read
business
29 ม.ค. 2565 | 12:01 น.
เกด - ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ เจ้าของเพจ ‘เกตุวดี Marumura’ และเว็บไซต์ ‘พอดีต่อใจ’ พื้นที่เล่าเรื่องธุรกิจแนวคิดดี
Play
Loading...
Makoto Marketing / ริเน็น / เพจเฟซบุ๊ก เกตุวดี Marumura คือส่วนหนึ่งของผลงานจากปลายปากกา (และแป้นพิมพ์) ของ
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ (เกด)
ผู้ถ่ายทอดความน่ารักของญี่ปุ่น ออกมาเป็นเรื่องราวที่ทั้งสนุกและสัมผัสใจ ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ไปจนถึงธุรกิจแนวคิดดี ๆ
เกดนิยามตัวเธอเองว่าเป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ ผ่าน 3 บทบาท คือ อาจารย์สอนการตลาด นักเขียน และวิทยากร โดยสิ่งที่เธอพยายามสื่อสารมาตลอด คือธุรกิจไม่ได้เป็นเรื่องกำไร - ขาดทุนเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างคุณค่าบางอย่างให้กับสังคมได้เช่นกัน แถมสองเรื่องนี้ไม่ได้แยกขาดจากกันเสียทีเดียว
ต่อไปนี้คือบทสนทนาที่เล่าถึงวันแรกที่ตกหลุมรักญี่ปุ่น ไปจนถึงวันที่ตัดสินใจถ่ายทอดเรื่องราวธุรกิจแนวคิดดีออกมาผ่านตัวอักษร ทั้งในคลาสเรียน หนังสือ เพจเฟซบุ๊ก ไปจนถึงเว็บไซต์ชื่อน่ารักอย่าง ‘พอดีต่อใจ’ (
https://www.pordeetorjai.com/
)
นักเล่าเรื่อง ญี่ปุ่น ธุรกิจ
ความสนใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและความเป็น ‘ญี่ปุ่น’ ของเกด เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก เพราะคุณพ่อคุณแม่ของเธอทำงานในบริษัทญี่ปุ่น จึงมักจะมีของฝากจากญี่ปุ่นติดไม้ติดมือกลับมาให้เธออยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเติบโตขึ้น เธอได้ไปเรียนต่อปริญญาโทในแดนอาทิตย์อุทัย และนั่นคือช่วงเวลาที่เธอเริ่มสนใจธุรกิจในญี่ปุ่นอย่างจริงจัง
“รู้สึกว่าธุรกิจญี่ปุ่นหลาย ๆ ธุรกิจ เขาจะไม่ได้คุยกันแค่ว่าบริษัทเราทำผลประกอบการได้ 1,000 ล้าน 10,000 ล้านเยน แต่เขามักจะมีประโยคที่เกดได้ยินบ่อย ๆ คืออยากทำให้ลูกค้ายิ้มได้ อยากเป็นประโยชน์กับลูกค้า อยากทำให้สังคมมีความสุข แต่ก่อนเรามองว่าเขาเป็นเครื่องทำกำไร ทำเงินเป็นหลัก แต่จริง ๆ ถ้าเกิดทำธุรกิจอย่างดีอย่างถูกต้อง มันทำให้คนมีความสุขได้มากเลย ก็เลยสนใจเรื่องของธุรกิจเพิ่มขึ้นมาค่ะ
“พอไปเรียนที่ญี่ปุ่น ก็ตัดสินใจเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์เลย คือรู้ว่าตัวเองอ่อนด้อยเรื่องเลขมาก แต่ว่ามีความฝันอันยิ่งใหญ่คือฝันอยากจะกลับมาพัฒนาประเทศนะคะ (หัวเราะ) เรารู้สึกว่าถ้าเกิดจะพัฒนาชาติไทยเรา ญี่ปุ่นต้องเป็นตัวอย่างที่ดีเพราะเป็นประเทศเอเชียเหมือนกัน บวกกับการที่จะวางนโยบายให้กับประเทศได้ เราต้องรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ ต้องคำนวณเป็น วางนโยบายต่าง ๆ ได้ ซึ่งพอเรียนไปได้ 3 ปี 4 ปี ก็เริ่มรู้สึกว่า เราไม่ค่อยได้มีความสุขกับศาสตร์นี้เท่าไร หรือว่าเวลาเรียนไป เราจะตั้งคำถามว่า ทำไมคิดแบบนี้ เราไม่เห็นด้วย เหมือนต่อต้านตลอดเวลา พอมาเรียนปริญญาโทก็เลยหันไปเรียนศาสตร์ที่เรารู้สึกว่าน่าจะสนุกแล้วก็เราสนใจมาตั้งแต่เด็ก ๆ เหมือนกัน ก็คือเรื่องของการตลาดกับการบริหารธุรกิจ”
