น้ำพริกแคบหมูยายน้อย: แบรนด์น้ำพริกที่เน้นขายขำไม่เน้นขายของ กับการบูลลี่ตัวเองจนมียอดขายเกินครึ่งล้าน 

น้ำพริกแคบหมูยายน้อย: แบรนด์น้ำพริกที่เน้นขายขำไม่เน้นขายของ กับการบูลลี่ตัวเองจนมียอดขายเกินครึ่งล้าน 
“จริง ๆ ผมไม่ได้อยากขายน้ำพริกแคบหมู แต่ที่เปิดเพจ ‘น้ำพริกแคบหมูยายน้อย’ ขึ้นมาเพราะว่าอยากขายขำ” เบียร์-ศรัญญู เพียรทำดี หนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์จากเพจเฟซบุ๊ก Buffalo Gags เผยถึงที่มาที่ไปของการทำ ‘น้ำพริกแคบหมูยายน้อย’ แบรนด์น้ำพริกโฮมเมดที่คุณแม่หรือ ยายน้อย-กนกรักษ์ เพียรทำดี บังเอิญไปเจอสูตรทำน้ำพริกจากอินเทอร์เน็ต แล้วอยากจะลองทำขายเล่น ๆ ในไลน์กลุ่มของหมู่บ้าน จนกลายเป็นที่มาของแบรนด์น้ำพริกรสเด็ด ที่ครองใจทั้งเพื่อนบ้านและชาวเน็ตสายฮามานานนับสามปี อยากขายขำ ไม่ได้อยากขายของ ทุกวันนี้การเปิดเพจเฟซบุ๊กขายของคงกลายเป็นเรื่องปกติที่เหล่าบรรดาพ่อค้าแม่ขาย เลือกที่จะทำเป็นอันดับแรก ๆ เพื่อโปรโมตแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างให้ได้มากที่สุด แต่เบียร์มองว่าการเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อขายของเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ใช่คำตอบ “ช่วงแรกที่โพสต์ขายน้ำพริก ผมก็โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ไม่ได้อยากจะขายจริงจัง แค่อยากช่วยแม่โปรโมตเฉย ๆ” เบียร์เล่าแกมขำ เพราะไม่คิดว่าการโพสต์เล่น ๆ ครั้งนั้นจะทำให้น้ำพริกแคบหมูของยายน้อยดังเป็นพลุแตก “หลังจากโพสต์เสร็จ เพื่อน ๆ ของผมเขาก็เข้ามาแซวว่า ‘น้ำพริกแคบหมูหรือแคบหมา’ ‘เอาไปหนุนล้อรถได้มั้ย?’ อะไรอย่างนี้ แทบทุกคนที่มาคอมเมนต์จะเป็นแนวนี้หมดเลย เราเห็นเราก็ขำ คนที่มาอ่านเขาก็ตลก ผมก็เลยเอาไปลงเพจ Buffalo Gags ดู ปรากฏว่าทุกคนชอบหมดเลย ขำกันหมด” แม้ว่าจะได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลามจนกลายเป็นไวรัลในเพจ Buffalo Gags แต่เบียร์ก็ยังคงยืนยันจะไม่เปิดเพจขายน้ำพริกแคบหมูยายน้อยอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งมีเพื่อนมาสะกิดว่า ไหน ๆ ก็เป็นที่รู้จักขนาดนี้แล้ว ทำไมไม่ลองทำเพจเพื่อให้คนเข้ามาอ่านมุกน้ำพริกแสบ ๆ คัน ๆ ที่โดนบูลลี่จากทั้งเจ้าของเองและคนรอบข้างโดยเฉพาะดู “จริง ๆ ผมโพสต์ขายน้ำพริกในเฟซบุ๊กส่วนตัวมาโดยตลอด ไม่ได้อยากขายจริงจัง พอได้รับออร์เดอร์ ผมก็บอกยายน้อย มันจะเป็นรูปแบบนี้มาโดยตลอด พอขายไปเรื่อย ๆ คนก็เริ่มรู้จักเยอะขึ้น แต่ยังเป็นวงเล็ก ๆ อยู่ เพราะเราไม่มีเพจขายน้ำพริกโดยตรง” “ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 เราก็คิดว่าเราอยากปล่อยมุกให้คนอื่นเข้ามาอ่านเพิ่มขึ้น ซึ่งจริง ๆ อันนี้เป็นหัวใจหลักเลย เราไม่ได้อยากขายของ เราอยากเล่นมุกน้ำพริก แล้วให้คนได้อ่านวันละ 1 มุก ไม่ได้เป็นกลยุทธ์ของแบรนด์นะ เป็นฟีลมากกว่า” แต่ภายใต้การขายขำ เบียร์ก็ได้เผยมุมจริงจังในการวางกลยุทธ์ทำแบรนด์ให้แตกต่างให้เราฟังเพิ่มเติม “ตอนหลังเลยมาวิเคราะห์ว่าเราควรจะทำจริงจังมากกว่านี้ไหม จากแต่ก่อนเราคิดมุกอะไรออก เราก็เอาลงเพจเลย อยากเล่นอะไรก็ลง พอเปิดเพจจริงจังเลยต้องวางแผนใหม่ กลายเป็นว่าเราจะปล่อยมุกอย่างน้อยวันละ 1 มุกนะ “พอเราตั้งใจ มันก็กลายเป็นว่าเรามียอดขายเพิ่มขึ้น รายได้ก็เข้ามา มีคนมาติดตามเรื่อย ๆ จากหลักสิบ ไปหลักร้อย เป็นพัน แล้วก็หมื่น ตอนนี้ก็มีคนรู้จักเราประมาณสองแสนคนได้แล้ว” คิดสโลแกนไม่ออก (วอน) ชาวเน็ตช่วยคิดหน่อย หลังจากขายขำมาประมาณครึ่งปี แอดมินเพจสายฮาคนนี้เริ่มได้รับการติดต่อให้ไปออกบูธเพื่อ ‘ขายของ’ อย่างจริงจังมากขึ้น แต่ปัญหาคือน้ำพริกแคบหมูยายน้อยยังไม่มีสโลแกน เบียร์เองก็คิดไม่ออก เลยโพสต์ถามความคิดเห็นจากลูกเพจ ซึ่งผลตอบรับที่ได้รับกลับมาก็ทำให้เบียร์ขำไม่หยุด เพราะแต่ละสโลแกนที่ได้มา ใครผ่านมาอ่านเป็นต้องหลุดขำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกแคบหมูยายน้อย อร่อยเกินร้อยให้น้อยสมชื่อ, กินแล้วตาย คายแล้วรอด ไปจนถึง คำแรกติดใจ คำต่อไปติดคอ “ตอนนั้นผมทำคอนเทนต์ไปเรื่อย ๆ มีไวรัลบ้าง แต่ไม่คิดว่ามันจะพีค คอนเทนต์ที่พีคสุดเลยก็เป็นช่วงที่ผมได้รับการติดต่อให้ไปออกบูธ ตอนนั้นอยากได้สโลแกน แล้วผมคิดไม่ออก เลยโพสต์ลงเพจเพราะอยากได้ไอเดีย “หลังจากโพสต์ถาม ผมก็ปิดคอมพ์นอนเลยนะ แล้วก็ไม่คิดด้วยว่ามันจะเป็นไวรัล พอวันรุ่งขึ้นตื่นมาก็เห็นคนมาตอบเยอะมาก ประมาณหมื่นกว่าคอมเมนต์ คนแชร์อีกสามหมื่น ผมเลยเอาสโลแกนทั้งหมดประมาณ 20 อันมาติดลงป้ายไวนิลหมดเลย “พอไปขายของที่บูธ แม่ก็เอะใจว่าทำไมคนมาซื้อน้ำพริกเราเยอะจัง แถมยังขอถ่ายรูปคู่อีก เขาก็สงสัยแหละ แต่ไม่ได้ถามอะไรมาก เพราะก็รู้คร่าว ๆ ว่าเราช่วยเขาโพสต์ขายของผ่านทางเฟซบุ๊ก” ซึ่งตอนนี้เบียร์ก็ลาออกจากงานประจำมาช่วยยายน้อยขายน้ำพริกอย่างเต็มตัว หลังจากคิดทบทวนตัวเองมาตลอดระยะเวลา 3-4 เดือน “มันมีความคิดหนึ่งเข้ามาในหัวว่า อันนี้มันเป็นสิ่งที่เราชอบจริง ๆ แล้วผมก็คิดว่าถ้าลาออกไปแล้วไปทำมันอย่างเต็มที่ มันน่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะการที่ผมทำงานประจำไปด้วย ขายน้ำพริกไปด้วย มันไม่เต็มที่ ถึงแม้ว่ายอดขายมันจะโอเคก็จริง แต่ถ้าเราลงไปทำแบบเต็มตัว มันก็น่าจะดีกว่าเดิม"  “งานประจำที่ผมทำอยู่ก็ไม่ใช่อาชีพที่เราชอบ มันเป็นแค่อาชีพ ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต แต่ผมไม่ได้จะบอกว่าผมชอบกินแคบหมูนะ ผมชอบทำคอนเทนต์ตลก ๆ มากกว่า อยากเล่นมุก พอมาขายของ ผมก็ได้เป็นทั้งคอนเทนต์ครีเอเตอร์ควบคู่กันไป” หลังจากเบียร์ลาออกมาทำสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ ยอดขายก็เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดือนที่ผ่านมา