ทาวันดา คานเฮมา : ชายผู้ทำให้มีภาพประเทศ ‘ซิมบับเว’ ใน Google Street View
เชื่อว่าหลายคนที่เคยใช้ Google Street View น่าจะเคยลองเปิดดูภาพถนนหน้าบ้าน เช่นเดียวกับ ทาวันดา คานเฮมา (Tawanda Kanhema) ชาวซิมบับเวผู้ย้ายถิ่นมายังสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2009 โดยทำงานเป็น product manager ในซิลิคอนแวลลีย์ พร้อมกับการใช้เวลาว่างเป็นช่างภาพอิสระ
แต่เมื่อเขาเปิดดูภาพบ้านเกิดตัวเองในฮาราเร (Harare) เมืองหลวงของซิมบับเว (Zimbabwe) ในแอฟริกา เขากลับไม่เห็นภาพถนนที่เคยเดินผ่าน ร้านค้าที่เคยแวะประจำ แม้กระทั่งโรงเรียนสมัยเด็ก ๆ เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ของซิมบับเว แต่เมื่อเขาเปิดดู Street View ในเมืองใหญ่ ๆ อย่างปารีสหรือนิวยอร์ก กลับมีแม้กระทั่งภาพมุมเล็ก ๆ บนถนน
“เมื่อคุณดูที่ Street View คุณกำลังดูภาพว่าผู้คนทั่วโลกอยู่กันแบบไหน ค้าขาย เดินทางไปมาหาสู่กันยังไง …ผมว่ามันค่อนข้างน่าตกใจที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ไม่ได้อยู่บนแผนที่”
ทาวันดามองว่าภาพเหล่านี้ไม่ได้มีไว้ให้คลายความคิดถึงบ้าน แต่ยังช่วยให้ผู้คนค้นหาเส้นทางใหม่ ๆ ใช้เลือกร้านอาหาร แพลนเที่ยวในวันหยุด ไปจนถึงการเป็นแหล่งข้อมูลเพื่อปรับปรุงแผนที่ของกูเกิล เพื่อการวิจัยของนักวิชาการ และเพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นนำไปใช้ปรับปรุงพื้นที่ ซึ่งทาวันดามองว่าการละเลยของกูเกิลครั้งนี้ อาจหมายถึงการแบ่งแยกในโลกดิจิทัลระหว่างเมืองใหญ่ ๆ ทางตะวันตก กับบ้านเกิดของเขาในแอฟริกา
“เราควรจะทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้คนจะมองเห็นพื้นที่เหล่านี้ เราควรทำอะไรมากกว่านี้ เพื่อให้ผู้คนได้เห็นธุรกิจ กิจการท้องถิ่น และดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา”
แม้จะรู้ว่ากูเกิลอาจเพิ่มภาพ Street View เข้าไปในอนาคต แต่เขามองว่าทุกอย่างเกิดขึ้นช้าแสนช้า เพราะ Google Street View เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2007 และยิ่งพบว่าบ้านเกิดตัวเองไม่มีใน Street View ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เขารู้สึกว่า
ถ้ากูเกิลไม่ทำ ผมทำเองก็ได้ !
ดังนั้นในปี 2018 เขาจึงอาสาพกอุปกรณ์ของ Google Street View เพื่อเก็บภาพพื้นที่ 2,000 ไมล์ในบ้านเกิดของเขา พร้อมแบกกล้องขึ้นเขาลงห้วย ปั่นจักรยาน ขับ ATVs นั่งสปีดโบ๊ทไปจนถึงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เพื่อบันทึกภาพระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าช้างริมแม่น้ำ ซากเรืออับปางตามแนวชายฝั่งนามิเบีย ไปจนถึงน้ำตกวิกตอเรียอันกว้างใหญ่ ซึ่งทาวันดามองว่าการถ่ายทำครั้งนี้นับเป็นสารคดีรูปแบบหนึ่งซึ่งเขาหวังว่าภาพทั้งหมดจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังซิมบับเว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
แม้ว่าการอาสาไปถ่ายภาพจะช่วยให้ผู้คนรู้จักและเห็นภาพซิมบับเวมากขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง เคร็ก ดาลตัน (Craig Dalton) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาและภูมิศาสตร์ระดับโลกที่ Hofstra University กล่าวว่า
“กูเกิลไม่ใช่บริการสาธารณะ แต่เป็นผลิตภัณฑ์จากองค์กรหนึ่ง”
พร้อมเล่าว่าสิ่งที่อยู่หรือไม่ได้อยู่ในแผนที่ย่อมสะท้อนถึงความต้องการข้อมูลของบริษัทมากกว่า และนับว่าโชคดีที่บางพื้นที่ไม่ได้อยู่ใน Street View เพราะบางภาพอาจทำให้ผู้คนรู้สึกเหมือนถูกละเมิดความเป็นส่วนตัวได้เช่นกัน โดยปี 2013 กูเกิลเคยถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้จากโปรเจกต์ที่ใช้รถยนต์ถ่ายภาพ Street View จนต้องจ่ายค่าปรับกว่า 7 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
ไม่เพียงประเด็นละเมิดความเป็นส่วนตัว อาสาสมัครที่ลงพื้นที่ถ่ายภาพแบบเขา ยังไม่ได้ค่าตอบแทนจากกูเกิลโดยตรง มีเพียงอุปกรณ์ที่ให้ยืมมาเท่านั้น บางคนจึงหารายได้เสริมจากบริษัททัวร์หรือเอเจนซี่ท่องเที่ยว แต่สำหรับทาวันดา เขามองว่าวิธีดังกล่าวอาจตามมาด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น การรอให้เจ้าของธุรกิจนั้นจัดการหน้าร้านของพวกเขาให้ดูสวยงามสะอาดตาก่อนถ่ายภาพ
เขาจึงรับค่าตอบแทนจากช่องทางอื่น ๆ แทน เช่น สภา Mushkegowuk ทางตอนเหนือของออนแทรีโอที่จ่ายเงินให้เขา แลกกับการทำเอกสารรวบรวมข้อมูลจาก Google Street View
แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่คุ้ม แต่ทาวันดาเล่าว่า เขาตั้งใจจะทำเป็นงานอดิเรกมากกว่าทำเพื่อหารายได้มาตั้งแต่ต้น แถมยังแพลนว่าอาจจะเดินทางไปยังอะแลสกา โมซัมบิก กรีนแลนด์ และอีกหลายพื้นที่ที่กูเกิลยังไม่บรรจุภาพ Street View ลงไปในนั้น
เรื่องราวของทาวันดาทั้งหมด นอกจากจะทำให้เราได้รู้ที่มาของภาพ Street View ในซิมบับเวแล้ว ยังสะท้อนถึงผลกระทบของเทคโนโลยีได้หลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว วิถีชีวิต รวมทั้งการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้คนอีกด้วย
ที่มา:
https://mymodernmet.com/zimbabwe-google-maps-street-view/
https://www.npr.org/2019/09/22/760572640/hes-trying-to-fill-in-the-gaps-on-google-street-view-starting-with-zimbabwe
https://www.ctvnews.ca/sci-tech/how-one-man-got-zimbabwe-and-northern-ontario-on-google-street-view-1.5459717
https://www.youtube.com/watch?v=3H1tjwJV09E
ที่มาภาพ:
https://www.youtube.com/watch?v=83R0ZaRKF90
https://www.youtube.com/watch?v=3H1tjwJV09E&t=1s