เสน่ห์ของธุรกิจแบบ ‘ญี่ปุ่น’
“คำถามที่เราได้รับบ่อยมากคือคนญี่ปุ่นเขาเรียนการตลาดอย่างไรเหรออาจารย์ ทำไมดูอบอุ่นจังเลย ทำไมเขาดูน่ารักจังเลย พอกลับไปเปิดตำราตัวเองที่ญี่ปุ่น เอ้า! ก็เขียนเหมือนกันเลยนี่นา แล้วทำอย่างไรดีล่ะ
“ทีนี้พอค่อย ๆ ลองถอดรหัสดู สิ่งแรกที่เจอคือ เขาจะคิดเสมอว่า ทำอย่างไรให้เรารู้จักกันไปยาว ๆ ปกติเวลาเราทำธุรกิจเราจะรู้สึกว่าอยากจะขายได้เยอะ ๆ จัง วันนี้ขายได้กี่จานนะ เย้! มีความสุข แต่ของญี่ปุ่นจะคิดเสมอว่า เอ๊ะ! จะดีไหมนะถ้าเราขายแกงกะหรี่จานนี้แล้วลูกค้าชอบมาก อยากกลับมากินอีก เขาจะเน้นไปถึงการสร้างลูกค้าประจำ …ไม่ได้คิดกำไรสูงสุดในระยะสั้น แต่มองความสัมพันธ์ในระยะยาว
“จุดเด่นที่ 2 คือเขาเห็นจุดเด่นหรือเห็นความงดงามของสิ่งของต่าง ๆ รอบ ๆ ตัว บางอย่างที่เรารู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะสวย ไม่น่าจะดีแน่เลย แต่เขาก็เห็นตรงนั้น อย่างเช่นแบรนด์หนึ่งขายกระบอกใส่ใบชา เป็นกระบอกดีบุกใช่ไหมคะ เวลาผ่านไปนาน ๆ มันก็จะมีสีสนิมบ้าง สีจางลงซีดลง แต่เขาก็บอกว่ามันคือสีแห่งกาลเวลา จะไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้ โรงงานก็ทำไม่ได้ มันคือสีเฉพาะคุณ พอฟังคำนี้แล้วแบบ เฮ้ย! จากเดิมกระป๋องใบชาเก่า ๆ มันกลายเป็นกระป๋องที่ดูดำ ดูสวย ดูดีมาก เหมือนเขามองเห็นดีเทลตรงนี้ แล้วปรับจากที่เราคิดว่าเป็นจุดด้อยให้กลายเป็นจุดแข็งได้”
สังคม วัฒนธรรม กับการทำธุรกิจ
หากมองลึกลงไปยังเบื้องหลังแนวคิดที่มักจะ ‘นึกถึงผู้อื่น’ และมองเห็น ‘ความงดงาม’ ในรายละเอียดเล็กน้อยของชีวิตอยู่เสมอ เกดเล่าว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากสภาพแวดล้อมของญี่ปุ่นที่ต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากธรรมชาติอยู่บ่อยครั้ง
“เขาเจอแผ่นดินไหว ล่าสุดเพิ่งเจอสึนามิอะไรอย่างนี้ พอเราต้องเผชิญกับความไม่แน่ไม่นอน เช่น วันดีคืนดีตื่นเช้ามา เอ้า! มองไปข้างบ้าน โรงงานหายแล้ว บ้านหายแล้ว เพราะว่าน้ำพัดไปหมด มันจะทำให้คนเขากลับมาเห็นว่า เฮ้ย! จริง ๆ แล้วสิ่งที่เราสั่งสมได้มันไม่ใช่เงินทอง มันคือครอบครัวเรา ความสัมพันธ์ของเรา มันคือสิ่งที่เราสามารถทำดีเพื่อผู้อื่นได้ เหมือนร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน
“จำได้ว่าเคยเห็นโฆษณาหนึ่งในหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเขียน ‘สวัสดี’ ‘ไปแล้วนะ’ ‘กินข้าวหรือยัง’ ‘อร่อยดี’ คำพูดเหล่านี้เป็นคำพูดสุดท้ายของผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตไปในภัยสึนามิ อย่าปล่อยให้คำพูดเหล่านี้เป็นแค่คำพูดลอย ๆ ในชีวิตประจำวัน คือเราอ่านแล้วแบบ เอ้ย! จริงด้วย ญี่ปุ่นเขาเจอกับเรื่องแบบนี้ตลอด มันเลยทำให้เขาไม่ได้ take it for granted เวลาที่เกิดอะไรขึ้น เราต้องรู้สึกขอบคุณนะ …พอทำธุรกิจด้วยความรู้สึกขอบคุณ โอ๊ย! ถ้าลูกค้านะ เขามีโอกาสไปซื้อขนมเค้กร้านอื่น แต่เขามาซื้อร้านเรา น่าขอบคุณจังเลย คนในสังคมยอมให้เรามาตั้งบริษัทที่นี่ได้น่าขอบคุณจังเลย แล้วพอเขาคิดแบบนี้บ่อย ๆ มันทำให้สมองเขานึกถึงคนอื่น แล้วอยากจะทำเพื่อผู้อื่นโดยอัตโนมัติ
“จริง ๆ ของไทยเราก็มีเสน่ห์อยู่แล้วนะ คือใครมา เอาน้ำให้ หรือว่าช่วยกัน บ้านไหนลงแขก อีกบ้านก็ไปช่วย มันมีตรงนี้อยู่ แต่พอระบบธุรกิจทุนนิยมเข้ามา มันเหมือนทำให้คนรู้สึกว่าการทำงานคือการต้องหาเงิน การทำงานคือความทุกข์ มันเลยทำให้เราลืมว่า จริง ๆ แล้วเราเผื่อแผ่เพื่อคนอื่นก็ได้ ถ้าสังเกตดี ๆ ช่วงโควิด-19 คนไทยน่ารักมาก อย่างตอน Robinhood ที่ส่งค่าส่งฟรี หลาย ๆ คนก็สั่งน้ำ สั่งอาหารให้ rider มันมีเรื่องน้ำใจ ความถ้อยทีถ้อยอาศัยอยู่แล้ว เราแค่กลับมานึกถึงว่า ธุรกิจมันไม่ใช่การทำกำไร 1 - 2 - 3 แล้วแบบ maximize สุด ๆ”
ริเน็น ปรัชญาและคุณค่าขององค์กร
เมื่อพูดถึงการทำธุรกิจด้วยความรู้สึก ‘ขอบคุณ’ แล้ว ชวนให้เรานึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งของเกด นั่นคือ ‘ริเน็น’ ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงวิธีคิดของธุรกิจหลายแห่งในญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี เกดจึงอธิบายเรื่องนี้ให้เราฟังพร้อมตัวอย่างธุรกิจที่มี ‘ริเน็น’ แสนอบอุ่นหัวใจว่า
“คำที่ได้ยินบ่อยมากตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่น สไลด์แรกเขาจะขึ้นมาเป็นชื่อบริษัท สไลด์ที่สองก็จะขึ้นแล้ว ‘ริเน็น’ คำนี้แปลว่าปรัชญาธุรกิจ มันคือความเชื่อในการทำธุรกิจว่า ธุรกิจเราทำเพื่ออะไร เช่น บางบริษัทบอกว่าเราตั้งใจที่จะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่เดินทางเองลำบาก ทำให้พวกเขามีรอยยิ้มและอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป โห…ยิ่งใหญ่มาก บริษัทนี้ทำอะไรทราบไหมคะ คือบริษัทที่ทำแท็กซี่ค่ะ แต่เขาก็จะเชื่อ มีปรัชญาและเห็นคุณค่าชัดเจนนะว่าเราจะทำอย่างไรให้คนที่ขับรถเองไม่ได้ เช่น คนท้อง ผู้สูงอายุ คนป่วย สามารถเดินทางได้ ปรัชญาตัวนี้มันทำให้บริษัทไปในทิศทางเดียวกัน เพราะทุกคนในองค์กรเห็นภาพชัดแล้วว่า เราจะต้องไปช่วยคนที่เดินทางเองลำบาก อย่างถ้านึกภาพนะ เราไม่มีปรัชญา เราบอกว่า ฉันคือบริษัทแท็กซี่ เราจะขยายธุรกิจอย่างไร งั้นเอารถแท็กซี่มาเยอะขึ้นแล้วกัน จ้างคนขับเพิ่ม เราก็ขยายแบบทั่วไป
“แต่พอเราเจอคุณค่า เราเจอแก่นธุรกิจของเราปั๊บ งั้นเขากลับมาดูแล้วว่าใครเดินทางเองลำบากอีก ปรากฏไปเจอ อ๋อ! คนที่ไปสนามบินหอบกระเป๋าเดินทางขึ้นรถไฟลำบาก งั้นเราแตกบริการรับส่งคนไปสนามบินแล้วกัน คนที่ป่วยใช้เก้าอี้วีลแชร์ งั้นเราทำรถตู้พิเศษแล้วกันเพื่อขนส่งคนกลุ่มนี้ มันทำให้ business model ของบริษัทนี้แตกแบบสวยงามมาก โดยไม่ซ้ำกับใคร
