มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน

มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน
ชั้นสองของอาคารสีขาว หากขึ้นบันไดและโผล่หน้าเข้าไปในคูหา กรงสีแดงซึ่งบรรจุ - เสียบทะลุหุ่นผ้าสีนวลเนื้อ จะเป็นงานศิลปะชิ้นแรกที่ทักทายสายตาเรา หุ่นจำลองขนาดใกล้เคียงมนุษย์ ตัดเย็บจาก ‘ผ้าเลอปัส’ ผ้าที่อยู่บนเครื่องแต่งกายของคนในพื้นที่ ถูก ‘กักขัง’ ภายในกรงเหล็กสีแดงเชื่อมดำ หนำซ้ำยัง ‘ทรมาน’ หุ่นผู้อยู่ภายในด้วยเหล็กแหลมทิ่มแทงตลอดหัว ลำตัว และร่าง - เป็นศิลปะชิ้นที่หากแม้ผ่านมาพบเห็นโดยไม่มีชุดความเข้าใจว่าผลงาน ‘Torture in Patani’ นี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ‘STOP! TORTURE’ ซึ่งจัดขึ้นที่ ปัตตานี อาร์ตสเปซ นั้นสะท้อนถึงการซ้อมทรมานในสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็ยังให้ความรู้สึกเจ็บปวดและขื่นเค้นของการถูกจำกัดเสรีและทารุณไร้ยุติธรรมได้อย่างเต็มเปี่ยม หลังใช้เวลาซึมซับความรู้สึกจากผลงานทั้งเจ็ดชุดของเจ็ดศิลปิน หากท้องหิวหรืออยากดื่มน้ำดับกระหาย ภายใต้ที่ดินผืนเดียวกัน ก็มีอาคารไม้หลังเล็กและโซนเอาต์ดอร์ที่ควบรวมเป็นคาเฟ่กลางนา ที่สามารถสั่งอาหารและเครื่องดื่มมารับประทาน พลางชมฟ้า ชมวิว หรือเล่นกับแมวเจ้าถิ่นสวมปลอกคอที่มาคลอเคลียได้ ความพิเศษของร้านอาหารและคาเฟ่แห่งนี้ คงจะเป็นการที่พนักงานในร้านล้วนเป็นศิลปินผู้สร้างงานศิลป์ เป็นนักศึกษา หรือสำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเป็นเจ้าของผลงานที่จัดแสดงอยู่อาร์ตสเปซนั่นเอง ผู้เขียนจึงได้พบ ‘มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ’ หรือ ‘ตอฮา’ ศิลปินหนุ่มวัย 28 ปี เจ้าของผลงานกรงขังหุ่นผ้า ‘Torture in Patani’ และพูดคุยถึงชีวิตศิลปินในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในบรรยากาศสบาย ๆ ที่โอบล้อมด้วยสีเขียวของต้นไม้ใบหญ้า และสีฟ้าของทะเลเมฆเบื้องบน มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน หุ่นยนต์บนกระดาษและการละหมาดในรังเรือน ‘มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ’ คือชื่อที่ครอบครัวมอบให้เด็กชายเมื่อแรกลืมตาดูโลก ‘ตอฮา’ เกิดที่นราธิวาส ในวิถีชีวิตที่ผูกพันแน่นแฟ้นกับพระเจ้า ตอฮาและพี่น้องต่างเล่าเรียนในโรงเรียนศาสนาอิสลามกระทั่งจบชั้นมัธยม ตอฮาเล่าว่าเขาค่อนข้างแตกต่างจากพี่ชายหนึ่งคน และน้องสาวของตน ตอฮาชอบวาดรูปมาตั้งแต่จำความได้ เขาวาดรูปรถคันใหญ่ หุ่นยนต์ในจินตนาการ และตัวการ์ตูนอย่างไอ้มดแดงลงกระดาษ กระนั้น ตอฮาเล่าว่าเขายังไม่ได้เรียนรู้ให้ลึกซึ้งถึงคำว่า ‘ศิลปะ’ จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในวัยที่ต้องเลือกเส้นทางชีวิต ตอฮาบอกครอบครัวว่าเขาอยากเรียนศิลปะ แม้จะมีคำทัดทานอย่างห่วงใยจากพ่อแม่ ถึงความไม่มั่นคงของสายอาชีพที่เขาสนใจศึกษา ทว่ากลิ่นผงถ่านและฝีแปรงกลับเรียกร้องเขา ตอฮาเก็บกระเป๋า เดินทางจากนราธิวาส ข้ามจังหวัดไม่นานก็ถึงปัตตานี และกลายเป็นนักศึกษาสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่เขาคิดว่าเป็นสถานที่เดียวในสามจังหวัดที่เอื้อให้ความฝันเติบโต “ต้องแยกก่อนนะ ระหว่างชอบศิลปะ กับชอบวาดรูป ตอนเด็ก ๆ ชอบวาดรูปก็จริง แต่เราไม่เข้าใจหรอก ยิ่งเราอยู่ในพื้นที่แบบนี้ การเปิดรับทางศิลปะมันน้อยมาก ถูกสอนอย่างนั้นมาตลอด ก็เลยกล้า ๆ กลัว ๆ จนตัดสินใจมาเรียน ถึงจะชอบศิลปะ มันเหมือนกับเริ่มต้นใหม่เลย ความคิดแรก ๆ ศิลปะมันก็แค่สีน้ำมัน สีน้ำ ใส่กรอบติดผนังแล้วสวยงาม แต่จริง ๆ มันไม่ใช่ “มันไม่ใช่แค่ชอบวาดรูปแล้ว ผมอยากจะเข้าใจศิลปะ” มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน เสื่อสานและงานศิลป์ ถัดจากโซนคาเฟ่เอาต์ดอร์ ผู้เขียนได้ทราบว่าที่พักของตอฮานั้นก็อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เมื่อเขาถ้อยถามว่าอยากเห็นสถานที่ทำงานศิลป์ของเขาหรือไม่ จึงตอบรับและเดินตามไปอย่างไม่ลังเล ที่พักของตอฮาอยู่ห่างไปไม่กี่สิบก้าว เป็นอาคารปูนเปลือยที่มีหลังคากันฝน แต่ไม่มีประตู “ผมพักที่นี่ กับศิลปินอีกสองคน” คือคำบอกเล่าของตอฮา พลางชี้นิ้วให้เรากวาดสายตาไปตามพื้นที่ที่ถูกแบ่งกันอย่างเป็นสัดส่วน บนผนังเต็มไปด้วยผลงานศิลปะที่ศิลปินแต่ละคนเลือกผลงานของตนขึ้นแปะประดับเอาไว้ พื้นที่ว่างกลายเป็นที่วางผืนผ้าใบ ถังสี และอุปกรณ์อีกมากมายที่จะประกอบร่างกลายเป็นชิ้นงาน ตอฮาเล่าว่าตนเองมาอยู่ที่นี่ตามคำชวนของ ‘เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ’ อาจารย์ในคณะและผู้ก่อตั้งปัตตานี อาร์ตสเปซ ที่ต้องการให้ลูกศิษย์มีที่พัก มีงานทำ เลี้ยงตัวเองได้ ขณะเดียวกันก็ได้ทำงานศิลปะที่ตนเองรักต่อ ตอนกลางวันเขาทำงานในคาเฟ่ ส่วนช่วงพักหรือยามว่าง เขาจะกลับมาที่นี่ หยิบแท่งคาร์บอน ปาดแปรงพู่กัน ถึงเวลาพักผ่อนก็หลับนอนบนเสื่อที่ปูอยู่ตรงนั้นเอง