ญาดา ปิยะจอมขวัญ : คนไทยผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Ajaib’ สตาร์ทอัพพันล้านในอินโดนีเซียที่ช่วยให้ ‘การลงทุน’ เป็นเรื่องเข้าถึงง่าย
หากการลงทุนแต่ละครั้งต้องคอยรับส่งเอกสารปึกหนา ผ่านขั้นตอนเซ็นบนกระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่า แถมยังใช้ต้นทุนสูงลิ่ว เชื่อว่าหลายคนอาจมองการลงทุนเป็นเรื่อง ‘ไกลตัว’ และ ‘เข้าถึงยาก’ เช่นเดียวกับชาวอินโดนีเซียหลายคนที่มีบัญชีลงทุนในหุ้นไม่ถึง 1% ของประเทศ
ปัญหานี้กลายเป็นที่มาของ ‘Ajaib’ แอปพลิเคชันที่ทำให้ผู้คนสามารถเปิดบัญชีลงทุนแบบออนไลน์ที่ช่วยประหยัดทั้งต้นทุนทางการเงินและต้นทุนทางเวลา
ปัจจุบัน Ajaib สามารถระดมทุนได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และกลายเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น ส่วน ‘ญาดา ปิยะจอมขวัญ’ คนไทยผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทนี้ ก็ติดอันดับ 30 Under 30 - Asia - Finance & Venture Capital ของ Forbes
ต่อไปนี้คือเรื่องราวของ ‘ญาดา ปิยะจอมขวัญ’ หญิงสาวผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ช่วยให้ ‘การลงทุน’ ในอินโดนีเซียเริ่มกลายเป็นเรื่อง ‘เข้าถึงง่าย’ โดยใช้แค่โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว
MBA กับการเริ่มต้นสตาร์ทอัพ
แม้สตาร์ทอัพนี้จะเจาะตลาดอินโดนีเซีย แต่ญาดาเกิดและเติบโตในเมืองไทยมาโดยตลอด เธอเข้าเรียนปริญญาตรีที่คณะบริหารธุรกิจ (BBA) สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจบการศึกษา ญาดาเข้าทำงานด้าน Consulting ในบริษัท McKinsey
ตั้งแต่เด็กจนโต เธอสนใจด้านธุรกิจมาโดยตลอด แต่มักจะเป็นธุรกิจเล็ก ๆ อย่างการทำขนม ทำอาหาร โดยไม่เคยมีภาพการทำสตาร์ทอัพอยู่ในความคิดมาก่อน จนกระทั่งญาดาตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาเรียนต่อ MBA ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford) ซึ่งแวดล้อมไปด้วยผู้คนที่สนใจและลงมือทำสตาร์ทอัพ
เมื่อเธอได้ฟังทั้งเคสที่ประสบความสำเร็จ เคสที่ล้มเหลว และเคสที่สร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ญาดาเริ่มเข้าใจว่า ‘ความอัจฉริยะ’ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพประสบความสำเร็จมากเท่า ‘ความเชื่อ’ ในสิ่งที่ตัวเองทำอย่างสุดหัวใจและ ‘ความมุ่งมั่น’ ที่จะแก้ปัญหาจนกว่าจะสำเร็จ เธอจึงเริ่มซึมซับแนวคิดเรื่องสตาร์ทอัพมาจากคนรอบตัว
“จะมีคลาสที่เขาเคยพูดให้ฟังว่าที่จริงถ้าเราจะทำธุรกิจตัวเอง จะเปิดร้านกาแฟ หรือว่าทำ FinTech Startup มันยากอยู่แล้ว มันต้องมีปัญหาเรื่องคน ต้องมีความเครียด มีความรับผิดชอบเหมือนกัน ถ้าเราคิดจะทำอะไรยาก ๆ แล้ว เราควรจะทำอะไรที่มันมีอิมแพคต์เยอะ ๆ ไปเลยดีกว่า ไหน ๆ ก็จะเหนื่อยแล้ว
“เหมือนที่สแตนฟอร์ดเขาพยายามสอนเราว่าจริง ๆ การทำสตาร์ทอัพไม่ได้มีความเสี่ยง มันจะเสี่ยงถ้าเราไม่พยายามลดความเสี่ยงของมัน” (จากช่องยูทูบ the secret sauce)
ญาดายกตัวอย่างการลดความเสี่ยง ด้วยการระดมทุนจากนักลงทุน แทนการใช้เงินทุนที่ตนเองเก็บหอมรอมริบมาจากงานประจำ