“เกดจะได้รับคำถามหนึ่งบ่อยนะคะ คือคำว่า ‘ริเน็น’ กับ ‘อิคิไก’ เป็นอย่างไร ริเน็นแปลว่าปรัชญาองค์กร สิ่งที่องค์กรเชื่อ อิคิไกคือคุณค่าหรือความหมายของการมีชีวิตอยู่ จริง ๆ ถ้าเอาให้ง่ายที่สุด เกดคิดว่า ริเน็นมันก็คืออิคิไกนั่นแหละ แต่เป็นอิคิไกขององค์กรของบริษัทเรา เช่น ครูเป็นนักเขียน อิคิไกของครูก็คือถ่ายทอดความรู้และแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ทีนี้อิคิไกมันก็จะมีอิคิไกย่อย ๆ เช่น เราไปเดินเล่นในสวนแล้วมีความสุข เห็นนกร้องแฮปปี้ อันนั้นก็อาจจะเป็นอิคิไกเหมือนกัน เป็นความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน”
การมอง 'คุณค่า' แยกกับ 'ความหลงใหล'
เมื่อพูดถึงการให้คุณค่า การทุ่มเท หรือตั้งใจลงมือทำงานหรือทำธุรกิจอย่างเต็มที่ อาจจะชวนให้หลายคนคิดว่า งานนั้นต้องเป็นงานที่รู้สึก ‘ชอบ’ หรือ ‘หลงใหล’ เพียงเท่านั้น หากไม่มีโอกาสได้ทำงานที่ชอบ หรือได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร คงเป็นเรื่องยากที่จะมอง ‘งาน’ ในแง่มุมอื่นนอกจากการหาเงิน ซึ่งเกดได้ให้คำตอบถึงประเด็นนี้พร้อมตัวอย่างที่ฟังสนุกและเห็นภาพไม่ต่างจากตัวอักษรของเธอ
“บางท่านจะรู้สึกว่าคนญี่ปุ่นเวลาทำงานเขาดูตั้งใจจังเลย เขาได้เจองานที่เขาไม่ชอบบ้างไหม เกดเคยเห็นบทสัมภาษณ์ของผู้ชายที่ภาษาญี่ปุ่นเขาเรียกว่า ฮิคิโคโมริ คือคนที่ไม่ยอมออกไปนอกบ้าน ไม่อยากจะออกไปเจอสังคมโลกภายนอกอีก ทีนี้มีวันหนึ่งที่เขารู้สึกว่า อายุ 40 แล้ว ฉันจะมาเกาะครอบครัวกินแบบนี้ไม่ได้แล้ว จะเริ่มทำงานอะไรดี แล้วงานที่ทำงานง่ายที่สุดไม่ต้องโดนสัมภาษณ์งานเยอะก็คืองานขนส่งอาหาร เขาก็เลยไปสมัครเป็น Uber Eats
“แต่ว่าพอไปทำ หลัง ๆ เริ่มได้รับคำขอบคุณจากลูกค้า เริ่มเห็นว่าเราก็มีประโยชน์นะ แล้วมันมีประโยคหนึ่งที่เขาพูดออกมา ‘ผมรู้สึกว่าผมเป็นฮีโร่ มันจะต้องมีมนุษย์เงินเดือนที่หิวโหยอยู่ในอะพาร์ตเมนต์ แล้วผมจะเป็นฮีโร่ไปพิทักษ์ปากท้องพวกเขาเอง ไป! ไปส่ง รับออร์เดอร์ดีกว่า’ มันคือมุมมองของการเห็นคุณค่างานตัวเอง
“แต่ก่อนเขาจะทำงานแค่วันละ 4 ชั่วโมง บอกขี้เกียจตื่นแล้วพอ ทีนี้พอเขาเห็นว่าเขาไปช่วยปากท้องคน เขาทำงานได้วันละ 8 ชั่วโมง แล้วแบ่งเวลาที่เหลือไปอัด podcast ไปเล่าเรื่องใน YouTube ว่า สำหรับใครที่เป็นฮิคิโคโมริคือไม่กล้าออกไปเผชิญสังคม จริง ๆ งาน Uber Eats แบบนี้เนี่ยมันก็ดีนะ กลายเป็นคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่มีประสบการณ์คล้ายกับตัวเองเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นลองแยกความรู้สึกชอบไม่ชอบออกวางไว้แป๊บหนึ่ง ไม่ผิดที่เราจะไม่ชอบงานนะ แต่ลองกลับมาดูว่างานเราอาจจะมีคุณค่ากับใครบางคนก็ได้ค่ะ”
เกตุวดี Marumura
