ในหนังแนวหายนะล้างโลก ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่ใหญ่โตมโฬาร (Titanic, 1997), (The Towering Inferno, 1974) / ภัยธรรมชาติที่ถาโถมโหมซัด (Earthquake, 1974), (Deep Impact, 1998) หรือแม้กระทั่งการจู่โจมของมนุษย์ต่างดาว (Independence Day, 1997), (The War of the World, 2005) ใจความสำคัญที่หนังมักกล่าวถึงก็คือ ความผิดพลาดจากน้ำมือมนุษย์ที่นำมาสู่กาลอวสาน / ความประมาทที่นำมาสู่จุดจบของโลก และการตั้งสติของตัวเอกที่มักจะรอดปลอดภัยจนถึงตอนท้ายเสมอ
แต่สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในหนังแนวหายนะล้างโลก คือการสะท้อนสภาวะผู้นำประเทศกับการตัดสินใจของกลุ่มรัฐบาล ซึ่งในหนังภัยพิบัติหลาย ๆ เรื่อง ผู้นำประเทศคือกุญแจสำคัญในการพาโลกให้พ้นภัยหรือฉิบหายกว่าเดิมอยู่เสมอ
จึงไม่แปลกใจเลยที่หนังหลายเรื่องมักนำเสนอภาพผู้นำประเทศ หากไม่เป็นฮีโร่ที่สามารถรับมือกับหายนะได้อย่างยอดเยี่ยมแม่นยำ อย่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ถึงขนาดขับเครื่องบินสู้กับยานลึกลับที่มาทำลายล้างโลกได้อย่างเหลือเชื่อใน Independence Day หรือการร่วมมือร่วมใจของเหล่ารัฐบาลเพื่อรับมือกับการมาเยือนของสัตว์ประหลาดเป็นขั้นเป็นตอนอย่าง Shin Godzilla (2016) เหล่าผู้นำก็มีสภาพไม่ต่างกับตัวร้ายที่เป็นตัวเร่งให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหนังเกาหลีที่หนังแนวหายนะคือเครื่องมือโจมตีความแหลกเหลวของรัฐบาลจนชินตา
แต่ทั้งหลายทั้งปวง ประเด็นของสภาวะผู้นำมักถูกชูรองลงมา เพราะเป้าหมายหลักที่แท้จริงของหนังแนวนี้คือการสาดภาพหายนะไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ โลกแตก แผ่นดินแยก เพื่อเร่งเร้าความตื่นเต้นที่คนดูหนังต้องการจะเห็นมากกว่า ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนังแนวนี้มักทำหน้าที่สร้างภาพที่เราไม่มีวันมองเห็น หรืออยากตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นนี้ในชีวิตจริงได้ หนังหายนะจึงทำหน้าที่เป็นได้เพียงการเสนอภาพจุดจบและความโกลาหลของโลกผ่านเทคนิคพิเศษ และสอนการรับมือกับภัยพิบัตินั้น ๆ อย่างมีสติเท่านั้น
กระทั่งการมาของหนัง Don’t Look Up ผลงานของผู้กำกับ อดัม แมคเคย์ ที่ประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ทุกหย่อมหญ้ากำลังเผชิญหายนะโรคระบาด ยิ่งส่งผลให้พลังของหนังเรื่องนี้มีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ความจิตตกท่ามกลางหายนะโลกแตก
Don’t Look Up เล่าเรื่องราวของ 2 นักดาราศาสตร์ (รับบทโดย ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ที่ค้นพบการมาเยือนของอุกกาบาตที่ความมหึมาของมันสามารถทำลายมนุษยชาติให้สูญพันธุ์ได้ทันที พวกเขามีเวลาเพียง 6 เดือน ในการบอกเค้าลางหายนะนี้ให้กับทุกภาคส่วนได้รับรู้เพื่อหาทางแก้ปัญหามัน และเป้าหมายสำคัญในการบอกข่าวเล่าแจ้งนั้นก็คือทำเนียบขาวนั่นเอง
