วลาดิสลาฟ สปิลมัน: The Pianist ตัวจริงผู้หนีรอดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

วลาดิสลาฟ สปิลมัน: The Pianist ตัวจริงผู้หนีรอดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ปี 2002 นักแสดงหนุ่ม-เอเดรียน โบรดี ได้รับรางวัล ‘ออสการ์’ สาขานักแสดงชายยอดเยี่ยมด้วยอายุเพียง 29 ปี จากภาพยนตร์เรื่อง The Pianist นั่นทำให้เขาขึ้นแท่นเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์ที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ บทบาทที่เขาได้รับ กว่าจะกรุยทางไปสู่เกียรติยศบนเวทีดังกล่าวนี้ เขา ‘เคี่ยว’ กับการทำการบ้านทางการแสดงระดับไหน โบรดีเล่าว่าเขาลงทุนขายอะพาร์ตเมนต์และรถยนต์ส่วนตัว ตัดขาดการติดต่อจากภายนอก และเลิกกับแฟน เพื่อให้เข้าถึงบทนักเปียโนชาวยิวที่ต้องเอาตัวรอดอย่างโดดเดี่ยวและสูญเสียทุกอย่างไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเปียโนดังกล่าวมีชื่อว่า…วลาดิสลาฟ สปิลมัน นี่คือเรื่องราวของ ‘วลาดิสลาฟ สปิลมัน’ ที่เอเดรียน โบรดีสวมหัวใจรับบทจนทำให้ภาพยนตร์ The Pianist (2002) กลายเป็นภาพยนตร์ชั้นดีว่าด้วยสงครามโลกครั้งที่ 2 เรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์แผ่นฟิล์มโลก วลาดิสลาฟ สปิลมัน (Władysław Szpilman) คือยอดนักดนตรีชาวโปแลนด์เชื้อสายยิว ผู้เอาชีวิตรอดจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีมาได้อย่างทรหด ในช่วงที่กรุงวอร์ซอว์กำลังพังพินาศ เขาต้องใช้ชีวิตอย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ท่ามกลางซากปรักหักพัง วลาดิสลาฟ หรือที่คนใกล้ตัวเขาเรียกกันว่า ‘วลาเดค’ เกิดปี 1911 ในครอบครัวที่ชื่นชอบดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ แม่ของเขาเริ่มสอนให้วลาเดคเล่นเปียโนตั้งแต่ยังเด็ก ในขณะที่พ่อของเขาเล่นไวโอลินคลอไปด้วย ความรักด้านดนตรีทำให้วลาเดคหันไปเรียนต่อด้านดนตรีที่โรงเรียนดนตรีแห่งหนึ่งในกรุงวอร์ซอว์ตั้งแต่ปี 1926 - 1930 ในขณะที่เด็กส่วนใหญ่กำลังเรียนชั้นมัธยมปลายเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนสอนดนตรี เขาก็ไปศึกษาต่อด้านดนตรีที่สถาบันศิลปะแห่งกรุงเบอร์ลิน (Academy of Arts) ถึงปี 1933 แต่ต้องกลับไปโปแลนด์เนื่องจากแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาลนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ขึ้นมากุมอำนาจรัฐบาลในปีเดียวกัน