เบน แลมม์: ผู้แก้ปัญหาภาวะโลกรวนด้วยการจัดตั้งบริษัทเพื่อคืนชีพแมมมอธ
“เราจะชุบชีวิตแมมมอธขนยาว สัตว์ในโลกดึกดำบรรพ์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง!”
คำพูดที่น่าเหลือเชื่อนี้คงทำให้ใครหลายคนตาลุกวาว ขณะที่บางคนอาจเบือนหน้าหนี เพราะปัจจุบันสัตว์ในยุคน้ำแข็งชนิดนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 2 หมื่นปี และคงบอกว่าคำพูดดังกล่าวคงเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด แต่ไม่ใช่กับ ‘เบน แลมม์’ หนุ่มไฟแรงวัย 40 ปี ผู้ลงทุนเปิดบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อชุบชีวิตแมมมอธขนยาวสัตว์ที่สาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
เบน แลมม์ (Ben Lamm) นักธุรกิจหนุ่มจากรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ชายที่มาพร้อมกับทรงผมหยักศก และแววตาที่มักจะเปล่งประกายอยู่เสมอเมื่อเล่าถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน ซึ่งเขาจะเข้ามาเปลี่ยนโลกเหนือจินตนาการให้ขยับเข้าใกล้ความจริงขึ้นอีกขั้น โดยมีความสงสัยใคร่รู้ และความฝันวัยเด็กเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงาน
แลมม์สัมผัสสภาพสังคมที่หลากหลายมาตั้งแต่เด็ก เขาเกิดในครอบครัวนักธุรกิจ พ่อของเขามักเดินทางไปติดต่อธุรกิจต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง เมื่อแลมม์มีอายุ 9 ขวบ เขาเดินทางไปแล้วกว่า 50 ประเทศ แม้ชีวิตของเขาจะเหมือนเกิดมาบนกองเงินกองทอง แต่แลมม์ซึ่งถูกเลี้ยงดูโดยแม่และยายนั้น กลับดำเนินชีวิตไปอย่างราบเรียบตามวิถีอเมริกันแท้ ๆ ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย
แลมม์ก่อตั้ง โคลอสซอล (Colossal) บริษัทสตาร์ทอัพด้านชีววิทยาศาสตร์และพันธุศาสตร์ในปี 2021 ด้วยเงินทุนส่วนตัวราว 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งประกาศก้องว่า เขาและทีมงานจะทุ่มเทอย่างสุดความสามารถในการชุบชีวิตแมมมอธขนยาว หรือแมมมอธขนดก (Woolly Mammoth) ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
อีกหนึ่งเหตุผลที่แลมม์ต้องการให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดนี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมา เพราะเขาตระหนักดีว่าการต่อสู้กับปัญหาภาวะโลกร้อน ในขั้วโลกเหนือ หรือที่เรียกกันว่า ‘ภาวะโลกรวน’ ในปัจจุบัน ซึ่งเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินกว่าที่ธรรมชาติจะรับมือไหว ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้โลกร้อนระอุ สภาพอากาศแปรปรวน เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระบบนิเวศดั้งเดิมถูกทำลาย และนับวันสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายขึ้นเรื่อย ๆ นี้ ดูเหมือนจะยังหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ในเร็ววัน ไม่แน่ว่าแมมมอธอาจเป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยก่อนหน้านี้ แลมม์ยังเป็นเจ้าของบริษัทอีก 4 แห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ Hypergiant บริษัทที่ช่วยวางระบบการบินและอวกาศ การป้องกันประเทศ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานให้รัฐบาลและบริษัทระดับโลก เช่น องค์การ NASA, GE Power, Apple และ Twitter สามารถดึงความสามารถของ AI สุดล้ำสมัยมาใช้ในให้ทำงานได้อย่างราบรื่น
นี่คงเป็นจุดสูงสุดในอาชีพของใครหลายคน แต่ไม่ใช่กับแลมม์ เขาเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่าธุรกิจที่เขาทำอยู่ตอนนี้ ช่วยเติมเต็มความว่างเปล่าภายในจิตใจของเขาได้หรือยัง หรือเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ซึ่งแลมม์ก็ได้ค้นพบว่า สิ่งที่เขาขาดหายไปคือ ‘ความสุข’ นับตั้งแต่เริ่มทำงานและเป็นเจ้าของบริษัทในวัยยี่สิบปลาย ๆ เขาแทบไม่เคยสัมผัสความสุขเลยในแต่ละวัน
นี่คือตะกอนความคิดที่ตกผลึกลงมาขณะที่แลมม์นั่งอยู่ในร้านไอศกรีมแห่งหนึ่งในเมืองออสติน รัฐเท็กซัส ซึ่งรอบตัวของเขาล้วนอบอวลไปด้วยมวลแห่งความสุข ทั้งพนักงาน ลูกค้า ไปจนถึงเจ้าของร้าน ทุกคนต่างส่งรอยยิ้มให้แก่กัน
