read
business
12 ม.ค. 2565 | 10:59 น.
บอส - นภัสรพี และ ต้นน้ำ - วารีช: ร้านชาคาแรคเตอร์คุณยาย ที่อยากให้ทุกวัยเปิดใจให้ชาร้อนมากขึ้น
Play
Loading...
ร้านชาร้อนในความคิดของคุณเป็นแบบไหน?
เป็นโรงเตี๊ยมไม้แบบจีนที่เป็นแหล่งพบปะของเหล่าอากงอาม่า หรือจะเป็นร้านชาอังกฤษสุดหรูที่เสิร์ฟมาในแก้วชาที่สวยจนไม่กล้าแตะ
ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบดื่มชา และมองหาร้านชาในรูปแบบใหม่ที่น่ารัก เข้าถึงง่าย คล้ายร้านกาแฟในปัจจุบัน เราขอพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘ชากิมบ้อ’ หรือ ‘Gimbocha’ ร้านชาเล็ก ๆ แถบชานเมืองหนองแขม ที่แม้จะไกลสักหน่อย แต่สามารถรับรองได้ถึงความประทับใจและความสุขระหว่างการดื่มชาได้อย่างแน่นอน
ร้านชารุ่นใหม่ ส่วนผสมจากความฝันของคุณพ่อและชื่อของเทพเจ้า
‘ชากิมบ้อ’ เป็นร้านชาจากความตั้งใจที่จะนำเสนอชาร้อนของเจ้าของทั้งสองคน อย่าง
บอส - นภัสรพี พุทธรัตน์
และ
ต้นน้ำ - วารีช กิจบูรณะ
ด้วยจุดเริ่มต้นของความฝันในการเปิดร้านขายชาของคุณพ่อ
เมื่อชีวิต First Jobber เริ่มต้นขึ้นในยุคโควิด-19 การทำงานในสายงานที่เรียนมาเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ยากพอสมควรสำหรับบอสและต้นน้ำ จากเดิมที่ทั้งคู่ใช้ชีวิต 4 ปี ในรั้วจามจุรี คณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาภาพยนตร์และภาพนิ่ง ต่างเริ่มมองหาเส้นทางใหม่ให้กับชีวิตต่อไป
“เราจบสายภาพยนตร์มา มันยิ่งยากไปกันใหญ่เลย ช่วงโควิด-19 เราไม่รู้จะทำอะไรจริง ๆ ก็อย่างน้อยเราสนใจเรื่องนี้ เราพยายามเปิดตรงนี้ดีกว่า”
เรื่องนี้ที่ว่าคือ ‘ชา’ นั่นเอง
บอสเล่าว่าในช่วงเริ่มต้น การเปิดร้านชาเป็นเพียงความฝันของคุณพ่อที่พูดกันเล่น ๆ ว่าอยากเปิดร้านชาในวัยเกษียณขึ้นมาบนโต๊ะอาหารเท่านั้น เนื่องจากเดิมทีครอบครัวชอบดื่มชากันเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
“แรกเริ่มมันก็เป็นไอเดียกันเฉย ๆ จนกระทั่งผมเรียนจบมา ก็ว่าจะเริ่มช่วยทำร้านให้คุณพ่อ”
และโจทย์หนักของทั้งบอสและต้นน้ำหลังจากที่ตัดสินใจก้าวมาทำธุรกิจอย่างเต็มตัว ก็คือการที่ชื่อร้านถูกตั้งไปก่อนแล้วด้วยฝีมือของคุณพ่อ โดยการใช้ชื่อเทพเจ้าจีนอย่าง ซีหวังหมู่ หรือที่ชาวไทยรู้จักกันในนามของ ‘กิมบ้อเนี่ย’ จนมาเป็นชากิมบ้ออย่างในปัจจุบัน
“คุณพ่อเขาตั้งชื่อร้านไปก่อนแล้ว ตั้งชื่อในที่นี้คือขึ้นป้ายหน้าร้านไปแล้วว่าชากิมบ้อ”
ชื่อร้านที่ดูจีนและเข้าถึงยากอย่างชื่อเทพเจ้า จึงกลายเป็นโจทย์หนักของบอสและต้นน้ำในการทำให้ร้านดูน่าสนใจ เข้าถึงวัยรุ่นได้มากขึ้น และสามารถอยู่รอดในยุคที่คนมองหามากกว่าการดื่มชา
ถึงแม้ว่าความรู้ด้านธุรกิจจะเป็นศูนย์ แต่ความครีเอทีฟที่สั่งสมมาตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัยของทั้งคู่นั้นเกินร้อย
ทั้งคู่จึงตัดสินใจสร้างคาแรคเตอร์การ์ตูนคุณยายขึ้นมา เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างตัวร้านและลูกค้า ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสนุกกับการดื่มชามากยิ่งขึ้น