“จริงอยู่ที่เราก็จะเสียหุ้นไปให้กับนักลงทุน แต่สุดท้ายแล้วถ้ามัน success หุ้นที่เราเสียไปในช่วงแรกมันไม่ได้เยอะอะไรมากเลย เทียบกับโอกาสที่ทำให้เราประสบความสำเร็จ แล้วก็ลดความที่เราต้องมานั่งคิดว่า เราไม่อยากจ้างคนเก่ง ๆ เพราะว่าเขาแพงเพราะเราเอาเงินเราไปลงทุน เขาแนะนำให้เราลดความเสี่ยงไปเลย” (จากช่องยูทูบ the secret sauce)
เมื่อญาดาได้พูดคุยกับ แอนเดอร์สัน ซูมาร์ลิ (Anderson Sumarli) เพื่อนร่วมคลาสที่สแตนฟอร์ด เส้นทางสตาร์ทอัพของทั้งคู่จึงเริ่มต้นขึ้น…
สตาร์ทอัพที่สร้างอิมแพคต์ให้สังคม
“เราอยากทำอะไรที่มี impact เยอะ ๆ ก็เลยลองคิดดูว่า หนึ่งเลยมี industry อะไรบ้างที่จะสร้าง impact ให้กับคน ทุกคนในประเทศ access ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำงานอะไร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเรื่องการเงิน เพราะทุกคนต้องใช้เงิน”
ญาดาเล่าถึงจุดเริ่มต้นของไอเดียสตาร์ทอัพด้านการเงิน จากนั้นเธอจึงหา pain point ที่ชัดเจนขึ้นผ่านบทสนทนากับผู้คน โดยการจ้างนักศึกษาฝึกงานที่อินโดนีเซียเพื่อไปสัมภาษณ์ผู้คน แล้วนั่งดูวิดีโอสัมภาษณ์ราว 50 - 100 คนทุกสัปดาห์
“เราพบว่าเรื่องการลงทุนเขามี pain point เยอะสุด เพราะเขาอยากทำ แต่เขาไม่มีโอกาสทำได้ บวกกับตอนนั้นเรามีโอกาสเห็น innovation คล้าย ๆ กันในต่างประเทศ เช่น robinhood (แอปพลิเคชันเทรดหุ้น) ในสหรัฐอเมริกา
“แล้วก็ตอนนั้น co-founder เราเขาไปที่ประเทศจีนแล้วเขาก็นั่งแท็กซี่ พอติดไฟแดงปุ๊บ คนขับแท็กซี่ก็เทรดหุ้น ซึ่งในเมืองไทยไม่มี ในอินโดฯ ก็คือห่างไกลเลย” (จากช่องยูทูบ the secret sauce)
เหตุผลที่เธอเลือกทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย เพราะเมื่อเทียบกันแล้วคนอินโดนีเซียเข้าถึงการลงทุนในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวต้องเซ็นและส่งเอกสารผ่านหลายขั้นตอน รวมทั้งอาศัยต้นทุนค่อนข้างสูง จึงมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าถึงการลงทุนหรือแม้กระทั่งความรู้ด้านการลงทุนได้ เธอจึงอยากจะเพิ่ม ‘ทางเลือก’ ด้านการลงทุนให้กับคนทั่วไป
Ajaib เพราะการลงทุนก็สนุกได้
ผลลัพธ์จากแนวคิดทั้งหมดออกมาเป็นแอปพลิเคชันที่เรียกว่า ‘Ajaib’ ที่หมายถึง วิเศษ มหัศจรรย์ (magical) เพราะเธอตั้งใจจะสื่อสารว่าประสบการณ์การลงทุนอาจไม่ใช่สิ่งที่เคร่งเครียดและไกลตัวเสมอไป ซึ่งแอปพลิเคชัน Ajaib ก็สะท้อนถึงนิยามนี้ได้ดีเช่นเดียวกัน เพราะผู้ใช้งานสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว สามารถเทรดได้ในวันที่สมัคร และไม่มีกำหนดเงินฝากขั้นต่ำ
“อีกอย่างหนึ่ง เราพยายามจะให้ความรู้เยอะ ๆ เพราะลูกค้าเราส่วนมากจะเป็นคนที่เพิ่งลงทุนเป็นครั้งแรก ก็คือไม่เคยเปิดบัญชีหุ้น ไม่เคยมีการลงทุนแบบอื่นเลยมาก่อน เราจะเข้าใจว่าเขามีความกลัว เราจะซื้อถูกไหม เราจะซื้อตอนไหนดี เราจะขายขาดทุนไหม เพราะฉะนั้นเราก็จะให้ความรู้เยอะ แล้วก็มีการให้ข้อมูลตอนเช้า ทำวิดีโอ มีแชตในแอปฯ ที่สามารถให้เราเข้าไปคุยกับคนอื่นได้เวลาตามข่าว ก็จะพยายามให้ข้อมูลเยอะ ๆ” (จากช่องยูทูบ ลงทุนแมน)