หนึ่งในเจ้าเหมียวหลายตัวที่อาร์ตสเปซเลี้ยงเอาไว้กระโดดขึ้นตักตอฮาระหว่างการพูดคุย สร้างความเอ็นดูให้ทั้งผู้มาเยือนอย่างเรา และเจ้าบ้านที่ลูบหัวแมวตัวจ้อยอยู่ไปมา เมื่อถึงเวลา เจ้าตัวน้อยก็ลุกขึ้น เหยียดตัว และเดินอาด ๆ จากไป ตอฮาจึงได้ยื่นสมุดเล่มหนึ่งให้ ภายในบรรจุภาพสเก็ตช์ที่เขาร่างไอเดียสำหรับงานศิลป์ชิ้นต่าง ๆ เอาไว้ ผู้เขียนถามไถ่ถึงชิ้นงานมากมาย จนได้รู้ว่าในยุคหนึ่ง เอกลักษณ์ของชิ้นงานที่ตอฮาสร้างคือ ‘เส้น’ เส้นตรงมากมายสานกันขวักไขว่ กลายเป็นรูปบ้านที่ทับซ้อนกัน หนึ่งหลังเป็นไม้ไทยเก่าคร่ำ หนึ่งหลังเป็นปูนทรงโมเดิร์น ตอฮาเล่าว่าตนเองสนใจสถาปัตยกรรมมาแต่ไหนแต่ไร และสร้างผลงานชุดนั้นขึ้นมาเพื่อสะท้อนถึงการหายไปของบ้านเรือนแบบไทย ๆ ซึ่งแทนที่ด้วยตึกทรงเมือง ผลงานผ่านหน้ากระดาษพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกัน วิธีที่ตอฮาใช้ถ่ายทอดเรื่องที่อยากเล่า ก็เปลี่ยนแปลงผ่านช่วงปีเช่นกัน จากวาดเขียนบนกระดาษ ค่อยกลับกลายเป็นผลงานสามมิติที่จับต้องได้ กลายเป็นร่มเหล็ก กลายเป็นกรงขังบ้าน และกลายเป็นกรงขังคน เสียบมนุษย์ อย่างชิ้นล่าสุดที่ถูกจัดแสดงอยู่ชั้นสองของอาร์ตสเปซ จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนั้นมาจากข่าวสารที่เขาได้รับรู้อยู่นานปี ก่อเกิดเป็นภาพสเก็ตช์ในหน้ากระดาษ กลายเป็นหุ่นเย็บรูปคนขนาดเท่าฝ่ามือ ขยายเป็นหุ่นขนาดเกือบเท่าคนจริงเพื่อถูกเสียบแทงและขังในกรงใหญ่ อันอีกนัยก็สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็น ‘เส้น’ ในงานของเขาได้เช่นกัน มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน นุ่มนวลและหาญกล้า จะสร้างศิลปะจนกว่า (ชีวิตจะหาไม่) เมื่อหวนกลับขึ้นมาที่บริเวณจัดแสดงงานอีกครั้งโดยมีผู้สร้างผลงานอยู่ข้าง ๆ เราจึงเริ่มตั้งคำถามด้วยอยากรู้ว่าสารที่ตนเองได้รับจากงานหุ่นในกรงนั้นจะตรงกับสิ่งที่ตอฮาต้องการสื่อมากแค่ไหน “เราสนใจเรื่องวัสดุที่เราเอามาใช้ วัสดุที่มันคอนทราสต์กัน เหล็กมันแข็ง ผ้ายัดนุ่นมันนุ่ม มันเข้ากับเนื้อหาที่เราจะสะท้อน ที่พูดถึงการทำร้ายเสียดแทง เหล็กแข็งแทงทะลุผ้านุ่มมันให้ความรู้สึกถึงการโดนทำร้าย การซ้อมทรมาน ขณะเดียวกันมันก็ส่งผลด้านจิตใจ ร่างกายโดนทำร้ายอาจจะหายเจ็บปวด แผลอาจรักษาให้หายได้ แต่ทางจิตใจผมคิดว่าผู้โดนกระทำเขาจะไม่มีวันลืม” ‘Torture in Patani’ เป็นผลงานที่ตอฮาใช้เวลาราวหนึ่งเดือนในการสร้าง เขายัดนุ่นในผ้าและลงเข็มเย็บ เชื่อมเหล็กต่อเป็นกรง