read
business
16 ธ.ค. 2564 | 14:05 น.
อัลอลิศ หะยีอาแว : หนุ่มปัตตานีผู้ ‘กลับบ้าน’ มาเปิดคาเฟ่ ด้วยความตั้งใจจะเติบโตไปพร้อมกับผู้คนในปัตตานี
Play
Loading...
“เราเคยขับรถผ่านไปแล้ว สักพักหนึ่ง ตู้มมม! ได้ยินมาจากด้านหลัง ตอนนั้นก็กลัวเพราะเรายังเด็ก เรามองว่าเขาจู่โจมใครก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ภาพเหตุการณ์มันชัดว่าเขาจู่โจมใคร คนที่วางแผนเขามีอะไรยังไง ก็เลยคิดว่าชีวิตตัวเองไม่ได้ทำอะไรที่มันเป็นจุดสนใจหรือเป็นเป้าหมายของเขาอยู่แล้ว
“หรือแม้แต่ตอนเป็นครูอยู่นอกเมือง มันก็มีนะ ระเบิดใต้ถนน แต่ไม่ใช่จังหวะที่เราผ่านไปพอดี หรือแม้แต่แจ็กพอตจริง ๆ คือเราไปอยู่ในจุดที่เขาวางแผนไว้แล้ว เหมือนเราซื้อหวยจะถูกวันไหนเรายังไม่รู้เลย แต่ถ้าถูกก็คือรางวัลใหญ่มาก”
อัลอลิศเล่าย้อนถึงภาพทรงจำในวัยเด็ก เขาไม่ปฏิเสธว่าความรุนแรงมีอยู่จริง แต่ภาพจากสื่อตลอดหลายปีที่ผ่านมาอาจทำให้บางคนเข้าใจว่าทุกพื้นที่ของสามจังหวัดตกอยู่ในอันตรายร้ายแรงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งที่จริงแล้วน้อยครั้งที่พวกเขาจะมีโอกาสพบเห็นเหตุการณ์นั้น ยิ่งปัจจุบันสถานการณ์ยิ่งเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หากภาพเก่ายังคงถูกฉายซ้ำจนหลายคนจดจำและ ‘กลัว’ การเดินทางมาเฉียดใกล้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
‘อัลอลิศ หะยีอาแว’
คือชาวปัตตานีโดยกำเนิด ย้อนไปในวัยเยาว์ เขาไม่ต่างจากเด็กวัยรุ่นอีกหลายคนที่ออกเดินทางไปร่ำเรียนและทำงานไกลบ้าน แต่ท้ายที่สุด เขาก็ตัดสินใจ ‘กลับบ้าน’ และเปลี่ยนสายงานจากวิชาชีพครูมาทำธุรกิจด้วยความตั้งใจอยากใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง พร้อม ๆ กับส่งเสียงบอกผู้คนว่า ปัตตานีไม่ได้น่ากลัวหรือมีเพียงความรุนแรงอย่างที่หลายคนเข้าใจ
การเดินทาง ‘จาก’ บ้านเพื่อ ‘กลับ’ บ้าน
อัลอลิศโตมาในครอบครัวที่ไม่ได้คาดหวังว่าเขาต้องทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งเป็นพิเศษ เขารู้เพียงว่าความสนุกในวัยเด็กคือการถือกล้องกดชัตเตอร์ตามสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองปัตตานี หากไปที่ไหน อัลอลิศเป็นต้องมีกล้องติดไม้ติดมือไปด้วย โดยช่วงวัยนั้นเขาไม่รู้เลยว่าการถ่ายภาพจะกลายเป็นอาชีพหนึ่งได้เช่นเดียวกัน อาชีพที่เขาใฝ่ฝันจึงเป็นพาณิชย์นาวีที่ได้ออกทะเลเดินทางไปไกลจากบ้านเกิด
