read
business
20 ธ.ค. 2564 | 15:57 น.
ฌอน - ชวนล ไคสิริ ความรัก ความฝันของดีไซเนอร์เจ้าของ POEM #อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอ้ม
Play
Loading...
ปี พ.ศ. 2544 (หรือ 2545), คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ
แสงแดดส่องพาดผ่านต้นไม้งามจามจุรี ผสานกับเสียงลมแผ่วเบาพัดผ่านใบไม้ปลิวหน้าคณะสถาปัตย์ นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งกำลังเร่งฝีเท้าจ้ำเดินไปยังคณะเพื่อให้ทันเข้าเรียนคาบเช้าวิชาบรรยายของอาจารย์ในเวลา 10 โมง แต่ก่อนจะถึงห้องเรียน เสียงโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดังขึ้น
“แจ็กเกตที่น้องเอามาฝากไว้ ขายได้ 2 ตัวแล้วนะครับ”
เสียงปลายสายสิ้นสุดลง พร้อมกับหัวใจอันพองโตของนักศึกษาหนุ่มก่อนเดินเข้าห้องเรียน เพราะเขาเพิ่งเอาเสื้อแจ็กเกต 4 ตัว ภายใต้แบรนด์ Aesthetic Theory
ที่เขาก่อตั้งขึ้นเองเพียงลำพัง ไปฝากวางขายที่ร้านเสื้อผ้าเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของโรงหนังสยามเมื่อชั่วโมงที่แล้วเท่านั้นเอง ผ่านไปเพียง 1 ชั่วโมงกลับขายได้แล้วตั้งครึ่งหนึ่ง!
แต่ความใจฟูของนักศึกษาหนุ่มคณะสถาปัตย์คนนี้ ไม่ได้จบลงแต่เพียงเท่านั้น เพราะอีก 2 วันถัดมา เมื่อเขาเปิดช่อง Channel V ปรากฏว่าแจ็กเกตที่ขายได้ในวันนั้น ไปปรากฏอยู่บนหน้าจอทีวี และคนที่สวมใส่มันคือ VJ ลูกเกด (จิรดา โยฮารา)
“แม่ มาดูเร็ว...เนี่ยเสื้อที่ทำไปไง เขาใส่แล้ว”
สองแม่ลูกสวมกอดกันด้วยความปลื้มใจ ถึงแม้ว่าอาชีพของคุณแม่จะเป็นเจ้าของห้องเสื้อ และมีลูกค้าระดับภริยาท่านทูตมาเป็นลูกค้าอยู่เป็นประจำ แต่การได้เห็นแจ็กเกตที่ลูกชายเพิ่งหัดลองทำขาย ถูกนำไปสวมใส่ออกทีวีโดยดาราสาวหน้าคม ผมยาว ผู้เป็นแม่คงอดไม่ได้ที่จะปลื้มใจกับก้าวเดินแรกของลูก ฟากลูกชายที่เพิ่งลองชิมลางวงการเสื้อผ้า ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเกินคาด
นับจากวันนั้น จนถึงวันเวลาล่วงเลยไป 20 ปี จากเด็กหนุ่มคณะสถาปัตย์ผู้ลองทำเสื้อไปฝากขายคนนั้น วันนี้เขาได้กลายเป็นหนึ่งในดีไซเนอร์แถวหน้าของแบรนด์แฟชั่นเมืองไทย ที่มีสาขาอยู่ทั้งหมด 6 สาขาในประเทศไทย (Gaysorn Village (มี 2 ร้านคือร้าน Flagship และ POEM Menswear), Siam Square One, Zen, Siam Paragon, Emporium) และอีก 1 สาขา Flagship ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน
เรากำลังพูดถึง ฌอน - ชวนล ไคสิริ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของแบรนด์ POEM
นี่คือเรื่องราวความเป็นมาของแบรนด์และเรื่องราวชีวิตที่พลิกผันจากนักศึกษาคณะสถาปัตย์ สู่การเป็นดีไซเนอร์แถวหน้าของเมืองไทย
ชีวิตวัยเด็กบนโต๊ะแพตเทิร์น
เด็กทั่วไปคงจะวิ่งเล่นในสนามหญ้า ทำการบ้านบนโต๊ะเขียนหนังสือ กินข้าวเย็นบนโต๊ะอาหาร แต่คงจะไม่ผิดนักถ้าเราจะเรียกว่าชีวิตของ ฌอน - ชวนล โตมาบนโต๊ะแพตเทิร์นของคุณแม่
“ตอนเด็ก ๆ จำได้ว่าเรียนที่อัสสัมฯ ใช่ไหม กลับมาบ้านมีการบ้านทุกวัน นั่งทำการบ้านบนโต๊ะแพตเทิร์นของแม่
“บนโต๊ะแพตเทิร์นจะมีหนังสือแบบเสื้อ มีสายวัด มีกรรไกร แล้วก็จะนั่งทำการบ้านตรงข้ามกับที่แม่ทำแพตเทิร์น เราก็จะเห็นเส้นทุกวัน ทำการบ้านเสร็จ ถ้ากินข้าวนะ ก็กินข้าวบนนั้น”
ใครจะไปเชื่อว่าตลอดทั้งชีวิตเจ้าของแบรนด์ห้องเสื้อที่สามารถขยายสาขาไปถึงต่างประเทศ เขาจะไม่เคยเรียนการออกแบบตัดเย็บใด ๆ เลย ทั้งหมดของการเรียนรู้เกิดจากการเฝ้ามองคุณแม่ทำงานปีแล้วปีเล่า เราอาจจะเรียกได้ว่าความรักในการออกแบบและทำเสื้อผ้าของฌอน มันเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว เพราะเขาซึมซับและอยู่กับมันตั้งแต่เด็กจนเกิดเป็นสิ่งที่ฝังอยู่กับตัวเขา จนกระทั่งเขามีโอกาสได้แสดงออกถึงความรักในการทำเสื้อผ้าเมื่อเข้าไปเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้เป็นหนึ่งในทีมงานละครเวทีสถาปัตย์ ตลอด 5 ปีที่เขาเรียนอยู่ที่นี่
“ตอนปี 3 ตอนนั้นเป็นประธาน costume ซึ่งมันไปตรงกับยุคประมาณปลายศตวรรษที่ 18 ในช่วงที่มันจะใกล้ ๆ กับช่วง Marie Antoinette ช่วงนั้นน่ะ โครงเสื้อก็คอร์เซ็ท แล้วปีหลังจากนั้นก็เป็น Moulin Rouge ซึ่งทุกปีความบังเอิญ 5 ปีเนี่ย สัก 4 ปีเจอละครที่ต้องทำแพตเทิร์นคอร์เซ็ท เพราะฉะนั้นปิดเทอมปุ๊บ ก็คือเปิดหนังสือแล้วก็ดูเรื่องแพตเทิร์นคอร์เซ็ท ทำให้ตั้งแต่ประมาณ 20 ปีที่แล้ว เราเริ่มมีความสนใจในเรื่องโครงสร้างของเสื้อผ้าในแบบคอร์เซ็ท แล้วก็ develop มาเป็นแบรนด์ POEM ถึงทุกวันนี้”
แล้วจากนักศึกษาสถาปัตย์ อยู่ดี ๆ จะกลายมาเป็นเจ้าของแบรนด์และดีไซเนอร์ชื่อดังเมืองไทยได้ยังไงกัน?
