01 ก.พ. 2565 | 18:51 น.
‘Weaving the Ocean’ เป็นโครงการที่ริเริ่มโดย อาริ บายูอาจิ ศิลปินที่แบ่งเวลาพำนักระหว่างประเทศ แคนาดาและอินโดนีเซีย เมื่อช่วงเวลาที่โรคระบาดเริ่มแพร่ขยายไปทั่วโลก ทำให้การเดินทางข้าม พรมแดนหยุดชะงักลง อาริได้ใช้เวลาหลายเดือนบนเกาะบาหลี เฝ้ามองดูชายหาดที่ได้รับผลกระทบ ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเต็มไปด้วยมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จนเกิดเป็นผลงานศิลปะสิ่งทอ ที่สร้างสรรค์จากขยะพลาสติก ด้วยความร่วมมือจากช่างฝีมือท้องถิ่นในบาหลี
โครงการ ‘Weaving the Ocean’ พูดถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัญหาเร่งด่วน หยิบเอาปัญหา มลพิษทางทะเล การรุกรานถิ่นอาศัยสัตว์ทะเล และการทำลายสภาพแวดล้อมอันสวยงามของชายหาดบาหลี มาบอกเล่าอย่างประนีประนอมโดยใช้แนวคิดจากมุมมองด้านบวกแทนด้านลบ แนวคิดนี้สอดคล้อง กับลักษณะพื้นฐานทางสังคมและหลักปรัชญาตามความเชื่อของชาวบาหลีในการรักษาสมดุลของพลังแห่งจักรวาล โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว ซึ่งนอกจากจะแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหา ของชุมชนอย่างมีไหวพริบแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพต่อประเพณีการทอผ้าอันล้ำค่าของชาวอินโดนีเซียและบทบาทของท้องทะเลที่เป็นศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมบาหลี
อาริเริ่มหันมาสนใจปัญหาเรื่องขยะพลาสติกในช่วงปี 2558 ตอนที่เขาถ่ายภาพต้นโกงกางที่ถูกปกคลุม ไปด้วยขยะพลาสติก ในระหว่างที่พักอยู่ในบาหลีนั้น เขามักจะเห็นขดเชือกพลาสติกหลากสีพันอยู่กับ พืชพันธุ์ต่างๆ ตามชายหาด ถูกคลื่นซัดขึ้นมาตามชายฝั่งบ้าง หรือติดมากับวัตถุต่างๆ บ้าง แม้กระทั่ง ติดมากับสัตว์ทะเลและปะการัง เชือกพลาสติกที่ใช้กับแหอวนจับปลาเหล่านี้มักจะถูกคลื่นซัดขึ้นมา ตามชายฝั่งทะเลเป็นจำนวนมหาศาล
ศิลปินรวบรวมช่างฝืมือและชาวท้องถิ่นที่ไม่มีงานทำในช่วงโรคระบาดมาเข้าร่วมในโครงการ โดยเริ่มจาก การเก็บเศษเชือกจากชายหาด นำมาคลายออกอย่างพิถีพิถัน เปลี่ยนเศษขยะที่ไม่น่ามองนี้ให้กลายเป็นวัสดุชั้นดีสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ เกิดเป็นผลงานสิ่งทอที่แสดงความยกย่องต่องานฝีมือตามประเพณี และสะท้อนถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางทะเลไปในเวลาเดียวกัน
ศิลปะของอาริมักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เขาได้พบเจอ นิทรรศการ ‘Weaving the Ocean’ ก็เป็นอีกผลงานที่แสดงความเคารพต่อความเชื่อตามแบบวัฒนธรรมบาหลี ที่มอบบทบาทให้ท้องทะเลเป็นศูนย์รวมแห่งจิตวิญญาณ ศาสนาของชาวบาหลีมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับสายน้ำ ผสมผสานกับความเชื่อทางศาสนาฮินดู ความเชื่อในเรื่องวิญญาณ มีการประกอบพิธีกรรมอย่างแพร่หลายทั่วทั้งเกาะ ซึ่งมักจะถูกพูดถึงในฐานะ ‘Agama Tirtha’ หรือ ศาสนาแห่งสายน้ำ พิธีกรรมต่างๆ ของชาวบาหลี ท้องทะเลคือตัวแทนของความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ เสื้อคลุมที่จัดแสดงในนิทรรศการ มีที่มาจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายจริงที่ใช้สวมใส่ในการประกอบพิธีบนชายหาด ซึ่งศิลปินมีโอกาสได้สัมผัสอย่างใกล้ชิดท่ามกลางซากปรักหักพังของสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น
ชาวบาหลีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการสร้างสมดุลย์ระหว่างแสงและเงา ยึดถือการประนีประนอมระหว่างสิ่งดีและสิ่งชั่วร้ายผ่านพิธีกรรมและการบูชาต่างๆ ในทำนองเดียวกัน ‘Weaving the Ocean’ เปลี่ยนซากปรักหักพังของการทำลายล้างสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อชุมชนในวงกว้าง เพื่อสร้างสมดุลอย่างสุนทรีย์