“ช่วง ม.ปลาย แค่รู้สึกว่าอยากไปไกล ๆ เป็นพาณิชย์นาวี ได้ล่องเรือไปต่างประเทศ ได้ออกไปเที่ยว เราคิดแค่นั้น ก็มีช่วงหนึ่งที่ไปลงสนามสอบ ก็สอบได้บ้างไม่ได้บ้าง จนเราได้ทุนเรียนครู ทีนี้คุณอาที่สนิทกัน เขาก็บอกว่า เรียนครูสิ อนาคตครูค่อนข้างหางานได้ง่ายในบ้านเรา ตำแหน่งครูในอนาคตก็จะขาดเยอะ ก็เลยตัดสินใจเรียน”
เมื่อตัดสินใจเบนสายจากท้องทะเลสู่มหาวิทยาลัยในจังหวัดนครปฐม เมืองที่ผู้คนส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ อัลอลิศเริ่มได้รับรู้มุมมองของผู้คนต่อ ‘ภาพลักษณ์’ ของสามจังหวัดชายแดนใต้
“ตอนไปเรียนแรก ๆ ด้วยโครงหน้า สีผิว มันเป็นจุดสนใจอยู่แล้วเพราะไปเรียนนครปฐม ส่วนใหญ่เพื่อนนับถือไทย-พุทธอย่างนี้ เขาก็มีแซวประมาณว่า มาจากปัตตานี เอาระเบิดมาด้วยหรือเปล่า เป็นผู้ก่อการร้ายแฝงตัวมาหรือเปล่า แต่เราก็ไม่ได้คิดมากหรือไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะเรามองว่ามันเป็นเรื่องไร้สาระ เราก็พูดกับเพื่อนว่า เอ้ย! คำถามแบบนี้ถามมาได้ไง แต่มันก็เป็นเรื่องล้อเล่นในกลุ่มเพื่อน พออยู่ ๆ กันไปเขาก็เริ่มรู้จักเราเองครับ
“ตอนนั้นยังไม่ได้มองว่าอยากจะทำงานที่นครปฐมเลย ก็เรียนตามปกติ ถ้ามีเวลาว่างก็กลับมาบ้าน ไม่ได้ไปไหน แต่มาช่วงปี 4 ปี 5 ผมทำอาชีพตากล้องฟรีแลนซ์ รับจ๊อบถ่ายรูปงานแต่งงาน ถ่ายรูปรับปริญญา เลยคิดว่าโอกาสมันดี งานก็เยอะด้วย เลยอยู่เก็บประสบการณ์สัก 2-3 ปี มีต้นทุน มีเงินเก็บ ก็ค่อยกลับมาบ้าน มาทำธุรกิจอะไรสักอย่างหนึ่ง เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตลาดเกี่ยวกับงานแต่งงาน งานถ่ายรูปมันกำลังโตไปได้ดี เลยมองว่าทำงานตรงนี้ไปก่อน จะได้ไม่เหนื่อยไปหางาน เพราะว่าเรากลับบ้าน เราก็ไม่รู้จะได้งานตอนไหน
“ทีนี้ที่บ้านก็อยากให้กลับมา เพราะว่าน้อง ๆ ขึ้นไปเรียนกรุงเทพฯ กันหมดเลย เรียนที่จีนอีก แล้วแม่ก็อยู่คนเดียว เพราะแม่ก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งคือความสะดวกสบาย เราไม่ชอบนั่งรถนาน ๆ เวลาเข้ากรุงเทพฯ ที การจะไปแต่ละที่มันใช้เวลาชีวิตค่อนข้างเยอะ อยู่บนรถ 1-2 ชั่วโมง เพื่อไปในอีก 30 กิโลเมตร เรารู้สึกว่ากินเวลาชีวิตมากเลย ค่าครองชีพก็ส่วนหนึ่งที่เราต้องมานั่งคิดดูว่ากลับมาบ้านเราไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้านนะ ข้าวมื้อละ 30-40 บาทก็อิ่มแล้ว เลยคิดว่ากลับมาบ้านดีกว่าไหม”
หวนคืนอ้อมกอดของปัตตานี กับเส้นทางอาชีพใหม่
หลังเรียนจบ อัลอลิศตัดสินใจเก็บกระเป๋ากลับบ้าน โบกมือลางานถ่ายภาพฟรีแลนซ์ แล้วกลับมาเป็นครูประถมในโรงเรียนเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง จนกระทั่งวันที่การทำงานเริ่มไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เขายิ้มได้อีกต่อไป หนำซ้ำยังทำให้เขารู้สึกนับถอยหลังรอเข็มนาฬิกาบอกเวลาเลิกงานในทุก ๆ วัน