และเริ่มดำเนินนโยบายต่อต้านชาวยิว วลาเดคเรียนต่อด้านดนตรีในโปแลนด์จนถึงปี 1935 จากนั้นก็ทำงานในฐานะนักดนตรีคลาสสิกและแจ๊ซประจำสถานีวิทยุของรัฐบาลโปแลนด์จนถึงปี 1939 ซึ่งเป็นปีที่นาซีเยอรมนีบุกโปแลนด์ สถานีวิทยุโปแลนด์ถูกสั่งปิด แต่ก่อนสถานีจะปิดตัวลง เขาก็ได้บรรเลง Nocturne ic(in) C-sharp minor ของโชแปงเป็นเพลงสุดท้ายให้ผู้ฟังเป็นการอำลา เมื่อไม่มีงานเป็นหลักแหล่ง ครอบครัวของเขาที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ น้องชาย 1 คน กับน้องสาวอีก 2 คน จึงต้องใช้เงินเก็บที่เหลืออยู่ประทังชีวิต น้องสาวของวลาเดคที่เป็นนักกฎหมายไม่สามารถหางานทำได้ ส่วนน้องชายก็พยายามเร่ขายหนังสือ วลาเดคมีเงินเก็บในธนาคารอยู่ราว 25,000 ชโลทิส (สกุลเงินโปแลนด์สมัยนั้น) ซึ่งสามารถซื้อบ้านหรือสร้างบ้านหลังหนึ่งได้ แต่ด้วยความกลัวจะเป็นที่สังเกตของพวกเยอรมัน เขาจึงเลือกเบิกเงินมาเพียง 500 ชโลทิสเพื่อมาใช้จ่ายในบ้านเท่านั้น แต่ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่นาซีก็เข้าไปตรวจค้นข้อมูลของบัญชีชาวยิวในธนาคาร และเงินที่เหลือของวลาเดคกับชาวยิวอีกนับไม่ถ้วนก็ถูกยึดไปโดยพวกนาซีจนเกลี้ยงบัญชี ต่อมาได้มีประกาศให้บ้านของชาวยิวมีเงินเก็บไม่เกิน 2,000 ชโลทิส ทั้งครอบครัวซึ่งมีเงินเก็บเหลืออยู่ราว 5,000 ชโลทิสจึงต้องซ่อนเงินบางส่วนไว้ในไวโอลินของพ่อกับในขาโต๊ะ และซ่อนทรัพย์สินมีค่าอย่างนาฬิกาพกพาไว้ในกระถางต้นไม้ ในปีต่อมา พวกนาซีได้มีคำสั่งให้ชาวยิวทั้งหมดในกรุงวอร์ซอว์ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในเขตเกตโต (Warsaw Ghetto) ซึ่งเป็นพื้นที่ถูกล้อมรอบด้วยกำแพงขนาด 3 - 4 ตารางกิโลเมตร แต่ภายในกลับจุชาวยิวมากกว่า 4 แสนชีวิตที่ต้องอยู่กันอย่างแออัด สุขอนามัยในเกตโตนั้นย่ำแย่ และมักเกิดการขาดแคลนอาหารบ่อยครั้งจนมีคนล้มตายกลางทางเดินเป็นเรื่องปกติ วลาเดคได้งานเป็นนักเปียโนในคาเฟ่แห่งหนึ่ง ส่วนน้องชายของเขาเร่ขายหนังสือตามข้างทางแลกกับเศษเงิน แต่น้องชายของเขาก็มักเข้าไปข้องเกี่ยวกับกลุ่มต่อต้านนาซีภายในเกตโต และถูกจับตัวไปวันหนึ่ง ซึ่งวลาเดคก็ต้องใช้เส้นสายช่วยตัวน้องชายออกมาจนได้ ในปี 1942 เริ่มมีคำสั่งประกาศให้ทยอยขนตัวชาวยิวออกไปด้วยรถไฟเป็นระยะ ซึ่งพวกเขาเพียงแต่ทราบว่าจะถูกส่งตัวไปทำงานเท่านั้น แท้จริงแล้วขบวนรถไฟเหล่านั้นกลับมุ่งตรงไปค่ายมรณะต่าง ๆ ที่กระจายกันทั่วยุโรป และแล้วก็ถึงคิวของครอบครัววลาเดค การเล่นเปียโนกลายเป็นสิ่งที่ช่วยให้เขารอดชีวิตมาได้อย่างหวุดหวิด ในขณะที่วลาเดคและครอบครัวกำลังถูกต้อนแถวเพื่อขึ้นรถไฟไปค่ายมรณะทรีบลิงกา(แตรบลิงกา) (Treblinka) ตำรวจยิวนายหนึ่งที่ทำหน้าที่ต้อนชาวยิวด้วยกันขึ้นรถไฟก็จำวลาเดคได้จากผลงานที่ผ่านมา และใช้โอกาสที่ทหารเยอรมันกำลังหันไปทางอื่นรีบฉุดเขาออกมาจากแถวอย่างรวดเร็วแล้วสั่งให้เขาหนีไป ในขณะที่ครอบครัวของเขากำลังดาหน้าไปขึ้นรถไฟ ซึ่งพวกเขาจะไม่ได้พบหน้ากันอีกเลย “ผมยังรู้สึกผิดถึงทุกวันนี้ ที่ผมรอดมาได้ในขณะที่ทุกคนในครอบครัวถูกฆ่าหมด” วลาเดคเล่า “ผมไม่เหลืออะไรเลยนอกจากเสื้อผ้าที่ใส่อยู่” วลาเดคหนีออกมาได้และกลับไปใช้แรงงานก่อสร้างเสมือนทาสในเกตโตต่อ แต่ขณะเดียวกันก็ได้รับมอบหมายให้ออกไปทำงานก่อสร้างข้างนอกเกตโต เขาจึงมีโอกาสแอบช่วยกลุ่มต่อต้านใต้ดินลักลอบขนอาวุธเข้ามาในเกตโตไปด้วย ในต้นปี 1943 เขาสบโอกาสหนีออกมาจากเกตโตได้ และด้วยความช่วยเหลือจากอดีตเพื่อนร่วมงาน จึงไปอาศัยในอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งอย่างลับ ๆ นับว่าโชคดีที่ไม่กี่เดือนต่อมา พวกนาซีก็ต้อนประชากรในเกตโตออกจนเกือบหมด ส่วนคนยิวกลุ่มต่อต้านที่เหลือก็เปิดฉากโจมตีทหารเยอรมันในบริเวณนั้นทันทีในเหตุการณ์ที่รู้จักกันว่า ‘การลุกฮือของเกตโตวอร์ซอว์’ (Warsaw Ghetto Uprising) แต่สุดท้ายจำนวนชาวยิวที่น้อยกว่าทหารเยอรมันหลายเท่า อาวุธและยุทโธปกรณ์ที่มีจำนวนจำกัด ทำให้พวกเขาถูกปราบปรามจนหมด และเกตโตแห่งวอร์ซอว์ก็ถูกทำลายทิ้งโดยพวกนาซีหลังจากนั้น ระหว่างนี้วลาเดคเองก็เกือบถูกจับตัวได้หลายครั้งจนต้องย้ายที่พำนักครั้งแล้วครั้งเล่าด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนฝูง และเมื่อชาวโปแลนด์ในวอร์ซอว์ลุกฮือต่อต้านกองทัพเยอรมันในปลายปี 1944 เขาก็วิ่งหลบไปตามอาคารต่าง ๆ และเกือบถูกทหารนาซียิงอยู่หลายครั้ง การต่อสู้ในเมืองเป็นไปอย่างรุนแรงและโหดร้าย พลเรือนชาวโปแลนด์ถูกสังหารหมู่ไปหลายหมื่นชีวิต และกลุ่มต่อต้านนี้ก็มีชะตากรรมเดียวกับชาวยิวที่เคยลุกฮือขึ้นเมื่อปีก่อน แม้ว่าพวกเขาจะมีจำนวนใกล้เคียงกับทหารเยอรมันที่ประจำการในเมืองก็ตาม ทหารเยอรมันได้วางระเบิดและเผาทำลายกรุงวอร์ซอว์จนราบเป็นหน้ากลอง วลาเดคต้องหนีไปกบดานในห้องใต้หลังคาของอาคารร้างแห่งหนึ่งอย่างเงียบ ๆ ในขณะที่กรุงวอร์ซอว์กลายเป็นซากเมืองร้างที่แทบไม่เหลือร่องรอยของผู้คนอีกแล้ว ช่วงต้นปี 1945 ขณะที่เขากำลังค้นหาอาหารประทังชีวิตในบ้านร้าง ก็มีนายทหารเยอรมันผู้หนึ่งมาพบเขาในสภาพที่ผมยาวและหนวดเครารุงรัง นับว่าโชคดีที่นายทหารผู้นี้กลับมีท่าทีเป็นมิตรและถามไถ่เกี่ยวกับตัววลาเดคจนได้รู้ว่าเขาเป็นนักเปียโน “เล่นเพลงให้ผมฟังหน่อยสิ ถ้ามีใครเข้ามาเดี๋ยวผมจะไปนั่งตรงเปียโนแทน ส่วนคุณวิ่งไปหลบอีกห้องนะ” นายทหารผู้นี้กล่าว วลาเดคจึงเล่นเพลง Nocturne ของโชแปงที่เขาชื่นชอบให้นายทหารเยอรมันฟัง เมื่อเล่นจบทหารคนนี้ก็ขอไปดูที่หลบซ่อนใต้หลังคาของวลาเดคและแนะนำให้เขาดึงบันไดพาดขึ้นไปด้วยเพื่อไม่ให้มีคนขึ้นมา เขายังเผยว่าตนกำลังมาลาดเลาพื้นที่เพื่อใช้เป็นศูนย์บัญชาการชั่วคราว และวลาเดคต้องหลบตัวให้ดีระหว่างนี้ ตั้งแต่นั้นมา นายทหารเยอรมันผู้นี้ก็หาโอกาสนำอาหารและผ้าห่มมาให้วลาเดคอยู่เสมอ “ถ้าคุณยังเชื่อในพระเจ้าก็ขอให้ภาวนาไว้ อีกแค่สองสามสัปดาห์พวกเราก็จะไปจากที่นี่แล้ว เรากำลังแพ้สงคราม” นายทหารผู้นี้กล่าว “ผมรู้สึกละอายใจกับสิ่งที่พวกเราทำลงไป” และคำพูดของนายทหารผู้นี้ก็เป็นจริง ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ทหารเยอรมันก็ถอนกำลังไปจากพื้นที่หมด นายทหารเยอรมันได้นำอาหารมาให้เป็นครั้งสุดท้ายและมอบเสื้อโค้ตให้ก่อนจากไป ไม่กี่วันต่อมา กองกำลังโปแลนด์ที่สังกัดกองทัพแดงก็เข้ามาในพื้นที่ วลาเดคที่ได้ยินเสียงคนพูดภาษาโปแลนด์จึงรีบออกมาดูทั้ง ๆ ที่ยังใส่เสื้อโค้ตของนายทหารเยอรมันอยู่ และเมื่อเห็นทหารเขาก็เข้าไปจะทักทายทันที แต่ทหารกลับเข้าใจผิดคิดว่าเขาเป็นทหารเยอรมันที่หลบซ่อนอยู่จึงไล่ยิงวลาเดค เขาวิ่งหนีกลับเข้าบ้าน ส่วนพวกทหารก็วิ่งไล่ตามและโยนระเบิดใส่บ้านจนดังสนั่นหวั่นไหว วลาเดคจึงรีบตะโกนบอกทหารว่าเขาเป็นคนโปแลนด์ พวกทหารจึงสั่งให้เขาลงมาข้างล่างแล้วถามว่าทำงานอะไร วลาเดคจึงตอบไปว่าเขาเคยทำงานในสถานีวิทยุโปแลนด์ ทหารจึงซักต่อว่าใครเป็นผู้ประกาศเวลาไหนบ้าง และมีรายการอะไร วลาเดคที่คุ้นเคยกับทุกคนในสถานีวิทยุจึงไล่ชื่อของผู้ประกาศแต่ละคน พวกทหารจึงปล่อยเขาไปในที่สุด หลังสงครามสงบในปี 1945 วลาเดคกลับไปทำงานในสถานีวิทยุโปแลนด์ที่ตั้งขึ้นใหม่ และได้เลื่อนขั้นเป็นผู้อำนวยการด้านดนตรีประจำสถานีวิทยุในปีเดียวกัน ตลอดทั้งชีวิต วลาเดคได้ประพันธ์ผลงานมากกว่า 500 ชิ้น และผลงานราว 150 ชิ้นได้ติดชาร์ตเป็นเพลงฮิตของยุค และออกแสดงคอนเสิร์ตแบบโซโล่หลายครั้งในยุโรป ในปีต่อมา