฤษฎีการอำพรางสัดส่วนของเสื้อผ้าสตรีแบบที่เราอาจคุ้นชิน ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่า แอนชิลีและทีมงานกองประกวดของไทยคาดหวังว่าจะดันประเด็น #RealSizeBeauty ไปให้สุดทาง โดยเลือกความเสี่ยงสุดสูด และไม่มีคำว่า play safe อยู่ในสมการของเกมการต่อสู้ครั้งนี้ แต่กระนั้น แฟนนางงามหลายคนที่ยังยึดติดกับภาพจำของนางงามแบบขนบก็วิพากษ์วิจารณ์เรื่องรูปร่างของเธอ รวมถึงเสื้อผ้าที่หลายคนคาดหวังว่าแอนชิลีจะสวมชุดที่ ‘ดี’ และ ‘เหมาะ’ กับเธอมากกว่านี้ ถึงขั้นมีกูรูนางงามชื่อดังท่านหนึ่งให้ความคิดเห็นว่า รูปร่างแบบแอนชิลีนั้นไม่มีทางเข้ารอบ ประเด็นการ ผ่าน/ไม่ผ่านเข้ารอบของแอนชิลีในห้วงเวลาที่ผ่านมาจึงแทบจะกลายเป็นการเดิมพันของชะตากรรมความงามแบบ #RealSizeBeauty ในสังคมไทยไปเลยทีเดียว อีกเรื่องหลายคนตั้งข้อสังเกตกับผลงานของแอนชิลีในวันประกวดรอบพรีลิมฯ คือความมั่นใจในการนำเสนอตัวตนของเธอที่ดูจะลดน้อยถอยลงไปจากตอนประกวดในประเทศ ซึ่งไม่ว่าสาเหตุจะเกิดจากความเหนื่อยล้าจากการเก็บตัว ความกังวลในข้อบกพร่องที่เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือคำพูดโจมตีและบั่นทอนกำลังใจของกลุ่มคนที่ไม่ชอบ แต่ทั้งหมดนั้นคือบททดสอบความแข็งแกร่งของจิตใจและภูมิคุ้มกันต่อแรงเสียดทานซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นมากของคนจะมาเป็นตัวแทนประเทศที่เรื่องนางงามคือวาระแห่งชาติ แม้ว่าผลการประกวดจะเฉลยออกมาแล้วว่า แอนชิลีไม่สามารถผ่านเข้ารอบ 16 คนสุดท้ายได้ แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า #RealSizeBeauty ได้สร้างปรากฏการณ์ในการประกวดจนเป็นที่สนใจระดับโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงทัศนคติความงามในสังคมไทยของเราไม่ว่าจะมากหรือน้อยก็ตาม ซึ่งในแง่หนึ่งก็ถือว่าความตั้งใจของแอนชิลีสัมฤทธิผล แม้ว่าเธอจะไม่สามารถคว้ามงกุฎมาฝากแฟนนางงามชาวไทยได้ก็ตาม บทวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจเหตุใดไทยไม่เข้ารอบ หากจะให้วิเคราะห์ถึงผลการตัดสินของผู้เขียนบทความในฐานะผู้ที่ติดตามการประกวดมิสยูนิเวิร์สอย่างจริงจังมาหลายปี ผู้เขียนรู้สึกเสียดายเหมือนกับแฟนนางงามคนอื่น ๆ และยังคงเชื่อว่าแอนชิลีเป็นผู้หญิงที่มี ‘คุณสมบัติ’ จะเป็นมิสยูนิเวิร์สได้ โดยเฉพาะมิสยูนิเวิร์สในยุคที่ WME-IME เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ (ตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา) ซึ่งพยายามนำเสนอผู้หญิงที่มีความคิดความอ่านก้าวหน้าและมีเรื่องราวที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่น ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กสาว แต่สิ่งที่คู่ขนานกับ ‘คุณสมบัติ’… นั่นคือ ‘ความพยายาม’ จนถึงเข้าขั้น ‘ทะเยอทะยาน’ หรือที่แฟน ๆ นางงามมักเรียกกันว่า ‘ความกระหายมง’ ซึ่งมันจะแสดงออกชัดเจนผ่านสายตา