read
interview
22 ธ.ค. 2564 | 12:47 น.
ดุจดาว พรหโมบล: Spider-Man : No Way Home กับการตลาดสายฮีโร่ของ ‘โซนี่ พิคเจอร์ส’
Play
Loading...
“เราคาดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้สูง Spider-Man : No Way Home จะเป็นจุดจบของไตรภาคสไปเดอร์แมนตั้งแต่ ‘Homecoming’ (2017) ‘Far from Home’ (2019) และ ‘No Way Home’ (2021) ตัวนี้จะเป็นตัวที่เซ็ตว่าสไปเดอร์แมนจะเป็นอย่างไรต่อไป เราไม่สปอย แต่จะบอกว่าที่เห็นในตัวอย่างหนังมันไม่ใช่ทั้งหมด”
‘ดุจดาว พรหโมบล’ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาดของบริษัท ‘โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ (ประเทศไทย) จำกัด’ (Sony Pictures Entertainment ( Thailand ) limited) บอกด้วยความตื่นเต้นหลังจากที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘Spider-Man : No Way Home’ (2021) นำแสดงโดย ‘ทอม ฮอลแลนด์’ (Tom Holland) ‘เซนดายา โคลแมน’ (Zendaya Coleman) และ ‘เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์’ (Benedict Cumberbatch) กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกตั้งแต่ยังไม่เริ่มออกฉาย
เพียงแค่ตัวอย่างหนังก็ทำเอาแฟนคลับไอ้แมงมุมตาลุกวาว เพราะนอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็น ‘บทสรุปหนังไตรภาค’ ฉบับน้องทอม เรื่องราวความตื่นเต้นของมัลติเวิร์สยังทำให้แฟน ๆ ได้ลุ้นกันอีกว่าจะมีสไปดี้จากจักรวาลอื่นโผล่มาหรือไม่ แถมเหล่าวายร้ายในความทรงจำยังได้ฤกษ์เดินขบวนกลับเข้าจอเงินให้คนดูหายคิดถึงในรอบ 20 ปี
ความยิ่งใหญ่ของภาพยนตร์สไปเดอร์แมนถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของการตลาดสายฮีโร่ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งทางโซนี่ พิคเจอร์สเองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า สไปเดอร์แมนภาคนี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์กลับมาครึกครื้นอีกครั้งหลังโรคโควิด-19 แพร่ระบาดจนทำให้โรงภาพยนตร์ปิดตัวไปนาน
The People สัมภาษณ์ดุจดาว พรหโมบล ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาดของบริษัทโซนี่ พิคเจอร์ส พูดคุยถึงภาพยนตร์ที่จะพาผู้ชมหลั่งไหลเข้าโรงอีกครั้งกับ Spider-Man : No Way Home รวมไปถึงการทำงานเบื้องหลังงานขายภาพยนตร์ การตลาดสายฮีโร่ และคิวหนังใหม่อย่าง ‘Ghostbusters’ ‘Resident Evil’ และ ‘Uncharted’ ที่จ่อรอฉายในปีหน้า
ชีวิต 20 ปีในการทำงานสายภาพยนตร์
เรียกได้ว่าเส้นทางชีวิตของดุจดาว พรหโมบล คือผลผลิตจากความคลั่งไคล้ในการชมภาพยนตร์อย่างแท้จริง เธอเริ่มต้นดูหนังจากการชักชวนของพ่อแม่ โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าสักวันมันจะกลายมาเป็นอาชีพตลอดชีวิตของเธอ