จากรั้วจุฬาสู่สยามสแควร์
คนหนุ่มสาวหลายคนอาจต้องใช้เวลาในการค้นหาตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่ และอยากใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตไปกับมัน แต่สิ่งนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกับฌอนเลย เมื่อรู้ตัวว่ากำลังจะเปลี่ยนสถานะจากนักศึกษารั้วจามจุรีเป็นบัณฑิต และกำลังจะต้องหางานทำเพื่อเป็นหลักเป็นฐานของตัวเอง เดิมทีเขาอาจจะเคยฝันว่าอยากจะเป็นสถาปนิก จึงได้เลือกเรียนสถาปัตย์ แต่พอได้ลองชิมลางการทำเสื้อผ้า ฌอน - ชวนลจึงเริ่มมีความฝันครั้งใหม่ คือความฝันในการเปิดห้องเสื้อเป็นของตัวเอง และเขาก็ตัดสินใจด้วยความมั่นใจว่า อาชีพทำแบรนด์เสื้อผ้าคือเป้าหมายที่เขาจะต้องทำให้สำเร็จ
“พอเรียนจบปุ๊บยังไม่ทันรับปริญญา ก็เดินหาทำเลใน Siam Square เลย เพราะว่าอยากทำ...อยากทำเสื้อผ้า”
จากการทำแจ็กเกตไปฝากขายที่ร้านบนโรงหนังสยามเป็นก้าวแรก ฌอน - ชวนล เดินก้าวต่อไปหลังจากนั้นด้วยการทยอยทำเสื้อผ้าไปฝากขาย และปรากฏว่าผู้คนตอบรับเสื้อผ้าของเขาภายในนาม Aesthetic Theory เป็นอย่างดี รายได้เดือนแรกของเขาจากการทำเสื้อผ้าไปฝากขายในตอนนั้นในขณะที่ยังเรียนไม่จบ เรียกได้ว่าไม่น้อยหน้าเงินเดือนของบัณฑิตจบใหม่ในอาชีพสถาปนิกเลย นั่นเองคือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ฌอน - ชวนลปรึกษากับคุณแม่แล้วตัดสินใจว่าจะทำร้านเสื้อผ้าหลังจากเรียนจบ
19.9.2549
บรรยากาศอันเงียบสงบ ผู้คนต่างพากันกลับบ้านจนแทบเป็นพื้นที่ร้าง คงจะเป็นภาพที่เราไม่ได้พบเห็นบ่อยนักในย่านที่มีคนพลุกพล่านอยู่เสมออย่างสยามสแควร์ แต่ปรากฏว่าภาพนั้นได้เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 วันที่ ฌอน - ชวนลเดินออกมาสำรวจพื้นที่เพื่อมองหาพื้นที่ในการทำร้านเสื้อผ้าร้านแรกของเขา เพราะวันนั้นเองประเทศไทยเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ทำให้สยามสแควร์ในวันนั้นเกือบจะร้างว่างเปล่า ฌอน - ชวนลได้เดินสำรวจทำเลในการทำร้านเสื้อผ้า เขาเหลือบไปเห็นป้ายประกาศ ‘ให้เช่า’ ของที่ว่างล็อกหนึ่งในสยามสแควร์ ซอย 2 และนั่นเป็นปฐมบทของแบรนด์ POEM
เมื่อการออกแบบงดงามดั่งกวีนิพนธ์
ถึงแม้ว่า ฌอน - ชวนลจะเริ่มต้นฝันครั้งใหม่ด้วยการสร้างแบรนด์เสื้อผ้า แต่เขายังคงหยิบยืมชิ้นส่วนจากความฝันครั้งเก่ามาประกอบติดเข้ากับฝันครั้งใหม่ของเขาอย่างแนบเนียน นั่นคือการตั้งชื่อแบรนด์ว่า POEM นั้นได้แนวคิดมาจากวิชาที่เรียนในคณะสถาปัตย์
“ในวิชาที่เรียนสุนทรียศาสตร์กับการออกแบบสถาปัตยกรรมเนี่ย มันเป็นวิชาที่แปลกมาก แล้วถ้าได้ไปนั่งเรียน เราจะ เอ๊ะ! มันมีการวิเคราะห์เรื่องแบบนี้ด้วยเหรอว่า ความงามแบ่งออกเป็นกี่ประเภทอะไรอย่างนี้ สุนทรียศาสตร์จำแนกเขาเรียก
อารมณ์สุนทรีย์ของคน
เป็นยังไง แล้วเขาก็บอกว่าความงามเนี่ยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ... คือ provocative, transformative และ poetic ก็คือความงามขั้นสูงสุดคือ poetic beauty ไง”
และนั่นคือที่มาของชื่อแบรนด์ POEM แบรนด์ที่ตั้งใจทำเสื้อผ้าให้ออกมางดงามดุจกวีนิพนธ์
เงินตรา ค่าเช่า และความกดดัน
การเดินทางตามความฝันด้วยความรักนั้นไม่ได้สวยงามและง่ายดายอย่างใจคิด กว่าจะมาเป็น POEM ในวันนี้ที่มีหลากหลายสาขาในกรุงเทพฯ แถมแผ่ขยายความงามไปไกลถึงประเทศจีน เมื่อเริ่มทำร้านเสื้อผ้าในสยามสแควร์ สิ่งที่ทำให้ฌอนต้องกังวลและกดดันในช่วงปีแรก ๆ ที่ทำธุรกิจนี้คือ ค่าเช่า!
