24 ม.ค. 2565 | 12:28 น.
ภาพผ้าปักแห่งบาเยอซ์ (Bayeux Tapestry) เป็นรูปอัศวินนอร์มันกำลังโจมตีทหารอังกฤษในศึกที่เฮสติ้ง ที่มาภาพ https://en.wikipedia.org/wiki/Battle_of_Hastings#/media/File:Bayeuxtapestryscene52.jpg
วิลเลียมประกาศชัยชนะและเดินทัพเข้ากรุงลอนดอนทันที ในวันคริสต์มาสปีเดียวกัน พิธีเจิมกษัตริย์แห่งอังกฤษก็ถูกจัดขึ้นให้วิลเลียม บัดนี้เขามีสถานะเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษเต็มตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นดยุคที่เป็นข้าของกษัตริย์ฝรั่งเศสไปด้วย และวิลเลียมก็คือต้นรากของราชวงศ์อังกฤษที่สืบสายมาจนถึงปัจจุบัน และนับเป็นปู่ทวดลำดับที่ 26 ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรด้วย แต่การมีผู้ปกครองที่ต่างกันสุดขั้วคงไม่ใช่เรื่องง่าย วิลเลียมและพรรคพวกเป็นคนต่างแดน พวกเขาพูดภาษาฝรั่งเศส แถมมีวัฒนธรรมจากฝรั่งเศสที่ต่างจากชาวอังกฤษท้องถิ่นสุดขั้ว ขุนนางและชาวบ้านอังกฤษจำนวนมากจึงไม่ยอมรับเขาเป็นกษัตริย์ และก่อกบฏอยู่หลายครั้ง วิลเลียมไม่ใช่คนที่จะยอมให้มีใครแข็งข้อด้วย ทุกคนใกล้ตัวรู้ดีว่าเขาเป็นคนอารมณ์ร้ายอย่างเหลือเชื่อ แม้แต่ราชินีมาทิลดาผู้เป็นมเหสียังเคยโดนวิลเลียมทำร้ายร่างกายด้วยการทึ้งผมลากเปียของเธอไปตามท้องถนนในขณะที่วิลเลียมนั่งไปบนหลังม้าและทุบตีต่อหน้าสาธารณชนให้อับอายหลังปฏิเสธคำสู่ขอของเขา จนมาทิลดาต้องยอมแต่งงานกับเขาในที่สุด เขานำกองทัพออกไปปราบกบฏครั้งแล้วครั้งเล่า เมืองไหนที่แข็งข้อกับวิลเลียมจะถูกเผาทำลายและประชากรถูกสังหารจนกลายเป็นพื้นที่รกร้างไปหลายปี ทั้งยังสร้างป้อมปราการไว้มากมายทั่วอังกฤษ แล้วส่งทหารไปประจำการเพื่อควบคุมชาวบ้านไม่ให้ก่อกบฏขึ้นอีก การนำกองทัพบุกทำลายผู้ต่อต้านในอังกฤษตอนเหนือครั้งใหญ่นี้เรียกว่า ‘การบุกทำลายภาคเหนือ’ (The Harrying of the North) ทหารม้าของวิลเลียมบุกไปเผาหมู่บ้านต่าง ๆ ทำลายเรือกสวนไร่นา และสังหารทั้งชาวบ้านและปศุสัตว์จำนวนมากเพื่อข่มขู่ไม่ให้พื้นที่อื่นกล้าแข็งข้อ พื้นที่เกษตรจำนวนมากถูกทำลายหรือทิ้งร้างจนเกิดภาวะอดอยากไปทั่วภาคเหนือของอังกฤษ ผู้คนล้มตายจากความหิวโหยจำนวนมาก ยังมีรายงานว่าบางส่วนหันไปกินเนื้อมนุษย์เพื่อเอาชีวิตรอดในสภาวะอันแร้นแค้น อังกฤษถูกวางรูปแบบการปกครองใหม่ โดยอิงจากระบอบฟิวดัลในฝรั่งเศส ขุนนางอังกฤษถูกแทนที่ด้วยชนชั้นปกครองจากฝรั่งเศส ความยุ่งยากจากการวางระบบใหม่ทำให้กษัตริย์ผู้นี้ต้องข้ามทะเลไปมาระหว่างเกาะอังกฤษกับฝรั่งเศสเพื่อจัดการทรัพย์สินในที่ต่าง ๆ ตลอดทุกปี การปกครองของพวกนอร์มันยังทำให้ภาษาอังกฤษได้รับคำยืมจำนวนมหาศาลมาจากภาษาฝรั่งเศส ซึ่งจะกลายมาเป็นภาษาอังกฤษที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน นอกจากนิสัยดุร้ายและเจ้าโทสะ วิลเลียมยังเป็นคนที่กินจุถึงขั้นที่คนร่วมสมัยเรียกว่าเขา ‘ตะกละ’ เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายที่เผาผลาญได้น้อยลงทำให้รูปร่างเขาเริ่มท้วมมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับร่างกายที่สูงใหญ่กว่าคนทั่วไปในยุคเดียวกัน (ราว 6 ฟุต) ทำให้รูปร่างเขายิ่งใหญ่โตขึ้นไปอีก และความอ้วนของกษัตริย์ผู้นี้เองที่ย้อนกลับมาทำร้ายเขาในภายหลัง ด้วยความที่วิลเลียมเป็นกษัตริย์โหดเหี้ยมที่ไม่มีใครรัก เขาปกครองด้วยความหวาดกลัวมาตลอด แม้แต่ลูกชายของวิลเลียมยังทำสงครามชิงดินแดนกับเขาด้วยซ้ำ ในปี 1087 ขณะที่วิลเลียมในวัย 59 ปีขี่ม้านำกองทัพไปบุกทำลายพื้นที่ในฝรั่งเศสของลูกชายตัวเอง ม้าของเขาก็เกิดหยุดกะทันหันและยกขาหน้าขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว หน้าท้องของกษัตริย์ร่างท้วมวัยทองผู้นี้จึงกระแทกกับสันแข็งตรงอานม้าอย่างแรงจนลำไส้ฉีก ข้อมูลบางแหล่งก็กล่าวว่าอานม้านั้นหุ้มเหล็กและเจาะทะลุช่องท้องของเขาเป็นแผลใหญ่ แต่บ้างก็ว่าเขาเพียงแค่ตกม้าจนบาดเจ็บสาหัส วิลเลียมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกนำตัวไปเมืองรูอ็อง (Rouen) เพื่อรักษาทันที แต่การแพทย์ที่ยังไม่ก้าวหน้าทำให้ไม่มีใครสามารถรักษาอาการบาดเจ็บเช่นนี้ได้ นั่นทำให้กษัตริย์ผู้นี้ต้องนอนทรมานรอความตายจากแผลติดเชื้อในลำไส้อยู่นานถึง 6 สัปดาห์ คำสารภาพก่อนตายของวิลเลียมคงให้ภาพร่างคร่าว ๆ ของความโหดร้ายของเขาได้ดี “ข้าปฏิบัติกับชนผู้อาศัยในอาณาจักรด้วยความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล กดขี่ผู้คนอย่างโหดร้ายทั้งคนสูงศักดิ์และคนต่ำต้อย ถอนกรรมสิทธิ์หลายคนอย่างอยุติธรรม และทำให้ผู้คนหลายพันต้องตายด้วยความอดอยากและสงคราม โดยเฉพาะในยอร์คเชียร์ ... ด้วยโทสะพลุ่งพล่าน ข้าเหยียบย่ำชาวอังกฤษทางเหนือเยี่ยงสิงโตที่โกรธเกรี้ยว ข้าสั่งเผาทำลายทั้งบ้าน ไร่นา เครื่องมือ และเครื่องใช้ของพวกเขาจนสิ้น และสั่งให้ฆ่าปศุสัตว์และฝูงแกะของพวกเขาทุกหย่อมหญ้า ดังนั้นข้าได้ลงทัณฑ์ทั้งชายและหญิงจำนวนมากด้วยความอดอยาก และอนิจจา ยังได้สังหารผู้คนอย่างโหดร้ายไปหลายพันชีวิต ทั้งคนหนุ่มสาวและคนชรา