ด้วยเป้าหมายที่ว่า “เราอยากให้คนตระหนักถึงการซ้อมทรมาน ตระหนักว่ามันมีจริง มันเกิดขึ้นจริง ก่อนหน้าที่จะมีนิทรรศการนี้ แม้แต่คนสามจังหวัดเอง บางคนไม่เชื่อด้วยซ้ำว่ามีเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้น แต่พอพวกเราเล่าผ่านงานศิลปะ มันทำให้เรื่องราวของผู้ถูกทำร้าย ได้รับการพูดถึง การเผยแพร่มากขึ้น มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน “แต่ก็เคยมีคนตั้งคำถามว่า ทำงานศิลป์เกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ ถ้าคนมาดูงานแล้วรู้สึกโกรธแทนผู้ถูกกระทำ และตอบโต้กลับด้วยความรุนแรงล่ะ จะทำอย่างไร เราคิดว่าเราสร้างศิลปะเพื่อให้เกิดความตระหนักร่วมกัน และร่วมหาวิธีแก้ไขมันอย่างสร้างสรรค์มากกว่า ไม่อยากให้ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรง” ตอฮาเล่าอย่างมีความหวัง เพราะเขาเชื่อเหลือเกินว่าศิลปะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ความร่วมมือเชิงสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ เพราะแม้ว่าผลงานศิลปะหลายชิ้นจะมีเนื้อหาที่หนักแน่น ส่งผลรุนแรงกับจิตใจ แต่มันถูกเล่าออกมาอย่างละเมียดละไม และเป็นไปด้วยความตั้งใจที่อยากให้ทุกอย่างดีขึ้นจริง ๆ ผู้เขียนเริ่มพูดคุยกับตอฮาราวสิบโมงเช้า บัดนี้ พระอาทิตย์กลางศีรษะบอกเวลาเที่ยงวัน ก่อนที่ตะวันจะคล้อยไปอีกฟาก เราถามศิลปินหนุ่มวัย 28 ปีว่าตั้งใจจะสร้างศิลปะไปจนถึงเมื่อไร ในเมื่อการเลี้ยงชีพด้วยอาชีพศิลปินไม่ใช่เรื่องง่าย และในบทสนทนาราวสองชั่วโมงนั้น ตอฮาก็ยอมรับว่าการสร้างงานศิลปะในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่หลายครั้งถูกคนเมืองมองว่าชายขอบนั้นเป็นความยากที่เขาและเพื่อนศิลปินในพื้นที่ต้องฝ่าฟัน แล้วอย่างนั้นเขาคิดจะสร้างงานศิลป์ไปอีกนานไหม? ตอฮาไม่ได้กล่าวคำว่า ‘ตลอดไป’ ออกมา แต่ถ้อยคำนั้นฉายชัดในดวงตาของเขา มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ: กรงเหล็กทิ่มแทงผ้า ชีวิตและศิลปะในนิทรรศการหยุดซ้อมทรมาน “คิดว่าในวัยห้าสิบหรือหกสิบก็จะยังทำงานศิลปะอยู่ ผมว่าศิลปะนี่แหละที่เปิดโลก พาให้ผมเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้กว้างมาก และเป็นสิ่งที่เชื่อมผมเข้ากับสังคม ทำให้ผมแสดงออกตัวตน ความคิด และเล่าเรื่องราวให้สังคมฟังได้ มันไม่เกี่ยวกับรายได้หรืออะไรทั้งสิ้น ผมทำงานเพื่อสะท้อนสิ่งที่ตัวเองอยากเล่า และจะทำอย่างนั้นเรื่อยไป”