แม้คอนเซ็ปต์นี้จะตอบโจทย์ผู้ใช้งาน แต่ช่วงแรก ๆ ของการระดมทุน นักลงทุนทางฝั่งสหรัฐอเมริกาหลายคนยังไม่เชื่อมั่น เพราะ Ajaib เจาะกลุ่มคนอินโดนีเซีย ซึ่งกลายเป็นเรื่องไกลตัวและยังไม่เห็นภาพนักสำหรับพวกเขา จนญาดาได้มีโอกาสพูดคุยกับนักลงทุนทางฝั่งเอเชีย เช่น เกาหลี สิงคโปร์ ทำให้เริ่มระดมทุนได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันนี้ไม่ได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดของช่องทางการลงทุนอื่น ๆ ที่มีอยู่ก่อนหน้า เพราะเธอมองว่ากลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“วิธีการทำงานของเขาคือทำงานผ่านกระดาษ มีมาร์เก็ตติ้งโทรฯ ไป แล้วก็เซ็น แล้วก็ส่ง เขาจะ serve คนที่มีเงินพอที่จะเริ่มต้นให้เขาจ้างคนไปรับเอกสารได้ แต่ลูกค้าของเราเป็นออนไลน์หมดเลย ไม่มีขั้นต่ำในการเปิดบัญชี เพราะฉะนั้นเราคิดว่าเรา serve ลูกค้าคนละ segment กันมาก เราไม่ได้แข่งกับเขาเลย
“เราไปคุยกับเพื่อนเรา กับลูกค้าเรา แต่เขาไม่มี option ในการลงทุนจริง ๆ จะให้เขาไปส่งเอกสารเขาทำไม่เป็น เพราะว่าเขาชินกับการซื้อของ e-Commerce โอนเงินแล้วก็ได้เลย
“แล้วเรารู้จักลูกค้าเราเอง เรารู้ว่าเขาลงทุนแน่นอน แต่สิ่งที่เราต้องหาคือ อะไรที่จะเป็น perfect solution สำหรับเขา มันคือกองทุน หรือมันคือหุ้น หรือมันคืออย่างอื่น ซึ่งอันนี้เรา willing ที่จะหาหลาย ๆ อย่าง แต่เรามั่นใจมากว่าลูกค้าอยากลงทุนจริง ๆ” (จากช่องยูทูบ the secret sauce)
เสียงตอบรับและคำขอบคุณ
หลังก่อตั้งบริษัทราว 2 ปีครึ่งและเริ่มเปิดให้เทรดหุ้นได้ประมาณ 1 ปี Ajaib มีผู้ใช้งานนับล้านบัญชี และเริ่มมีฟีดแบ็กที่ดีจากผู้ใช้งาน
“สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจคือเวลาที่เราคุยกับลูกค้าแล้วเขาบอกว่า เนี่ย ไปอยู่ไหนมา เขาอยากให้มีอันนี้มาตั้งนานแล้ว ทำไมถึงใช้เวลานานจัง มันจะทำให้เรารู้เลยว่าเราเจอ need ของลูกค้าแล้ว
“ช่วงแรก ๆ เราจะมีลูกค้าทักมาบอกว่า เขาเป็นเจ้าของร้านขายของชำในเกาะไกล ๆ ของอินโดฯ ที่ไม่เคยได้ลงทุน เพราะว่าปกติมันต้องเซ็นเอกสารใช่ไหมคะ แต่มันไม่มีสาขาแถวนั้น เขาไม่สามารถเปิดบัญชีได้ เพราะว่ามันต้องไปที่สาขา แล้วเขาดีใจมากเลยที่เขาได้เปิดบัญชี ได้ลงทุน
“ช่วงแรกจะมี story แบบนี้เยอะ …หรือว่ามีลูกค้าที่เป็นใบ้พูดไม่ได้ ก่อนหน้านี้เขาลงทุนไม่ได้เพราะมันต้องสั่งผ่านโทรศัพท์ แล้วเขาก็บอกว่าเขาดีใจมากเลยที่มีแอปฯ ที่เขาสามารถแชตได้หรือว่าทำอะไรได้เองโดยที่ไม่ต้องคุยทางโทรศัพท์กับใคร อันนี้คือช่วงแรก ๆ
“ช่วงหลัง ๆ จะเป็นเรื่องทีมมากกว่า คือเราดีใจที่เห็นทีมที่เชื่อใน mission ที่เราเชื่อ คนก็จะอินมาก แล้วก็อยากทำให้มันดีขึ้น” (จากช่องยูทูบ the secret sauce)
แม้จะก้าวมาเป็นสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นแล้ว เชื่อว่าญาดาก็ยังมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้และแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนา Ajaib ในวันข้างหน้า แต่ ณ วันนี้ สิ่งหนึ่งที่เธอได้พิสูจน์ให้ใครหลายคนเห็นนอกจากความสำเร็จในเชิงตัวเลขแล้ว คงเป็นการพิสูจน์ว่า ผู้คนในอินโดนีเซียอีก 99% ไม่ได้ ‘ไม่สนใจ’ การลงทุน เพียงแต่ยังไม่มี ‘ทางเลือก’ ให้พวกเขาได้เข้าถึงการลงทุนที่เหมาะกับเงื่อนไขชีวิตของตนเอง
ที่มา:
https://www.youtube.com/watch?v=EuDiOUHsdK8&t=132s
https://blog.cariber.co/careerfact/post/yada-ajaib
https://www.youtube.com/watch?v=5qSc4BNt2lY
https://www.forbes.com/profile/ajaib/?sh=1e4401987698
ที่มาภาพ:
Home - Ajaib
https://www.youtube.com/watch?v=Cvj90hLTzZc&list=RDCMUCyQPkTAkLNk_n-NPJebmaIw&start_radio=1&rv=Cvj90hLTzZc&t=96