23 ธ.ค. 2564 | 14:52 น.
ภาพจาก https://www.glico.com/th/en/product/pocky/
ป๊อกกี้ นวัตกรรมช็อกโกแลตแบบไม่เลอะมือ ก่อนจะมีขนมป๊อกกี้ ในปี 1963 กูลิโกะเริ่มจากการทำ ‘เพรทซ์’ (Pretz) ขนมปังแบบแท่งออกมาจัดจำหน่ายก่อน แล้วเพิ่มช็อกโกแลตลงไปเพื่อเติมความหวาน กลายเป็นสินค้าชนิดใหม่ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กสาวที่อยากเดินไป กินขนมหวานไปแบบไม่เลอะมือ เดิมทีกูลิโกะจะใช้กระดาษฟอยล์ห่อขนม เพื่อให้ช็อกโกแลตไม่สัมผัสกับมือโดยตรง แต่วิธีนี้ทั้งใช้ต้นทุนสูงแถมยังยุ่งยากสำหรับคนกิน กูลิโกะจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีการเคลือบช็อกโกแลตโดยเหลือพื้นที่บิสกิตเปล่า ๆ ไว้ให้จับอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ส่วนชื่อขนม ก่อนหน้านี้กูลิโกะจะใช้คำว่า ‘chocotekku’ แต่ดันมีคนเคยใช้ชื่อนี้ไปแล้ว จึงเปลี่ยนมาเป็นชื่อ ‘ป๊อกกี้’ แทน โดยคำว่า ‘ป๊อกกี้’ มาจากเสียงขนมที่ถูกหักออกเป็นสองท่อนนั่นเอง 11.11 Pocky vs Pepero หลังจัดจำหน่ายครั้งแรกในปี 1966 ป๊อกกี้ได้กลายเป็นขนมเคลือบช็อกโกแลตแบบแท่งชนิดแรกของโลก และได้รับความนิยมทั้งกลุ่มเด็กสาวไปจนถึงผู้คนหลากเพศหลายวัย ซึ่งคาดว่าแต่ละปี ป๊อกกี้จะมียอดขายราว 500 พันล้านกล่องเลยทีเดียว ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งปี 1983 ศึกระหว่างป๊อกกี้กับขนมจากประเทศใกล้เคียงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเงียบเชียบ เมื่อบริษัทเกาหลีใต้อย่าง Lotte ผลิตสินค้าที่คล้ายคลึงกันออกมาโดยใช้ชื่อว่า ‘Pepero’ภาพจาก https://www.facebook.com/globalpepero/photos/?ref=page_internal
หลังจากนั้นในวันที่ 11 เดือน 11 ของปี 1994 ว่ากันว่ามีเด็กสาวชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งได้นำขนม Pepero มาแลกกับเพื่อน แล้วขอพรให้เธอผอมสูงเช่นเดียวกับรูปร่างของขนมชนิดนี้ รวมทั้งรูปร่างของเลข 1 ในวันและเดือนดังกล่าว แม้การ ‘กินขนม’ แล้ว ‘ขอพรให้ผอมเพรียว’ จะฟังดูไม่ค่อยเมคเซนส์สักเท่าไร แต่ความเชื่อนี้กลับถูกส่งต่อกันมาเรื่อย ๆ จนถึงขั้นตั้งชื่อวันที่ 11 เดือน 11 ว่า ‘Pepero Day’ เมื่อเรื่องไปถึงหูผู้บริหารของ Lotte พวกเขาจึงใช้โอกาสนี้เปิดตัว Pepero Day อย่างเป็นทางการในเกาหลีใต้ เมื่อปี 1997 ซึ่งทำให้ยอดขายพุ่งปรี๊ดในช่วงวันดังกล่าว อย่างปี 2012 ที่กำไรประจำปีของ Lotte กว่า 50% ได้มาจาก Pepero Day เลยทีเดียว ‘ไม่ได้การแล้ว… ทำไมขนมที่ฉันเป็นต้นฉบับ ถึงไม่ปังเท่าน้องใหม่อย่าง Pepero บ้าง !?’ ป๊อกกี้ไม่ได้กล่าว แต่แคมเปญหลังจากนั้นก็พอจะทำให้เราคาดเดาได้ว่า แบรนด์ป๊อกกี้น่าจะคิดแบบประโยคข้างต้น เพราะวันที่ 11 เดือน 11 ปี 1999 (ซึ่งนับเป็นปีที่ 11 ตามปฏิทินของญี่ปุ่น) ป๊อกกี้ได้เปิดตัว ‘วันป๊อกกี้’ หรือ ‘Pocky Day’ อย่างเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่น แถมยังเคยสร้างอีเวนต์สุดอลังการจนสามารถทำลายสถิติ Guinness World Records จากการถูกกล่าวถึงบนทวิตเตอร์มากที่สุด (Most Mentions of a Brand on Twitter) ในปี 2013 ทั้งยังมีแคมเปญ โฆษณา และกิจกรรมต่าง ๆ ในวันป๊อกกี้ของทุก ๆ ปี จนกลายเป็นวันที่คนญี่ปุ่น (รวมทั้งคนไทย) หลายคนรู้จักและมักจะซื้อป๊อกกี้ไปให้คนที่เราห่วงใย บ้างก็ใช้แทนคำขอบคุณสำหรับมิตรภาพดี ๆ มาจวบจนปัจจุบัน ย้อนกลับไปในวันนั้น ถ้า ‘ริอิจิ เอซากิ’ ไม่ได้กลิ่นควันฉุยจากซุปหอยนางรม ก็คงไม่มีป๊อกกี้และขนมรสอร่อยในเครือกูลิโกะอย่างทุกวันนี้ แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้กูลิโกะกลายเป็นบริษัทที่ยืนหยัดมาเกือบ 100 ปีได้ คงจะเป็นความตั้งใจผลิตขนมที่ ‘นึกถึงคนกิน’ เสมอมา ไม่ว่าจะเรื่องสุขภาพ ความอร่อย หรือแม้กระทั่งความสะดวกสบายระหว่างหยิบมารับประทาน ที่มา: https://www.glico.com/global/rd/ https://www.glico.com/sg/article/founder01/ https://www.glico.com/th/ https://asianheroes.wordpress.com/tag/riichi-ezaki/ https://www.tofugu.com/japan/pocky-day/ https://pocky.com/presskit/Pocky-Fact-Sheet.pdf https://www.washingtonpost.com/news/worldviews/wp/2015/11/11/japan-and-south-korea-argue-over-a-chocolate-covered-pretzel-stick/ https://www.mentalfloss.com/article/649509/brief-history-glicos-pocky-sticks https://metropolisjapan.com/pick-pocky/ ที่มาภาพ https://www.glico.com/sg/article/founder01/ https://www.glico.com/th/en/product/pocky/