“แรก ๆ เราโอเคกับงานประจำเป็นครู แต่ช่วง 4-5 ปีหลัง ๆ เรารู้สึกว่าภาระหน้าที่เราเริ่มไม่ใช่ครูแล้ว เราเริ่มรู้สึกว่าการอยู่ในองค์กร หน่วยงานราชการ เราเจอบางอย่างที่ไม่โอเค หลาย ๆ อย่างสะสมมาติดต่อกัน ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะต้องออกมาเปิดคาเฟ่ แต่แค่จังหวะเราเจอบ้านหลังนี้ แล้วเขียนว่า ‘บ้านว่างให้เช่า’ เราก็เลยลองเข้ามาดู ลองโทรฯ ไปดู ตอนนั้นคิดว่ามันดูเป็นธุรกิจที่น่าจะเป็นไปได้ ธุรกิจพวกของมือสองเราก็เห็นอยู่แล้วละ แต่แค่มันต้องใช้ชุดข้อมูลอีกแบบ เกี่ยวกับการรู้เรื่องแบรนด์อะไรอย่างนี้ เราก็พอรู้แต่ว่าไม่ได้ลึก ก็เลยคิดว่าเราเปิดร้านอาหาร คาเฟ่ดีกว่า จังหวะนั้นก็ไม่บอกใคร บอกแค่เพื่อน ๆ ที่จะช่วยออกแบบร้าน วันที่เปิดร้านก็คือวันที่ลาออกจากงาน แต่ทำเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว วันสุดท้ายก็คือออกเลย”
ด้วยจังหวะและโอกาสที่อยู่ตรงหน้า อัลอลิศที่ไม่ได้เชี่ยวชาญด้านกาแฟ ไม่ได้มีประสบการณ์ด้านธุรกิจ ตัดสินใจเริ่มธุรกิจของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเบื้องหลังคาเฟ่ชิค ๆ ตรงหน้าย่อมแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและการเรียนรู้ใหม่แบบ 101
“เราต้องทำยังไงก็ได้ให้ร้านอยู่รอด คิดแค่นั้น”
เขาเล่าถึงช่วงแรก ๆ ที่เริ่มทำร้าน
“เราพยายามดูพวกแบรนด์ในกรุงเทพฯ เขามีวิธีการเอาตัวรอดยังไง ก็ต้องมาปรับสเกลให้เข้ากับหน้าร้านเรา แพลตฟอร์มเดลิเวอรีก็เข้ามาตั้งแต่แรกเลย แต่แค่เราทำยังไงให้มันไม่สูญเสียไปกับ GP ที่มันเก็บเพิ่มเข้ามา
“แรก ๆ ก็ไม่ได้ชอบกาแฟ แต่พอมันจำเป็นที่เราจะต้องรู้เรื่อง ก็เลยเริ่มอ่าน เริ่มดู เริ่มไปเที่ยวคาเฟ่ที่เปิดอยู่บ้าง แถวภูเก็ต พอเริ่มเก็ตไอเดียแล้วชอบกาแฟ”
Onyx รสมือแม่ และความผูกพันกับอาหาร
อัลอลิศเล่าว่า บรรยากาศการแฮงเอาท์ของหนุ่มสาวปัตตานีในช่วงวัยเรียนของเขา มักจะเป็นการรวมกลุ่มกันอยู่ในร้านโรตีหรือร้านน้ำชาเป็นส่วนใหญ่
“ด้วยความเป็นมุสลิม มันก็จะไม่มีร้านแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่เขาก็จะไปนั่งชิลกินน้ำปั่น น้ำชา แต่แค่ของที่กินเล่นมันอาจจะเป็นเมนูที่หนักขึ้น กินข้าวพวกตามสั่งของกินเล่นมาหลาย ๆ อย่าง มาแชร์กันกับเพื่อน ๆ”
