West Side Story: จากมนต์รักแรกพบสู่พลัดพรากชั่วนิรันดร์

West Side Story: จากมนต์รักแรกพบสู่พลัดพรากชั่วนิรันดร์
ละครเพลงสุดคลาสสิกอย่าง West Side Story (1957) ได้กลับมาเฉิดฉายบนจอภาพยนตร์อีกครั้งในปี 2021 หลังจากที่ภาพยนตร์ฉบับแรก (1961) ได้มีสถานะเป็นงานขึ้นหิ้งไปแล้ว West Side Story เป็นผลงานอันเกิดจากความร่วมมือของ 4 ยักษ์ใหญ่แห่งวงการละคร/ดนตรีของอเมริกาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 ได้แก่ Jerome Robbins ผู้วางคอนเซปต์, Leonard Bernstein ผู้ประพันธ์ดนตรี, Stephen Sondheim (ผู้ซึ่งเพิ่งล่วงลับ) ประพันธ์คำร้อง และ Arthur Laurents ผู้เขียนบท เรื่องราวของ West Side Story ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Romeo and Juliet ของเชกสเปียร์ โดยถอดแบบความรักต้องห้ามระหว่างสองกลุ่ม/สังกัดที่ไม่ถูกกัน คือความขัดแย้งระหว่างตระกูลมอนตะคิว กับคาปุเล็ต แห่งเมืองเวโรนา ประเทศอิตาลี ศตวรรษที่ 16 ถูกเล่าใหม่เป็นความขัดแย้งระหว่างสองแก๊งวัยรุ่น Jets (คนขาว) กับ Sharks (กลุ่มคนเชื้อสายเปอร์โตริโก) ที่อาศัยอยู่นิวยอร์กช่วงกลางทศวรรษ 1950 ซึ่งในภาพยนตร์ฉบับใหม่นี้ได้เพิ่มภูมิหลังของความขัดแย้งระหว่างสองแก๊งให้ลึกซึ้งกว่าการเป็นเรื่องวัยรุ่นทะเลาะกัน คือมีเรื่องของเขตแดนที่ดิน ชนชั้นทางสังคม และเรื่องสีผิวเชื้อชาติ เช่นนั้นแล้ว ความรักของคู่พระ-นาง (โทนี กับ มาเรีย) จึงมีอะไรมากไปกว่าความรักต้องห้ามระหว่างสองตระกูล พร้อมทั้งเต็มไปด้วยเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา ที่แฝงฝังเอาไว้ในเรื่อง (ซึ่งแม้แต่ตัวละครเองก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วย) ซึ่งบทความนี้จะขอมุ่งไปที่เรื่องความรักของทั้งสองคนที่น่าจะมีหลายประเด็นให้ชวนขบคิด   โทนีพบมาเรีย ก่อนจะไปพูดถึงตัวความรักของโทนีกับมาเรีย ผู้เขียนขอใช้เวลาสั้น ๆ ย้อนฉากการพบกันอันเป็นจุดเริ่มต้น ‘ความรัก’ ของทั้งสองกันก่อน ในลักษณาการเดียวกันกับการพบรักของโรเมโอกับจูเลียต ซึ่งเกิดในงานเลี้ยงของตระกูลคาปุเล็ต ความรักของโทนีกับมาเรียเกิดขึ้น ณ กิจกรรมเต้นรำที่เจ้าหน้าที่บ้านเมืองวาดหวังว่าจะเป็นการสมานฉันท์ของสองแก๊ง ซึ่งท่ามกลางการเต้นรำอันวุ่นวายนั้น โทนีผู้ซึ่งเข้ามาในงานเลี้ยงทีหลังกว่าคนอื่น (ซึ่งก่อนหน้านี้เขาบอกริฟฟ์ซึ่งเป็นหัวหน้าแก๊งเจ็ตส์ว่าจะไม่มางานเต้นรำ แต่ก็ร้องเพลง ‘Something’s Coming’ บอกเล่าความรู้สึกว่าเขาจะได้พบปาฏิหาริย์บางอย่างคืนนี้) ก็มองเห็นมาเรีย สายตาของเขามองเธออยู่สักพัก เธอเองก็มองเห็นเขา และความเอะอะมะเทิ่งแห่งหมู่คนอันวุ่นวายนั่นก็เลือนมลายในสายตาของทั้งคู่ ร่างกายของพวกเขาพาตัวเองเข้าไปหลบมุมลับตาคนหลังอัฒจันทร์ เพลง ‘Mambo’ ที่กำลังบรรเลงเร้าอารมณ์นักเต้นทุกคู่อยู่นั้นค่อย ๆ กลายร่างมาเป็นทำนองเพลงจังหวะใหม่ เป็นทำนองเพลงที่ในอีกไม่กี่นาทีถัดมาของภาพยนตร์จะถูกเฉลยว่าคือทำนองเพลง ‘Maria’   หนุ่มสาวทั้งสองในตอนแรกยืนเผชิญหน้ากัน หญิงสาวร่างเล็กกว่า จึงต้องแหงนหน้ามองชายหนุ่มร่างสูงที่ในขณะนี้ยกแขนขึ้นพิงเสา หญิงสาวลอดตัวเองใต้วงแขนเขาประหนึ่งท่าเต้นรำ แล้วการเคลื่อนไหวของทั้งสองคนก็ค่อย ๆ กลายไปเป็นการเต้นรำตามจังหวะเพลง ซึ่งทั้งสองเข้าจังหวะกันได้ดีประหนึ่งว่าได้เรียนรู้กันและกันผ่านการเต้นรำ และมันก็มิใช่เพียงการเรียนรู้ แต่มันอาจเป็นการโหม ‘ความรัก’ หรือไม่ก็ ‘ความปรารถนา’ เมื่อมาเรียยื่นหน้าเข้าจูบโทนีโดยที่ฝ่ายชายมิได้ระวังตัวจึงได้ผงะไปนิดหนึ่ง (พร้อมอธิบายว่า “I’m by-the-book type.” ซึ่งน่าจะมาจากคำของจูเลียตที่บอกว่าการจูบของโรเมโอนั้น “You kiss by th’ book.”) ทั้งสองจึงเริ่มพยายามจะจูบกันใหม่อีกรอบ ก่อนที่จะโดนขัดจังหวะโดยเพื่อนและพี่ชาย ซึ่งก็เป็นตอนนั้นเองที่เขาได้รับรู้ว่าชื่อของหญิงสาวร่างเล็กผู้นี้คือ ‘มาเรีย’ พอออกจากงาน โทนีก็ตกอยู่ในอาการดั่งถูกมนต์สะกด ร้องเพลง ‘Maria’ (ทำนองเดียวกับเพลงในฉากเต้นรำของทั้งคู่หลังอัฒจันทร์) ใจความว่า คำว่า ‘มาเรีย’ ฟังดูไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป กลายเป็นคำ เป็นเสียงที่ไพเราะที่สุดในโลก (“เอ่ยดัง ๆ ก็เหมือนมีดนตรีประโคม เอ่ยเบา ๆ ก็ฟังเหมือนเสียงสวดภาวนา”) เขาเดินตะโกนร้องชื่อมาเรียไปทั่วถนนและซอกซอยที่เขาเดินผ่าน จนกระทั่งมาเรียได้ปรากฏตัวออกมาที่ริมระเบียงอะพาร์ตเมนต์ โทนีจึงไต่บันไดขึ้นไปหามาเรีย แต่ก็ติดอยู่ใต้ตะแกรงที่ล็อกเอาไว้ จึงได้แต่สนทนากับมาเรียโดยมีตะแกรงขวางกั้น พวกเขาพยายามจะนัดเจอกันวันรุ่งขึ้น แล้วมาเรียจึงเริ่มร้องเพลง ‘Tonight’ ซึ่งเริ่มต้นว่า “Only you, you’re the only thing I’ll see forever.”   