“โรงหนังสมัยเด็กที่ดูคือสยาม ลิโด สกาลา สมัยยังไม่ไฟไหม้ ตั๋วหนังเริ่มตั้งแต่ 20 บาท แพงสุดคือ 60 บาท เราดูหนังมาตั้งแต่ยุคที่มีคุณลุงขีดตั๋วหนัง พอโตมา โชคดีที่เรียนจุฬาฯ ก็มีการโดดเรียนไปดู มีโรงหนังตรงเซ็นทรัลเวิลด์ด้วย สมัยโบราณจะมีโรงหนัง EGV อยู่ที่ใต้ถุน หรือใต้ถุนมาบุญครอง โรงเมเจอร์ฯ แต่เดิมก็ทัน”
“มันคือโชคชะตา พ่อแม่พาไปแต่ก็ไม่ได้สนุก เพราะพ่อแม่จะเลือกหนังตามใจตัวเอง ส่วนพวกการ์ตูนจะเป็นวิดีโอเทปสำหรับดูที่บ้าน ไม่ค่อยได้เข้าฉายตามโรง เราได้ดูหนังตามใจตัวเองก็ตอนเรียนหนังสือ”
ความคลั่งไคล้ในการดูภาพยนตร์ที่บางวันถึงกับต้องจัดตารางการดูหนังให้ได้ถึง 4 เรื่องต่อวัน ทำให้ถึงแม้ดุจดาวจะเริ่มงานสายพีอาร์กับเอเจนซี Ogilvy Public Relations Worldwide เธอก็ยังคงใช้เวลาว่างในการชมภาพยนตร์เช่นเดิม กระทั่งมีบริษัทหนังชวนเธอเข้าทำงาน ดุจดาวจึงทำงานที่นั่นนานถึง 15 ปี ก่อนย้ายมาสู่บริษัทโซนี่ พิคเจอร์สในปัจจุบัน
เธอเล่าให้ฟังว่า บริษัทโซนี่ พิคเจอร์ส และวอลต์ดิสนีย์ พิคเจอร์สในอเมริกาถือเป็นสองบริษัทใหญ่ที่แยกกันทำงาน แต่เมื่อเปิดสาขาในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมีการรวมตัวของสองบริษัทเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง แต่หลังจากที่ทั้งสองบริษัทในประเทศไทยแยกทางกัน ดุจดาวจึงได้เริ่มทำงานที่โซนี่ พิคเจอร์สตั้งแต่นั้นมา
ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาด งานของเธอคือการทำให้คนหันมาชมภาพยนตร์ให้ได้ ซึ่งสำหรับ Spider-Man : No Way Home เธอและบริษัทก็ตั้งความหวังเอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม
บทสรุปที่ต้องดูของ Spiderman NO WAY HOME
“เราคาดหวังกับภาพยนตร์เรื่องนี้สูง Spider-Man : No Way Home จะเป็นจุดจบของไตรภาคสไปเดอร์แมน Homecoming ทั้งหมด ทอม ฮอลแลนด์ เล่น ‘Homecoming’ (2017) ‘Far from Home’ (2019) และ ‘No Way Home’ (2021) ตัวนี้จะเป็นตัวที่เซ็ตว่าสไปเดอร์แมนจะเป็นอย่างไรต่อไป เราไม่สปอยล์ แต่จะบอกว่าที่เห็นในตัวอย่างหนังมันไม่ใช่ทั้งหมด”
“ด้วยคอนเซ็ปต์ของภาคนี้จะเป็นเรื่องของ ‘พหุภพ’ (Multiverse) มีตัวร้ายเก่า ๆ กลับมา ไม่มีใครคาดเดาได้เลยว่าจะมีอะไรโผล่มาบ้างและใครดีใครร้าย”
“ถ้าเราดูพัฒนาการของ ทอม ฮอลแลนด์ ต้องบอกเลยว่าคาแรกเตอร์เขาได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงเลือกเขามาเล่นตั้งแต่ภาค Homecoming เพราะเขายังดูเด็กมาก แต่นั่นเป็นสาเหตุหลักเลยนะ เขาต้องการเลือกคนที่ดูเป็นไฮสคูลลุค เพื่อที่จะให้เติบโตไปพร้อมกับหนังแล้วจบไปพร้อมกัน”
ดุจดาวเล่าว่า การเลือกนักแสดงอย่าง ทอม ฮอลแลนด์ มารับบทตั้งแต่ต้นคือการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้าของโซนี่ พิคเจอร์ส และมาร์เวล สตูดิโอ นอกจากนี้ ด้วยระยะเวลาที่ล่วงเลยมาเกือบ 20 ปี ความคิดถึงสไปเดอร์รุ่นก่อน รวมไปถึงตัวร้ายในความทรงจำก็เพิ่มพูนขึ้น