ส่วนภาพปัจจุบันของเมืองปัตตานี เริ่มมีเทรนด์คาเฟ่ฮอปปิ้งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์วัยรุ่นหลายคนเช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ หรืออีกหลายจังหวัด หากเมืองปัตตานีเมื่อ 2 ปีที่แล้วยังมีคาเฟ่อยู่เพียงไม่กี่แห่ง
“เรามองว่าคนกินกาแฟทุกวัน แล้วเทรนด์มันเริ่มมา บวกกับผมชอบทำขนม ที่บ้านทำขนม ผมก็เลยซึมซับจากแม่มา เราก็มีโอกาสแค่ไปช่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ตอกไข่ใส่ถาด เราคิดภาพแล้วมันแฮปปี้ดี ช่วงก่อนจะมา
เปิด
คาเฟ่ก็มีโอกาสทำขนมขายบ้าง หรือรับทำเบอร์เกอร์โฮมเมด เราชอบกินเบอร์เกอร์ แต่มันไม่มีเบอร์เกอร์ที่เป็นเนื้อทำเอง ขนมปังทำเอง ก็เลยติดภาพเรื่องค้าขายเรื่องทำขนมมาครับ
“เราก็ดูจากหลาย ๆ ที่ ว่าอันนี้น่าจะเอามาอยู่ที่ร้านเรา อาจจะปรับให้เหมาะกับร้านเรามากขึ้น อย่างร้านเราจะไม่ใช่แบบ specialty coffee เราก็วางตัวเองเป็นเหมือน creative cafe เอานี่มาผสมนู่น ถ้าเวิร์กก็ขายต่อ ถ้าไม่เวิร์กก็ปิดเมนูนี้ไป หรือแม้แต่เรื่องอาหาร แม่เราทำกับข้าวอยู่อย่างหนึ่งอร่อยมาก เราชอบกินมาก เลยอยากเอามาให้คนอื่นได้ลองบ้าง แล้วก็ทำให้มันเป็น signature ของที่ร้าน ถ้าอาหารแม่ แม่ก็จะทำเองจริง ๆ แต่พอเมนูอื่นเราก็ใช้วิธีการให้น้อง ๆ ลงมือทำกันเอง ซึ่งเป็นเมนูง่าย ๆ อย่างเบอร์เกอร์เราก็จะมีสูตรตายตัวว่าผสมเนื้ออัตราส่วนเท่านี้ ๆ ปรุงรสยังไง ก็คือใส่แบบ fix อยู่แล้ว หรือแม้แต่ขนมก็สูตรตายตัว เรามีสูตรให้ คุณแค่มาทำอะไรอย่างนี้ แต่กาแฟก็จะมีนิด ๆ หน่อย ๆ ที่มือแต่ละคนไม่เหมือนกัน มันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
“สำหรับดีไซน์ร้านก็จะมีพี่ที่เป็นสถาปนิกที่สนิทกันอยู่ในกลุ่ม Melayu Living เหมือนกันมาช่วยออกแบบร้านนี้ให้ เราก็มานั่งคุยกันว่าควรจะเป็นแบบไหน เพราะเดิมทีบ้านนี้เป็นสีฟ้า เราก็มาทาสีใหม่ แต่ส่วนใหญ่ก็ใช้ของเดิมหมดเลย แต่ชื่อตอนแรกก็มีชื่อ Together แล้วก็พอคิดไปคิดมา ลูกค้าเรียกยากแล้วก็ซ้ำ พอร้านเป็นสีดำเราก็หาชื่อที่มีความหมายถึงสีดำ เลยกลายเป็นชื่อ Onyx ครับ”
จุดเด่นของร้านกาแฟแห่งนี้ในมุมของอัลอลิศ คือการเป็นคาเฟ่ที่มีทั้งเครื่องดื่มและอาหารในร้านเดียวกัน รวมทั้งโลเคชันในย่านเมืองเก่า
“ร้านกาแฟที่มีเครื่องดื่มและมีอาหารในตัว มันจะมีอยู่ไม่กี่ร้านในปัตตานี ถ้าให้เห็นภาพชัด ๆ จะมีสองร้านที่มันมีทั้งอาหารและเครื่องดื่มในร้านเดียวกันที่ลูกค้าเยอะหน่อย ที่ลูกค้าคิดว่ามาปัตตานีต้องมาร้านนี้นะ หรือคนปัตตานีนึกถึงร้านนี้นะ หรือร้านผมก็จะเด่นตรงที่อยู่ตรงถนนเส้นบ้านเก่า อายุประมาณร้อยกว่าปีแล้ว ตรงนี้จะคล้าย ๆ ภูเก็ตที่เป็นย่านบ้านสวย ๆ คนก็จะนึกถึงว่า Onyx เป็นร้านอยู่ตรงย่านนี้นะ”
