6 เด็กติดเกาะแห่งตองกา: กลุ่มเด็กผู้เอาชีวิตรอดในเกาะร้างถึง 1 ปี
‘ธรรมชาติมนุษย์’ คืออะไรกันแน่ หรือมันเป็นเพียงมายาคติที่เกิดขึ้นในสังคมที่หล่อหลอมผู้คนให้มองโลกผ่านเลนส์ที่ต่างกันเท่านั้น
ในหลายสังคมวัฒนธรรม มีความเชื่อสืบต่อกันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เห็นแก่ตัว และมุ่งทำลายล้างกันเพื่อชิงความเป็นใหญ่ มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตอันโหดร้ายที่ต้องการครอบครองและแย่งชิงทรัพยากรจริง หรือนี่คือสิ่งที่โลกซึ่งถูกปกครองด้วยกลุ่มคนที่มีทัศนะเช่นนี้ได้เผยแพร่โลกทัศน์ให้เราตั้งแต่เกิดจนตาย จน ‘ความโหดร้ายของเผ่าพันธุ์มนุษย์’ กลายเป็นเรื่องสามัญไปแล้ว
แนวคิดนี้ได้ถูกสะท้อนในนวนิยายเรื่อง ‘Lord of the Flies’ จากปี 1954 ของ วิลเลียม โกลดิง (William Golding) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของกลุ่มเด็กชายที่พลัดไปติดเกาะระหว่างการลี้ภัยในช่วงสงคราม จากจุดเริ่มต้นด้วยการรวมตัวแบบประชาธิปไตย ความขัดแย้งบาดหมาง และการช่วงชิงอำนาจระหว่างกลุ่มเด็ก ๆ เริ่มบานปลายมากขึ้น จนแทบจะกลายเป็นสงครามระหว่างเผ่าที่คร่าชีวิตเด็กไปหลายคน
ใจความหลักที่เรื่องนี้พยายามสื่อคือความโหดร้ายป่าเถื่อนในจิตใจมนุษย์ที่ฝังรากลึกแม้แต่ในเด็ก ๆ ก็ตาม
แต่ในการศึกษาด้านมานุษยวิทยาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเริ่มให้ภาพของมนุษย์ที่แตกต่างออกไปจากเดิม นี่เป็นภาพของเผ่าพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จผ่านความร่วมมือกันมากกว่าต่อสู้แย่งชิง กล่าวไม่ผิดว่า ‘การร่วมมือกัน’ เป็นอาวุธไม้ตายเด็ดที่ทำให้มนุษย์สามารถเอาชนะอุปสรรคทางธรรมชาติในทั่วทุกมุมโลกจนครองโลกทั้งใบได้
และเรื่องราวที่ยืนยันว่าธรรมชาติมนุษย์อาจไม่ได้โหดร้ายอย่างที่คิด อย่างการเอาชีวิตรอดของเด็กชาย 6 คนที่เรือล่มจนต้องติดเกาะร้างในแปซิฟิกใต้นานถึง 15 เดือน และก่อตั้งชุมชนขนาดเล็กที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเอาชีวิตรอดอย่างครบครัน เรื่องราวนี้กลับมีบทสรุปที่ตรงข้ามกับนวนิยายของโกลดิงอย่างสิ้นเชิง
ในเดือนมิถุนายน ปี 1965 เด็กชายชาวตองกา 6 คน พวกเขาแต่ละคนมีชื่อว่า สตีเฟน มาโน ซิโอน โคโล เดวิด และลูค เด็กทุกคนมีอายุตั้งแต่ 13 - 16 ปีเท่านั้น
เด็กชายทั้ง 6 คนแอบหนีออกจากโรงเรียนประจำคาทอลิกแห่งหนึ่งในบ้านเกิดเนื่องจากความเบื่อหน่ายชีวิตในโรงเรียน และวางแผนจะล่องเรือหนีไปยังฟิจิหรือนิวซีแลนด์แทนเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
