เทอร์รี เคธ: ดนตรี โคเคน และรังเพลิง คำพูดสุดท้ายก่อนการลั่นไกของปิศาจกีตาร์แห่งวง Chicago
“นายคิดว่าฉันจะทำอะไร ลั่นไกระเบิดสมองตัวเองงั้นเหรอ”
คือคำพูดสุดท้ายของ ‘เทอร์รี เคธ’ (Terry Kath) นักร้อง นักแต่งเพลง และมือกีตาร์ที่ร่วมทุกข์และสุขกับวงดนตรีที่ไม่เพียงสร้างสรรค์ผลงานตามฉบับวงร็อกมาตั้งแต่ปลายยุค 60s แต่ยังพร้อมสรรพด้วยสำเนียงคลาสสิก แจ๊ซและบลูส์ ‘Chicago’ คือวงอเมริกันที่นิยามตนเองว่า ‘เราคือวงร็อกที่มีเครื่องเป่า’ พวกเขาออกเดินทางบนถนนสายดนตรีได้นานปี จึงมีเรื่องราวมากมายให้ถ่ายทอด หากสิ่งที่ฝังแน่น ตึดตรึง และนำมาซึ่งรอยบิ่นในใจสมาชิกทุกคน คือการจากไปของเทอร์รี เคธ เพื่อนร่วมวงที่ Chicago ยกให้เป็น ‘หัวใจและจิตวิญญาณ’
หลังคำพูดดังกล่าว เคธผู้รักปืนเป็นชีวิตจิตใจ ประกบอาวุธคู่ใจเสมอศีรษะ และลั่นไก เพราะปืนกระบอกนั้นไม่ได้ไร้กระสุนอย่างที่เข้าใจ วินาทีถัดไปหลังเสียง ‘ปัง’ แดงฉานของโลหิตก็สาดกระเซ็น
เคธจากไปด้วยอุบัติเหตุอันมีโครงเค้า แต่ไม่มีใครคาดคิด บทความต่อไปนี้จะเล่าถึงชีวิตของนักดนตรีผู้ถูกเรียกว่า ‘ปิศาจกีตาร์’ แม้ชื่อของเขาจะไม่ใคร่ถูกกล่าวถึงนักในทำเนียบนักดนตรีมากฝีมือ แต่ทั้งเพื่อนนักดนตรีร่วมสมัย และผู้คนมากมายที่ทันได้ชมฝีไม้ลายมือของเขาก็กล่าวยกย่องให้เป็นมือกีตาร์ระดับท็อปเท็น เช่นเดียวกันกับมือกีตาร์ที่โลกจับตา อย่าง ‘จิมี เฮนดริกซ์’ (Jimi Hendrix) ผู้เคยบอกกับเพื่อนร่วมวงของเทอร์รี เคธว่า
“มือกีตาร์ของวงนายเล่นเก่งกว่าฉันด้วยซ้ำไป”
ร็อกแอนด์โรลเคล้าเครื่องเป่า
31 มกราคม 1946 เมืองชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ ‘เทอร์รี อลัน เคธ’ (Terry Alan Kath) ลืมตาดูโลกท่ามกลางครอบครัวที่รักดนตรี เมื่อบ้านทั้งหลังกลายเป็นสถานที่รวมตัวของคนผู้หลงใหลเสียงเพลง จึงไม่น่าแปลกใจที่เด็กชายจะสนใจเครื่องดนตรีนานาชนิดตั้งแต่วัยเยาว์ เริ่มจากเปียโน แบนโจ และกีตาร์ เมื่ออายุ 19 เคธก็กลายเป็นมือเบสในวงดนตรีละแวกบ้าน คราวขึ้นเล่นเบสที่ ‘Jimmy Ford And The Executives’ ชายหนุ่มก็ได้พบกับ ‘วอลเตอร์ พาราเซเดอร์’ (Walt Parazaider) นักดนตรีตำแหน่งแซกโซโฟน และ ‘แดนนี เซราฟีน’ (Danny Seraphine) มือกลอง หนึ่งปีให้หลัง พวกเขาทั้ง 3 กลายเป็นสมาชิกในวง ‘The Missing Links’ และได้พบกับ ‘ลี ล็อกแนน’ (Lee Loughnane) นักเป่าทรัมเป็ต