และเป็นข้อพิสูจน์ชั้นดีว่านี่คือการตัดสินใจที่ถูกต้อง อีกทั้งยังมีเวลาอยู่กับครอบครัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย “ตอนทำงานประจำผมได้กลับบ้านอาทิตย์ละครั้ง พอเห็นยอดขายน้ำพริกก็ตัดสินใจเลย ‘ลาออกดิวะ’ กลับมาอยู่บ้าน มาอยู่กับพ่อ-แม่ แล้วยังมีเวลาให้ลูกอีกต่างหาก มันเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์เรามากที่สุด ได้ทั้งรายได้ แถมมีเวลาให้กับครอบครัวอีก” ขายขำเพิ่มขึ้น แต่ราคาคงเดิม นอกจากจุดเด่นเรื่องการล้อเลียนสินค้าของตัวเองทุกวัน และขยันรับ-ส่งมุกกันอย่างออกรสกับลูกเพจแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เบียร์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ ‘ราคา’ ที่จับต้องได้ เพราะเขาเชื่อว่า การขายสินค้าอะไรก็ตาม ราคาต้องสมเหตุสมผล เบียร์จึงยกหน้าที่ในการคิดคำนวณราคาให้เป็นของยายน้อย อดีตแม่ค้าอาหารตามสั่งที่ผันตัวมาเป็นแม่ค้าขายน้ำพริกแคบหมูฟูลไทม์ “หลัก ๆ แล้วแม่เป็นคนตั้งราคา เขาจะรู้แล้วก็เข้าใจในเรื่องของราคาต้นทุน เพราะแม่เคยขายอาหารตามสั่งมาก่อน “ราคาที่ขายก็ขายราคาเดียวกันมาตลอด คนซื้อเขาก็รับได้ เราก็รับได้ แต่ถึงแม้ว่าราคาจะไม่แพง แต่วิธีการทำแคบหมูมันค่อนข้างยาก มันต้องใช้เวลา ช่วงแรกแม่เลยทำขายเล่น ๆ ไม่ได้มาทำแบบเต็มตัวเหมือนทุกวันนี้" “กลายเป็นว่าจากที่แม่เลิกทำร้านอาหารตามสั่ง เพราะเหนื่อย ตอนนี้แม่เหนื่อยกว่าเดิมอีก” เมื่อเทียบกับช่วงเริ่มต้นโพสต์ขายผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มาจนถึงเปิดเพจเฟซบุ๊กน้ำพริกแคบหมูยายน้อยอย่างจริงจัง เบียร์เผยตัวเลขการสั่งซื้อวัตถุดิบที่น่าตกใจให้เราฟังว่า ช่วงที่ยายน้อยเพิ่งเริ่มทำใหม่ ๆ สั่งซื้อหมูไปไม่ถึง 10 กิโลกรัมต่อเดือน แต่ตอนนี้ทุก ๆ เดือน ยายน้อยต้องออกไปคัดสรรเนื้อหมูสดใหม่ด้วยตัวเอง แล้วขนกลับบ้านมาวันละหลายกิโลฯ รวม ๆ แล้วเดือนหนึ่งยายน้อยต้องสั่งซื้อหมูมากถึงเดือนละตัน ยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ ยอดสั่งซื้อก็เพิ่มขึ้นเกือบร้อยเท่า “เราก็มานั่งคิดกันว่าทำไมถึงขายได้เยอะขนาดนี้ ยอดขายมันเพิ่มขึ้นเร็วมาก แล้วเราก็คิดได้ว่า อาจจะเป็นเพราะช่วงนี้ (โควิด-19) คนอยู่บ้านเยอะก็เลยสั่งซื้อของออนไลน์กันเยอะ" “ยิ่งในช่วงเดือนสิงหาคม 2020 เรามียอดขายอยู่ที่ประมาณแสนกว่าบาทต่อเดือน ช่วงที่พีคสุด ๆ ก็ประมาณห้าแสนบาทต่อเดือน” แม้จะคลายล็อกดาวน์ลงไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าน้ำพริกแคบหมูยายน้อยก็ยังคงขายดีเป็นเทน้ำเทท่า จนทำให้เบียร์ชักชวนน้องสาวที่ทำงานประจำลาออกมาช่วยยายน้อยขายอีกแรง กลายเป็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก ประกอบด้วย เบียร์ ยายน้อย และน้องสาว รวมถึงลูก ๆ หลาน ๆ ที่นอกจากจะช่วยเติมเต็มจุดมุ่งหมายในชีวิตแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบแน่นขึ้นอีกด้วย แผนในอนาคต สำหรับทิศทางในการทำแบรนด์ในอนาคต เบียร์เล่าให้ฟังว่า กำลังวางแผนที่จะเปิดเป็นโรงงานเล็ก ๆ ขึ้นมา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต คาดว่าน่าจะเปิดสายพานการผลิตได้ภายในปี 2022 “เราอยากโตขึ้นมากกว่านี้ มันก็ต้องมีสเต็ปต่อไป อันนี้คือความท้าทาย เราต้องคิดอะไรใหม่ ๆ เราอยากลองว่ามันสำเร็จมั้ย ถ้าไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ผมไม่ได้ซีเรียสขนาดนั้น ถ้าเราทำแล้วมันสำเร็จมันก็ดี เราจะได้นำไปต่อยอดได้ในอนาคต” นอกจากน้ำพริกแคบหมูแล้ว เบียร์ยังได้คิดเมนูอาหารใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ที่สนใจแต่กินเนื้อหมูไม่ได้ เช่น น้ำพริกปลาทูฟู น้ำพริกกุ้งเสียบ แม้จะมีเมนูอาหารหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งยอดขายยังโตขึ้นเรื่อย ๆ แต่เบียร์ก็ไม่ได้มีทีท่าว่าจะขยับจากการขายออนไลน์เข้าสู่หน้าเชลฟ์ เพราะ ‘ความยูนีค’ คือสิ่งที่เบียร์อยากคงไว้ “มีคนแนะนำให้เราเอาสินค้าไปวางที่ร้านสะดวกซื้อค่อนข้างเยอะ แต่ผมชอบความยูนีคมากกว่า ไม่อยากให้สินค้าของผมไปอยู่ตรงไหนที่มันง่ายเกินไป อยากให้เขามาซื้อกับเราโดยตรง อยากให้รู้จักตัวตนของแบรนด์จริง ๆ เพราะคนที่เข้ามาซื้อส่วนใหญ่ก็ต้องเสพคอนเทนต์เราอยู่แล้ว เราอยากให้เขาสนุก ถ้าเขากลับมาอุดหนุนต่อก็แสดงว่าเขากลับมาเพราะมันอร่อย ไม่ใช่เพราะคอนเทนต์เพียงอย่างเดียว" “ในส่วนของขาจร ก็พอจะมีบ้างแต่ไม่ได้เยอะ เทียบเป็นสัดส่วนแล้วก็มีประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ ผมรู้จำนวนได้ เพราะทุกครั้งที่ออกบูธ ผมจะถามเขาก่อนเลยว่ารู้จักเรามาจากไหน เก้าสิบเปอร์เซ็นต์บอกว่าตามมาจากเพจ ส่วนน้อยที่เป็นขาจร" “ผมชอบบรรยากาศแบบนี้นะ ขายออนไลน์มันดูยูนีคแล้วมันไม่แมส ชอบให้มันเป็นแบบนี้มากกว่า” สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะสั่งน้ำพริกแคบหมูยายน้อยติดตัวไปต่างประเทศ เบียร์ได้แนะนำว่าควรจะกินตอนทำเสร็จใหม่ ๆ มากกว่า การพกน้ำพริกบินลัดขอบฟ้าจึงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก “แคบหมูมีอายุค่อนข้างสั้น เราเลยไม่แนะนำให้เก็บไว้นานเกินไป แต่ตอนนี้ก็กำลังคิดอยู่ว่าจะทำยังไงให้มันสามารถอยู่ได้นานขึ้นอีกหน่อย โดยใช้วิธีแพ็กสุญญากาศ เพราะมีลูกค้าหลายคนที่สอบถามเข้ามาว่าอยากจะหิ้วไปต่างประเทศอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน” ก่อนจะจบการสนทนา เรายังติดใจสโลแกนที่เบียร์เลือกมาไม่หาย เลยถามออกไปตรง ๆ ว่า ถ้าจะให้เลือกหนึ่งอันที่ชอบที่สุดจะเป็นอันไหน “อร่อยให้หก สกปรกให้สิบ” (หัวเราะ) เบียร์ตอบอย่างรวดเร็ว แทบจะไม่ต้องคิดเลยทีเดียว    เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง