ลาซาร์ คากาโนวิช: มือขวาสุดอำมหิตของสตาลิน ผู้เปิดเส้นทางรถไฟใต้ดินแห่งแรกของโซเวียต
หลังจากได้รับข่าวคราวว่าสถานีรถไฟหัวลำโพงที่มีอายุ 105 ปี จะปิดตัวลงในวันที่ 24 ธันวาคมนี้ พลันทำให้เรานึกถึงสถานีรถไฟใต้ดินของมอสโก ประเทศรัสเซีย ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่สิบปีก็ยังคงความ ‘คลาสสิก’ ของสถาปัตยกรรมและงานตกแต่งภายในอันน่าทึ่ง ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรม และอุดมการณ์ทางการเมืองของอดีตผู้นำ โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ที่พยายามแสดงให้โลกทุนนิยมเห็นว่าสังคมนิยมคอมมิวนิสต์นั้นยิ่งใหญ่มากเพียงใด
แม้จะเป็นคนละบริบท เพราะรัสเซียยังคงเปิดให้บริการตามปกติ และสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ความใกล้เคียงกันนี้ก็ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า อะไรทำให้รัสเซียเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้ว เลือกขุดเมืองใต้ดินของมอสโก เพื่อเปิดประตูการเดินทางสายใหม่ ซึ่งต้องใช้ทั้งแรงงานและเงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งเส้นทางนี้
นี่คือเรื่องราวประวัติศาสตร์รถไฟใต้ดินรัสเซีย โดยมีผู้นำร่องโครงการอย่าง ลาซาร์ คากาโนวิช สหายคนสนิทของสตาลินเป็นผู้กุมบังเหียน ชายผู้เริ่มวางระบบใต้ดินให้กลายเป็นระบบคมนาคมที่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโซเวียต ที่ว่ากันว่ามีโครงข่ายซับซ้อนและครอบคลุมแทบทุกเมือง อีกทั้งแต่ละสถานียังมีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่ว่าใครมาเยือนต่างต้องยกให้เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรม ‘งดงาม’ มากที่สุดในโลก
แต่ภายใต้ความงดงามกลับแฝงไปด้วยเรื่องราวสุดสะเทือนใจ สถานที่ซึ่งชีวิตของผู้คนนับสิบล้านรายถูกคร่าไปอย่างไร้ความหมาย เพียงเพราะ ‘ผู้นำ’ ต้องการพัฒนาส่วนกลางของประเทศ โดยไม่สนใจชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนรอบข้าง
สหายสตาลิน
หลังจากศตวรรษที่ 19 หลายประเทศในยุโรปได้เดินทางเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอย่างเต็มกำลัง เมืองเริ่มขยายตัว แรงงานไหล่บ่าเข้ามาทำงานหาเงินเลี้ยงชีพมากขึ้นทุกวัน แต่ระบบคมนาคมในหลายประเทศยุโรป รวมถึงรัสเซีย (สหภาพโซเวียตในขณะนั้น) ยังคงไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการ
เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในปี 1934 สตาลินจึงสั่งการให้ ลาซาร์ คากาโนวิช วางระบบรถไฟใต้ดินขึ้นมา นอกจากจะช่วยลดปัญหาความแออัดของการคมนาคมแล้ว ยังช่วยสร้างงานและปลูกฝังแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ในทางอ้อม เพราะแทบทุกสถานีจะมีสถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในอันเป็นเอกลักษณ์ ทั้งภาพเขียน รูปปั้น โคมไฟระย้า ล้วนแสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ ภายใต้การบริหารของจอมเผด็จการ
