ยาโยอิ คุซามะ ศิลปะลายจุดที่ต้องแลกด้วยสภาวะจิต

ยาโยอิ คุซามะ ศิลปะลายจุดที่ต้องแลกด้วยสภาวะจิต
เด็กสาวคนหนึ่งเกิดในครอบครัวที่มีปัญหา คุณพ่อมีหญิงอื่น คุณแม่จึงนำมาความโกรธมาลงที่ลูกๆ ในฐานะลูกสาวคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 4 คน เด็กคนนั้นหลีกหนีความเศร้าของตัวเองด้วยการเดินไปยังทุ่งดอกไม้ และจินตนาการว่าตัวเองหายตัวไปในโลกอีกใบที่ตนเองสร้างขึ้น เด็กสาวคนนั้นคือ ยาโยอิ คุซามะ คุซามะนำความรู้สึกตรงนั้นถ่ายทอดออกมาด้วยผลงานศิลปะ เป็นแนวทางที่เธอเยียวยาจิตใจตนเองที่แตกสลาย น่าเสียดาย ในยุคที่เธอเกิดนั้นการทำงานศิลปะยังไม่เป็นที่ยอมรับ คุณแม่ก็ปฏิเสธงานของเธอ ถึงขนาดเคยฉีกผลงานทิ้งจากมือด้วยตนเอง ไม่เพียงแค่ปัญหาครอบครัว อีกหนึ่งปัญหาคือสังคมญี่ปุ่นในอดีตที่ยังคงนิยมชายเป็นใหญ่ กรอบความคิดว่าผู้หญิงต้องแต่งงานเป็นแม่บ้านทำร้ายตัวตนเธออย่างรุนแรง ผลงานศิลปะของเธอช่วงแรกจึงเต็มไปด้วยความหม่นหมอง แฝงความขบถ และความพยายามปลดแอกตัวตนจากสังคม ครอบครัวที่ไม่ยอมรับ สังคมที่ปฏิเสธงานศิลปะ ความอึดอัดทั้งหมดได้รับการปลดเปลื้องเมื่อเธอเห็นผลงานของศิลปินหญิงชาวสหรัฐฯ จอร์เจีย โอคีฟ คุซามะเขียนจดหมายไปหาเธอ และเธอก็เขียนจดหมายตอบกลับ เพียงเท่านั้นคุซามะก็คิดทันทีว่า เธอจะต้องไปไกลกว่าประเทศญี่ปุ่น คาซุมะวัยสาวรวบรวมความกล้าหนีสังคมเดิม เผาผลงานตัวเองหลายร้อยชิ้นทิ้งทั้งหมด แล้วเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยความหวังจะเปิดประสบการณ์ใหม่ที่สหรัฐฯ โชคร้าย สังคมสหรัฐฯ ยังคงบดขยี้เธอในฐานะสาวเอเชียในโลกตะวันตกอยู่ดี ยาโยอิ คุซามะ ศิลปะลายจุดที่ต้องแลกด้วยสภาวะจิต ความโหดร้ายของสังคมยังคงกดดันเธอยังต่อเนื่อง แต่ศิลปินสาวไม่เคยยอมแพ้ เธอยังคงใช้ศิลปะภาพวาดแสดงความขบถ แสดงความโกรธเกรี้ยว และใช้ร่างกายเปลือยเปล่าต่อต้านสงคราม ทว่าโชคชะตาอันน่าเศร้า มันได้นำมาอาการป่วยทางจิตมาสู่ตัวเธอเช่นกัน ปัจจุบัน ยาโยอิ คุซามะ วัย 89 ปี กลายเป็นหญิงที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ยังคงทำงานศิลปะในสตูดิโอใกล้เคียง เอกลักษณ์เด่นที่เห็นอยู่บ่อยๆ คือการวาดจุดเรียงรายต่อกันในพื้นผิวต่างๆ บนลายเส้นไขว้ไปมาที่ออกแบบมาอย่างลงตัว ที่สำคัญคือเลือกใช้สีสันฉูดฉาดสดใสแลดูเป็นมิตร สวนทางกับชีวิตของเธอที่เต็มไปด้วยบาดแผลเสมอมา “ฉันอยากใช้ศิลปะเพื่อเปลี่ยนแปลงให้โลกสงบสุข” นี่คือหนึ่งคำสัมภาษณ์จากสารคดี Kusama: Infinity (2018) เธอในวัยชราจึงมิใช่คนหัวขบถเหมือนอดีต กลายเป็นคุณป้าน่ารักที่ “จำต้อง” สยบยอมจากอาการทางจิตซึ่งมิได้เกิดจากตัวตนของเธอ แต่เกิดจากสังคมที่กดทับ กดดัน และทำร้ายเธอมาตั้งแต่เด็ก กระนั้นกว่าเธอจะเป็นที่ยอมรับก็สายเสียแล้ว ย้อนกลับไปในวันที่คุซามะเริ่มต้นสนใจศิลปะ เธอเดินเข้าไปท่ามกลางทุ่งดอกไม้ วินาทีนั้นเธอเห็นดอกไม้เป็นจุดเล็กรายล้อมตัวเอง และพาเธอหายไปจากโลกแห่งความเจ็บปวด “โลกเราเป็นเพียงแค่จุดหนึ่งจุดเหมือนดวงดาวนับล้านในจักรวาล โพลก้าดอทเป็นวิธีการพาเราไปสู่ความไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อเราพรางตัวเองกับธรรมชาติด้วยลายจุด เราก็จะกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งที่อยู่รายล้อม” ท้ายที่สุดแล้ว ศิลปะลายจุดอันสดใสของเธอนั้น จึงต้องแลกมาด้วยชีวิตที่ไม่สดใสของคนคนหนึ่งทีเดียว ยาโยอิ คุซามะ ศิลปะลายจุดที่ต้องแลกด้วยสภาวะจิต