ผู้เป็นพสกนิกรที่ดี” เมื่อวิลเลียมสิ้นลมหายใจในวันที่ 9 กันยายน เหล่าขุนนางและอัศวินที่เคยห้อมล้อมต่างรีบแยกย้ายกันกลับไปจัดการและปกป้องทรัพย์สินที่ดินของตนทันที เพราะช่วงเวลาเช่นนี้เป็นจังหวะที่เหล่าขุนนางจะใช้โอกาสนำกองกำลังเข้ายึดครองที่ดินและทรัพย์สินกันเอง เสื้อผ้าและทรัพย์สินที่อยู่ภายในห้องที่ศพวิลเลียมนอนอยู่ล้วนถูกแย่งชิงกันโดยขุนนางและผู้ติดตามจนเหี้ยน แม้แต่เสื้อผ้าขลิบทองของวิลเลียมยังถูกถอดจนเหลือแต่ร่างเปลือยเปล่าอยู่หลายวัน จนอัศวินผู้หนึ่งทนสภาพที่อเนจอนาถนี้ไม่ไหว และอาสาจ่ายค่าทำศพกับค่าขนส่งให้เอง กว่าจะเริ่มการรักษาสภาพศพ ศพของวิลเลียมก็เริ่มอืดแล้ว ทำให้ไม่สามารถรักษาสภาพได้อย่างสมบูรณ์นัก และศพของเขาจะต้องถูกนำไปฝังในโบสถ์ที่เขาสร้างขึ้นในเมืองก็อง (Caen) ตามธรรมเนียม ซึ่งเมืองนี้อยู่ห่างออกไปราว 70 ไมล์ การเดินทางเป็นไปอย่างล่าช้า แบคทีเรียในลำไส้ซึ่งเน่าเปื่อยก่อนอวัยวะอื่นเริ่มลามไปทั่วร่างกายและปล่อยแก๊สออกมาจำนวนมาก ทำให้ศพมีสภาพอืดกว่าเดิม เมื่อไปถึงเมืองก็อง ก็เกิดเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ในเมือง ทำให้ไม่สามารถนำศพไปฝังได้ทันที ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าจะเคลียร์ทางได้ และในที่สุด ขบวนเคลื่อนย้ายศพก็ไปถึงโบสถ์ แต่ขณะกำลังเตรียมพิธีฝังศพ ก็มีชาวบ้านผู้หนึ่งมาร้องเรียนว่าโบสถ์แห่งนี้ถูกสร้างบนที่ดินที่วิลเลียมยึดมาจากเขา และเขาจะไม่ยอมให้ฝังศพอดีตกษัตริย์ในพื้นที่ที่เคยเป็นของเขาเป็นอันขาด ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่และนักกฎหมายจึงต้องรื้อฟื้นคดีริบทรัพย์กันขนานใหญ่ และต้องไปหาเอกสารที่ระบุถึงการยึดครองที่ดินนี้โดยวิลเลียมมาประกอบการพิจารณาคดี กระบวนการพิจารณาคดีครั้งนี้ดำเนินต่อไปอีกหลายวัน ไม่ต้องพูดถึงศพของวิลเลียมว่าจะมีสภาพแย่ลงเพียงใด และจบลงด้วยการที่เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่นต้องจ่ายเงินชดเชยการริบทรัพย์ให้แก่ชาวบ้านผู้นี้ไปในที่สุด และแล้วศพขึ้นอืดของวิลเลียมก็ได้เข้าพิธีฝังศพหลังผ่านอุปสรรคมามากมาย ในพิธีมีทั้งบาทหลวง เจ้าหน้าที่ ชาวบ้านท้องถิ่น และขุนนางบางส่วนมาร่วมด้วย ส่วนบุตรชายของวิลเลียมนั้นไม่มีใครมาเข้าร่วมพิธีเลย ยกเว้นบุตรชายคนเล็กเพียงคนเดียว แต่ในขณะที่กลุ่มคนหามศพกำลังจะหย่อนวิลเลียมลงหลุมที่ขุดพร้อมบรรจุโลงหินภายในโบสถ์ ก็เกิดเหตุขัดข้องขึ้น ร่างที่อืดและพองจนกลมของวิลเลียมไม่สามารถยัดลงโลงหินในหลุมได้ ขนาดของร่างกายที่ใหญ่โตเกินคนทั่วไปเป็นอุปสรรคแล้ว แต่เมื่ออืดพองก็ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก กลุ่มคนที่หามศพจึงช่วยกันพยายามดันร่างของวิลเลียมลงไปในโลงให้ได้ และเมื่อพวกเขาออกแรงดันตรงท้องที่บวมโตของอดีตกษัตริย์อังกฤษ หายนะก็บังเกิดขึ้น ท้องที่เต็มเปี่ยมไปด้วยแก๊สเหม็นเน่าและอวัยวะที่กำลังเน่าเปื่อยก็ระเบิดออก ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ข้างในทะลักออกมาหมด โดยเฉพาะลำไส้ที่เป็นต้นตอของกลิ่นมากที่สุด กลิ่นเหม็นเน่าร้ายแรงพุ่งออกมาและฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ คนที่หามศพต้องรับเคราะห์ไปเต็ม ๆ จากเศษเลือดเนื้อเน่าเปื่อยที่กระเด็นออกมา ชาวบ้านจำนวนมากต่างวิ่งแตกตื่นออกไปจากงานศพทันที ผู้คนในบริเวณอีกไม่น้อยต่างล้มลงอาเจียนกับกลิ่นและสิ่งที่เห็น บ้างก็หมดสติและเป็นลมในที่เกิดเหตุทันที กลุ่มคนที่ดำเนินพิธีจึงรีบเก็บกวาดเศษซากแล้วโกยลงหลุม จากนั้นจึงรีบกลบฝังให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระหว่างนั้นบาทหลวงก็นำเครื่องหอมและกำยานจำนวนมากมาเผาเพิ่มเพื่อกลบกลิ่นเหม็นเน่า แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก และพิธีก็จบลงด้วยความวุ่นวายโกลาหล ถ้าจะมองว่านี่เป็นวีรกรรมครั้งสุดท้ายที่วิลเลียมได้ฝากให้พสกนิกรก็คงไม่ผิดเท่าไร ส่วนศพของวิลเลียมก็ต้องเผชิญวิบากกรรมอีกหลายครั้ง ครั้งแรกจากการขุดตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากโรม ส่วนครั้งที่สองถูกขุดมาย่ำยีในช่วงสงครามกลางเมืองคาทอลิก-โปรเตสแตนต์ในฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 16 และครั้งสุดท้ายในช่วงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส ซึ่งกระดูกของเขาถูกนำไปทิ้งจนเหลือเพียงกระดูกต้นขาเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น เรื่อง: อันโตนิโอ โฉมชา ภาพ: Wikimedia.org อ้างอิง: https://www.thevintagenews.com/2018/12/01/william-the-conqueror/?chrome=1 https://www.royal.uk/william-the-conqueror https://www.mentalfloss.com/article/90921/british-king-whose-corpse-exploded-during-his-funeral https://penelope.uchicago.edu/~grout/encyclopaedia_romana/britannia/anglo-saxon/hastings/williamdeath.html https://allthatsinteresting.com/william-the-conqueror https://www.history.com/news/10-things-you-may-not-know-about-william-the-conqueror