Tencent vs Alibaba vs Baidu: ศึกวันดวลอั่งเปาดิจิทัล
ตรุษจีนทั้งที ไม่ว่าจะคนไทยเชื้อสายจีนหรือจะเชื้อสายไหน ใคร ๆ ก็อยากได้ ‘อั่งเปา’ หรือ ‘หงเปา’ ที่เป็นเจ้าซองสีแดง ๆ กันทั้งนั้นแหละ
เพราะนอกจากจะเป็นซองสีแดงตามชื่อแล้ว ข้างในนั้นยังบรรจุไปด้วยบรรดาเงินแบงก์ร้อยสีแดงที่ใส่มาเป็นเลขคู่ เพื่อความเป็นสิริมงคลอีกด้วย
แต่ในยุคดิจิทัลที่เริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเข้าไปทุกที การให้อั่งเปาแบบเดิม ๆ อย่างการใส่ซองอาจจะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากไปเสียแล้ว
ดังนั้นเจ้าแห่งนวัตกรรมอย่างประเทศจีน ที่เป็นจุดเริ่มต้นของอั่งเปาด้วยแล้ว จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมาตอบสนองการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมแบบเดิมอยู่
‘อั่งเปาแบบดิจิทัล’ กลายเป็นผลงานอันภาคภูมิใจที่ทำให้การใช้ชีวิตของคนจีนกับวัฒนธรรมการให้อั่งเปาสามารถไปด้วยกันได้อีกครั้ง
โดยผู้ที่กระโดดลงมาเล่นในตลาดของอั่งเปาแบบดิจิทัลก็ไม่ได้มีเพียงเจ้าเดียว แต่เป็น 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศจีน ที่ใครต่อใครต่างรู้จักกันดี
Tencent ครั้งแรกกับอั่งเปาดิจิทัล
ถึงแม้ไทยจะเพิ่งเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่สำหรับประเทศจีน เรียกได้ว่าการผลักดันให้ประเทศกลายเป็นสังคมไร้เงินสดนั้นประสบผลสำเร็จมากมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นแผ่นป้ายคิวอาร์โค้ดสำหรับจ่ายเงินออนไลน์ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้ตลาดสด
และการเข้ามาของสังคมไร้เงินสดนี่เอง ที่ทำให้เหล่าบริษัททั้งหลายเริ่มมองหาสิ่งจูงใจที่จะทำให้ผู้คนหันมาใช้งานแพลตฟอร์มของตัวเอง
และแล้วในปี 2014 Tencent ก็ได้ประกาศเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่บนแอปพลิเคชัน WeChat ที่แต่เดิมมี WeChat Wallet ที่ช่วยให้การใช้จ่ายสะดวกสบายขึ้น
‘Lucky Money’ เป็นฟีเจอร์ที่จะเชื่อมโยงบัตรเดบิตของผู้ใช้ไว้กับ WeChat Wallet และสามารถส่งอั่งเปาให้กับเพื่อนในกลุ่มการสนทนาของคุณได้
และสิ่งที่น่าสนใจคือจำนวนเงินที่คุณใส่ไว้ข้างในอั่งเปาจะถูกสุ่มให้คนในกลุ่มในจำนวนที่แตกต่างกัน กลายเป็นการเสี่ยงโชคอย่างหนึ่งที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก
ส่งผลให้มีผู้ใช้งานมากกว่า 5 ล้านคนที่ใช้ฟีเจอร์นี้ในการส่งอั่งเปาดิจิทัลมากถึง 20 ล้านครั้ง ในช่วง 2 วันแรกของวันหยุดตรุษจีนในปี 2014
Alibaba เริ่มต้นสงคราม
และก็เป็นไปอย่างไม่ผิดคาด เมื่อ ‘Lucky Money’ ของทาง Tencent ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายบริษัทหันมาสนใจในกลยุทธ์ดังกล่าว และ Alibaba ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ในปี 2015 ผ่านมาไม่ถึงปี Alibaba ก็ได้กระโดดเข้าร่วมในตลาดอั่งเปาดิจิทัลอย่างเต็มตัว ด้วยการเปิดตัวแคมเปญ ‘2015 Let Hongbao Fly’ ซึ่งเป็นแคมเปญโซเชียลออนไลน์และออฟไลน์ที่มุ่งส่งเสริมให้ผู้ใช้หันมาใช้ Alipay แทนการใช้ WeChat แบบเดิม ๆ ผ่านข้อเสนอการให้อั่งเปาและของรางวัลสำหรับคนที่ย้ายแพลตฟอร์ม เพื่อหวังแย่งกลุ่มผู้ใช้บริการมาจาก Tencent
แต่ Alibaba ก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากในแคมเปญนี้ไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้เท่าที่ควร เนื่องจากก่อนหน้าที่ Alibaba จะเปิดตัวแคมเปญนี้ขึ้น Tencent ได้ทำข้อตกลงกับทางช่องโทรทัศน์ CCTV (China Central Television) เพื่อส่งอั่งเปาดิจิทัลให้กับผู้ที่รับชมช่องดังกล่าวในระหว่างการออกอากาศของ Spring Festival Gala ซึ่งเป็นรายการที่มีผู้ชมมากที่สุดของปี
ทำให้ WeChat ได้ส่งอั่งเปาดิจิทัลออกไปมากถึง 120 ล้านซองระหว่างการโปรโมต และมากถึง 1 พันล้านซองในวันส่งท้ายปีเก่า เรียกได้ว่าปิดจบปีไปได้อย่างสวยงาม
Baibu ขอร่วมด้วย
หลังจากที่ Tencent และ Alibaba ลงมาสู่สงครามอั่งเปาดิจิทัลอย่างเต็มตัว ในที่สุดก็ถึงคราวของ Baibu เสียที
หลังจากที่ได้ทำการเปิดตัว Baidu Wallet แพลตฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ ในเดือนเมษายน 2014 มาสักพักใหญ่ ๆ ผ่านมา 2 ปี Baibu ก็ตัดสินใจเข้าสู่สงครามอั่งเปาดิจิทัลอย่างเต็มตัว
โดย Baibu บุกเข้าไปในพื้นที่อั่งเปาดิจิทัลก่อนวันตรุษจีนในปี 2016 โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการรับรู้ของแบรนด์และเชิญชวนให้ผู้คนหันมาใช้ Baidu Wallet กันมากขึ้น
โดยมีการอ้างจากทางบริษัทว่าในปีนั้น มีผู้ใช้ส่งอั่งเปาดิจิทัลมากถึง 4.2 พันล้านซอง มีมูลค่ารวม 300 ล้านหยวน (1.5 พันล้านบาท)
แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีจากการปะทะกันในครั้งแรก แต่การแข่งขันในอุตสาหกรรมอั่งเปาดิจิทัลก็ยังคงดำเนินต่อไป และดูเหมือนจะเพิ่มผู้เล่นมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้ใช้งานเลือกใช้บริการของตนแทนเจ้าอื่น
แต่ไม่ว่าจะเป็นสงครามแบบไหน ในแง่ของผู้ใช้ก็ถือได้ว่าเป็นผลดีทั้งนั้น เพราะนอกจากจะมีตัวเลือกแพลตฟอร์มให้เลือกใช้ตรงกับความต้องการและสร้างความสะดวกสบายให้มากขึ้นแล้ว ยังสามารถให้อั่งเปาผู้คนได้ง่าย ๆ ผ่านเพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสเท่านั้น
ส่วนในประเทศไทยในปัจจุบันก็มีอยู่หลากหลายเจ้าที่ออกมาทำฟีเจอร์อั่งเปาดิจิทัลนี้ด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่าตรุษจีนปีนี้บอกลาซองแดงของจริง แล้วหันมาส่งซองแดงดิจิทัลเพื่อความสะดวกรวดเร็ว แถมไม่ต้องเสี่ยงกับการเผชิญหน้ากับโรคโควิด-19 กันเถอะ
อ้างอิง: https://www.sekkeistudio.com/blog/digital-hongbao-war-china/