จากการตกหลุมรักและคลุกคลีอยู่กับ ‘ญี่ปุ่น’ มาพักใหญ่ เธอจึงเริ่มถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านี้ออกมาผ่านตัวอักษร หนึ่งในนั้นคือเพจที่หลายคนรู้จักในนาม ‘
เกตุวดี Marumura
’
“จุดเริ่มต้นที่เริ่มทำเพจ เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว คนไทยยังไม่ค่อยได้ไปญี่ปุ่นกันเยอะเท่าตอนนี้ แต่ว่าในฐานะคนที่ไปอยู่ที่นู่นมา 8 ปี เลยอยากกลับมาเล่าให้คนไทยฟัง ตอนแรกก็จะเล่าด้วยแง่มุมขำ ๆ ก่อน เช่น ห้องน้ำญี่ปุ่นกับห้องน้ำไทยต่างกันอย่างไร แต่พอเล่าไป ๆ จำได้ว่ามีวันหนึ่งที่เราไปอ่านสเตตัสเฟซบุ๊กของรุ่นน้อง เขาก็พูดเรื่องการทำกำไรเยอะ ๆ เรารู้สึกว่าเฮ้ย! you ไปอยู่ญี่ปุ่นทำไม you ยังมีแนวคิดแบบนี้ ก็เลยเขียนบทความบทหนึ่งไป เป็นเรื่องของผู้หญิงญี่ปุ่นที่สู้ทำธุรกิจเพื่อสร้างคุณค่า เพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านที่ยากจน ก็เลยเขียนแบบเต็มที่ลงไป ปรากฏว่ามียอดไลก์ ยอดแชร์บทความนั้นเยอะที่สุดกว่าโพสต์อื่น ๆ ที่เราเคยโพสต์ตลกโปกฮามาอีก
“หลังจากนั้นเหมือนเรายอมเผยความเป็นตัวเองมากขึ้น แล้วเล่าออกมา มันก็จะเจอคนที่มีความคิดคล้าย ๆ เรา หรือบางคนเป็นผู้ประกอบการที่กำลังตั้งใจทำอะไรดี ๆ เพื่อลูกค้าอยู่ เขารู้สึกว่าเขามีกำลังใจ เราก็ยิ่งมีพลังในการเล่าเรื่องแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็เลยกลายมาเป็นเพจ ‘เกตุวดี Marumura’ ที่ตอนนี้ก็นิยามไว้ว่าจะเล่าเรื่องของธุรกิจ แล้วก็การตลาดที่ดี ๆ อบอุ่นใจค่ะ
“ส่วนที่มาของชื่อ ‘เกตุวดี’ มาจากคำชื่อเล่นตัวเองว่า เกด แล้วเป็นคนที่ชอบภาษาไทย ชอบความโบราณ วัฒนธรรมไทย ก็เลยตั้งชื่อ ‘เกตุวดี’ ส่วน Marumura เป็นเว็บแรกที่เกดไปเป็นนักเขียนที่นั่น เพราะฉะนั้นไม่ว่าไปไหน ก็อยากพานามสกุลนี้ไปด้วย ก็เลยใช้ชื่อเพจว่า เกตุวดี Marumura ค่ะ”
พอ - ดี - ต่อ - ใจ
นอกจากเพจเฟซบุ๊กที่เปิดมานานหลายปีแล้ว ช่วงต้นปี 2022 เกดยังได้ทำเว็บไซต์ใหม่ที่รวบรวมแนวคิดการตลาด และการทำธุรกิจแนวคิดดี ๆ ที่ชื่อว่า ‘พอดีต่อใจ’ มาให้คนที่สนใจได้เข้าไปเรียนรู้อีกด้วย
“จุดเริ่มต้นมาจากตอนที่ลูกเพจที่เป็นผู้ประกอบการ SME บางคนเป็นเกษตรกร บางท่านเป็นผู้ประกอบการมือใหม่ ทักมาถามเสมอว่า อยากจะเริ่มทำการตลาดจังเลย จะเริ่มอย่างไรดี แล้วมันคงจะดีมากเลยค่ะถ้ามีพื้นที่ที่รวบรวมความรู้การตลาดง่าย ๆ ดี ๆ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ
“เกดเองจะเล่าเรื่องเคสต่าง ๆ เยอะมาก เล่าในเพจเฟซบุ๊ก แล้วบางทีไทม์ไลน์มันก็ไหลไปเรื่อย ๆ แล้วลูกค้า ลูกเพจอยากกลับมาหาอีกก็หาไม่เจอ เพราะฉะนั้น feature แรก ๆ ที่เกดบอก web designer ให้ช่วยออกแบบคือให้หาปุ่ม search ให้หน่อย จะได้ไปเจอบทความที่เราเคยเขียนในเว็บได้เลย
