Michael Jackson - Black or White: ราชาเพลงป็อปที่โอบรับหลากวัฒนธรรมผ่านเพลงที่บอกว่า ‘ผิวสีไหนก็คน’

Michael Jackson - Black or White: ราชาเพลงป็อปที่โอบรับหลากวัฒนธรรมผ่านเพลงที่บอกว่า ‘ผิวสีไหนก็คน’
“การเหยียดผิวคือสิ่งเดียวที่ผมเกลียด ผมเกลียดมันจริง ๆ”  คือถ้อยคำของชายที่โลกต่อท้ายชื่อของเขาว่าราชาเพลงป็อป - ‘ไมเคิล แจ็กสัน’ เป็นราชาบนเวทีด้วยเสียงร้องมีเอกลักษณ์และท่าเต้นที่มีเอกลักษณ์เทียบเท่าหรือยิ่งกว่า โลกคลั่งไคล้ท่าเต้น ‘moonwalk’ ของเขา รวมถึงการเต้นพลางสะบัดเสื้อคลุมไปด้านหลัง ขยับหมวก และท่าเด้งเป้าอย่างที่เขาชอบทำ วิธีที่ไมเคิล แจ็กสันครองเวทีทำให้ชื่อของเขาติดบนริมฝีปากศิลปินมากมายมาถึงทุกวันนี้ เมื่อถูกถามถึงไอดอลที่สร้างแรงบันดาลใจให้ร้องและเต้น ตัวอักษร ‘MJ’ คือชื่อที่พวกเขาเอ่ยออกมา นอกเหนือไปจากบทบาทศิลปินที่ ‘The King of Pop’ คนนี้รู้จักตั้งแต่ 6 ขวบ ครั้งเป็นเด็กน้อยตัวจิ๋วร้องเพลงร่วมกับพี่ ๆ ตระกูลแจ็กสัน ในวง ‘The Jackson 5’ มีอีกบทบาทที่ไมเคิล แจ็กสันรู้จักมานานกว่านั้น นั่นคือบทบาทของคนดำในอเมริกา ไมเคิล แจ็กสัน เกิดและเติบโตในอเมริกา ประเทศที่มีกำแพงที่มองไม่เห็นตระหง่านกั้นคนขาวและคนดำออกจากกัน กำแพงนั้นรุกรานแม้แต่โลกดนตรี และชื่อของไมเคิล แจ็กสัน ก็ถูกยอมรับในฐานะผู้ทลายกำแพงที่พาเพลงของตนทะยานสู่หน้าจอทีวีสาธารณะ และจับจองพื้นที่ความนิยมของอเมริกันชนโดยไม่แบ่งแยกสูงต่ำดำขาว ไมเคิล แจ็กสันโด่งดังด้วยบทเพลงของเขา และอื้อฉาวด้วยข่าวคราวชีวิตส่วนตัว เมื่อ MJ กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ JET Magazine เมื่อปี 1979 ว่าเขาเกลียดการเหยียดผิวยิ่งกว่าสิ่งใด หลายปีผ่านไป อเมริกันชนจึงถามกลับว่า ถ้าเขาเกลียดการเหยียดผิวและภูมิใจที่ตนเกิดเป็นคนดำจริง ๆ ทำไมผิวของเขาจึงขาวขึ้นทุกครั้งที่ปรากฏตัว ร่วมกับการที่เขาทำศัลยกรรมใบหน้าจนเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัด วงสนทนาซุบซิบจึงพากันสรุปว่า เขาไม่ได้ภูมิใจในสีผิวของตัวเอง และฟอกกัดมันเพื่อให้ตนเองมีผิวเหมือนคนขาว  แม้ทุกวันนี้เราจะทราบโดยกระจ่างว่าสาเหตุที่สีผิวของราชาเพลงป็อปเปลี่ยนจากดำเป็นขาว ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงที่ MJ สมัครใจ แต่เป็นผลจาก ‘โรคด่างขาว’ (vitiligo) แต่ครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์ประเด็นนี้ออกสื่อเมื่อปี 1993 ในรายการของ ‘โอปราห์ วินฟรีย์’ (Oprah Winfrey) ก็ยังมีสื่อหัวกอสซิป นักวิจารณ์ ดาวตลกในโทรทัศน์ และผู้คนที่เย้าปนเหยียดถึงผิวและเพศของเขาว่า “ใครเลยจะคิดว่า เด็กผิวดำจน ๆ ในอเมริกา จะโตมาเป็นสาวร่ำรวยผิวขาวไปได้” อยู่ไม่เลิก นั่นคือเรื่องราวที่ไมเคิล แจ็กสันเผชิญในฐานะคนดำที่โด่งดังระดับโลก  บทเพลง ‘Black or White’ มีขึ้นมาได้ด้วยความตั้งใจที่จะพูดถึงเรื่องราวเหล่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นประจำในโลก มันกลายเป็นเพลงป็อป ‘ร็อกแอนด์โรลแดนซ์ว่าด้วยการเหยียดผิว’ ในอัลบั้ม ‘Dangerous’ (1991) ที่โด่งดังด้วยอันดับหนึ่งบนบิลบอร์ดชาร์ตนาน 7 สัปดาห์ เป็นเพลงอันดับหนึ่งในยี่สิบประเทศทั่วโลก และเป็นซิงเกิลขายดีแห่งปี 1992 เช่นเดียวกับมิวสิกวิดีโอที่ฉาย 27 ประเทศ และเข้าถึงผู้คนมากกว่า 500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งเนื้อหาที่ถูกบอกเล่าทั้งในบทเพลงและมิวสิกวิดีโอก็เรียกได้ว่าเข้มข้นและเพลิดเพลินไปพร้อมกัน ‘Black or White’ ที่ไมเคิล แจ็กสัน แต่งร่วมกับ ‘บิล บอตเทรล’ (Bill Bottrell) นั้นประกอบไปด้วยเนื้อเพลงหลายท่อนที่สะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่ราชาเพลงป็อปคนนี้มีต่อประเด็นสีผิว ท่อน ‘But, if you’re thinkin’ about my baby. It don’t matter if you’re Black or White’ บอกให้รู้ว่าสำหรับเขาสีผิวไม่ส่งผลในการเลือกคู่ครอง เช่นเดียวกับที่เขาใช้คำว่า ‘devil’ มาเป็นตัวแทนการเหยียดผิวในท่อน ‘I am tired of this devil. I am tired of this stuff. I am tired of this business.’ เพื่อบอกว่าเรื่องการเหยียดผิวนั้นเลวร้ายราว ‘ปิศาจ’ และทำให้เขาเบื่อหน่ายอย่างไร ขณะที่ท่อนแร็ปของเพลงก็ตบท้ายด้วยท่อน ‘I’m not going to spend my life being a color’ ก็บรรจุความตั้งใจว่า ‘จะไม่ยอมให้สีผิวมาเป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิต’ เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้น่าสนใจก็คือตัวมิวสิกวิดีโอ กำกับโดย ‘จอห์น แลนดิส’ (John Landis) ผู้กำกับเจ้าเก่าที่เคยกำกับ ‘Thriller’ ให้ไมเคิล แจ็กสันจนประสบความสำเร็จมาแล้ว MV ‘Black or White’ โอบรับเอาความหลากหลายทางวัฒนธรรมเข้าไว้ตลอดความยาว 11 นาที (หรือ 6:23 นาทีใน Shortened Version) ภายใน MV ปรากฏภาพไมเคิล แจ็กสันเต้นรำร่วมกับผู้คนจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง เขาเต้นกับชนเผ่าแอฟริกัน เต้นท่ามกลางการร่ายรำของนางรำไทย (นับเป็นครั้งแรก ๆ ที่วัฒนธรรมไทยปรากฏโฉมในเพลงป็อป) ย้ายไปเต้นกับชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน เต้นกับหญิงชาวอินเดีย เต้นท่ามกลางหิมะกับนักเต้นชาวรัสเซีย ทุกท่วงท่าของไมเคิล แจ็กสันทั้งแตกต่างและกลมกลืน ตอกย้ำความเชื่อว่าทุกคนบนโลกสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกด้วยเชื้อชาติ ความแตกต่างทางวัฒนธรรม หรือสีผิว เช่นเดียวกับเทคนิคล้ำสมัยในยุคนั้นที่ถูกนำมาใช้ในซีนที่ผู้คนหลากเชื้อชาติและสีผิวที่กำลังร้องเพลง เต้นรำ พลางสะบัดใบหน้า เมื่อพวกเขาขยับตัว ภาพก็จะเปลี่ยนจากคนหนึ่งสู่อีกคน ก็สื่อสารถึงการโอบรับความแตกต่าง และมองคนทุกคนเป็น ‘มนุษย์’ เท่ากันได้อย่างดี  เสียงเพลง ‘Black or White’ ได้เงียบลงในช่วงกลางค่อนท้ายของวิดีโอฉบับเต็ม ฉายให้เห็นไมเคิล แจ็กสัน ที่แปลงกายจากเสือดำตัวใหญ่ให้เป็นมนุษย์ และขยับเต้นไปตามถนน ขว้างบางสิ่ง ทำลายบางอย่าง ก่อนจะกลับร่างเป็นเสือดำและเดินจากไป โดย MJ ได้อธิบายถึง ‘ท่าเต้นเสือดำ’ เอาไว้ว่า “มันเป็นท่าเต้นที่ทำให้ผมได้ปลดปล่อยความหงุดหงิดที่เกิดจากความอยุติธรรม ทั้งอคติและการเหยียดเชื้อชาติ” ‘Black or White’ คือมรดกที่ไมเคิล แจ็กสันทิ้งไว้ให้โลก ก่อนความตายจะรับตัวเขาไปในเดือนมิถุนายน ปี 2009 มันบรรจุความโกรธเกรี้ยวของเขาไว้เช่นเดียวกับความหวังและฝันว่าสักวันหนึ่งมนุษย์ที่แตกต่างกันทั้งสีผิวและวัฒนธรรมจะหันหน้าเข้าหากัน ยิ้มให้แก่กันได้เช่นเดียวกับที่เขาทำให้เกิดขึ้นในบทเพลง “ผมเกลียดการเหยียดผิว” คือสิ่งที่ไมเคิล แจ็กสันย้ำอยู่เสมอ “เพราะแบบนั้นผมจึงเขียนเนื้อร้อง ผมใส่มันในเพลง ใส่มันในท่าเต้น ใส่มันในงานศิลป์ของผมเอง - เพื่อสอนโลกใบนี้ “ถ้านักการเมืองทำไม่ได้ กวีก็ควรทำ กวีควรต้านการเหยียดผิวในบทกลอน นักเขียนควรต่อต้านมันในนวนิยาย นั่นคือสิ่งจำเป็น”   ที่มา: https://www.theguardian.com/music/2018/mar/17/black-and-white-how-dangerous-kicked-off-michael-jacksons-race-paradox https://ejournal3.undip.ac.id/index.php/engliterature/article/download/5686/5472 https://www.umassmed.edu/vitiligo/blog/blog-posts1/2016/01/did-michael-jackson-have-vitiligo/ https://youtu.be/kpOblKVixEY https://www.songfacts.com/facts/michael-jackson/black-or-white