จากแรกเห็นสู่ชั่วนิรันดร์ ประโยคแรกจากเพลง ‘Tonight’ นี่เองที่เป็นเหมือนจุดรวบยอดประเด็นเรื่องความรักระหว่างโทนีกับมาเรียตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งคีย์เวิร์ดได้แก่คำว่า ‘see’ และ ‘forever’ ความรักคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นสิ่งที่มีทฤษฎีอธิบายเอาไว้มากมาย ส่วนความรัก (หรืออย่างน้อยก็สิ่งที่ถูก ‘เชื่อว่า’ คือความรัก) ของคู่อย่าง โรเมโอ-จูเลียต และ โทนี-มาเรีย นั้น มีจุดเริ่มต้นอย่างที่เข้าตำรา ‘รักแรกเห็น’ (love at first sight) จำพวกที่ตกหลุมรักแทบจะพร้อม ๆ กันทั้งคู่ รักแรกเห็น เป็นเรื่องของสายตาที่จ้องมอง (gaze) และการเห็น (see) แล้วเกิดอาการตกอยู่ในห้วงรัก ซึ่งทำให้คนเราเกิดอาการบางอย่างผิดแปลกไปจากปกติ ในวรรณคดีและงานเขียนกรีกโรมันโบราณมักมีการพูดถึงคนที่ตกอยู่ในห้วงรักว่า ‘เป็นบ้า’ (คอนเซปต์เรื่อง theiamania / θεία μανία) หรือมีความป่วยไข้เป็นโรค ซึ่งอาการตกหลุมรักเหล่านี้มักโทษกันว่าเป็นพลังอำนาจของเทพคิวปิด (Cupid) หรือกามเทพแผลงศร ซึ่งมักปรากฏเป็นลักษณะของศรยิงเข้าที่ตาแต่แล้วออกฤทธิ์พิษวิ่งลงที่หัวใจ  อาการตกหลุมรักแรกเห็นโดยเริ่มที่ตาแล้วลงที่หัวใจนั้นมีตัวอย่างชัดเจนในวรรณคดีกรีกโบราณ ‘Leucippe and Clitophone’ คือตอนที่พระเอกตกหลุมรักนางเอกนั้น มีใจความว่า “เมื่อข้าพเจ้าเห็นหล่อน ข้าพเจ้าก็หลงหลุดออกจากโลก ด้วยว่าความงามนั้นกระทำบาดแผลร้าวลึกกว่าศรใด ๆ มันกระแทกเข้าที่ตาแล้ววิ่งลงลึกสู่ดวงวิญญาณ ดวงตาคือเส้นทางสู่บาดแผลแห่งความรัก”  โทนีกับมาเรีย (หรือโรเมโอกับจูเลียต) เองก็เช่นเดียวกัน ที่ถูกพลังอำนาจของสายตาและสิ่งที่เห็นผ่านสายตาเข้าครอบงำ (เมอร์คิวชิโอได้พูดติดตลกว่า โรเมโอไม่กลับบ้านเมื่อคืน สงสัยจะตายไปเสียแล้ว “ถูกแทงด้วยตาดำของหญิงผิวนวล; ถูกยิงหูทลุด้วยเพลงสังวาศ; สูนย์แห่งหัวใจของเฃาแยะเสียแล้วด้วยลูกศรของกามะเทพผู้ตามืด” - สำนวนแปลของ ร.6) สิ่งที่เห็นผ่านสายตาก็คือ ‘รูปกายภายนอก’ และด้วยความที่เป็นการตกหลุมรักจากรูปกายภายนอกนี้เองที่หลายคนมักตั้งคำถามว่าสิ่งนี้คือความรักจริงละหรือ มันเป็นเพียงอาการหลง แค่อยากได้มาเป็นของเล่น หรือเป็นเพียงความใคร่หรือเปล่า หรืออาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความรัก (ซึ่งก็คงแตกต่างกันไปตามนิยามความรักของแต่ละคน) แต่มันไม่น่าจะเป็นรักแท้ยืนยงชั่วกัลปาวสานหรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเชื่อไปแล้วว่ามันเป็นความรักอันจริงจังและจะยืนยงชั่วนิรันดร์ ดังที่มาเรียประกาศไว้ในบทเพลงแรกที่เธอกับเขาร้องคู่กันในเพลง ‘Tonight’ (เป็นฉากที่ถอดแบบมาจากฉากอันลือลั่นในโรเมโอและจูเลียต อันเป็นที่รู้จักกันในชื่อ Balcony Scene) ซึ่งในคำร้องว่า “Only you, you’re the only thing I’ll see forever. In my eyes, in my words, and in everything I do…”) ซึ่งผู้เขียนบทความก็คิดถึงหนังสือชื่อ The Enduring Kiss ของ Massimo Recalcati ที่เสนอว่า ทุก ๆ ความรักและการบอกรักนั้นมีความรู้สึกถึงการเป็น forever อยู่เสมอ การเอ่ยคำรักมิได้หมายถึงว่าความรักจะกำเนิดหรือดำรงอยู่เพียงชั่วขณะของการเอ่ยคำรัก แต่มันมีเจตนาว่าความรักจะยืนยาวต่อไปนานชั่วนาน แต่คำว่า forever ที่จู่ ๆ ก็ผุดขึ้นมาของมาเรียในภาพยนตร์ฉบับ 2021 ผู้ชมบางท่านก็อาจจะรู้สึกว่ามันผิดที่ผิดทาง หรือรู้สึกว่ามันน่าจะเกิดจากโทนีที่ดูจะตกอยู่ใน ‘ความคลุ้มคลั่ง’ มากกว่า ทำให้ผู้เขียนต้องขอลองเปรียบเทียบฉาก Balcony Scene ในภาพยนตร์ฉบับแรก (ซึ่งอิงจากละครเพลงต้นฉบับ) กับฉบับ 2021 ในฉบับ 2021 นั้น คำว่า ‘see’ เป็นการเล่นคำของการจะนัดเจอกันในวันรุ่งขึ้น โดยโทนีชวนมาเรียให้หนีตามกันไป มาเรียขานรับเป็นภาษาสเปน “Si!” (แปลว่า yes) แล้วเล่นเสียง ‘ซี’ ต่อในคำว่า “I’m serious” ประโยคหลังจากนั้นก็เป็นการพยายามนัดกันวันรุ่งขึ้น คือโทนีพูดว่า “You’re gonna see me tomorrow. No one else, only me” (ซึ่งเป็น see ที่แปลว่า มาเจอกัน) จากนั้นจึงเชื่อมเข้าสู่เพลง “Only you, you’re the only thing I’ll see forever” (เพลงเล่นคำ เปลี่ยนความหมาย see จาก ‘เจอกัน’ มาเป็น ‘มองเห็น’) ส่วนในต้นฉบับนั้น จะมีบทสนทนาที่นำมาก่อนหน้าที่มีการเล่นคำในอีกแบบหนึ่ง เป็นฉากตอนที่มาเรียโผล่ปรากฏตัวออกมาบนทางบันได (ที่พยายามจำลอง Balcony Scene) โทนีขอปีนขึ้นไปหามาเรีย ซึ่งเจ้าหล่อนบอกว่าไม่ได้ พี่ชายจะกลับมาแล้ว โทนีจึงบอก “Just for a minute” มาเรียยิ้มแล้วตอบว่า “A minute is not enough.” โทนียิ้มแล้วตะโกน “For an hour, then.” มาเรียบอก “I cannot.” โทนีบอกถ้างั้น “For ever!” ในต้นฉบับ คำว่า ‘forever’ จึงถูกปูทางมาจากการป้อจีบกันของหนุ่มสาวทั้งสอง แล้วบทสนทนาจึงไปต่อ โดยมาเรียบอกว่า พี่ชายฉัน “ไม่มีทางชอบคุณหรอก เขากลัว” แล้วก็หลุดขำออกมาเองว่า “เออ กลัวคุณนี่อะนะ!” โทนีจึงตอบกลับว่า “You see?” ซึ่งแปลไทยก็น่าจะประมาณว่า “เห็นมะ” หรือ “คุณเข้าใจใช่ไหม” แล้วฉากก็ไหลต่อไปที่มาเรียยื่นมือไปสัมผัสหน้าโทนี แล้วกล่าวว่า “I see you.” โทนีตอบกลับว่า “See only me.” แล้วจึงเข้าเพลง จะเห็นได้ว่า คำว่า see และ forever นั้นถูกถักทอสร้างขึ้นมาให้ไหลเข้าสู่ปากคู่พระ-นาง