ช่วงเวลานั้น ทั้ง 4 มีความฝันเดียวกัน คือการสร้างวงดนตรีร็อกที่ประกอบด้วยเครื่องเป่า ซึ่งแต่เดิมเป็นความคิดของพาราเซเดอร์ และเมื่อมีนักเป่าทรอมโบน ‘จิมมี แพงโกว’ (Jimmy Pankow), นักร้องและมือคีย์บอร์ด ‘โรเบิร์ต แลมม์’ (Robert Lamm) สารตั้งต้นที่พวกเขาต้องการก็พร้อมสรรพ ปี 1967 พวกเขาเปลี่ยนชื่อวงเป็น ‘The Big Thing’ และตั้งใจว่าจะร่วมกันสร้าง ‘rock and roll band with horns’ ให้จงได้
พ่วงด้วยการเริ่มเขียนและเรียบเรียงผลงานเพลงของตนเอง ‘The Big Thing’ สั่งสมประสบการณ์ด้วยการล่าเวที บางคนเห็นแววของพวกเขา ขณะที่บางคน (โดยเฉพาะเจ้าของคลับที่พวกเขาเล่น) เอ่ยปากไล่ และคาดหวังให้ The Big Thing เล่นเพียงคัฟเวอร์เพลงฮิตติดชาร์ต แต่ระหว่างค่ำคืนบนเวทีเหล่านั้นนั่นเองที่ The Big Thing ได้นักร้องและมือเบสอย่าง ‘ปีเตอร์ เซเทรา’ (Peter Cetera) เข้ามาร่วมวง และแน่นอนว่าเขาเติมเต็มสิ่งที่วงต้องการอย่างเสียงเบสและเสียงร้องโทนเทอร์เนอร์ได้เป็นอย่างดี
โอกาสที่ The Big Thing รอคอยมาถึง เมื่อวงร็อกจากเมืองชิคาโกวงนี้เข้าตา ‘เจมส์ เกอร์ซิโอ’ (James Guercio) นักแต่งเพลงและโปรดิวเซอร์ที่ถูกใจการแสดงของพวกเขาจนจับชายหนุ่มทั้ง 7 เซ็นสัญญากับ Columbia Records - ออกเดินทางสู่ลอสแอนเจลีสเพื่อทำอัลบั้ม - และเปลี่ยนชื่อวงเป็น ‘Chicago Transit Authority’ ซึ่งภายหลังถูกทอนให้สั้นลงเหลือเพียง ‘Chicago’
ช่วงแรกเริ่มของวงนั้นขลุกขลักมากอุปสรรคใช่เล่น แต่ท้ายที่สุด อัลบั้มแรกที่มีชื่อเดียวกับวง อย่าง ‘Chicago Transit Authority’ ก็ได้ฤกษ์วางขาย และตามมาด้วยผลงานอีกมาก ที่พาให้พวกเขากลายเป็นร็อกแอนด์โรลเคล้าเครื่องเป่าระดับตำนานในปัจจุบัน
จิตวิญญาณ หัวใจ มือกีตาร์ที่จิมีเฮนดริกซ์ยอมรับ
สำหรับคุณ ชื่อของวง Chicago ชวนให้นึกถึงสิ่งใด? โลโก้วงที่เป็นตัว C ใหญ่หางม้วนเกือบบรรจบกับเส้นส่วนท้ายของตัว o - หรือเพลงฮิตที่พาให้วงคว้าแกรมมีอวอร์ดส์มาครอบครองอย่าง ‘If You Leave Me Now’?
แต่เพลงช้าเพลินหูดังกล่าว ที่พาให้อัลบั้มถัดมาของพวกเขาต้องบรรจุบัลลาดหวานซึ้งเจือเศร้า (อย่างเช่น ‘Hard To Say I’m Sorry’ และ ‘You’re The Inspiration’) เข้าไปนั้น ถ้าไล่ตามไทม์ไลน์ของวง ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพลงที่ปล่อยมาในช่วงก้ำกึ่งระหว่าง ‘ชีวิตแรก’ และ ‘ชีวิตที่สอง’ ของพวกเขา
ชีวิตที่สองของ Chicago คือชีวิตที่ไม่มีเทอร์รี เคธ
วงดนตรีที่หนึ่งสมาชิกจากไปนั้นยังพอเกิดใหม่ได้ แต่เทอร์รี เคธไม่ได้มีชีวิตที่สองให้ใช้ สิ่งที่พอจะทำให้ผู้คนได้รู้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว นักดนตรีผมยาวสะพายกีตาร์ผู้นี้ฝีมือฉกาจขนาดไหน ก็คงเหลือไว้เพียงเพลงในแผ่น และคำบอกเล่าจากผู้คนที่เคยล้อมรอบกายเขาเพียงเท่านั้น
“เคธเป็นชายที่ไม่เคยห่างกีตาร์” ล็อกแนน เพื่อนร่วมวงของเคธเคยเล่าไว้ และยังเล่าว่าเคธไม่เพียงแต่เป็นมือกีตาร์ แต่มีความเป็นหัวหน้า หรือผู้นำทางดนตรีอย่างเต็มเปี่ยม
“ตอนที่เราเล่นโซโล่ เราจะฟังเสียงผิวปากของเทอร์รี เสียงนั้นแหลมชัดเจนทะลุทุกเดซิเบล เป็นสัญญาณที่เราต่างรู้กันว่า เหลืออีกแปดห้องจะหมดรอบของนาย ทีนี้เราก็กลับไปเล่นท่อนบริดจ์กัน”
เคธมีความเป็นผู้นำบนเวที ส่วนในห้องซ้อมหรือสตูดิโอเขาก็ทำได้ดีในหน้าที่นักร้อง มือกีตาร์ และนักแต่งเพลง เคธมีเสียงทุ้มต่ำสไตล์บลูส์ เขาอ่านโน้ตดนตรีได้เพียงพื้นฐานเท่านั้นเมื่อเทียบกับสมาชิกโดยมากในวงที่บ่มเพาะภาษาดนตรีของตนมาจากรั้วมหาวิทยาลัย หากนั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคแก่การแต่งเพลงและเล่นกีตาร์ของเขา เคธสร้างสรรค์ดนตรีด้วยหู และหากการถ่ายทอดดนตรีในหัวลงกระดาษนั้นเกินกำลัง เขาก็มักให้เพื่อน ๆ ในวงที่ถนัดเรื่องนี้มากกว่า เป็นคนเขียนโน้ตดนตรีลงแผ่นจากสิ่งที่เขาอธิบาย
เคธมีสไตล์การเล่นกีตาร์ที่ไม่เป็นสองรองใคร แม้ชื่อของเขาจะไม่ถูกแซ่ซ้อง (หลายครั้ง กลุ่มแฟนคลับที่เหนียวแน่นของเคธมักบ่นเศร้าติดตลกว่าเขาคือมือกีตาร์ที่ถูกมองข้ามและด้อยค่าที่สุดในโลก)
แม้จะมีสมาชิกมากถึง 7 ชีวิต Chicago คือวงที่มีกีตาร์ตำแหน่งเดียว พร้อม ๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ในสตูดิโอ และการควบคุมวงด้วยเสียงผิวปากบนเวที ต่อหน้ากีตาร์ของเขา เคธต้องรับหน้าที่ทั้งลีดและริทึ่มโดยไม่ปล่อยให้ซาวนด์จมหายไปในกลุ่มเครื่องเป่า เสียงกีตาร์ของเคธใน ‘Free Form Guitar’ นั้นบ้าคลั่งสมชื่อ ‘ปิศาจกีตาร์’ เช่นเดียวกับบทเพลงอื่น ๆ จากอัลบั้มแรกของ Chicago เมื่อเคธโลดแล่นบนสายกีตาร์ใน ‘South California Purples’, ‘Dialogue’ ร้องในเพลงใน ‘Colour My World’ และโซโล่ใน ‘25 or 6 to 4’ จากนั้นสองอัลบั้มแรกของวงก็สมบูรณ์ โดยเฉพาะเพลงท้าย ท่อนโซโล่ของเคธใน ‘25 or 6 to 4’ นั้นอาจเทียบแท่นท่อนโซโล่ระดับตำนานได้อย่างไม่ยากเย็น
ฝีมือของเทอร์รี เคธนั้นอยู่ในระดับที่ ‘โจ วอลช์’ (Joe Walsh) มือกีตาร์แห่งคณะพญาอินทรี ‘The Eagles’ ต้องกล่าวอย่างสงสัยระคนชื่นชมว่า “เขาใช้กีตาร์สร้างเสียงแบบนั้นขึ้นมาได้อย่างไร?” เช่นเดียวกัน เรื่องเล่าอันโด่งดังและคำชมอันทรงเกียรติที่ชายคนนี้เคยได้รับ คือถ้อยคำจากมือกีตาร์ที่เทอร์รี เคธ เคยพูดถึงว่า “เขาเล่นทุกอย่างที่อยู่ในหัวผม ผมแทบไม่เชื่อหูตัวเองตอนที่ได้ยิน” เช่นเดียวกับล็อกแนน ที่ยืนยันอีกเสียงว่า “เราได้ยินเทอร์รีเล่นแบบนั้น ก่อนที่จะได้ยิน ‘เขา’ เล่นเสียอีก”
‘เขา’ ที่ว่านี้คือ ‘จิมี เฮนดริกซ์’ (Jimi Hendrix) และแม้ไม่อาจรู้ได้ว่าความซิงค์กันทางดนตรีของสองศิลปินนี้มีมากน้อยแค่ไหน และใครเล่นก่อนใครกันแน่ สิ่งที่เราแน่ใจได้คือครั้งหนึ่ง (หรืออาจจะสองครั้งด้วยซ้ำไป) จิมี เฮนดริกซ์ ที่ได้ชมการแสดงของ Chicago ซึ่งเล่นเป็นวงเปิดให้เขา บอกกับพาราเซเดอร์ แซกโซโฟนประจำวงว่า
“พวกนายคือวงที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยฟังมา” และ “มือกีตาร์ของวงนายเล่นเก่งกว่าฉันอีก”
จิมี เฮนดริกซ์ กล่าวถ้อยคำนั้นแก่พาราเซเดอร์เมื่อปี 1969 ก่อนที่มือกีตาร์ชื่อกระฉ่อนโลกจะจากเราทุกคนไปในปี 1970
และเทอร์รี เคธ ก็ทิ้งโลกทั้งใบไป ให้หลังจากเฮนดริกซ์เพียงแค่ 8 ปี
โคเคนและรังเพลิง
เทอร์รี เคธแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรกกับ ‘พาเมลา โรบินสัน’ (Pamela Robinson) นั้นจบลงด้วยการหย่าร้าง ขณะที่รักครั้งที่สองกับ ‘คามีเลีย โอทิส’ (Camelia Ortiz) ได้มอบลูกสาวให้เขาหนึ่งคน ‘มิเชล เคธ ซินแคลร์’ (Michelle Kath Sinclair) กำลังจะลืมตาดูโลกและได้ใช้เวลาร่วมกับผู้เป็นพ่อเพียงสั้น ๆ ในวันที่สารพันปัญหาถาโถมใส่วงดนตรี Chicago อีกครั้ง
เมื่อวงดนตรีเริ่มมีชื่อเสียง ค่ายเพลงก็หวังให้พวกเขาผลิตเพลงฮิต สมาชิกวง Chicago วกวนอยู่ระหว่างทางแยกสองสาย หนึ่งคือผลิตเพลงร็อกแอนด์โรลผสมเครื่องเป่า โดยไม่ต้องสนใจว่าความสร้างสรรค์ประสานักดนตรีจะพาให้เพลงหนึ่งมีความยาวเท่าไร หรือจะมีคนฟังมากน้อยแค่ไหน และสองคือพวกเขาต้องทิ้งแนวทางที่ยึดถือไป และทำเพลงให้ ‘ป็อป’ รวมทั้ง ‘เป็นมิตรต่อการเปิดในวิทยุ’ กว่าที่เคย
ระหว่างการผลิตอัลบั้มชุดที่ 6 Chicago เริ่มเสพยาหนักขึ้นทุกขณะ และเพื่อนร่วมวงก็เล่าถึงเทอร์รี เคธว่า เขาสามารถเสพยาได้มากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า และอาจจะจัดการกับยาได้ดีกว่าหมี “แต่ยาเสพติดกำลังฆ่าเขา” ล็อกแนนเล่า ขณะที่เซราฟีนเสริมว่านอกจากยาเสพติดแล้ว เคธยังสะสมปืนและพกติดตัวไปทุกที่