แต่สิ่งที่เขาได้รับกลับเป็นการรอคอยที่เนิ่นนานเกินความจำเป็น จากประธานาธิบดีหญิงที่ห่วงภาพลักษณ์มากกว่าหายนะที่กำลังคืบคลานเข้ามา นอกจากท่าทีที่ดูไม่เป็นมิตรจากเหล่าผู้นำแล้ว พวกเขายังไม่เชื่อในสิ่งที่ทั้ง 2 คนพูดถึงเค้าลางจุดจบของโลกใบนี้อีกด้วย
แต่พวกเขาก็ไม่หยุดที่จะบอกถึงอนาคตอันเลวร้ายนี้ พวกเขาพยายามไปหาสื่อใหญ่อย่างรายการโทรทัศน์เรตติ้งดีเพื่อหวังว่ารายการกระแสใหญ่โตนี้จะช่วยกระเพื่อมการรับมือกับหายนะนี้ได้ แต่สุดท้ายรายการก็เลือกให้แอร์ไทม์กับข่าวรัก ๆ เลิก ๆ ของศิลปินนักร้องมากกว่าจะให้เวลากับพวกเขาที่ในตอนนี้กลับกลายเป็นตัวตลกและเป็นมีมในสังคมที่มองเรื่องเหล่านี้น่าขันเกินกว่าจะมาใส่ใจในความจริง
จนกระทั่งข่าวที่เคยมองว่าเป็นเพียงข่าวลวงค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น และได้รับการรับรองจากนักวิชาการที่น่าเชื่อถือกว่า พวกเขาถูกเชิญให้ไปพบที่ทำเนียบขาวอีกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับเลวร้ายยิ่งกว่าเมื่อพบว่าพวกเขากลายเป็นเพียงกลไกในการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อเรียกคะแนนในการเลือกตั้งสมัยหน้า พร้อมทั้งการมาของมหาเศรษฐีที่หวังจะใช้ทรัพยากรจากอุกกาบาตนี้ตักตวงผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองมากยิ่งขึ้น
ซ้ำร้ายความคลางแคลงในใจของทั้งสองก็ยิ่งทวีสูงขึ้น เมื่อนักดาราศาสตร์ชายได้รับการประคบประหงมจนกลายร่างเป็นนักวิชาการสุดฮอตที่ได้หลับนอนกับพิธีกรชื่อดัง ขณะเดียวกันนักดาราศาสตร์สาวกลับถูกชิงชังเมื่อเธอไม่สามารถควบคุมอารมณ์โกรธของตัวเองได้เมื่ออยู่ในสภาวะคับขัน ขณะเดียวกันอุกกาบาตก็ค่อย ๆ ปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นจนภาพหายนะของโลกยิ่งใกล้เข้ามาทุกขณะ
ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด
อดัม แมคเคย์ เป็นผู้กำกับที่เก่งกาจเสมอในการทำหนังตลกหน้าตายผ่านการกัดจิกสังคมในแวดวงต่าง ๆ อย่างเฉียบคม ไม่ว่าจะเป็น The Other Guys (2010) ที่แซะวงการตำรวจ The Big Short (2015) ที่ปั่นป่วนโลกทุนนิยม หรือ Vice (2018) ที่วิพากษ์วิจารณ์โลกสังคมการเมืองที่มีคนชักใยของจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้เหนือชั้น และ Don’t Look Up ก็ไม่พลาดที่จะเสนอประเด็นร้อนแรงนี้เช่นกัน โดยเฉพาะการเห็นผิดเป็นชอบ และการเพิกเฉยต่อการกระทำอันเลวร้ายของบุคคลบางกลุ่มที่มีอำนาจเหนือกว่า
โดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของภาครัฐตั้งแต่การคอร์รัปชันเล็ก ๆ น้อย ๆ ในหมู่คนมีสี, อำนาจที่ชนะคะคานได้ด้วยเงิน หรือแม้กระทั่งการห่วงภาพลักษณ์และกลัวเสียคะแนนของผู้นำ จนนำพาไปสู่การตัดสินใจที่นำพาประเทศดิ่งสู่ก้นเหวด้วยการโฆษณาชวนเชื่อปลอม ๆ และการให้ค่ากับอภิสิทธิ์ชนมากกว่าประชาชนตาดำ ๆ
หลายต่อหลายครั้งหนังหายนะล้างโลกมักถูกนำมาเป็นโฆษณาชวนเชื่อเสมอ ยิ่งการมาของสงครามเย็น การมาของมนุษย์ต่างดาวและสิ่งแปลกปลอมจากนอกโลกก็มักจะกลายเป็นตัวแทนของด้านเลวร้ายของชาติคอมมิวนิสต์ (โดยเฉพาะรัสเซีย) ในฐานะภัยมืดที่มักมาคุกคามความสงบสุขของโลกใบนี้ แต่หนัง Don’t Look Up กลับเลือกมองมุมกลับและชี้ชัดว่าความเลวร้ายที่เกิดขึ้นมาจากความหละหลวมของทางฝั่งรัฐบาลเองที่ละเลยเพิกเฉยต่อปัญหาจนนำมาซึ่งความเลวร้ายไม่คาดคิด