เขานำประสบการณ์เอาชีวิตรอดในช่วงสงครามมารวบรวมเป็นหนึ่งสือชื่อ ‘Death of a City 1939 - 1945’ ซึ่งกลายเป็นหนังสือขายดีในโปแลนด์ ต่อมาถูกตีพิมพ์อีกครั้งในปี 1998 ในชื่อใหม่ว่า ‘The Pianist แม้จะผ่านไปหลายปี แต่เขายังไม่ลืมความเมตตาของนายทหารเยอรมันที่เคยช่วยชีวิต วลาเดคพยายามสืบหาตัวนายทหารคนนี้อยู่หลายปี และพบว่านายทหารคนดังกล่าวชื่อว่า วิล์ม โฮเซนเฟลด์ (Wilm Hosenfeld) ซึ่งตกเป็นเชลยของโซเวียต และได้รับโทษไปใช้แรงงานในไซบีเรียเป็นเวลา 25 ปี

วลาดิสลาฟ สปิลมัน: The Pianist ตัวจริงผู้หนีรอดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ผู้กอง วิล์ม โฮเซนเฟลด์ ผู้ช่วยชีวิตสปิลมัน

เขาพยายามใช้เส้นสายกับตำรวจลับโปแลนด์เพื่อประสานงานไปยังรัฐบาลโซเวียตเพื่อให้ปล่อยตัวโฮเซนเฟลด์ออกมา เขายังพบว่าโฮเซนเฟลด์เคยช่วยเหลือชาวโปแลนด์และชาวยิวอีกจำนวนมาก แม้จะรวบรวมรายชื่อบุคคลที่โฮเซนเฟลด์เคยช่วยเหลือมามาก แต่ก็ไร้ผล เจ้าหน้าที่โปแลนด์กล่าวว่าพวกเขาไม่มีอำนาจพอจะปล่อยตัวนักโทษในรัสเซียได้ และโฮเซนเฟลด์ก็เสียชีวิตในค่ายเชลยศึกในปี 1952 ส่วนวลาเดคยังคงติดต่อกับครอบครัวของนายทหารผู้นี้มาตลอด

วลาดิสลาฟ สปิลมัน เสียชีวิตในปี 2000 ด้วยอายุ 88 ปี ที่กรุงวอร์ซอว์ ปัจจุบันที่หลุมฝังศพของเขายังคงมีป้ายจารึกทั้งภาษาโปแลนด์และภาษาอังกฤษ และบทเพลงของเขายังคงเป็นผลงานคลาสสิกของโปแลนด์มาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนหนังสือฉบับตีพิมพ์ใหม่ของเขา ‘The Pianist’ ถูกหยิบไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โดยผู้กำกับชาวฝรั่งเศส โรมัน โปลันสกี (Roman Polanski) ในปี 2002 โดยมีนักแสดงชาวอเมริกัน เอเดรียน โบรดี เป็นผู้รับบทของวลาดิสลาฟ สปิลมัน และเขาได้กวาดรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมหลายสถาบันจากผลงานครั้งนี้ ในปี 2011 หนึ่งในสถานีวิทยุอันดับต้นของโปแลนด์ Polish Radio ได้ตั้งชื่อสตูดิโอหมายเลขหนึ่งว่า วลาดิสลาฟ สปิลมัน เพื่อเป็นเกียรติแก่นักดนตรีผู้ล่วงลับที่มีพรสวรรค์ผู้นี้ เรื่อง: อันโตนิโอ โฉมชา ที่มาภาพ: Britannica.com, Wikimedia, Imdb.com อ้างอิง: http://www.szpilman.net/framehosenfeld.html https://culture.pl/en/artist/wladyslaw-szpilman https://allthatsinteresting.com/wladyslaw-szpilman https://www.youtube.com/watch?v=AOv36KgX4_Y https://www.dailysabah.com/.../valuable-belongings-of... .