ลาซาร์ คากาโนวิช (Lazar Kaganovich) เกิดในครอบครัวที่ยากจน ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่งใกล้กับเมืองเคียฟ ยูเครน เขามีพี่น้องเกือบสิบคน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ยิ่งน่าอดสูเข้าไปอีก ลาซาร์ต้องทำงานโรงงานตั้งแต่อายุ 14 ปี ทำหน้าที่คัดแยกสินค้าในตอนกลางคืน ส่วนตอนกลางวันสวมบทบาทเป็นนักซ่อมรองเท้ามือสมัครเล่น
ประกอบกับการมีเชื้อสายยิวไหลเวียนอยู่ภายในร่างกาย ทำให้ลาซาร์ต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ตั้งแต่การเป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ได้รับเลือกให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียนของรัฐ ส่วนในระดับมหาวิทยาลัย ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะชาวยิวส่วนใหญ่มักถูกกีดกันไม่ให้ได้รับการศึกษาตั้งแต่เด็ก การเข้าเรียนในระดับสูงจึงเป็นเรื่องยาก แม้แต่ถิ่นพำนัก พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์เลือก ต้องอาศัยอยู่ในรัสเซียฝั่งตะวันตก ดินแดนที่บรรพบุรุษเข้ามาตั้งรกรากไว้ตั้งแต่ต้นเท่านั้น ขณะที่การประกอบอาชีพส่วนใหญ่ ยังคงสงวนไว้สำหรับชาวรัสเซีย
จากความอยุติธรรมที่ลาซาร์ได้รับ ทำให้ทุกครั้งที่เกิดการประท้วงหรือนัดหยุดงาน เขามักเป็นคนแรก ๆ ที่ตบเท้าเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิที่พึงมีโดยไม่ลังเล (และโดนไล่ออกจากงานในเวลาต่อมา) แต่ลาซาร์ยังไม่หมดความพยายาม เขาต้องการให้ประเทศแห่งนี้มีพื้นที่ให้กับทุกคน โดยเฉพาะคนเชื้อสายยิว เขาจึงสมัครเข้าร่วมพรรคบอลเชวิคในปี 1911 พรรคการเมืองที่ลุกขึ้นมาต่อต้านชนชั้นนายทุน และให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานและชาวนา
ขณะที่การปฏิวัติรัสเซียระลอกแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 1917 เปิดฉากขึ้น ลาซาร์ในวัย 23 ปี ก้าวขึ้นเป็นแกนนำหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมือง พร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มการเมืองเล็ก ๆ ในยูเครนและเบลารุส เขาเริ่มมีอำนาจทางการเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ และในไม่ช้าก็ได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อผู้แทนของรัฐสภาโซเวียต ประจำเมืองเปโตรกราด
ที่นั่นเขาได้พบกับวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ผู้นำพรรคบอลเชวิค เลนินประทับใจในความมุ่งมั่นของลาซาร์ จึงยกตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปลุกระดม (The Agitation Department) ซึ่งมีความสำคัญในการโน้มน้าวชนชั้นกรรมาชีพให้เข้าร่วมการประท้วง
หลังจากการเสียชีวิตของเลนิน ในปี 1925 ลาซาร์ก้าวขึ้นสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุด เขามีอำนาจล้นมือ ไม่ว่าใครต่างก็ต้องให้การเคารพ แม้แต่สตาลินผู้นำพรรคคนใหม่ที่ขึ้นรับตำแหน่งต่อจากเลนิน ก็ชื่นชอบเขาจนยกให้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ในยูเครน