“เกดอยากให้คนมาเจอเว็บนี้ให้ได้ เพราะว่าถ้าเขาจะเริ่มทำการตลาด เริ่มทำธุรกิจ หากเขาไปเริ่มที่ mindset ที่ผิด เช่น ต้องทำกำไรให้ได้เยอะ ๆ ต้องรวยให้เร็วที่สุด เกดว่ามันจะเป็นการทำธุรกิจที่สุดท้าย ตัวเขาเองจะไม่ค่อยมีความสุข และลูกค้าจะไม่ได้มีความสุขขนาดนั้น เลยอยากให้เขามาเจอพื้นที่ตรงนี้ก่อน เลยตั้งชื่อแบบน่ารัก ๆ ว่า ‘พอดีต่อใจ’ (
https://pordeetorjai.com/
) ก็คืออะไรที่มันพอดี ๆ ไม่มากเกินไป ไม่ทำน้อยเกินไป ‘ต่อใจ’ ก็คือต่อจิตใจเรา ใจลูกค้า และคงจะดีมากถ้าเกิดเป็นใจสังคม แล้วเกดว่าถ้าเกิดมันตัดบางคำ มันก็มีคำว่า ‘พอใจ’ ในนั้น มีแต่คำที่มันน่ารัก ไม่ว่าจะสลับลำดับคำอย่างไรก็ตาม ก็เลยอยากให้เป็นพื้นที่ที่อบอุ่น ที่ต้อนรับทุก ๆ คนที่อยากจะคิดดีเข้ามาเรียนรู้ด้วยกัน
“กลุ่มเป้าหมายของเว็บไซต์ โดยหลักก็จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือว่าคนตัวเล็ก ๆ ที่อยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง แต่ไม่ได้มีทุนเยอะ ไม่ได้มีเงินจะไปจ้าง influencer เยอะ ๆ ไม่รู้จะทำการตลาดแบบหวือหวาอย่างไรก็ให้มาเริ่มที่นี่ก่อน”
เบื้องหลังความอ่านสนุก อบอุ่นหัวใจ
ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ เพจ เว็บไซต์ หรือแม้แต่บทสนทนาระหว่างสัมภาษณ์ เรื่องราวที่เกดเล่ามักจะเป็นเรื่องราวใหม่ ๆ หรือเรื่องที่เรายังไม่เคยนึกถึงมาก่อน แถมยังเล่าออกมาได้สนุกและเข้าใจง่าย ซึ่งแน่นอนว่าการทำ ‘เรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย’ นับเป็น ‘เรื่องยาก’ อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับเบื้องหลังการทำงานของเธอ
“เกดจะเป็นคนที่เวลาจะหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทไม่ว่าจะเป็นไทย ญี่ปุ่นก็จะ research หนักมาก อย่างบางเรื่องที่เขียนในเล่ม Makoto Marketing ในไฟล์ word รวมรูป รวม text แล้วมีประมาณ 70 หน้าก็มี คือหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ค่ะ เรื่อยจนเรารู้สึกว่ามันจะสัมผัสที่ใจเนอะ เราใช้ feeling ในการเขียนเยอะมากเลยว่านี่แหละอยากเล่าแล้ว โอเค เล่าเลย 70 หน้า ทีนี้บางบริษัทก็หาไปได้ 20 หน้า อยากเล่าแล้วก็จะเขียนเลย
“แล้วถ้าเกิดเป็นกรณีบริษัทไทย บางทีเราก็กลัวว่า เอ๊ะ! จะดีจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นบางที อันนี้แอบกระซิบคือไม่ได้สัมภาษณ์แค่ผู้ประกอบการอย่างเดียว แต่ไปสัมภาษณ์พนักงานด้วย แอบไปดูรีวิวใน pantip ด้วย แอบไปดูคอมเมนต์ลูกค้าด้วย เพื่อให้มั่นใจจริง ๆ ว่า เฮ้ย! บริษัทที่เราจะเล่าดีจริง ๆ ลูกค้าแฮปปี้จริง ๆ ทีนี้พอเขียน จาก 70 หน้า มันต้องตัดเหลือ 4 หน้าในกระดาษ draft มันก็ต้องมีหลาย ๆ เรื่องมากที่ต้องกลั้นใจไม่เล่า ไม่ได้ต้องห้ามเล่า เดี๋ยวคนจะยิ่งงงอะไรอย่างนี้ ก็จะเลือกมาแค่บางอย่าง… แต่ทุกอย่างอยากจะบอกว่า การเขียนมันมาจากใจจริง ๆ ว่าถ้าเกิดใจเราอิน เราเขียนอย่างมีความสุข งานเขียนมันก็จะออกมามีพลังค่ะ”
ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการทำธุรกิจ แม้จะรู้ดีว่าการทุ่มเทด้วยหัวใจจะสามารถส่งต่อไปยังหัวใจของลูกค้า ผู้อ่าน หรือผู้ใช้งานได้ในปลายทาง แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายคนอาจจะยังกังวลเรื่องผลตอบแทนหรือความคุ้มค่า เกดจึงเล่าถึงการทำหนังสือของเธอให้ฟังว่า
“บางครั้งเวลาไปสอนเรื่องการทำธุรกิจคิดดีแบบนี้ว่าเราต้องนึกถึงความสัมพันธ์ก่อน นึกถึงระยะยาว ตั้งใจทำสินค้าดี ๆ ก็จะมีหลาย ๆ ท่านที่ฟังแล้วกังวลว่า โอ๊ย! อุตส่าห์ลงทุนทำไปแล้ว ฉันจะอยู่ได้อย่างไร จริง ๆ ไม่ได้บอกว่าเราทำงานอาสาสมัครนะคะ แต่แค่บอกว่า ถ้าเราใส่ใจมากขึ้นอีกนิด บางทีมันจะทำให้เราเองสนุกขึ้นด้วย แล้วลูกค้าเองก็จะ appreciate มากขึ้นด้วย
“ยกตัวอย่างแล้วกัน คือไม่ใช่งานของเกดโดยตรง เพราะเป็นงานออกแบบของทางบริษัท the cloud ช่วยออกแบบ อย่างหนังสือเล่มนี้ (Makoto Marketing) เกดอยากเขียนให้เป็นหนังสือเรียนที่คนอ่านแล้วรู้สึกว่าได้เรียนรู้ แล้วก็ได้ทำจริง ๆ เพราะฉะนั้นเวลาเขียนก็จะมีประโยคจั่วก่อนซึ่งเป็นปัญหาทั่วไปที่ business เจอ เช่น อยากขายอะไรดี หรือต้องเขียนคำโฆษณาว่าอย่างไร ก็เริ่มจั่วจากคำถามก่อน แล้วก็จะมีเคสเล่า มี
excercise
ให้ แล้วก็มีเฉลยให้ด้วยนะ แล้วท้ายที่สุดของเล่มก็จะมีข้อสอบเหมือน final ที่ว่า ถ้าเกิดคุณตอบคำถามทั้งหมด 17 - 18 ข้อในหนังสือได้เนี่ย ไปเขียนแผนธุรกิจได้เลย คุณจะเคลียร์มาก
“ทีนี้คนออกแบบเขาก็ตีโจทย์ Makoto ก็คือความจริงใจ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า กระดาษเนี่ยมันจะเป็นรอย ๆ ถ้าถอดปกออกมาแล้วพับตามรอยอย่างถูกต้อง จะพับเป็นรูปหัวใจได้นะคะ แล้วก็บทคั่นหนังสือแต่ละบทมันก็จะมีหน้าคั่นอยู่ กระดาษที่ใช้จะแตกต่างกับกระดาษที่เราอ่านในบทอื่น ๆ ตรงนี้เขาอยากให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเปิดห่อของขวัญ คล้าย ๆ กระดาษห่อของขวัญที่พอเปิดไปปุ๊บ เอ๊ะ! เห็นลายนี้ เป็นเหมือนดอกไม้ไฟเลย อ๊ะ! เป็นบทเกี่ยวกับเทศกาลงานญี่ปุ่น
“แล้วทุก ๆ ครั้งพออ่านจบ 1 บท ก็จะมีกระดาษพักตา แล้วตรงนี้คนชมเยอะมาก บอกว่าลายสวยดีนะคะ ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่จะขายหนังสือตัวเอง แต่จะบอกว่า คนเขียนตั้งใจเขียน คนออกแบบตั้งใจออกแบบค่ะ แล้วหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เกดแทบไม่ได้ยิง ad โฆษณาเลย แล้วก็ไม่ค่อยได้โปรโมตด้วยซ้ำ แต่มีหลาย ๆ ท่านที่อ่านแล้วก็แบบติดอันดับหนังสือแนะนำ Top 10 Top 100 หลาย ๆ เจ้ามาก ๆ
“แล้วก็อย่างของ kinokuniya เกดว่าขึ้นที่ 1 ประมาณ 2 เดือนนะคะ ซึ่งถือว่ายาวมาก ๆ เลยสำหรับหนังสือการตลาดเล่มเล็ก ๆ นี้ เพราะฉะนั้นถึงบอกว่าจากประสบการณ์ตัวเองก็พิสูจน์แล้วว่า ถ้าเราตั้งใจทำสินค้า เกดอยากให้คนอ่านได้จริง ๆ ทีมงานก็อยากให้คนอ่านแฮปปี้จริง ๆ เวลาพลิกอ่านหนังสือ ผลลัพธ์ที่ได้มันเกินกว่าที่เราคิด ก็คือลูกค้าบอกต่อกัน แล้วเขาก็ไปช่วยเราโฆษณาต่าง ๆ นานา แล้วความดีใจของเกดไม่ใช่ว่ายอดขายได้เยอะ ได้เงิน รวย อันนั้นก็ดีใจนะคะ แต่ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ดีใจคือ เราได้ทำอะไรดี ๆ แล้วคนได้เอาความรู้ดี ๆ ไปใช้ต่อ มันก็ยิ่งมีความสุข”