“Dr. Otto Octavius หรือ Green Goblin ใครจะคิดว่าลุง ลุงยังไม่ตาย ‘วิลเลม เดโฟ’ (Willem Dafoe) เขากลับมา เขายังแข็งแรง ถ้าเห็นในตัวอย่างว่ามีแค่นั้นก็มีแค่นั้น แต่จริง ๆ ในเรื่องอาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ ต้องบอกว่า เขาตื่นเต้นเหมือนกัน เพราะถ้าย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เทคนิคการถ่ายทำภาพยนตร์มันไม่เหมือนปัจจุบัน ในแง่ของการปฏิสัมพันธ์มันจะไม่เหมือนกัน นักแสดงเหล่านี้เขาตื่นเต้นที่ได้กลับมา เพราะเขาได้ทำในสิ่งที่เขาไม่เคยทำ”
“แล้วดาราทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันหมดว่า ดูรอบเดียวเก็บรายละเอียดไม่หมด ทำไมมันผ่านไปเร็ว มันมองยังเห็นไม่ชัด เพราะอย่างที่บอกนี่คือภาคจบ ดาราที่เล่นบอกว่าอย่างน้อยต้องดู 3 รอบ เขาถ่ายทำช่วงโควิด-19 ด้วย มันจะถ่ายกันมาราธอนมาก แล้วเอามาปะติดปะต่อกัน พวกเขาเวลาเห็นหนังประกอบร่างก็จะตื่นเต้นเหมือนกัน”
ความยิ่งใหญ่ของสไปเดอร์แมนภาคสุดท้ายควรจะได้รับชมกันในโรงภาพยนตร์ เพราะนอกจากความพิเศษในการถ่ายทำและเอฟเฟกต์ตระการตาจะทำให้ผู้ชมอิ่มอกอิ่มใจ การดูสตรีมมิ่งก็อาจทำลายอรรถรสดังกล่าวลง
“เราเข้าใจว่าคนที่ชอบดูหนังอยู่บ้าน ต่อให้โรงหนังเปิดหรือปิด เขาก็ไม่ต้องออกมาดูที่โรง เพราะฉะนั้นโรงหนังตอบโจทย์กับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ต้องการพบเจอผู้คนและเข้าสังคมมากกว่า สตรีมมิงเหมาะกับหนังที่พักไปเข้าห้องน้ำได้โดยไม่เสียอรรถรสและคนที่ไม่อยากเข้าโรง มันตอบโจทย์กลุ่มที่ต่างกัน”
ดุจดาวอธิบายว่า ทางบริษัทต้องทำให้คนรู้สึกว่าภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงมีเหตุผลให้ผู้คนมาชม “มันมีความเร่งด่วนหรือเปล่า? มันมีอะไรสดใหม่หรือเปล่า? หนังที่เราเลือกเข้าโรงตอบโจทย์คนดูไหม? เราต้องคิดว่า ถ้าหนังเข้าที่อเมริกา เราต้องรีบเอาเข้าเลยไหม ไม่งั้นคนจะรู้สึกว่าหนังไม่สดหรือเปล่า? หรือถ้าหนังสเกลเล็กมาก เราจะเอาเข้าดีไหม? เพราะคนอาจจะคิดว่า ทำไมฉันต้องดู?”
แม้สตรีมมิ่งกำลังมาแรงและบริษัทภาพยนตร์ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่บริษัทเหล่านี้ยังมีอีกหลายแพลตฟอร์มนอกเหนือจากส่งหนังเข้าโรงภาพยนตร์ ทำให้พวกเขาไม่ได้มองว่าเป็นการรบกวนอุตสาหกรรมที่น่ากังวลนัก
“โซนี่เองก็มีด้านของโทรทัศน์ด้วยที่ขายคอนเทนต์ เราอาจจะไม่ได้มีแบบ Disney+ แต่เราก็ขายเข้าฟอร์แมตต่าง ๆ เช่นกัน” นอกจากนี้ ภาพยนตร์สายฮีโร่และเหล่า Antihero (ฮีโร่ที่ออกแนวดาร์กและแสดงความไม่สมบูรณ์แบบ) ของโซนี่ก็มาแรงครองใจผู้ชมหลายกลุ่มเช่นกัน แต่ในทางตรงกันข้าม การมาของเหล่าฮีโร่ก็ไม่ได้ไร้ความท้าทายเสมอไป
การตลาดสายฮีโร่
ดุจดาวถือเป็นหนึ่งในผู้บริโภคภาพยนตร์ที่เข้า-ออกโรงภาพยนตร์ไม่ต่างจากบ้าน ถึงแม้เธอจะมีแนวภาพยนตร์ที่ชอบเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัยจากแอคชันสู่ดรามา แต่ ‘ฮีโร่’ ก็ยังเป็นหนึ่งในแนวที่น่าสนใจเสมอ