ความสนิทสนมของทั้งสองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ลาซาร์ได้รับผิดชอบโครงการใหญ่หลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือนโยบายด้านเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์ เขาออกคำสั่งให้แต่ละหมู่บ้านส่งธัญพืชหรือผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดมายังส่วนกลางโดยไม่มีข้อยกเว้น หากหมู่บ้านใดไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ ซึ่งหมู่บ้านส่วนใหญ่ไม่สามารถทำตามนโยบายจากส่วนกลางได้ ส่งผลให้ชาวยูเครนล้มตายไปมากถึง 7-10 ล้านราย เนื่องจากความอดอยากหิวโหย
เหตุการณ์ครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ Holodomor หรือการปล่อยประชาชนชาวยูเครนทนทุกข์ทรมานและล้มตาย นับเป็นความโหดร้ายของหน้าประวัติศาสตร์ที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ใช่เพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ใช่เพราะอากาศที่แปรปรวน หรือฤดูกาลที่ผันเปลี่ยน แต่เป็นเพราะการกระทำของลาซาร์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำไร้หัวใจ โจเซฟ สตาลิน
ผู้ทำลายล้าง
ในปี 1934 ลาซาร์ได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลจัดการระบบขนส่งมวลชน โดยเขาได้แก้ปัญหารถรางและอุบัติเหตุที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งได้สำเร็จ อีกทั้งยังเสนอให้จัดตั้งโรงเรียนการรถไฟสำหรับเยาวชน เพื่อฝึกสอนเยาวชนโซเวียตให้เรียนรู้ทักษะสำคัญ ในการเติบโตมาเป็นพนักงานรถไฟในอนาคต
แม้จะเป็นการปูเส้นทางสู่อาชีพในอนาคตให้เด็ก ๆ แต่การกระทำหลายอย่างของเขา ถูกประชาชนส่วนใหญ่ตราหน้าว่าเป็น ‘ผู้ทำลายล้าง’ เนื่องจากลาซาร์ได้สั่งรื้อถอนมหาวิหารเซนต์เดอะซาเวียร์ (Cathedral of Christ the Saviour) วิหารโดมทองที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนโปเลียน ซึ่งใช้เวลาสร้างนานถึง 45 ปี แต่ลาซาร์กลับออกคำสั่งเพียงไม่กี่วินาที วิหารศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็ถูกรื้อถอนในทันที
“พวกเขาบอกว่าผมทำลายวิหารศักดิ์สิทธิ์ของมอสโก ทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก มันไม่เคยเกิดขึ้นจริง และผมจะไม่พยายามหาข้อแก้ตัวให้กับตัวเอง ผมและสมาชิกพรรคเพียงแค่เดินสำรวจเมืองและเห็นสิ่งกีดขวางเส้นทางจราจร จึงออกคำสั่งให้จัดการให้เรียบร้อยก็เท่านั้น” อย่างไรก็ตาม วิหารโดมทองคำถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนที่เดิมในปี 1990 ไม่กี่ปีก่อนที่สหภาพโซเวียตจะล่มสลาย
หลังจากสั่งรื้อถอนสิ่งกีดขวางเส้นทางจราจรแล้วเสร็จ ลาซาร์ได้เดินทางไปศึกษาดูงานรถไฟใต้ดินที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี และเมื่อกลับมา เขาได้รายงานอย่างตรงไปตรงมาต่อสตาลินว่า ในเบอร์ลิน ทางเข้าชานชาลารถไฟใต้ดินมีเพียงแค่ช่องว่างกลวง ๆ อยู่บนพื้นดิน ไม่มีความสวยงาม ไม่มีสิ่งสะดุดตา มีเพียงหลุมลึกที่ทอดยาวลงไปสู่ชั้นล่างของสถานี พร้อมทั้งเสนอความคิดเห็นต่อสตาลินว่า โซเวียตควรมีอะไรที่พิเศษมากกว่านั้น และควรสร้างสถานีรถไฟใต้ดินที่วิจิตรตระการตา เพื่อให้พวกเขาเห็นว่าคอมมิวนิสต์ยิ่งใหญ่มากเพียงใด
ลาซาร์ตรวจสอบทุกกระบวนการสร้างรถไฟใต้ดินด้วยตัวเองทั้งหมด ตั้งแต่การวางแผน กระบวนการก่อสร้าง และดูแลภาพรวมของโครงการทั้งหมด ไปจนถึงการอนุมัติแบบก่อสร้าง คนงานทุกคนชอบลาซาร์มาก เพราะเขามีความเด็ดขาดและมีความเป็นผู้นำสูง อีกทั้งยังจำชื่อหัวหน้าคนงานได้ทุกคน ยิ่งทำให้คนงานชื่นชอบเขามากขึ้นไปอีก
พระราชวังใต้ดิน
วันที่ 15 พฤษภาคม 1935 รถไฟใต้ดินสายแรกวิ่งจากสถานี Sokolniki จนถึง Park Kultury รวมระยะทาง 11 กิโลเมตร มีสถานีรวมกันทั้งสิ้น 13 สถานี นับได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟใต้ดินแห่งแรกของรัสเซีย ที่มีผู้ดูแลโครงการและก่อสร้างโดยชาวรัสเซียแท้ ๆ หากไม่นับรวมวิศวกรและผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษบางส่วนที่เข้ามาช่วยตรวจสอบความเรียบร้อยของโครงการอีกทางหนึ่ง
ส่วนการตกแต่งภายในแทบทั้งหมดสตาลินจะเป็นผู้เข้ามาควบคุมดูแล เพื่อถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมือง ประวัติศาสตร์การรวมชาติ และศิลปวัฒนธรรมรัสเซีย ซึ่งสตาลินต้องการให้สถานีรถไฟใต้ดินมีความหมายมากกว่าการเป็นเพียงแค่สถานีขนส่ง เขาจึงออกแบบทุกอย่างให้ยิ่งใหญ่ เพื่อให้งดงามสมกับเป็น ‘พระราชวังของประชาชน’ (Palaces for the People)
หากตกอยู่ในภาวะสงคราม พระราชวังแห่งนี้จะถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานีหลบภัยชั่วคราวให้แก่ประชาชน เรียกได้ว่าแทบทุกตารางนิ้วภายในสถานีรถไฟใต้ดินได้ถูกนำมาใช้สอยอย่างคุ้มค่า เป็นทั้งเส้นทางศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศ ที่หลบภัย โรงพยาบาล และหอบังคับบัญชาการของหน่วยงานราชการ ซึ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1941 มีเด็กที่เกิดจากโรงพยาบาลชั่วคราวภายในสถานีรถไฟใต้ดินถึง 217 คน
30 ปีที่โดดเดี่ยว
หลังจากสตาลินหมดอำนาจ และอาชญากรรมที่อดีตผู้นำเคยก่อเริ่มปรากฏออกสู่สาธารณะ ลาซาร์ต้องเผชิญหน้ากับความเกลียดชัง ผู้คนที่เคยชื่นชมและนับถือเขาต่างพากันหันหลังหนี สมาชิกพรรคตีตัวออกห่าง และถูกขับไล่ออกจากพรรคในที่สุด ส่วนภรรยาที่เขารักหมดหัวใจก็ตรอมใจตายในเวลาไล่เลี่ยกัน
ลาซาร์ใช้ช่วงเวลา 30 ปีสุดท้ายของชีวิตอย่างโดดเดี่ยว อาศัยเงินบำนาญจำนวนน้อยนิดที่ได้รับจากการเคยเป็นสมาชิกพรรคระดับสูง เขาไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล ไม่มีบ้านให้พักอาศัย ต้องอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ส่วนกลาง แม้แต่เงินทองติดตัวที่จะเอาไว้ใช้ยามเกษียณ หรือส่งต่อให้ลูกหลานก็ไม่มีสักบาทเดียว แต่นี่คือชีวิตคอมมิวนิสต์แบบที่ลาซาร์ใฝ่ฝัน เขามองว่าคอมมิวนิสต์ที่แท้จริงจะต้องอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีเงินทองมากมาย แค่มีความสุขในทุกช่วงเวลาก็พอแล้ว
ลาซาร์เสียชีวิตลงในวัย 97 ปี พร้อมกับความภาคภูมิใจว่าครั้งหนึ่งเขาเคยเป็นสมาชิกพรรคบอลเชวิค และสหายคนสนิทของสตาลิน ชายที่เขาเชื่อมั่นหมดหัวใจว่าเป็นผู้ปลดแอกสหภาพโซเวียตให้เป็นประเทศในอุดมคติ
ภาพ: Getty Images
อ้างอิง:
https://www.rbth.com/history/332916-stalin-comrade-lazar-kaganovich
https://km-ir.arts.tu.ac.th/files/original/e0d728250d97bea5b583bea22a00a72e7bdba457.pdf
https://www.expresstorussia.com/experience-russia/the-moscow-metro.html
http://aleksandr-kommari.narod.ru/kaganovich.html
https://www.mos.ru/en/news/item/28604073/