“ปืนและยาเสพติดเป็นส่วนผสมที่เลวร้ายที่สุด”
ปีท้าย ๆ ของชีวิต เคธเคร่งขรึมและซึมเศร้า เขาเสพยา ขับมอเตอร์ไซค์ และขัดปืนให้ขึ้นเงาไม่รู้พัก แต่แม้เขาจะแสดงออกอย่างค่อนข้างชัดในช่วงท้าย ว่าเขาไม่พอใจกับแนวทางที่เริ่มเปลี่ยนไปของวง และไม่พอใจกับฝีไม้ลายกีตาร์ของตัวเอง แต่คนใกล้ชิดทั้งหมดก็ไม่มีใครคิดว่าเขากำลังตัดสินใจจะออกจาก Chicago - เคธไม่ได้จะออกจาก Chicago เขามีแพลนจะสร้างผลงานเดี่ยว แต่ความตายทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ทำเช่นนั้น
23 มกราคม 1978 เคธจากไปด้วยอุบัติเหตุจากกระบอกปืนที่เขารัก ในอะพาร์ตเมนต์ของ ‘ดอน จอห์นสัน’ (Don Johnson) เพื่อนเสพยาของเขาเป็นพยานเพียงคนเดียวในเหตุการณ์ดังกล่าว สมาชิกในวงคนอื่น ๆ ทราบข่าวผ่านสายโทรศัพท์ เช่นเดียวกับภรรยาของเขาและลูกสาววัยใกล้สองขวบที่แทบจะไร้ความทรงจำเกี่ยวกับผู้เป็นพ่อของตัวเอง
สิ่งที่เหลือไว้
‘มิเชล เคธ ซินแคลร์’ ไม่ได้รู้จักพ่อของเธอมากไปกว่าที่รู้ว่าเขาเป็นมือกีตาร์และผู้ร่วมก่อตั้งในวงดนตรีระดับตำนาน และเพราะอยากเข้าใจว่าพ่อที่เธอไม่รู้จักนั้นเป็นคนแบบไหน เก่งกาจ โกรธ เศร้า และสุขอย่างไร โปรเจกต์ ‘Chicago: The Terry Kath Experience’ (2016) จึงได้ริเริ่ม ภาพยนตร์สารคดีดังกล่าวพาเหล่าเพื่อนเก่าของเทอร์รีรื้อฟื้นความหลัง และเล่าเรื่องราวของเขาให้ลูกสาวของเพื่อนฟัง ขณะที่สารคดี ‘Now More Than Ever: The History of Chicago’ (2016) ที่เล่าเรื่องราวของวงดนตรี ก็ได้ระบุว่าหลังความตายของเคธ Chicago เกือบตัดสินใจยุบวง
หลังการใคร่ครวญ Chicago จึงเริ่มต้น ‘ชีวิตที่สอง’ ของพวกเขาเพราะ “เทอร์รีคงอยากให้เราเดินหน้าต่อ”
วันเวลามากกว่า 40 ปีหลังเทอร์รี เคธจากไกล อาจทำให้ใครบางคนหลงลืมชื่อของชายคนนี้ แต่จากสารคดีหลากชิ้น และบทสัมภาษณ์มากมายที่สมาชิกวง Chicago ยังคงพูดถึงเพื่อนเก่าผู้จากไกลอยู่ ก็ทำให้รู้ได้ว่าเขายังคงถูกจดจำจากคนที่เขารักอยู่ไม่เสื่อมคลาย เช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่ง ล็อกแนนเคยพูดไว้ว่า
“เทอร์รียังมีชีวิตในดนตรี มรดกของเขายังอยู่ในงานของเรา ในทั้งหมดของ Chicago เสมอไป”
เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ
ที่มา: https://www.rollingstone.com/music/music-features/chicagos-terry-kath-inside-the-life-and-tragic-death-of-an-unsung-guitar-hero-201725/
https://www.loudersound.com/features/chicago-the-life-and-tragic-death-of-terry-kath
https://chicagotheband.com/a-chicago-story/
https://people.com/music/chicago-rock-band-terry-kath-death/
http://www.terrykath.com/bio-official