สังคมโลกเผ็ดร้อนประชากรคลุ้มคลั่ง
แม้หนังจะเลือกโจมตีการบริหารงานอันล้มเหลวของรัฐบาล แต่หนังก็เลือกโจมตีสภาวะโดยรอบของสังคมมนุษย์ปัจจุบันได้อย่างเผ็ดร้อนเช่นกัน โดยเฉพาะการเพิกเฉยต่อปัญหาและการละเลยที่จะช่วยกันแก้วิกฤตในสถานการณ์สุดบีบคั้น ยิ่งจี้ใจดำของคนที่กล่าวอ้างว่า ‘เลิกสนใจการเมืองแล้ว’ อย่างแสบสันไม่เบา
เช่นเดียวกับที่สื่อมวลชนก็ตกเป็นเป้านิ่งในการโจมตีของหนัง ด้วยการแซะสื่อที่เลือกสนใจเรื่องคาวฉาวโฉ่ของดารานักร้องบนโลกโซเชียลฯ มากกว่าจะใส่ใจในปัญหาปากท้องและหายนะโลกที่คืบคลานเข้ามา เห็นได้ชัดในการให้น้ำหนักของเรื่องโลกแตกน้อยกว่าเรื่องของนักร้องขอคืนดี โดยวัดดัชนีจากเรตติ้งและยอดตัวเลขของเทรนด์ทวิตเตอร์ ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์อันเลวร้ายของ ‘ข่าวดีขายไม่ได้ ข่าวร้ายขายคล่อง’ เป็นอย่างดี
บริบทหายนะที่ชัดเจนแจ่มแจ้งราวกับเขียนบทในไทย
แม้ว่าตัวหนังจะได้รับคำวิจารณ์ในแง่ก้ำกึ่งจากเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ให้เปอร์เซ็นต์หนังเรื่องนี้เพียง 55% จากนักวิจารณ์จำนวน 210 คน ที่มีอัตราส่วนชอบกับไม่ชอบในอัตราใกล้เคียงกัน ทำให้ Don’t Look Up กลายเป็นความน่าผิดหวังครั้งสำคัญของนักวิจารณ์หนังชั้นนำในหลายสำนัก
แต่กับบ้านเรานั้น หนังกลับมาถูกที่ถูกทางราวกับผู้กำกับเขียนบทในประเทศไทย ที่หนังเลือกเล่าบริบททางการเมืองของคนสองขั้วผ่านรายละเอียดยิบย่อย ทั้งการจัดตั้งกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองขั้วตรงข้ามในชื่อกลุ่ม ‘แหงนมองฟ้า’ ‘ก้มหน้าลง(มอง)ดิน’ หรือการควบรวมกิจการของนายทุนรายใหญ่ที่ชี้เป็นชี้ตายประเทศ ไปจนถึงความไร้สมองของผู้นำ ไปจนถึงการเชิดชูตัวบุคคลที่เป็นกระแสมากกว่าจะใส่ใจในคุณค่าภายใน และยิ่งสภาวะวิกฤตโรคระบาดแล้ว ยิ่งทำให้เห็นภาพในหนังชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ระหว่างที่เราดูหนังอยู่นี้ ภาพของบุคคลต่าง ๆ ในนั้นล้วนแล้วแต่ผุดขึ้นมาในหัวทันที แล้วแต่ความเชื่อทางการเมืองของตัวบุคคลที่แตกต่างกันไป
ดังนั้น Don’t Look Up จึงไม่เพียงเป็นหนังหายนะที่เล่าวาระสุดท้ายของโลกอย่างเฉียบแหลมที่สนุกและตลกมากเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนยุคสมัยได้อย่างเฉียบคม โดยเฉพาะซีนระเบิดอารมณ์ของลีโอนาร์โดที่สรุปรวบยอดเรื่องราวทั้งหมดว่า
“ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังโกหกอยู่โว้ย!...ฟังนะ ผมก็เหมือนกับพวกคุณทุกคน ผมหวังอย่างยิ่งว่าประธานาธิบดีคนนี้รู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ ผมหวังว่าเขาจะดูแลเราทุกคน แต่ความจริงคือ ผมคิดว่าไอ้รัฐบาลนี้แม่งเสียสติกันไปหมดแล้วโว้ย! ผมคิดว่าเราทุกคนจะตายกันหมด!”
มันยิ่งช่วยตอกย้ำความรู้สึกลึก ๆ ที่เป็นอันรู้กันของคนดูหนังว่า ต่อให้อุกกาบาตยังไม่ได้ชนโลก แต่ตอนนี้ความรู้สึกของมนุษยชาติก็ได้แตกเป็นเสี่ยง ๆ ไปแล้วเรียบร้อย
เรื่อง: สกก์บงกช ขันทอง
ภาพ: Don’t Look Up