การพูดการจา ความมั่นใจในแต่ละก้าวเดิน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวใจที่ไม่หวาดหวั่นต่ออคติหรือคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ซึ่งหากเรามองย้อนไปที่มิสยูนิเวิร์สคนก่อน ๆ หน้า (โดยเฉพาะในช่วงการประกวดมิสยูนิเวิร์ส WME-IMG ถือครองลิขสิทธิ์) เราจะพบว่าผู้ชนะแทบทุกคนล้วนแล้วแต่มีจิตวิญญาณความเป็นนางงามและแสดงออกซึ่ง ‘ความกระหายมง’ อย่างเห็นได้ชัด ‘แนท อนิพรณ์’ ตัวแทนสาวไทยปี 2015 เคยให้สัมภาษณ์ว่าผู้ชนะในปีของเธอ (Pia Alonzo Wurtzbach จากประเทศฟิลิปปินส์) ทำทุกอย่างในการประกวดเต็มที่สุดชีวิต เสมือนคนที่วิ่งฝ่าขวากหนามได้โดยที่ไม่กลัวบาดแผลใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เราคงต้องยอมรับตรง ๆ ว่า ‘ความกระหายมง’ ของแอนชิลีที่สะท้อนออกมาตลอดช่วงเก็บตัวอาจจะยังไม่ชัดเจนมากนัก ซึ่งหากย้อนกลับไปที่ที่มาของเธอก็คงพอจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ แอนชิลีเคยเล่าให้ฟังว่า เธอเองก็เคยฝันอยากเป็นนางงาม แต่ฝันของเธอไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น เนื่องจากเธอคิดว่ารูปร่างของเธอไม่ได้ตรงกับนิยามความงามในอุดมคติ แต่โชคดีที่เธอได้บังเอิญเจอกับพี่เลี้ยงที่มองเห็นความเป็นไปได้ในตัวเธอ เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมประกวด ฉะนั้นพลังใจที่สั่งสมมาด้วยระยะเวลาแทบไม่ถึงปีนี้ (หรืออาจไม่เกินสองปี) จึงอาจจะไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ ที่สั่งสมไฟแห่งความกระหายมงนั้นมาหลายปี เมื่อคุณสมบัติมาไม่พร้อมกับ ‘ความกระหายมง’ ผลลัพธ์จึงออกมาไม่เป็นดั่งที่หลายคนคาดหวัง อย่างไรก็ตาม ผลการตัดสินที่ออกมาไม่ได้หมายความว่าแอนชิลีสวยหรือมีคุณค่าน้อยกว่านางงามคนอื่น หรือความงามแบบ #RealSizeBeauty จะด้อยค่ากว่าความงามแบบขนบแบบที่หลายคนนำมาเดิมพัน เพราะอย่างนางงามจากแคนาดา Siera Bearchell ผู้เคยเสนอประเด็นเดียวกับแอนชิลีก็เคยทำสำเร็จในการผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายไปแล้วในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2016 สุดท้าย ผู้เขียนอยากจะบอกกับทุกคนว่า การประกวดนางงามเป็นสื่อบันเทิงชนิดหนึ่งที่พยายามแปรผันตัวตนของมันจากที่เคยเป็นการสร้างมาตรฐานความงามในอุดมคติสู่การสร้างความแข็งแกร่งและกำลังใจในการดำรงชีวิตของผู้หญิงและเชิดชูความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งมากกว่าความสนุกสนานเพลิดเพลินหรือการลุ้นให้กำลังใจแฟนนางงามที่ตัวเองชื่นชอบ เราควรเสพย์สุนทรียะของสื่อบันเทิงนี้ด้วยเจตนารมณ์ที่ดีของมันด้วยเช่นกัน เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์ ภาพ: https://www.facebook.com/MissUniverse/posts/487048159453274 อ้างอิง: https://youtu.be/4ttMiYe-lk0 https://youtu.be/_zqmo2cl8g4