โครงการนี้มอบจุดมุ่งหมายและความภาคภูมิใจให้กับช่างฝืมือชาวบาหลี ยกย่องภูมิปัญญาที่มีมาช้านาน เกิดเป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนทั้งความนิ่งสงบและความแปรปรวนของท้องทะเล เน้นย้ำถึงความสำคัญของความเชื่อและวัฒนธรรมบาหลี นอกจากนั้นยังเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึงปัญหาเร่งด่วนที่เรากำลัง ประสบอยู่ด้วย
‘Weaving the Ocean’ เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาวที่มุ่งมั่นสื่อสารถึงปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อมทางทะเล ในขณะเดียวกันยังเป็นการน้อมรับเอาลักษณะพื้นฐานทางสังคมบาหลีมาใช้ในการแก้ปัญหา อย่างมีไหวพริบของคนในชุมชน โครงการนี้จัดแสดงมาแล้วทั้งในประเทศเยอรมนี อินโดนีเซีย และ ไต้หวัน โดยในปีนี้ยังมีแผนการจัดแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ แคนาดา และออสเตรเลียอีกด้วย
อาริ บายูอาจิอาริ บายูอาจิ เกิดเมื่อปี 2518 ที่ประเทศอินโดนีเซีย และได้ย้ายประเทศมาพำนักถาวรที่ประเทศ แคนาดาในปี 2558 อาริศึกษาด้านวิจิตรศิลป์ที่มหาวิทยาลัยคอนคอร์เดียในช่วงปี 2548-2553 ศิลปินทำงานทั้งเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา และบนเกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เขาเป็นที่รู้จัก จากผลงานศิลปะจัดวางอันมีเอกลักษณ์ในการใช้วัตถุที่พบเจอจากการเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั่วโลก ด้วยเหตุนี้อาริจึงมีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย
อาริ บายูอาจิ มีความเชี่ยวชาญในการถ่ายทอดแง่มุมต่างๆ ของวิถีชีวิต ผลงานของเขามักจะแสดงถึง การมองเห็นคุณค่าทางศิลปะในวิถีชีวิตที่ถูกเมิน ผ่านวัตถุหลากหลาย สถานที่ต่างๆ และบทบาทที่สิ่งเหล่านั้นถูกวางไว้ในสังคม ศิลปินเลือกใช้ของเก่าที่พบจากทั่วทุกมุมโลกมาใช้เป็นองค์ประกอบ และเป็นประเด็นหลักในงานเกือบทุกชิ้นของเขา แม้วัตถุเหล่านี้จะเป็นของเก่า แต่กลับกลายเป็นของใหม่ เมื่อถูกนำมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างสรรค์งานศิลปะ งานที่ถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปินที่มีความมุ่งมั่น ในการแก้ไขสถานการ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
งานของอาริได้จัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยวมาแล้วหลายที่ทั่วโลก ได้แก่ Esplanade - Theatres on the Bay ประเทศสิงคโปร์ในปี 2557 และ 2562, Nunu Fine Art Taipei ประเทศไต้หวัน ในปี 2561 และ ปี 2564, Parkhaus im Malkastenpark เมืองดัสเซลคอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ปี 2561, Agnès B. Foundation Paris ที่ Sainte-Alvère ประเทศฝรั่งเศส ปี 2560, Redbase Foundation Jogjakarta ประเทศอินโดนีเซีย ปี 2559 และ Kunsthal Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์ ปี 2559
ซุยลี่ แทนซุยลี่ แทน เป็นภัณฑารักษ์อิสระและอดีตผู้ทำงานในสายงานพิพิธภัณฑ์ มีประสบการณ์ในการทำงานด้าน ภัณฑารักษ์งานศิลปะร่วมสมัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มามากกว่าทศวรรต
ผลงานด้านภัณฑารักษ์ของซุยลี่ ประกอบด้วย Singapore Biennale ปี 2556 และ 2559 รวมทั้งนิทรรศการหมุนเวียนด้วยความร่วมมือจากองค์กรต่างๆ รวมไปถึงเป็นที่ปรึกษาและรับผิดชอบ ชุดนิทรรศการ President's Young Talents นอกจากนั้น ยังมีผลงานด้านการสอนเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ และประวัติศาสตร์ศิลปะในเอเชียตะวันออกเชียงใต้ให้กับสถาบันการศึกษาระดับสูง เช่น National Institute of Education และ LaSalle College of the Arts
ผลงานด้านวิทยากรล่าสุดของซุยลี่ คือการปาฐกถาที่ Frieze Academy London และรายการ Brilliant Ideas ของ Bloomberg ซุยลี่ จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะจาก University College London ระดับปริญญาตรีสาขาวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ศิลปะจาก University of Nottingham สหราชอาณาจักร และได้รับประกาศนียบัตรบัณฑิตสาขาศิลปะเอเชียจาก School of Oriental and African Studies (University of London) สหราชอาณาจักร