จับมือไว้แล้ว (เติบโต) ไปด้วยกัน
แม้การเติบโตของ Onyx จะค่อนข้างไปได้สวย แต่เบื้องหลังภาพเหล่านี้ คือความร่วมมือและการเกื้อกูลกันของคนในพื้นที่ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับวิกฤตหลายคราว โดยเฉพาะช่วงการระบาดของเชื้อโควิด-19
"ที่ร้านจะเน้นไปหาน้อง ๆ ที่มีประสบการณ์หรือเรียนเกี่ยวกับด้าน ปวช. ปวส. งานสายอาชีพ เพราะเรามองว่าน้องเขามีทักษะอยู่แล้ว แต่ละคนก็มีเหตุผลไม่เหมือนกัน มีความสนใจไม่เหมือนกัน แต่เรามองว่าพวกเขาน่า support ส่วนพาร์ตไทม์ก็จะเป็นน้องที่เรียนมหาวิทยาลัย บางคนเขาก็อยากหางานเสริม
“ผมเชื่อว่าทุกคนเปิดร้านมา เราอยากให้ขายดี ประสบความสำเร็จ แต่มันมีความท้าทายอยู่แล้ว อย่างปัญหาในร้าน หรือเจอวิกฤตโควิด-19 ที่จะทำยังไงให้ร้านอยู่รอด เพราะเราต้องดูแลน้อง ๆ บางคนเขาไม่ได้พร้อมเหมือนเราที่ถ้าร้านปิดก็ยังพอมีลู่ทางหารายได้ เราก็คิดว่าทำยังไงให้ร้านไปได้ไกลกว่านี้ ก็เลยคิดว่าโอเค มีแพลนหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับร้านที่ไปร่วมแจมกับร้านอื่น
“อย่างเรามีเพื่อนทำร้านเสื้อ ออกแบบคอลเลกชันพิเศษเล่าถึงปัตตานี เราก็คุยกับน้อง ๆ แล้วว่าช่วยทำเสื้อที่เล่าถึงความเป็นปัตตานีให้หน่อย เป็นงานคอลลาจ ภาพตัดแปะ มันก็เป็นจุดหนึ่งที่เราไม่ได้อยากโตคนเดียว เราอยากชวนคนที่อยู่ระหว่างทาง หรือคนที่เรารู้จักที่เขามีโปรเจกต์อย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกาแฟมาแจมกับเรา หรือก่อนหน้านี้ก็มีจัดเวิร์กชอป calligraphy ก็มีรุ่นน้องที่ถนัดด้านนี้มาสอน”
นอกจากการเติบโตไปพร้อมกันภายในร้าน Onyx รวมทั้งกิจการอื่น ๆ ในปัตตานีแล้ว อัลอลิศยังเป็นสมาชิกของกลุ่ม Melayu Living ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งบางคราวเขาก็ใช้คาเฟ่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมด้วย
“Melayu Living ทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ผมเข้าไปทีหลัง เดิมทีก็จะเป็นกลุ่มสถาปนิก พี่ราชิต (ราชิต ระเด่นอาหมัด) ก็เปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมจากที่ให้ supplier มา showcase หรือแนะนำผลิตภัณฑ์ ก็เริ่มมาทำอีเวนต์ เริ่มมาจัดงาน talk เชิญพี่ ๆ จากกรุงเทพฯ มาให้ความรู้ มา inspire คนในพื้นที่ หลังจากนั้นก็เริ่มมาเรื่อย ๆ แล้วมันจะมีช่วงที่จัดงานใหญ่ก็คือ Pattani Decoded ร้านก็เปิดช่วงนั้นพอดี ส่วนหนึ่งของที่ร้านก็เป็น Chef