“คนที่นี่ดูมีความสุขกันมาก จนทำให้ผมรู้สึกอิจฉา”
หลังจากเขาได้ซึมซับบรรยากาศแห่งความสุข แลมม์เริ่มปล่อยวางกับการทำงานมากขึ้น จนกระทั่งเขาได้อ่านเจอบทความวิจัยของศาสตราจารย์ จอร์จ เชิร์ช (George Church) เกี่ยวกับแนวโน้มที่จะสามารถชุบชีวิตแมมมอธขนยาวให้กลับมาโลดแล่นบนโลกอีกครั้ง แลมม์รับรู้ได้โดยทันทีว่า นี่แหละคือสิ่งที่เขาค้นหามาตลอด 40 ปี
โครงการเหนือจินตนาการ ซึ่งใช้ชื่อว่า De-Extinction หรือการทำให้ไม่สูญพันธุ์นี้ จะไม่มีทางเข้าใกล้ความจริงได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากหุ้นส่วนคนสำคัญ ศาสตราจารย์ จอร์จ เชิร์ช และทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นผู้ช่วยลงแรงกายและใจในการศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมของแมมมอธ โดยอาศัยความก้าวหน้าของนวัตกรรมตัดต่อยีนสุดล้ำของทางบริษัทที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
“วิสัยทัศน์อันยิ่งใหญ่นี้จะไม่มีทางเป็นจริงได้ หากขาดบุคคลที่มีความคิดสุดล้ำอย่างแลมม์ ใครจะไปคิดว่าจะมีคนเห็นด้วยกับผมในการชุบชีวิตสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ชนิดนี้ให้กลับมาโลดแล่นบนโลกอีกครั้ง”
ซึ่งความคิดสุดยิ่งใหญ่ของแลมม์ เรียกได้ว่าไม่ใช่ใหญ่ธรรมดา แต่มันคือเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ และคงมีน้อยคนนักที่จะตัดสินใจเปิดบริษัทเพื่อผลักดันความคิดดังกล่าวให้กลายเป็นจริง ซึ่งอาจนำไปสู่ก้าวสำคัญของมนุษยชาติในด้านการอนุรักษ์ผืนป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sequestration) ไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ๆ
นอกจากแลมม์จะเป็นผู้นำหลักในการเปิดประตูที่เรียกได้ว่าแทบจะปิดสนิทลงไปแล้วของสัตว์ในโลกยุคดึกดำบรรพ์ให้เปิดออกอีกครั้งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บริษัทก่อนหน้านี้ของเขายังได้ทำเรื่องน่าเหลือเชื่อมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่การวิจัยยานอากาศประหลาดและวัตถุลึกลับบนท้องฟ้า ไปจนถึงการวิจัยหุ่นยนต์ดักจับคาร์บอน ซึ่งในขณะนี้ก็ยังคงดำเนินการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อไขข้อข้องใจเรื่องราวอันสุดแสนลึกลับของห้วงอวกาศให้กระจ่าง
“ไม่เคยมีสักครั้งที่มนุษยชาติจะสามารถควบคุมพลังความก้าวล้ำของเทคโนโลยี เพื่อสร้างระบบนิเวศขึ้นมาใหม่ ในการรักษาโลกของเรา และอนาคตของโลก ผ่านการฟื้นคืนชีพสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมาสร้างสมดุลให้โลกใบนี้อีกครั้ง” แลมม์ยังมองไปในอนาคตอีกว่า หากเทคโนโลยีที่เขาและทีมคิดค้นขึ้นมาประสบความสำเร็จ เหล่าสรรพสัตว์ในโลกอาจไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือต้องตกอยู่ในภาวะวิกฤตอีกต่อไปก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์เชิร์ชเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่ง แมมมอธร่างยักษ์ขนปุกปุยจะกลับมาเปลี่ยนทุ่งหญ้ากว้างโล่งอันหนาวเหน็บในเขตอาร์กติก ให้กลายเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของแมมมอธ แทนที่จะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเหมือนในปัจจุบัน ผ่านการเหยียบย่ำและขับถ่ายของเสียระหว่างเดินทาง เพื่อแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชเขตหนาว เหมือนที่ครั้งหนึ่งบรรพบุรุษของพวกมันเคยทำ
“วันหนึ่งทุุ่งน้ำแข็งในเขตอาร์กติกจะกลับมาเป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ของแมมมอธอีกครั้ง หลังจากถูกภาวะโลกรวนเล่นงานเข้าอย่างจังในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากให้ความชื่นชมโครงการของแลมม์ ในขณะที่บางคนยังคงเคลือบแคลงใจว่า โคลอสซอล จะบรรลุเป้าหมายได้จริงหรือไม่ แต่แลมม์และนักลงทุนมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่คือโครงการแห่งโลกอนาคต และพวกเขาจะต้องทำให้สำเร็จ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า เขาจะไม่ทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงเหมือนในภาพยนตร์จูราสสิค พาร์ค (Jurassic Park) อย่างแน่นอน
ภาพ: Courtesy of Colossal
อ้างอิง