โดยส่วนตัว ดุจดาวมักจะชอบฮีโร่ที่มีเรื่องราวชีวิต ซึ่งภาพยนตร์ยุคใหม่สร้างฮีโร่ออกมาในแง่มุมว่า พวกเขาไม่ได้เป็นคนดีโดยสมบูรณ์เสมอไป แต่พวกเขามีความเป็นมนุษย์ธรรมดาและมีอารมณ์สีเทามากขึ้น
“ปัจจุบัน คนดูเปลี่ยนไป คนทำหนังก็เปลี่ยน ผู้ผลิตพยายามทำหนังออกมาให้น่าสนใจมากขึ้น ฮีโร่เริ่มเหมือนคนธรรมดา นอกจากสไปเดอร์แมนก็ยังมีโจ๊กเกอร์ที่มีเรื่องราว ส่วนใหญ่ภาพยนตร์แนวนี้จะมาพร้อมแนวคิดอะไรบางอย่าง ให้ความบันเทิง ความตื่นตาตื่นใจ แล้วฮีโร่ก็มีหลายแบบมากขึ้น บางคนพูดหยาบทั้งเรื่อง บางคนใช้ความรุนแรง ซึ่งก็แล้วแต่ผู้ชมจะชื่นชอบ”
ดุจดาวเผยว่า ภาพยนตร์ที่ทำรายได้ในประเทศไทยโดยมากมักเป็นหนังตลาด แนวแอคชันและซูเปอร์ฮีโร่ แต่ทั้งนี้ ภาพยนตร์ทุกเรื่องก็มีการทำการตลาดที่แตกต่างกัน ไม่ใช่แค่การออกข่าวผ่านสื่อเท่านั้น
“หนังซูเปอร์ฮีโร่เองก็ไม่ใช่ขายง่ายทุกเรื่อง ต้องบอกเลยว่า ถ้าเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่ได้มีแบ็กกราวด์มาก่อนก็ต้องใช้เวลาปั้น ของโซนี่เอง เราก็ไม่ใช่สายซูเปอร์ฮีโร่ ซูเปอร์ฮีโร่ของเราส่วนใหญ่จะมีความสีเทาเยอะมาก เทาดำนะ ไม่ใช่เทาขาว เป็น Antihero เสียเยอะ อย่าง ‘เวนอม’ (Venom) และ ‘มอร์เบียส’ (Morbius) ที่ ‘จาเร็ด เลโต้’ (Jared Leto) เล่น เขาไม่ใช่ฮีโร่สายดี ต้องมีการใส่เรื่องราวลงไปให้คนรู้จัก ซึ่งนั่นแหละคือความท้าทาย ไม่ได้หมูเลย เพราะเขาไม่ใช่ฮีโร่สำเร็จรูป”
“อย่างสไปเดอร์แมนก็ด้วย แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักแล้ว แต่ลองจินตนาการว่า คนเห็นสไปเดอร์แมนมากี่รอบ เห็นมาหลายรอบแล้วนะ ตั้งแต่ภาคแรก ‘โทบี แม็คไกวร์’ (Tobey Maguire) เล่น ถึงตอนนี้ก็จะ 20 ปี มันใช้เวลานาน การทำให้คนกลับมาดูสไปเดอร์แมนทุกรอบแปลว่ามันต้องมีอะไรใหม่ ถ้าเหมือนเดิมคนก็ไม่ดู มันไม่ใช่ว่าซูเปอร์ฮีโร่จะเป็นสูตรสำเร็จเสมอไป”
ยิ่งโควิด-19 แพร่ระบาด และอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ดุจดาวเล่าว่า ทางบริษัทไม่สามารถเตรียมงานขายล่วงหน้าได้ เพราะนอกจากข้อมูลทั่วไป ทางบริษัทยังต้องรอดูกระแสในแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนเรื่องซื้อพื้นที่สื่อหรือหา KOL (Key Opinion Leader) ก็ทำไม่ได้เช่นกัน เพราะไม่ทราบว่าโรงภาพยนตร์จะเปิดเมื่อไหร่ และอะไรจะเป็นกระแสบ้าง
หลังจากรอคอยมานานปี ภาพยนตร์มากมายก็หลั่งไหลเข้าโรงแบบที่ ‘ใครเข้าได้เข้า’ เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้
อนาคตของหนังทำเงินและหนังอาร์ต
ถึงแม้หนังบล็อกบัสเตอร์ (หนังทำเงิน) หรือหนังแนวฮีโร่ จะมีการนำเข้ามาฉายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่ทางโซนี่ พิคเจอร์สก็ไม่ได้จำกัดการนำเข้าอยู่เพียงเท่านั้น พวกเขายังให้ความสำคัญกับหนังประเภทอื่น ๆ เช่นกัน โดยโซนี่มีแบรนด์ ‘โซนี่ คลาสสิก’ เพื่อนำเข้าหนังสเกลเล็ก หนังแนวอาร์ต และหนังอินดี้