’s
Table เชิญพี่ ๆ ที่ทำอาหารค่อนข้างเก่งมาทำ Chef
’s
Table ข้างบนนี้เลย ถ้าไม่ติดโควิด-19 จริง ๆ ก็มี 1-2 ปีครั้งเพื่อให้คนเห็นว่าปัตตานีเป็นอย่างไร”
ไม่เพียงใช้พื้นที่ของ Onyx เพื่อจัดกิจกรรม และร่วมมือกับสมาชิก Melayu Living เพื่อจัดอีเวนต์สร้างสรรค์ต่าง ๆ ในเวลาต่อมาพวกเขายังกลายเป็นหุ้นส่วนที่ร่วมกันเปิดคาเฟ่แห่งใหม่ด้วยกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘
Good Slow Bar
’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของ Melayu Living
“ด้วยจังหวะด้วยครับ เพราะผมจัดงานกับ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) แล้วเห็นว่าห้องนี้มันว่างอยู่ ทำไงดี ก็เลยลองเอาอุปกรณ์ทำกาแฟที่เรามีกันอยู่แล้ว เราแค่หาซื้ออุปกรณ์ที่มัน support ให้มันเปิดร้านได้ เข้ามาเติม ๆ
“แรก ๆ คนก็ไม่ได้เยอะขนาดนี้ เพิ่งมาเยอะช่วงเดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน 2564) ปกติก็จะอยู่แค่ประมาณ 20-30 แก้วครับ หลังจากนั้นคนเริ่มรู้จักเยอะ เริ่มเช็กอิน ถ่ายรูป จนเริ่มเป็นกระแส มีช่วงหนึ่งขายได้มากกว่า 100 แก้วต่อวัน ทุกคนในทีม Melayu Living ก็เห็นพ้องต้องกันว่าเปิดกันเถอะ เลยมาแจมกันหลาย ๆ คน อันนั้นก็จะเป็นคาเฟ่ที่คนในกลุ่ม Melayu Living ร่วมกันเปิด แต่แค่มีผมที่เป็นเจ้าของร้านแถวนี้อยู่แล้วคอย management ครับ
“ตอนแรกกะจะเปิดร้านเดียว แต่พอเริ่มมีร้านที่สอง ร้านที่สาม เราต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น ผมเปิด Good Slow Bar แล้วก็เปิดร้านเบอร์เกอร์โฮมเมดอีกร้านหนึ่งด้วย คือถ้าเราวางรูปแบบมาเรียบร้อย มันก็ไม่ยาก ยากแค่ช่วงแรก ๆ ที่น้องพนักงานยังใหม่ หรือการจัดการหน้าร้านยังไม่ค่อยดีครับ”
อัลอลิศเล่าว่ากลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะมีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานที่แวะเวียนมาถ่ายรูป ดื่มกาแฟ นั่งคุยกันไม่ต่างจากคาเฟ่ในกรุงเทพฯ หรือพื้นที่อื่น ๆ แต่ด้วยคาแรกเตอร์ของปัตตานีที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยว ลูกค้าส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นคนในพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยว แต่ระยะหลัง ๆ เริ่มมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
“บางคนแรก ๆ ก็กลัวครับ ไม่เคยมาเลย แต่ไหน ๆ เหตุการณ์ก็ไม่ค่อยมีแล้ว เพราะเหตุการณ์ ภาพข่าวมันโดนลบออกจากหน้าสื่อ ก็เลยลองมาดีกว่า มันไม่ได้อันตรายขนาดนั้น คนเขาก็เริ่มกล้ามากัน แต่หลายคนต่อให้เขาพูดยังไงก็ไม่กล้ามาก็มี