พวกเขาเตรียมกล้วยสองหวี ลูกมะพร้าวจำนวนหนึ่ง และที่จุดไฟสำหรับการเดินทางไกลครั้งนี้
เมื่อกลุ่มเด็กชายมาพบเรือประมงลำหนึ่งจอดอยู่ริมชายฝั่งในช่วงเย็นวันหนึ่ง ซึ่งเจ้าของเรือเคยมีปัญหากับพวกเด็ก ๆ พวกเขาจึงพากันขึ้นเรือและล่องออกทะเลไปด้วยความคึกคะนอง แต่ช่างโชคร้ายที่วันนั้นกลับมีพายุที่พัดให้เรือพวกเขาออกทะเลลึกโดยไม่รู้ทิศทาง เพียงไม่กี่วันหลังออกเรือ อาหารและน้ำที่พวกเขาเตรียมไว้ก็หมดลง ทั้ง 6 คนต้องเอากาบมะพร้าวรองน้ำฝนแล้วแบ่งกันดื่มคนละสองรอบเช้า-เย็น
หลังอดอาหารอดน้ำจนแทบไม่มีเรี่ยวแรงอีกต่อไป เมื่อถึงวันที่ 8 เรือของพวกเขาแล่นมาเจอเกาะเล็ก ๆ ชื่อ ‘อะตา’ (Ata Island) ซึ่งเต็มไปด้วยโดน(โขด)หินและเนินเขา
มาโน โตเตา (Mano Totau) เด็กชายที่อาวุโสที่สุดในกลุ่มจึงกระโดดลงน้ำแล้วว่ายไปดูลาดเลาเกาะก่อน ในขณะที่เด็กคนอื่น ๆ ต่างสวดภาวนาให้เขาปลอดภัย
มาโนเล่าว่ากว่าจะว่ายไปถึงเกาะต้องใช้เวลานานมาก เพราะเขาขาดอาหารจนแทบไม่มีเรี่ยวแรง และเมื่อมาถึงเกาะได้ เขาก็คลานไปนอนที่ชายหาดด้วยความเหน็ดเหนื่อยพร้อมส่งสัญญาณให้เพื่อน ๆ เอาเรือเข้ามาเทียบได้
แม้จะเป็นเกาะขนาดเล็ก แต่บนเกาะยังมีนก ไก่ เผือก และกล้วยที่พวกเขาสามารถเพาะเลี้ยงเพื่อเอาชีวิตรอดต่อไปได้
เด็กทั้ง 6 แบ่งกันทำงานเป็นทีมทันที โดยแบ่งเป็นทีมละ 2 คน มีการจัดแบ่งหน้าที่ต่าง ๆ อย่างชัดเจน พวกเขาลงมือสร้างกระท่อมเล็ก ๆ ไว้หลบแดดหลบฝน แล้วยังสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ รวมไปถึงสถานออกกำลังกายอีกด้วย
พืชผลบนเกาะถูกนำมาเพาะปลูกในสวนที่พวกเขาสร้างขึ้น ไก่และนกบางชนิดก็ถูกนำมาเลี้ยงเพื่อนำไข่มาเป็นอาหาร พวกเด็ก ๆ ยังสร้างกองไฟกลางที่ไม่ปล่อยให้มอดดับไป โดยไฟจะต้องถูกเติมตลอดทุกวัน และมีการผลัดกันเฝ้าเวรเพื่อรักษาไฟไว้ ซึ่งกองไฟนี้ยังคงลุกโชนจนถึงวันที่พวกเขาออกจากเกาะแห่งนี้
เมื่อใดก็ตามที่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน คนที่เหลือก็จะใช้มาตรการสั่งแยกตัวทั้งสองฝ่ายให้ไปสงบสติอารมณ์ ก่อนจะให้มาพูดคุยปรับความเข้าใจกันอีก นั่นทำให้กลุ่มของพวกเขามีความสามัคคีเหนียวแน่น
นอกจากนี้ ทุกเช้าและก่อนนอน พวกเขาจะมารวมกลุ่มกันสวดภาวนาและร้องเพลงรอบกองไฟเพื่อสร้างกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป ซึ่งเด็กชื่อโคโล ได้นำเศษไม้ กาบมะพร้าว และลวดเหล็กจากซากเรือมาประดิษฐ์เป็นกีตาร์เพื่องานนี้โดยเฉพาะ