“อย่าง ‘Life Itself’ (2018) ก็เป็นหนังที่ดีมาก ไม่ได้ดูยาก บางทีพอบอกว่าเป็นหนังอาร์ต คนจะคิดว่าดูยาก น่าเบื่อ แต่แท้จริงแล้วมันดีมาก อยากให้เปิดใจติดตาม ซึ่งเราเชื่อว่าพอสถานการณ์ดีขึ้น ทางโซนี่เองก็คงจะมีการเอาโซนี่ คลาสสิกกลับมา หนังดี ๆ ที่เมืองนอกได้ดู เราจะได้ดูด้วย”
ดุจดาวเล่าว่า ทางโซนี่ร่วมมือกับ ‘House’ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่สามย่านในการฉายภาพยนตร์ที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก แต่ขณะนี้อาจต้องรอสถานการณ์ดีขึ้นกว่าเดิมจึงจะสามารถนำเข้ามาฉายได้อย่างเต็มที่ และในอนาคต หากคนเปิดใจชมภาพยนตร์นอกกระแสมากขึ้น โรงภาพยนตร์แนวเดียวกันก็คงจะเปิดเป็นทางเลือกเพิ่มเช่นกัน
ส่วนในปีหน้าหลังจากที่ผู้คนได้ระเบิดความมันส์และความตื่นเต้นกันในโรงภาพยนตร์ไปกับ Spider-Man : No Way Home ช่วงปลายปีนี้แล้ว ดุจดาวยังเผยอีกว่า โซนี่ได้เรียงคิวหนังดีมาให้ทุกคนได้ชมกันตลอดทั้งปีหน้า
“เปิดปีมาเดือนมกราคมเจอกับ Ghostbusters อันนี้ไม่จำเป็นจะต้องดูภาคก่อนหน้านี้มาเลย มันเป็นหนังแอคชัน-ลึกลับ มีกลิ่นอายของแบบออริจินัลบ้างเล็กน้อย แต่ดูได้ทุกเพศทุกวัย”
“Resident Evil หลายคนคงจะจำมิลล่า โจโววิช (Milla Jovovich) ได้ ภาคนี้ไม่มีมิลล่าปรากฏกายในเรื่อง อย่าตกใจ อันนี้เป็นหนังออริจินัลสตอรี่ ถ้าใครสายเล่นเกม Resident Evil: Welcome to Raccoon City คือพลาดไม่ได้ ถ้าใครอยากรู้ว่า Umbrella Corps เป็นยังไงต้องดูภาคนี้ เข้าวันที่ 27 มกราคม”
“15 กุมภาพันธ์ก็ไม่อยากให้พลาด Antihero อีกตัวคือมอร์เบียส จาเร็ด เลโต้ เล่น ส่วนวันที่ 10 มีนาคม ทอม ฮอลแลนด์มาเล่นในบทบาทที่ไม่ใช่สไปเดอร์แมนร่วมกับ ‘มาร์ก วาห์ลเบิร์ก (Mark Wahlberg)’ ในเรื่อง Uncharted ใครเล่นเกม PlayStation ต้องเคยเล่น Uncharted เป็นหนังแอคชัน มีการถ่ายทำหลากหลายทั่วโลก”
“เมษาก็ยังมีอีก ‘แบรนด์ พิตต์’ (Brad Pitt) เคยเล่นหนังของโซนี่ก่อนหน้านี้แล้วได้ออสการ์ด้วยคือเรื่อง Once Upon a Time In Hollywood ส่วนในปีหน้าเขากลับมา เป็นหนังที่ถ้าใครคิดถึงญี่ปุ่น ไม่ดูไม่ได้เลย หนังเข้าช่วงสงกรานต์ เรื่อง Bullet Train พวกบรรดาโจรไปอยู่บนรถไฟชินกันเซ็น”
นอกจากนี้ ดุจดาวยังฝากภาพยนตร์ในครึ่งปีหลังอีกเรื่องคือ Spider-Man: Into the Spider-Verse 2 ซึ่งก่อนหน้านี้เรื่อง Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018) ก็ได้คว้ารางวัลออสการ์ สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมไปครอง
แต่ก่อนจะถึงปีหน้า ดุจดาวและโซนี่ พิคเจอร์ส เชิญชวนทุกคนชมภาพยนตร์บทสรุปไตรภาคสไปเดอร์แมนใน Spider-Man : No Way Home ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2021 นี้
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี
ภาพ
ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
Marvel
The People
Spider Man
Spider Man No Way Home
ดุจดาว พรหโมบล
Sony Pictures