01 มี.ค. 2562 | 13:17 น.
ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ เมื่อมีประจำเดือนพวกเธออาจไม่ได้กลับไปเรียนอีกตลอดชีวิตแต่ปัญหาไม่ได้หมดเพียงแค่นั้น การที่ไม่มองประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ ยิ่งทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในชมพูทวีปบางส่วนต้องจัดการกับปัญหาส่วนตัวกันเอง ทั้งการใช้เศษผ้าเก่าซับเลือด ซึ่งบางทีก็เป็นเศษส่าหรีที่ใช้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เลวร้ายกว่านั้นคือบางคนที่ฐานะยากจนใช้เพียงเศษกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า ๆ หรือผ้าขี้ริ้วที่กำลังจะทิ้ง มาทำความสะอาดเลือดด้วยซ้ำไป ผ้าอนามัยที่พวกเธอคราฟต์ขึ้นมาเองนี้ทำให้ชีวิตของพวกเธอยิ่งห่างไกลจากคำว่าสะอาดและถูกสุขอนามัยโดยสิ้นเชิง ให้ลองนึกถึงโลกที่ไม่มีผ้าอนามัย ไม่ว่าจะเป็นแบบมีปีก ไม่มีปีก บางเฉียบ หรือจะซึมซับแห้งเร็ว ที่ทำให้ผู้หญิงสมัยใหม่ใช้ชีวิตได้อย่างปกติในวันนั้นของเดือนว่าจะอยู่ยากแค่ไหน การดูแลสุขอนามัยส่วนตัวอย่างยากลำบากนี้ ส่งผลกระทบให้เด็กผู้หญิงที่เพิ่งมีประจำเดือนในอินเดียจำนวนมากต้องยอมทิ้งการเรียน เก็บตัวอยู่ที่บ้านเงียบ ๆ รอวันนั้นผ่านไป สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผ้าอนามัยเป็นแรร์ไอเทมในอินเดีย มาจากการที่รัฐบาลอินเดียเคยให้ผ้าอนามัยอยู่ในหมวดรายการสินค้าฟุ่มเฟือย แถมเก็บภาษีสูงถึง 12% แม้ปัจจุบันภาษีตรงนี้จะถูกยกเลิกแล้ว แต่ก็ยังไม่ทำให้ปัญหาการเข้าถึงผ้าอนามัยหมดไป มีรายงานว่า 90% ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 21 ปีในอินเดียไม่มีผ้าอนามัยใช้ เนื่องจากผ้าอนามัยยังคงมีราคาแพงเมื่อเทียบกับค่าครองชีพ ในฐานะครู เมลิสสา เบอร์ตัน ยอมไม่ได้ที่เห็นเด็กผู้หญิงหลายคนต้องละทิ้งการศึกษาเพียงเพราะวันนั้นของเดือน ส่วนในฐานะผู้หญิงเธอไม่อยากเห็นผู้หญิงด้วยกันต้องมาอดทนกับความยากลำบากในโลกที่ไม่มีผ้าอนามัย และในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเธอเชื่อว่า การช่วยให้อีกคนหนึ่งมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง นั่นทำให้เธอรวมตัวกับเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่ง ก่อตั้งโครงการ The Pad Project เพื่อแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดคือ ผ้าอนามัยสะอาดและราคาถูก “ตอนปี 2013 ที่ฉันได้รู้เรื่องผลกระทบจากประจำเดือนของวัยรุ่นผู้หญิงในประเทศด้อยพัฒนา ฉันก็ได้ยินว่ามีคนอินเดียที่ประดิษฐ์เครื่องจักรผลิตผ้าอนามัยราคาถูกได้ ซึ่งอาจช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่ทางออกนี้ต้องใช้เงินจำนวนมาก เพราะเครื่องจักรที่ผลิตผ้าอนามัยราคาถูกนี่ดันมีราคาไม่ถูกไปด้วยนะสิ” อย่างที่บอกไปแล้วว่า เบอร์ตัน เป็นคุณครูในย่านนอร์ทฮอลลีวูด ซึ่งวิธีแก้ปัญหาของชาวฮอลลีวูดจะมีอะไรดีไปกว่าการทำหนังล่ะ เหมือนการรวมตัวของทีม ดิ อเวนเจอร์ส แพสชันที่อยากให้ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงผ้าอนามัยของ เมลิสสา เบอร์ตัน ดึงดูดทีมงานฝีมือดีมาร่วมงานหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ไรกา ซาทอมซี (Rayka Zehtabchi) ผู้กำกับหญิงรุ่นใหม่ไฟแรง เชื้อสายอิหร่าน-อเมริกัน ที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Period. End of Sentence นี้ เงินทุนในการจัดซื้อเครื่องจักรผลิตผ้าอนามัยนั้น ได้มาจากการระดมทุนใน Kickstarter และบางส่วนเรี่ยไรจากผู้ปกครองนักเรียนและเพื่อนบ้านในละแวกนั้น ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ 45,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,400,000 บาท แบ่งเป็นค่าเครื่องจักร 35,000 เหรียญสหรัฐ ที่เหลือสำรองไว้สำหรับวัตถุดิบสิ้นเปลืองในการผลิตอย่างใยฝ้ายและแผ่นผ้า ที่น่าจะเพียงพอต่อการผลิตในหนึ่งปี
เป้าหมายหลักของเราคือการเชื่อมชุมชนต่าง ๆ ในประเทศด้อยพัฒนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการส่งเครื่องผลิตผ้าอนามัยไปให้พวกเขาหนังเรื่องนี้ถ่ายทำที่เมืองฮาปูร์ (Hapur) ห่างจากนิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียเพียงแค่ 60 กิโลเมตร ถ้าแทนด้วยกรุงเทพมหานคร เมืองฮาปูร์น่าจะอยู่ประมาณ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งแม้จะใกล้มหานครแต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้หญิงที่ฮาปูร์แตกต่างจากเมืองหลวงอย่างเทียบกันไม่ติด เพื่อให้เกิดความยั่งยืน โครงการนี้เลยได้ให้ผู้หญิงในชุมชนนี้มาลงมือลงแรงกันผลิตผ้าอนามัยไว้ใช้เอง โดยมีค่าจ้างและจัดตารางงานอย่างละเอียด เพียงไม่กี่เดือนก็สามารถผลิตผ้าอนามัยได้มากกว่า 18,000 ชิ้น นั่นทำให้มีงานใหม่เข้ามาคือพวกเธอต้องเปลี่ยนจากสาวโรงงานกลายเป็นเซลส์ขายผ้าอนามัยไปในตัว ซึ่งผ้าอนามัยที่พวกเธอช่วยกันทำนั้นมีชื่อว่า “Fly” เหมือนเป็นการติดปีกสีขาวให้ผู้หญิงในสังคมนี้ได้โบยบินอย่างมีอิสระเสรี ซึ่งสามารถชมเรื่องราวอันน่าทึ่งของพวกเธอในสารคดีสั้นคุณภาพระดับออสการ์เรื่อง “Period. End of Sentence” ได้เต็ม ๆ ที่ Netflix “โครงการที่เราร่วมกันสร้างขึ้นมานี้ ไม่ได้แค่ระดมทุนทำหนังเพื่อเผยแพร่เท่านั้น แต่เป้าหมายหลักของเราคือการเชื่อมชุมชนต่าง ๆ ในประเทศด้อยพัฒนาให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการส่งเครื่องผลิตผ้าอนามัยไปให้พวกเขา” ที่มา : https://www.thepadproject.org/ https://oakwoodschool.org http://www.awardsdaily.com