ได้ด้วยการเล่นคำเช่นนี้เอง ซึ่งก็เรียกได้ว่าจะตอบโจทย์การแสดงพลังแห่งรักแรกเห็นได้อย่างมีชั้นเชิงมาก   รักแท้หรือแค่คิดไปเอง คำมั่นว่า forever ถึงคนที่เพิ่งรู้จักกันแค่คืนเดียวอาจเป็นที่น่ากังขาของหลาย ๆ คน อย่างตอนที่โทนีไปขอให้วาเลนตินา (ตัวละครใหม่ของภาคนี้ เป็นหญิงชราชาวเปอร์โตริโกผู้แต่งงานกับคนขาว หล่อนเป็นเหมือนที่พึ่งให้กับเด็กเหลือขอแก๊งเจ็ตส์ที่ดูจะไม่เคยฟังเธอเลย) แปลประโยค “ผมอยากอยู่กับคุณตลอดไป” เป็นภาษาสเปนเพื่อไปพูดกับมาเรียนั้น วาเลนตินาก็ท้วงขึ้นมาว่า “เธอไม่อยากเริ่มจากอะไรง่าย ๆ ก่อน เช่น ไปกินกาแฟกับผมไหม อะไรอย่างนี้หรือ” ซึ่งโทนีก็แย้งกลับมา ความรู้สึกของเขาไม่ใช่อะไรที่ลำลองแบบนั้น โทนีนั้นตกอยู่ในห้วงรักที่หนักหน่วงมาก ๆ เมื่อไปออกเดทกันโดยขึ้นรถไฟใต้ดิน (ฉบับ 2021) มาเรียดูจะอยู่ในโลกของความเป็นจริงมากกว่าเมื่อเธอทักท้วงว่า การที่สองแก๊งทะเลาะกันเรื่องเราทำให้เธอไม่สบายใจ ไม่อยากให้ใครมาลำบากเรื่องของเรา ซึ่งแสดงออกถึงสำนึกเรื่องที่ว่าความรักไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนสองคน ส่วนโทนีนั้นก็ได้เล่าภูมิหลังของตัวเองออกมาว่า เขาเคยต่อยเด็กคนหนึ่งจนเกือบตาย แบบอีกหมัดเดียวก็น่าจะตายแล้ว (ซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่เขายั้งหมัดไว้อีกหนึ่งหมัดตอนต่อยกับเบอร์นาโด) เขาจึงถูกจับเข้าคุกและรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับตัวเองตลอดมา เขารู้สึกร่วงหล่นแต่ “I stopped falling the second I saw you.” หรือนี่เองจะเป็นคำอธิบายความรักของโทนี? อันที่จริงแล้วเขากำลังมองหาอะไรสักอย่างที่จะทำให้เขาเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งอย่างในเพลง Something’s Coming วาเลนตินาก็ทักเขาว่ากำลังยิ้มอะไรอยู่ เขาก็บอกว่าเขารู้สึกเหมือนต้องมีอะไรดี ๆ เกิดขึ้นคืนนี้ แล้วพอเขามาที่งานเต้นรำ เมื่อพบเจอและได้เต้นรำคู่กับมาเรีย เขาจึงเชื่อว่า นี่แหละ สิ่งนี้แน่ ๆ ที่จะทำให้เขาหลุดพ้น แล้วก็ผสมกับความรู้สึกชอบพอจนเลยเถิดกลายเป็นความรักที่เชื่อมั่นในชั่วนิรันดร์ แต่เบอร์นาโดอ่านขาด ในขณะที่พวกเขาต่อยกัน เบอร์นาโดอธิบายว่าแกน่ะไม่ได้รักน้องสาวฉันหรอก แกก็แค่ออกจากคุกมา สาบานกับพระเยซูและพระเจ้าของแกว่าแกจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แล้วพอแกเห็นน้องสาวฉัน แกก็คิดในใจว่าแกไม่เคยเดทสาวผิวน้ำตาล การลองอะไรใหม่ ๆ ก็อาจจะทำให้แกได้เป็นในสิ่งใหม่ ตัวตนใหม่ ในแบบที่แกไม่เคยเป็นมาก่อน โทนีโดนต่อยด้วยทั้งหมัดและคำพูด   จากชั่วนิรันดร์สู่ความตาย แต่อย่างไรก็ตาม โทนีก็ดูจะหมกมุ่นกับความรักชั่วนิรันดร์เอามาก ๆ ในฉากที่โทนีขอให้วาเลนตินาแปลใจความว่า “ผมอยากจะอยู่กับคุณตลอดไป” เป็นภาษาสเปน โทนีท่องประโยคอย่างติดขัด และน่าจะจำคำแปลใดไม่ได้เลย และกำลังจะไปบอกรักโดยที่ตัวเองไม่เข้าใจสิ่งที่ตัวเองพูด แต่หนึ่งคำที่เขาจำได้และเน้นย้ำคือคำว่า ‘siempre’ ที่แปลว่า ‘forever’ ประโยคนี้ถูกนำไปใช้ระหว่างที่ทั้งสองคนออกเดทกันที่โบสถ์แห่งหนึ่ง หลังจากที่โทนีพูดประโยคนี้ พวกเขา ‘เล่นแต่งงาน’ กันด้วย มาเรียเริ่มกล่าวคำปฏิญาณเป็นภาษาสเปน โทนีชะงักงงไปนิดหนึ่งก่อนจะเข้าใจ จึงกล่าวประโยคต่อด้วยภาษาอังกฤษ แล้วจึงร้องเพลง ‘One Hand, One Heart’ ที่มีเนื้อร้องสื่อถึงการแต่งงาน ก็คือสองบุคคลรวมกันเป็นหนึ่ง คือ “Make of our lives one life” และ “Even death won’t part us now.” ประโยค “Even death won’t part us now” เป็นประโยคที่สำคัญมากของเรื่อง เนื่องด้วยอย่างที่ทุกคนรู้กันว่า ทั้งเรื่องต้นแบบคือ Romeo and Juliet และทั้ง West Side Story ต่างจบที่ตัวละครหลักตาย เรื่องแรกตายคู่ ส่วนเรื่องหลังพระเอกตาย แต่ถ้าฟังจากคำของมาเรีย เธอก็อาจจะอยากตายตามไปด้วย เพราะเธอบอกว่าจะยิงทุกคนรวมถึงตนเอง และแม้ว่ามาเรียในฉบับแรกจะทิ้งปืนไปก่อน แต่มาเรีย 2021 นั้นลั่นไก แต่ไม่มีกระสุนเหลือ ความรักอันนำไปสู่การตายคู่แบบนี้ คีตกวีริชาร์ด วากเนอร์ (Richard Wagner) เรียกไว้ว่า Liebestod (หรือ Love Death) ซึ่งเป็นชื่อเพลงในอุปรากรเรื่อง Tristan und Isolde ซึ่งจบด้วยคู่รักตายตามกันไปเช่นกัน การตายคู่นั้นถูกมองในหลายแง่ มันอาจจะเป็นความรักระดับที่สูงเข้มข้นจนทะลุเพดานของมิติมนุษย์จนคู่รักรู้สึกว่าต้องตามไปรักกันต่อในโลกหลังชีวิต หรืออาจจะเป็นการอยากอยู่ไปด้วยกันโดยมิยอมให้ความตายมาพรากจาก ซึ่งก็คือการเอาชนะความตายนั่นเอง ตัวอย่างของการไม่ยอมให้ความตายมาพรากเราออกจากกันนั้น มีตัวอย่างในเรื่องเล่า Pyramus and Thisbe ในงาน Metamorphoses ของกวีโรมัน Ovid ตอนที่ธิสบีจะปลิดชีพตัวเองตามพีรามุสนั้น เธอกล่าวว่า “ความตายอาจจะเคยมีพลังอำนาจที่จะแยกเราออกจากกัน แต่ตอนนี้มันไม่อาจต่อต้านฉันที่จะไปเข้าร่วมกับคุณได้”  การไม่ตายของมาเรียเป็นเรื่องน่าขบคิด การตายของจูเลียตนั้นทำให้นักวิจารณ์บางท่านมองว่าตัวเรื่องเองมีลักษณะของแนวคิดแบบ Religion of Love (ซึ่งในบางคำอธิบาย บอกว่าภายใต้คติแบบนี้ การตายตามกันไปอาจนำไปสู่การรักกันต่อบนสวรรค์) ซึ่งเป็นการต่อต้านแนวคิดแบบคริสต์ หรือในแง่หนึ่งก็เป็นการต่อต้านระบบสังคมกระแสหลักทั้งหมด (เช่นในคติแบบ Religion of Love หรือ Courtly Love นั้น เกิดขึ้นในสังคมที่การแต่งงานเป็นเรื่องทางสังคมและการเมือง ส่วนในโรเมโอกับจูเลียตนั้น การตายของทั้งคู่ อาจเป็นการหลบหนีออกจากสังคมก็ได้) ส่วนการที่มาเรียไม่ตายตามไป เพราะอาจเป็นแนวคิดแบบคริสต์ศาสนาที่กลัวบาปแห่งการฆ่าตัวตาย? สัญลักษณ์คริสต์ศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นคาทอลิกนั้นเป็นธีมที่เด่นชัด อาทิ การที่นางเอกชื่อ มาเรีย (พระนางมารี) หรือฉากการหลับนอนกันมีกางเขนพระเยซูอยู่บนกำแพง หรือฉากที่ชาวแก๊งจุดเทียนที่พระรูป ไปจนถึงการแต่งงานอันเป็นสัญลักษณ์ของการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันตามแบบคริสต์ (ซึ่งการแต่งงานและการ ‘หลอมรวม’ นี้ก็ปรากฏอยู่ตั้งแต่ในโรเมโอและจูเลียต) และคำสาบานถึงการรักกันจนกว่าความตายจะพรากจาก ดังเช่นที่สะท้อนอยู่ในคำปฏิญาณตนในพิธีแต่งงาน การตายคู่ของทริสทันกับอิโซลเดอ และโรเมโอกับจูเลียตนั้น เป็นการหยุดความรักไว้ ณ จุดสูงสุด ความตายแช่แข็งความรักเอาไว้อยู่ตรงนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง มากขึ้นหรือน้อยลงอีกต่อไป แต่ forever ของมาเรียอาจจะไม่มีจริง เพราะความตายได้พรากพวกเขาออกจากกันแล้ว และชีวิตที่หลอมรวมเป็นหนึ่งก็ไม่จริงอีกเช่นกัน เธออาจจะสำนึกได้ว่าสิ่งที่ร้องแก่กันในเพลง One Hand, One Heart อาจเป็นเพียงนิทานเด็ก ที่ซึ่งไม่มีชั่วนิรันดร์ ความตายจะพรากเราในที่สุด และพระเจ้าจะรับเราไปสู่พระองค์ในท้ายที่สุด   ค่ำคืนและสังหรณ์ เหตุการณ์จุดสำคัญต่าง ๆ ของเรื่องทั้งการพบ-พราก-จาก-เจอ นั้นต่างถูกเล่าโดย ‘ลาง’ ต่าง ๆ ที่อยู่ในเนื้อเพลงหรือคำพูด ดังนั้นจึงมิใช่การเกินเลยหากจะบอกว่า ลางพวกนี้เองที่เป็นตัวขับเคลื่อนเนื้อเรื่องของ West Side Story  หนึ่งในวลีสำคัญคือ ‘tonight’ ซึ่งเป็นตัวแทนของลางบอกเหตุสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เช่น ในเพลง Something’s Coming ที่โทนีเชื่อว่าจะได้เจอปาฏิหาริย์บางอย่างคืนนี้ (จึงอาจเป็นเหตุผลที่เขาเปลี่ยนใจไปงานเต้นรำ) ส่วนตัวเพลง Tonight นั้นกลายมาเป็นเพลงหลักที่ใช้เล่าเรื่องการบอกรักกันของทั้งสองคนใน Balcony Scene ต่อมาในฉากร้องหมู่ ที่เป็นการสอดประสานกันของ 5 ฝ่าย (แก๊งเจ็ตส์ แก๊งชาร์คส์ โทนี มาเรีย อานิตา) นั้นเป็นลางบอกเหตุของสิ่งที่จะเกิดขึ้นใน ‘คืนวันนี้’ ได้แก่ การตีกันของสองแก๊ง ความสุขของโทนีและมาเรีย และการรอคอยคนรักของอานิตา  ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของทำนองหลักเพลง Tonight ก็คือ การที่ในเวอร์ชัน 2021 เพลงนี้รับบทบาทเป็นเพลงหลักของเรื่องอย่างเต็มตัว ด้วยความที่เพลง ‘Somewhere’ จากที่เดิมทีในละคร เพลงนี้ถูกร้องในฐานะการถวิลหาที่สักแห่งซึ่งพวกเขาจะอยู่ด้วยกันได้ และปราศจากความบาดหมาง เพลงถูกร้องโดยตัวละครเด็กหญิงไร้ชื่อคนหนึ่ง แล้วรับช่วงต่อโดยโทนีและมาเรีย ซึ่งเพลงนี้จะถูกนำมาร้องในฉากจบโดยมาเรียในขณะที่โอบกอดโทนีที่กำลังสิ้นลมหายใจ ในภาพยนตร์ฉบับใหม่ เพลง Somewhere ถูกลดบทบาทเป็นเพลงรอง ขับร้องโดยวาเลนตินา หลังจากได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของสองหัวหน้าแก๊ง เพลงนี้ซึ่งร้องโดยวาเลนตินาที่เป็นเหมือนตัวแทนแห่งความสมานฉันท์รักกันได้ระหว่างคนขาวกับชาวเปอร์โตริโก จึงมีนัยแห่งเพลงที่ใฝ่หาสถานที่ในอุดมคติซึ่งจะไร้ความบาดหมางแห่งเชื้อชาติและชนชั้น เช่นนั้นเอง เมื่อเพลง Somewhere ถูกถอดความหมายในฐานะเพลงรักออกไป เพลงที่ถูกนำมาใช้แทนในฉากจบที่มาเรียร้องให้กับโทนีที่เสียชีวิตแบบตาค้าง ประหนึ่งว่าเขากำลังจ้องมองมาเรียแต่ก็มองไม่เห็นเพราะความตายได้บดบังสายตาไป ส่วนมาเรียตอบสนองด้วยวลี “Only you, you’re the only thing I’ll see” และในฉากจบเรื่องนั้นเอง ที่ขบวนนักแสดงค่อย ๆ ลับหายออกไปจากจอ กล้องก็ค่อย ๆ ขยับขึ้นมุมสูงเป็นมุมมองลงมาจากระเบียงบันได เป็นมุมในลักษณะที่มาเรียเคยมองโทนีที่อยู่ด้านล่าง  แต่จากมุมนี้ เราไม่เห็นเขาอีกต่อไป  เราไม่เห็นใครอีกเลย   เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์ อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม บทความ ไขรหัสในเสียงเพลงของ West Side Story ของ ธนพล เศตะพราหมณ์ https://setabrahms.wordpress.com/2021/12/24/ไขรหัสในเสียงเพลงของ-west-side-story/ บทความ Christianity and the Religion of Love in Romeo and Juliet ของ Paul N. Siegel หนังสือ The Oxford Shakespeare: Romeo and Juliet (ฉบับ Oxford’s World Classics) หนังสือ Listening for America ของ Rob Kapilow หนังสือ The Allegory of Love ของ C.S. Lewis หนังสือ The Enduring Kiss ของ Massimo Recalcati