“ทุกเช้า 6 โมงครึ่งเราจะตื่นเลย เพราะว่าเราคิดเป็นทุกนาทีว่า ค่าเช่าต้องจ่ายเท่าไร มันคือเงิน แล้วมันกลัว ด้วยความกลัวเราจะเครียด…ประมาณ 2 ปีที่เราจะเหมือนล่กอยู่ตลอดเวลากับการที่เราจะต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มันจะต้องจ่ายเงิน...2 ปีแรกจะเครียดมาก แล้วก็เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะต้องหา ค้นหาตัวเอง หาสไตล์ของตัวเอง”
แล้วอะไรกันเล่าคือสไตล์ของฌอน และ POEM?
ตามหน้าสื่อทั่วไป เราคงคุ้นชินกับแฮชแท็กสนุก ๆ ของเหล่าเซเลบริตี้ที่เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาสวมใส่เสื้อผ้าของ POEM พวกเขามักจะพากันติดแฮชแท็ก #อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอ้ม หรือ #เอวเล็ก #เอวสับ อ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจจะคิดว่าสไตล์ของ POEM คงจะเป็นเสื้อผ้าสไตล์ที่เน้นทรวดทรงองค์เอว เน้นรูปร่าง และบีบรัดอกเอวของสาว ๆ ให้เห็นเด่นเป็นทรงที่งดงามเพียงเท่านั้น แต่หากคุณถามหนุ่ม ๆ สาว ๆ เหล่าลูกค้าของ POEM ว่าอะไรคือสไตล์และลายเซ็นของ POEM เราคงได้คำตอบไปในทางเดียวกันว่า เมื่อใดที่คิดถึง POEM พวกเขาคงจะคิดถึงความละเอียดประณีต แลละเมียดละไมในการทำเสื้อ กางเกง หรือกระโปรง
อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอ้ม
หากเราวัดมูลค่าความสำเร็จของ POEM ตามจำนวนสาขา POEM คงจะถือว่าเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในด้านตัวเลข จากร้านค้าเล็ก ๆ ในสยามสแควร์ ซอย 2 สู่วันที่กิจการเสื้อผ้าแบรนด์ POEM แผ่ขยายความงามออกไปถึงแดนมังกร แต่สิ่งที่มากกว่าตัวเลขคงจะเป็นความไว้วางใจที่ ฌอน - ชวนลและ POEM ได้รับอยู่เสมอ
เรามักจะเห็นเหล่าคนดังทั้งในแวดวงวงการบันเทิง การเมือง ธุรกิจสวมใส่ชุดของ POEM อยู่เป็นประจำ จากรัฐสภาในเมืองไทยไปจนถึงงานพรมแดงในเมืองคานส์ ชุดของ POEM ได้เคยไปอวดโฉมมาแล้วทั้งสิ้น หรือจะเป็นงานในวันที่สำคัญที่สุดของหนุ่ม ๆ สาว ๆ POEM ก็ได้รับเกียรติให้เป็นส่วนหนึ่งของโมเมนต์ที่สำคัญของชีวิตพวกเขาอยู่เสมอ
นี่คงเป็นนิยามของความสำเร็จที่ความรัก ความฝัน ของดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ POEM ฌอน - ชวนล ไคสิริ ได้รับในวันที่แบรนด์ POEM และแฮชแท็กของเขาเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ แฮชแท็กที่ใคร ๆ ก็ต้องใส่ไว้ใต้รูปเมื่อสวมเสื้อของเขา #อยากขึ้นยานแม่ต้องแวร์โพเอ้ม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Business
The People
Sweet Marketing
POEM