'ริเน็น' ในแบบฉบับดร.กฤตินี
หลังจากพูดคุยถึงริเน็นของหลายองค์กรในญี่ปุ่น เราจึงอยากถามคำถามเดียวกันนี้ว่า ‘ริเน็น’ ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นเพจหรือเว็บไซต์ใหม่อย่าง ‘พอดีต่อใจ’ สำหรับเธอเป็นอย่างไร
“ริเน็นของ ‘พอดีต่อใจ’ (
https://pordeetorjai.com/
) หรือว่าริเน็นของ เกตุวดี Marumura มันกลับมาที่ประโยคเดียวเลยก็คือ อยากจะเป็นพื้นที่ที่สร้างแนวคิดที่ดี แล้วก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทำธุรกิจที่คิดดี เป็นพื้นที่ที่ให้กำลังใจคนที่ทำธุรกิจที่คิดดี
“พอทำเพจไปเริ่มมีคนที่เขียนทักมาว่า ดีใจจังเลยที่มีคนเข้าใจเรา ดีใจจังเลยที่เรามาถูกทาง คำนี้ได้ยินบ่อยมากเลย แล้วเกดรู้สึกว่าคนที่ตั้งใจทำธุรกิจทำดี ไม่ค่อยมีใครพูดถึงเยอะ หรือว่าทุกคนไปชื่นชมเขาในแง่ผลประกอบการหมด แต่จริง ๆ เขาดีใจนะที่เขาทำอะไรดี ๆ ตั้งใจทำเพื่อผู้อื่น สิ่งที่เกดทำ content ทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นงานสอน งานบรรยาย งานเขียน ก็เลยอยากจะเป็นพื้นที่ที่ support คนกลุ่มนี้แหละค่ะ ให้เขายิ่งมีไอเดียมากขึ้น แล้วก็ทำดียิ่ง ๆ ขึ้นไป นั่นคือริเน็นของความเป็น พอดีต่อใจ ค่ะ
“ในฐานะคนที่ตั้งใจจะเผยแพร่แนวคิดธุรกิจคิดดีแบบนี้ จำได้ว่า ถ้าพูดประมาณช่วง 7 - 8 ปีที่แล้วจะไม่ค่อยมีใครสนใจเรื่องนี้เท่าไร …บางทีบรรยายเสร็จปั๊บ ก็บอก ญี่ปุ่นทำได้นี่ แต่เมืองไทยทำไม่ได้ แล้วเราก็จะหัวใจปวดร้าวกลับบ้านไป เรารู้สึกว่า ทำไมไม่มีใครเข้าใจฉัน
“แต่ก็จะมีคอมเมนต์ลูกเพจบางท่านที่บอก เอ้ย! นี่แหละเราอิน เราชอบมาก มันคือสิ่งที่เราทำอยู่ ก็เลยมีกำลังใจในการพูดเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ จนตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์เองก็กำหนดบริษัทที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นบริษัทที่ทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อม มี CSR มีกิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อสังคม เลยรู้สึกว่ายุคของเรากำลังมาแล้วที่เราพยายามพูดมาตลอด 7 ปี 8 ปี มันกำลังจะเกิดขึ้นจริงแล้ว
“เรารู้สึกว่าถ้าเกิดใครทำอะไรที่ตอนนี้ยังไม่มีใครสนใจ หรือว่ามีคนต่อต้านเราเยอะ ให้ลองกลับมาถามตัวเอง คือฟังเขานะคะ แต่กลับมาดูสิ่งที่เราทำมีประโยชน์จริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริง อดทนค่ะ ตั้งใจทำต่อไป และเกดเชื่อว่ามันจะค่อย ๆ แตกหน่อผลิบานออกมาเองค่ะ”
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Business
The People
พอดีต่อใจ
เกตุวดี Marumura
Pordeetorjai