“เราเคยถามเพื่อนฝรั่ง เขาเรียนปริญญาโทที่กรุงเทพฯ แล้วมีโปรเจกต์ต้องทำหนัง เขาก็เลยลงมาอยู่ปัตตานีประมาณ 6 เดือน เราถามเขาว่าทำไมชอบอยู่ที่นี่ เขาก็บอกว่าเป็นเมืองที่ nice มาก อยู่แล้วสบายใจ หรือแม้แต่ก่อนหน้านี้ก็จะมีเพื่อนเกาหลีมาอยู่ปัตตานีประมาณเกือบปีเหมือนกัน อยู่ดี ๆ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์มาจากที่อื่น เขาก็เคยกางเต็นท์นอนที่ Melayu Living ด้วย หรืออีกคนเคยมาปัตตานีเมื่อ 10-20 ปีที่แล้วอย่างนี้ อยู่ดี ๆ ก็มา แล้วก็มาเจอตามคาเฟ่ ตอนนั้นเราก็มองว่าเขาไม่ใช่คนแถวนี้แน่ ๆ เลย เลยทักไปดู อ๋อ! คนเกาหลี เขาก็มาอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ เขาชอบพวกเทปคาสเซ็ท เพราะปัตตานีจะมีร้านเทปคาสเซ็ทอยู่ร้านหนึ่ง ขายพวกเพลงพื้นบ้าน เพลงท้องถิ่น หรือแม้แต่วงในท้องถิ่นที่เขาทำเทปคาสเซ็ทออกมา เขาก็ไปดู ไปซื้อเทปซื้ออะไรมาแล้วก็ไปรีมิกซ์เอง เพิ่งผ่านมาเมื่อ 2-3 เดือนที่แล้วนี่เอง”
นอกจากมุมมองของนักท่องเที่ยว เราเอ่ยถามถึง ‘เจ้าบ้าน’ อย่างอัลอลิศว่าชอบอะไรในปัตตานี ซึ่งเขายังคงยืนยันเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คนอย่างที่ได้เล่าไปข้างต้นว่า
“เราชอบผู้คน ปัตตานีเป็นเมืองเล็ก ๆ เจอกันง่าย เจอแล้วทุกคนก็ยิ้มก็แฮปปี้ พอเปิดร้านเจอคนมากขึ้น แล้วทุกคนก็เฟรนด์ลี่ก็ดีกับเรา”
อัลอลิศเอ่ยด้วยรอยยิ้ม
ทุกสิ่งที่อัลอลิศเล่ามาข้างต้น นอกจากเป้าหมายที่ต้องการสร้างรายได้ให้ธุรกิจเติบโตไปอย่างมั่นคงพร้อม ๆ กับคนในพื้นที่แล้ว อีกเป้าหมายเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ของอัลอลิศและชาวปัตตานีอีกหลายคน คงจะเป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจให้กับผู้คนว่า ปัตตานีไม่ได้มีเพียงภาพความรุนแรงและความหวาดกลัวตลอดเวลาจนหลายคนไม่กล้าเดินทางมายังจังหวัดนี้
“แค่มีคนลงมาแล้วกลับไปเล่า อยากมาหรือไม่อยากมาก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้ามา เราก็แฮปปี้ว่าอย่างน้อยก็มีคนเปิดใจมาเที่ยวในจังหวัดปัตตานี… เราอยากปรับเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนมุมมองมากกว่า ส่วนใจก็ไม่ได้อยากเปลี่ยนมาเป็นเมืองท่องเที่ยว แค่คนเลิกมองภาพลักษณ์เราเป็นเมืองระเบิด เมืองผู้ก่อการร้ายก็พอแล้ว…”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Social
The People
ปัตตานี
Onyx Cafe
Melayu Living
Pattani
สามจังหวัดชายแดนใต้
Together