แต่เรื่องร้ายแรงก็มาเยือนพวกเขาในวันหนึ่ง เมื่อเด็กชายชื่อสตีเฟนพลัดตกจากหน้าผาจนขาหักข้างหนึ่ง เพื่อน ๆ ต่างรีบรุดไปช่วยนำตัวสตีเฟนกลับมาที่ชุมชนทันทีและช่วยกันปฐมพยาบาลเขาอย่างแข็งขัน ขาของสตีเฟนถูกดามด้วยกิ่งไม้และใบไม้ ระหว่างที่เขาขาหัก เด็กคนอื่น ๆ ได้ดูแลเขาเป็นอย่างดีและให้เขาพักผ่อนอย่างเต็มที่จนฟื้นตัว ภายในไม่กี่เดือนหลังจากเหตุการณ์นี้ ขาของสตีเฟนก็สมานตัวจนหายดีและกลับมาใช้งานได้ตามปกติ
“จงใช้ชีวิตอย่างพระราชาไปเลย เดี๋ยวพวกเราจะดูแลนายเอง” พวกเพื่อนกล่าวกับสตีเฟนอย่างติดตลก
ในช่วงฤดูร้อนอันแห้งผาก แทบไม่มีน้ำฝนให้ดื่ม พวกเขาพยายามสร้างแพอีกลำเพื่อออกทะเลไปตายดาบหน้า แต่แพลำนั้นก็ถูกคลื่นซัดจนแตก ทั้ง 6 คนจึงหันไปล่านกเพื่อดื่มเลือดของพวกมันแทนน้ำ
และแล้วโชคของพวกเขาก็มาถึงในเดือนกันยายน ปี 1966 เมื่อเรือประมงออสเตรเลียลำหนึ่งแล่นมาใกล้เกาะ เด็กชายทั้ง 6 ต่างรีบวิ่งไปส่งสัญญาณและตะโกนขอความช่วยเหลือริมหาด เมื่อเรือประมงเริ่มสังเกตเห็นแล้วแล่นเข้ามาใกล้ขึ้น พวกเขารีบกระโดดลงน้ำแล้วว่ายไปที่เรือทันที
ในตอนแรก ลูกเรือประมงต่างหวาดระแวงกลุ่มเด็กชายที่ผมเผ้ารุงรังทั้ง 6 ที่กำลังว่ายน้ำเข้ามาหา
แต่ ปีเตอร์ วอร์เนอร์ (Peter Warner) เจ้าของเรือประมง ได้นำตัวพวกเขาขึ้นเรือมา แม้จะมีท่าทีหวาดระแวง แต่เขาก็พยายามสื่อสารกับพวกเด็ก ๆ จนพบว่าพวกเขาพูดภาษาอังกฤษได้ และเล่าเรื่องทั้งหมดให้ปีเตอร์กับลูกเรือฟัง ปีเตอร์จึงอาสาพาพวกเขาไปส่งยังบ้านเกิดและติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตองกาเพื่อขอเทียบท่าเรือ
“พวกเด็ก ๆ ก่อตั้งชุมชนเล็ก ๆ ที่มีตั้งแต่สวนปลูกพืชผัก ขอนไม้ที่ถูกคว้านเนื้อออกเพื่อรองน้ำฝน สถานออกกำลังกายพร้อมที่ยกน้ำหนัก สนามแบดมินตัน เล้าไก่ และกองไฟกลาง ทุกอย่างสร้างขึ้นด้วยมือ มีดเก่า ๆ เล่มหนึ่ง และความมุ่งมั่นอันเหลือล้น” ปีเตอร์เล่า
“พวกเขาสร้างอารยธรรมขนาดย่อม นี่เป็นภูมิปัญญาอันน่าทึ่งของกลุ่มคนเยาว์วัย”
เมื่อกลับไปถึงตองกา ครอบครัวพวกเขาที่มารอรับต่างแสดงความยินดีอย่างเหลือล้น ทุกคนบนเกาะต่างเชื่อว่าพวกเขาตายในทะเลลึกกันหมด และจัดงานฝังศพให้ทั้ง 6 คนเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ แพทย์ท้องถิ่นยังตะลึงว่าเด็กชายทุกคนล้วนแต่มีสุขภาพที่สมบูรณ์และมีรูปร่างกำยำแข็งแรง แม้แต่สตีเฟนที่เคยขาหักก็หายเป็นปกติ