“สนิทสนมได้ อบอุ่นได้ แล้วก็เป็นผู้รู้ได้ คุณยายไม่ได้เป็น tea specialist แบบจ๋ามาก แต่เป็นความสะดวกสบายเข้าใจง่าย” บอสบอกเล่าถึงลักษณะของคาแรคเตอร์คุณยายที่ถูกดีไซน์ขึ้นใหม่โดยต้นน้ำ
การสร้างภาพจำให้ร้านสามารถเข้าถึงง่าย กลายเป็นจุดเด่นที่สำคัญของชากิมบ้อ ไม่แพ้คุณภาพของชาภายในร้าน ต้นน้ำเล่าให้เราฟังว่ามีหลายครั้งอยู่เหมือนกันที่ร้านมักจะใช้การแสดงบทบาทสมมติ (Role Play) เป็นคุณยายในการตอบข้อความของลูกค้าที่ทักเข้ามาผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก หรือผ่านการ์ตูนช่องที่อยู่ข้างแก้วชา
ทั้งคู่เล่าว่าการทำเช่นนี้ทำให้ระยะห่างระหว่างร้านกับลูกค้าน้อยลง และทำให้หลายคนเปิดใจยอมรับชาได้มากขึ้น
ชาร้อนก็ชื่นใจได้
ถึงแม้ว่าในช่วงเปิดร้านใหม่ ๆ จะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ร้านต้องเปิดเป็นแบบ delivery เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
แต่ความตั้งใจอันสูงสุดของร้านชากิมบ้อนี้คือการทำให้คนเปิดใจให้กับ ‘ชาร้อน’ มากขึ้น
“คือมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ไปเยาวราชในวันที่อากาศร้อนมาก แล้วเจ้าของร้านชงชาร้อนมาให้ แล้วเขาก็ว่า ชื่นใจเนอะ เราก็แบบ เฮ้ย! กินชาร้อนมันก็ชื่นใจได้นี่” ต้นน้ำกล่าว
คำพูดสั้น ๆ ในเยาวราชวันนั้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของชากิมบ้อมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยการนำเสนอชาร้อนในรูปแบบของ ‘กงฟูฉา’ ที่ดึงเอารสชาติของชาออกมาได้มากที่สุด
“วิธีชงชาที่เราเลือกมานำเสนอในร้านเรียกว่า กงฟูฉา ที่มีข้อดีคือการใช้ใบชาเยอะ สัดส่วนน้ำน้อย ทำให้สามารถควบคุมรสชาติได้ ไม่ว่าคุณชอบกินเข้มหรือชอบกินอ่อนก็สามารถเลือกได้ด้วยตัวเอง”
อีกทั้งการใช้ใบชาที่เยอะ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักชามากขึ้น ได้รสชาติมากขึ้น ได้กลิ่นมากขึ้น และหลงรักในชาได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
“กงฟูฉาเนี่ย ถ้าคนกินชาจริงจังมันก็รู้จักแน่ ๆ อยู่แล้ว แต่เราอยากให้สิ่งนี้มันเข้าใจง่ายสำหรับคนทั่วไปด้วย เราเลยเอามาอยู่ในร้านของเรา”
แต่ด้วยความที่เมืองไทยเป็นเมืองร้อน จึงต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนใหญ่มักถามหาชาเย็นก่อนชาร้อนอยู่เสมอ แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้ความตั้งใจเดิมของทั้งคู่หายไป
“หลัง ๆ เวลามีคนสั่งชาเมนูเย็นมา เราก็ชงร้อนไปเสิร์ฟที่โต๊ะเลย แบบให้ลองชิมดู ซึ่งหลายคนก็ถูกใจ มาถามว่าเป็นชาอะไร
ก็
มี” ต้นน้ำเล่าด้วยความภูมิใจถึงความสำเร็จไปอีกขั้นของร้าน
ทำให้ชาเข้าใกล้ได้มากขึ้น
“ด้วยความที่มันเริ่มจากความชอบ ทำให้ในช่วงแรกไม่กล้าที่จะลงทุนเยอะ เราก็เลยหาที่ใกล้ ๆ บ้านก่อน” บอสเล่า
แต่บอสและต้นน้ำก็ยอมรับว่าการเริ่มเปิดร้านชากิมบ้อในแถบชานเมืองก็ถือเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย เพราะในพื้นที่ที่ร้านตั้งอยู่นั้นเรียกได้ว่าเป็นเขตหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ ทำให้ลูกค้าประจำที่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นต้องกลับเข้าไปทำงานในตัวเมือง ร้านจึงเงียบขึ้นกว่าเดิมอยู่พอสมควร
“ด้วยความที่มันอยู่ชานเมือง ตรงนี้เวลามีคนสนใจมันมายาก เราก็รู้สึกเสียดายที่แบบเออทำไมเราอยู่ไกลจัง เขาน่าจะมาหาเราได้บ่อย ๆ ได้พูดคุยกันสนุก ๆ” บอสพูดด้วยความเสียดาย
จนกระทั่งล่าสุดบอสและต้นน้ำได้มองหาสิ่งที่จะมาทดแทนระยะทางที่ห่างไกลด้วยการเริ่มขายเซตชาผ่านทางไปรษณีย์ เพื่อให้คนที่ไม่สามารถมากินที่ร้านได้ ได้ประสบการณ์การกินชาร้อนที่ดีได้ด้วยตัวเอง
ล่าสุดทางร้านมีการออกแบบเซตชาเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ แทนการให้ชาในรูปแบบเดิม ๆ อย่างที่เคยเป็นมา
“เวลาผู้ใหญ่ซื้อชา เขาก็ซื้อเป็นชาชื่อจีน ที่ทุกอย่างเป็นภาษาจีนหมดเลย แล้วคนที่ได้ไปก็จะงงว่ามันคือชาอะไร ต้องชงอย่างไร เราเลยอยากให้มันเป็นของขวัญที่คนได้ไปแล้วประทับใจขึ้นมาได้” บอสเล่าถึงสิ่งที่ตัวเองมักจะเจออยู่บ่อย ๆ
จึงอยากให้การดื่มชาง่ายขึ้นจากเดิม ให้คนที่รับของขวัญไปแล้วรู้ว่าเรากำลังกินชาอะไรอยู่ รวมไปถึงในเชตมีแก้วชงชาที่สามารถเห็นใบชาค่อย ๆ คลายตัว สร้างบรรยากาศที่ดีในการชงชาให้มากขึ้นกว่าเดิม
“เรารู้สึกว่าของขวัญปีใหม่ บางทีคนรับไม่ได้ใช้จริงด้วยซ้ำ เราก็เลยรู้สึกว่าการดื่มชาเป็นเรื่องง่าย ๆ อย่างชาเราก็แบ่ง
เป็น
ส่วน ๆ ไว้เลยว่าซองนี้เท่าไร ๆ แค่ฉีกใส่น้ำร้อนจบเลย” ต้นน้ำเสริม
และทั้งคู่ยังบอกอีกว่าในอนาคตก็จะพยายามจัดอีเวนต์ภายในร้านหรือทำเซตชาในรูปแบบนี้ออกมาเรื่อย ๆ และไม่แน่ว่าหากสิ่งต่าง ๆ ในอนาคตลงตัวกว่านี้อาจจะมีการขยับขยายร้านเพิ่มเติมก็เป็นได้
เพราะบอสและต้นน้ำอยากให้ชากิมบ้อเป็นมากกว่าแค่ร้านชาทั่วไป แต่สามารถทำให้คนเปิดใจให้ชาร้อนมากขึ้น รวมถึงเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนจน
กลาย
เป็น community ที่ดีสำหรับผู้ที่รักชาได้ในอนาคต
“ถ้าอยากคุยเรื่องชา เราก็ยินดีพูดคุยกัน ถ้าเราพูดคุยกัน มันยิ่งเกิดการพูดคุย จนเป็น community ที่ดีครับ อย่างน้อยการดื่มชามันจะได้ไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากต่อไป”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ASW เปิดศักราช 2568 โตแรง! กวาดยอดขาย 8,320 ล้านใน 3 เดือน รับดีมานด์ภูเก็ต-แนวราบพุ่ง
03 เม.ย. 2568
ของมันต้องลอง! “มาม่าคัพ รสหม่าล่า” เผ็ดร้อนลิ้นชา อยากหม่าล่า ก็มาม่าดิ
03 เม.ย. 2568
TOA กับการผนึกกำลัง JOMOO บุกตลาด Smart Toilet สุดพรีเมียม ชูจุดแกร่งเทคโนโลยีล้ำ ตอบโจทย์ชีวิตเหนือระดับ ขับเคลื่อนธุรกิจที่เป็นมากกว่าสี
03 เม.ย. 2568
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Business
The People
Gimbocha
ชากิมบ้อ