แต่อีกกลุ่มคนที่มารอเด็กชายกลับเป็นตำรวจที่รอจับพวกเขาในคดีขโมยเรือ หลังได้รับการต้อนรับอย่างดี ตำรวจก็เข้ามารวบตัวทั้ง 6 คนไปขังคุกภายในวันเดียวกัน
ปีเตอร์ได้พยายามติดต่อเจ้าของเรือที่ถูกขโมยให้ยอมยกฟ้อง และอาสาจ่ายเงินซื้อเรือทดแทนให้พร้อมกับเสนอส่วนแบ่งจากการออกอากาศของสารคดี แล้วยังติดต่อสำนักข่าวออสเตรเลียให้มาทำสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มเด็กชายด้วย
ด้วยเหตุนี้ เด็กชายชาวตองกาทั้ง 6 คนจึงได้ออกมาใช้ชีวิตข้างนอกอีกครั้ง พร้อมทั้งแสดงนำในสารคดี ‘The Castaways’ ในปี 1966
กษัตริย์ของตองกาทรงได้ยินเรื่องนี้จึงตอบแทนด้วยการอนุญาตให้ปีเตอร์สามารถเข้ามาทำประมงในน่านน้ำของตองกาได้อย่างอิสระ ปีเตอร์จึงนำเงินทุนบางส่วนมาเปิดบริษัทประมงในตองกา และว่าจ้างอดีตเด็กชายทั้ง 6 คนเป็นลูกเรือของตนตั้งแต่นั้นมา เด็กชายทั้ง 6 จึงได้ออกล่องเรือไปทั่วน่านน้ำแปซิฟิกใต้ตามฝันที่พวกเขาเคยมี
แม้ภายหลังต่างคนต่างแยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเอง แต่ทุกคนยังรักษามิตรภาพต่อกัน รวมไปถึงความซาบซึ้งที่มีต่อปีเตอร์ด้วย มาโนที่ยังอยู่ในตองกายังคงพบปะกับปีเตอร์ในวัย 80 กว่าอยู่เสมอ และกล่าวว่าปีเตอร์เปรียบเสมือนพ่ออีกคนของเขาด้วย
ซิโอน หนึ่งในอดีตเด็กชาย 6 คน ในวัย 73 ปี ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า
“หากผู้คนทุกวันนี้มี mindset เหมือนเด็กติดเกาะทั้ง 6 คน หากพวกเราคอยช่วยเหลือกัน ไม่โลภ ดูแลกันและกัน พวกเราก็จะรอดจากสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกตอนนี้ได้เช่นกัน”
เรื่อง: อันโตนิโอ โฉมชา
ภาพ: (Rutger Bregman/Twitter)
อ้างอิง:
https://www.newsweek.com/real-lord-flies-true-story-boys-island-william-golding-humankind-human-nature-rutger-bregman-1503204
https://www.theguardian.com/books/2020/may/09/the-real-lord-of-the-flies-what-happened-when-six-boys-were-shipwrecked-for-15-months
https://www.theguardian.com/world/2020/may/13/the-real-lord-of-the-flies-mano-totau-survivor-story-shipwreck-tonga-boys-ata-island-peter-warner
https://people.com/human-interest/inside-real-life-lord-of-the-flies-survival-of-6-tongan-boys-54-years-ago/
https://paradise.docastaway.com/six-tongan-castaways-ata-island-shipwreck-1965/